Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ประชาธิปไตยในมือคุณ
อ.อนุพจน์ พนาพรศิริกุล
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
 

                รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำลังจะถูกนำมาให้ประชาชนลงมติในไม่ช้านี้ สิ่งที่น่าวิตกคือการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนหลายสำนักปรากฏผลว่า ประชาชนไม่รู้ว่ามีกระบวนการที่ต้องลงประชามติจำนวนมาก และที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้นคือ ประชาชนจำนวนมากไม่รู้เนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซ้ำร้ายยังมีกระแสการต่อต้านรัฐธรรมนูญจากความพยายามของกลุ่มที่ต่อต้านการทำงานของรัฐบาล ท่านทราบไหมครับว่าถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผลจะเป็นอย่างไร

                รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน ก็ดี สภาร่างรัฐธรรมนูญไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็ดี หรือประชาชนโดยเสียงข้างมากออกเสียงประชามติไม่เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ดี ให้ร่างรัฐธรรมนูญที่สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำเป็นอันตกไป และให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ร่วมกับคณะรัฐมนตรีพิจารณานำเอารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับใดฉบับหนึ่งที่ถูกยกเลิกไปในอดีตมาปรับปรุงให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวัน แล้วนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญต่อไป

                จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญข้างต้น เห็นชัดว่าหากประชาชนไม่ไปลงประชามติหรือไม่ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คณะมันตรีความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับคณะรัฐมนตรีสามารถหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตมาปัดฝุ่นประกาศใช้ได้ การปัดฝุ่นมาใช้ใหม่นี้ไม่จำต้องได้รับความเห็นชอบและยินยอมจากประชาชนแต่อย่างใด และไม่อาจคาดหมายได้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับใดจะถูกนำมาปัดฝุ่นใช้ อย่าลืมนะครับว่ารัฐธรรมนูญในอดีตของประเทศไทยหลายฉบับไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ใกล้จะมีขึ้นนี้จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

                การทำประชามติ (Referendum) เป็น กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จึงต้องจัดให้มีการลงคะแนนเสียงเพื่อแสดงความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบของประชาชน แต่การที่ประชาชนจะลงคะแนนเสียงได้นั้น การรับรู้ข้อมูลย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะการเลือกอย่างมีคุณภาพย่อมดีกว่าการเดาสุ่ม โดยส่วนตัวผู้เขียนจึงอยากเรียกร้องให้ภาครัฐประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับประชาชนในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้มาก และอยากเรียกร้องให้ภาคเอกชนให้ความสำคัญและแสดงบทบาทเพื่อให้ระบอบประชาธิปไตยของไทยกลับสู่ภาวะปกติ

                หากการเมืองไม่นิ่ง ความเชื่อมั่นต่อภาคเศรษฐกิจย่อมได้รับผลกระทบ ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำให้ระบบการเมืองระบอบประชาธิปไตยกลับมาขับเคลื่อนได้อีกครั้ง น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ตามมา ในขณะนี้ประเด็นสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่น่าจะอยู่ที่ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นเพียงข้อมูลที่แน่นอนเดียวที่ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ว่าจะ "รับ" หรือ "ไม่รับ" ในขณะที่หากผลการประชามติออกมาว่าไม่รับ ประชาชนไม่อาจทราบได้เลยว่ารัฐธรรมนูญที่จะถูกนำมาใช้คือฉบับใดและตอบไม่ได้อีกเช่นกันว่ากลไกระบอบประชาธิปไตยจะกลับมาทำงานอีกเมื่อไหร่

                แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจมีบางส่วนไม่ถูกใจใครอยู่บ้าง แต่หากพิจารณาในเนื้อหาแล้วอาจกล่าวได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเป็นรัฐธรรมนูญที่เพิ่มอำนาจให้กับประชาชนมากขึ้นโดยเฉพาะในบทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพ และหากพิจารณาโดยภาพรวมน่าจะตอบโจทย์ทางการเมืองและเศรษฐกิจได้ดีกว่าเพราะรู้ได้ว่ารัฐธรรมนูญที่รับร่างไปนั้นมีเนื้อหาอย่างไร ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงอยากเสนอแนวคิดให้ร่วมกันระลึกว่า กลไกการลงประชามติที่จะมีขึ้นอันใกล้นี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าอนาคตทาง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม และระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยนั้นจะเป็นอย่างไร คำตอบนั้นอยู่ในมือประชาชนทุกคน

 
Area Trebs
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่