วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี
2540 ได้ส่งผลทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยถดถอยตัวอย่างรุนแรง
ผลกระทบสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ส่งผลต่อความมั่นคงของสถาบันการเงิน
ทำให้รัฐบาลต้องรีบดำเนินการและหาวิธีการต่าง
ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะให้สถาบัน
การเงินสามารถดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ ต่อไปได้ รวมทั้งภาคธุรกิจเอกชนสามารถกลับมาดำเนินกิจการต่อไปได้
อีกครั้ง
บรรษัทบริหารสินทรัพย์สถาบันการเงิน
(บบส.) เป็นหน่วยงานหนึ่งของภาครัฐที่ได้รับมอบหมายภารกิจให้ทำหน้าที่บริหารและจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงินที่ไม่อาจฟื้นฟูสถานะได้
โดย บบส.
ได้เข้าไปประมูลซื้อสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของสถาบันการเงิน 56 ราย จากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
(ปรส.) และนำมาบริหารจัดการแล้วนำไปจำหน่ายจ่ายโอนต่อไป สินทรัพย์ที่
บบส. ประมูลมาได้คือ
สินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ หลังการปรับโครงสร้างหนี้
ทรัพย์สินที่ บบส. ได้รับจากการโอนตีชำระหนี้จึงประกอบไปด้วย ที่ดินเปล่าทั้งที่พัฒนาแล้วและยังไม่พัฒนา
บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องชุดพักอาศัย อาคารสำนักงาน สนามกอล์ฟ หลักทรัพย์
และอื่น ๆ กระจายอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัดทั่วประเทศ
โครงการกิจการร่วมทำ
บบส. ได้มีการพัฒนาแนวทางและกลยุทธ์ต่าง
ๆ อยู่ตลอดเวลาเพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหา NPL ของประเทศที่เป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
อุตสาหกรรม และพาณิชยกรรม ดังนั้น บบส. จึงได้มีการวางแผนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถกระจายทรัพย์สินรอการขายที่มีอยู่เข้าถึงนักลงทุนมากยิ่งขึ้น
โดยอาศัยแนวทางในการหา
ผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพและความชำนาญในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาช่วยกันทำให้ทรัพย์สินของ
บบส. สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้เร็วขึ้น โดยอาศัยประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการของผู้เข้าร่วมทุนที่มีความรู้และมีฐานลูกค้าเดิมของผู้ร่วมทุน
แนวทางในการพัฒนาทรัพย์สินของ บบส. ในการร่วมทุนกับนักพัฒนาโครงการคือ
การร่วมทุนแบบโครงการกิจการร่วมทำ (Consortium) จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี
2546
โดยโครงการกิจการร่วมทำนี้ได้เปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปมีส่วนร่วมในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ
บบส. อีกช่องทางหนึ่ง โดยเพิ่มขีดความสามารถให้แก่นักลงทุนเพื่อสามารถแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์และเป็นทางเลือกเพิ่มของผู้ซื้อรายย่อย
โดยที่ บบส. จะเป็นผู้ร่วมทำกับภาคเอกชนตั้งแต่ 1 รายขึ้นไป ภายใต้ข้อตกลงของ
บบส. โดยไม่ต้องจดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ มีการแบ่งผลตอบแทนในรูปแบบของเงินรายได้
โครงการตามสัดส่วน ไม่ใช่เป็นการแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนจากการดำเนินงาน
นักลงทุนได้รับประโยชน์อย่างไร ?
สำหรับการร่วมลงทุนนั้น บบส. จะนำทรัพย์สินที่ถือครองกรรมสิทธิ์โดย
บบส. เป็นส่วนของทุน เพื่อให้นักลงทุนได้รับสิทธิประโยชน์โดยไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.
จัดสรร ทำให้มีความสะดวกและรวดเร็วเพราะสามารถลดขั้นตอนการดำเนินการตามกฎหมายจัดสรร
ได้รับการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และ
ค่าธรรมเนียมการโอนตามประมวลกฎหมายที่ดิน รวมทั้งได้รับความเชื่อถือจากผู้บริโภคเพราะเป็นโครงการ
กิจการร่วมลงทุนกับ บบส. ในฐานะหน่วยงานของรัฐสังกัดกระทรวงการคลัง
สำหรับผู้ร่วมลงทุนสามารถลงทุนในส่วนของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การตลาด
รวมทั้งนำความรู้และความชำนาญต่าง ๆ (Know-How) มาใช้ในการพัฒนาโครงการได้อย่างเต็มที่
และ บบส. ได้นำทรัพย์สินที่มีคุณภาพหลายรายการที่กระจายอยู่
ทั่วประเทศเข้าอยู่ในโครงการกิจการร่วมทำนี้ ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้เกิดการขยายตัวทางด้าน
การลงทุน การผลิต การจ้างงาน การมีรายได้ และการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้น
อันจะเป็นการเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจของประเทศให้มีเสถียรภาพและมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้รูปแบบของโครงการกิจการร่วมทำ
(Consortium) ดังกล่าวที่ บบส. ได้นำออกมาใช้นั้นยังมีความสอดคล้องกับนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาลในปัจจุบัน
ซึ่งนโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
และสร้างโอกาสให้ประชาชนและคนรายได้น้อยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ เพื่อก่อให้เกิดกระบวนการสร้างงาน
สร้างรายได้ รวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการสร้างผู้ประกอบการใหม่ ๆ ขึ้นมา และจากนโยบายนี้ทำให้สินทรัพย์ของ บบส.
ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้นเกิดประโยชน์และสร้างรายได้ให้กับ บบส.
อย่างสูง แต่หลีกเลี่ยงการตัดราคาทรัพย์สิน เพราะจะส่งผลทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์โดยรวมเกิดความเสียหายได้
ในขณะเดียวกันยังมีการส่งเสริมให้ที่ดินของ บบส. ที่มีอยู่เป็นจำนวนมากสามารถดำเนินการหาประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่องและลดค่าใช้จ่ายในเรื่องของการจัดการดูแลสภาพทรัพย์สิน
พร้อมกันนี้ บบส. ยังถือเป็นแม่แบบในการนำเสนอแนวทางใหม่ให้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เอกชนอื่นๆ
นำไปใช้เป็นแนวทางในการเพิ่มช่องทางการดำเนินธุรกิจด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้นโยบายในการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของรัฐบาลสามาถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง
และมีส่วนช่วยกระตุ้นทำให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินในระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นด้วย
ทำให้เกิดการขยายตัวในการร่วมทำ จนส่งผลดีในการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค
หรือระดับท้องถิ่นได้อย่างต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเก่าและรายใหม่มีช่องทางในการทำธุรกิจมากขึ้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการแข่งขัน
และทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องเกิดการขยายตัวต่อเนื่องเป็นลูกโซ่เป็นผลทำให้เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตขึ้นได้
อย่างแท้จริง |