Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์กับแวดวงอสังหาริมทรัพย์
อ.อนุพจน์ พนาพรศิริกุล
นบ., นม. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

          หากสำรวจสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ในแวดวงอสังหาริมทรัพย์บ้านเรา จะพบข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งว่าสิ่งพิมพ์ดูเหมือนจะเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น ใบปลิว แผ่นพับโฆษณา นิตยสาร วารสาร หรือจุลสาร ที่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งวารสารฉบับที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้ด้วยก็เป็นสิ่งพิมพ์ตามกฎหมายเช่นเดียวกัน
          ในเมื่อกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่วางแบบแผนปฏิบัติในสังคม สิ่งพิมพ์ย่อมอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ที่กฎหมายวางแบบแผนปฏิบัติไว้ด้วย ดังนั้นหากผู้ใดมีความประสงค์จะจัดทำสิ่งพิมพ์สักฉบับหนึ่งจึงควรพิจารณาดูว่ามีกฎหมายกำหนดกฎเกณฑ์อะไรไว้บ้างเพื่อป้องกันไม่ให้ตนต้องได้รับผลกระทบจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
          กฎหมายฉบับสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์แต่เดิมนั้น คือ พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 แต่เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับมานานแล้วและมีหลายบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เช่น การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์ การตรวจข่าว ตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะกระทำมิได้ ปัจจุบันพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 จึงได้ถูกยกเลิกไปแล้วและได้มีการประกาศใช้กฎหมายขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งเพื่อใช้บังคับแทน คือ พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 โดยเริ่มมีผลใช้บังคับมาตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2550
          ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 นั้น กฎหมายให้เหตุผลว่า เนื่องจากบทบัญญัติบางมาตราในพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและสถานการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิมพ์อื่น ๆ อีกหลายฉบับรองรับไว้เพียงพอต่อการคุ้มครองประโยชน์ของรัฐและประชาชนแล้ว จึงยกเลิกกฎหมายว่าด้วยการพิมพ์และให้มีกฎหมายว่าด้วยจดแจ้งการพิมพ์เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการรับจดแจ้งการพิมพ์เป็นหลักฐานให้ทราบว่า ผู้ใด เป็น ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบของประชาชนผู้ที่ได้รับความเสียหายในการฟ้องร้องดำเนินคดี
          หากพิจารณาดูตามเหตุผลของกฎหมายแล้ว ดูเหมือนว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์เลย แต่ในความเป็นจริงสิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์กลับมีอยู่มากมาย หลายท่านอาจจะมองว่าการจัดทำสิ่งพิมพ์เป็นหน้าที่ของโรงพิมพ์ผู้ว่าจ้างไม่ได้ดำเนินการเอง ซึ่งการมองเช่นนี้อาจเป็นการมองข้ามประเด็นทางกฎหมายที่สำคัญไป เพราะเรื่องการพิมพ์นี้มีภาษากฎหมายที่ต้องให้ความสนใจ คือ คำว่า "สิ่งพิมพ์" กับ "หนังสือพิมพ์" หลายท่านอาจสงสัยขึ้นมาอีกว่าสิ่งพิมพ์ก็ไปจ้างโรงพิมพ์ทำ หนังสือพิมพ์ก็ให้นักข่าวมาเขียนข่าวหรือไม่ก็เขียนบทความไปให้หนังสือพิมพ์ลง ดูแล้วไม่เห็นจะเกี่ยวกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์ไปได้เลย ผู้เขียนอยากให้ท่านลองพิจารณาต่อไปครับ
          ถ้า "สิ่งพิมพ์" เป็นแค่ใบโฆษณาสินค้า และ "หนังสือพิมพ์" เป็น หนังสือข่าวหัวสีที่วางให้เห็นทั่วไปตามแผงหนังสือ เพียงแค่นั้นก็คงไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์มากนัก แต่ก็อย่างที่เกริ่นไว้ก่อนหน้านี้ว่า "สิ่งพิมพ์" และ "หนังสือพิมพ์" เป็นภาษากฎหมาย จึงไม่ใช่คำที่มีความหมายทั่วไปที่จะใช้ความรู้ตามสามัญสำนึกธรรมดาเข้าใจไปเองได้ แต่ต้องพิจารณาจากความหมายที่กฎหมายบัญญัติความหมายขึ้นไว้โดยเฉพาะ
          "สิ่งพิมพ์" ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ หมายความว่า "สมุด หนังสือ แผ่นกระดาษ หรือวัตถุใด ๆ ที่พิมพ์ขึ้นเป็นหลายสำเนา" ส่วน "หนังสือพิมพ์" ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ หมายความว่า "สิ่งพิมพ์ ซึ่งมีจ่าหน้าเช่นเดียวกันและออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไป มีกำหนดระยะเวลาหรือไม่ก็ตาม มีข้อความต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ให้หมายความรวมถึง นิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ที่เรียกชื่ออย่างอื่นทำนองเดียวกัน"
          หากพิจารณาตามความหมายที่กฎหมายให้นิยามไว้ อาจอธิบายได้ว่า หนังสือพิมพ์ทุกประเภทเป็นสิ่งพิมพ์ แต่สิ่งพิมพ์อาจจะไม่ใช่หนังสือพิมพ์ก็ได้ เช่น ใบโฆษณาบ้านจัดสรรเป็นสิ่งพิมพ์ แต่วารสารThai Appraisal ที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้เป็นหนังสือพิมพ์ แล้วหนังสือบริหารด้วยรัก หนังสือคุณธรรมธุรกิจ โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย จะจัดเป็นสิ่งพิมพ์หรือหนังสือพิมพ์กันแน่ ในประเด็นนี้จะเห็นได้ว่าหนังสือย่อมเป็นสิ่งพิมพ์อย่างแน่นอนแต่จะเข้าข่ายเป็นหนังสือพิมพ์ด้วยหรือไม่ต้องพิจารณาว่าสิ่งพิมพ์นั้นมีจ่าหน้าเช่นเดียวกันและออกหรือเจตนาจะออกตามลำดับเรื่อยไปหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าหนังสือบริหารด้วยรัก และหนังสือคุณธรรมธุรกิจไม่ได้มีลักษณะที่จะออกตามลำดับเรื่อยไป หนังสือทั้งสองเล่มจึงเป็นสิ่งพิมพ์แต่ไม่ใช่หนังสือพิมพ์ตามความหมายของกฎหมาย
          ประเด็นว่าเป็น "สิ่งพิมพ์" หรือ "หนังสือพิมพ์" มีความสำคัญอย่างไรนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 กำหนดคุณสมบัติของ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ และเจ้าของหนังสือพิมพ์ ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์การจดแจ้งการพิมพ์ไว้ โดยบัญญัติหลักเกณฑ์ในส่วนของสิ่งพิมพ์ และหนังสือพิมพ์ ไว้แยกจากกันเฉพาะ ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามย่อมมีโทษตามกฎหมายติดตามมา นั่นหมายความว่าหากได้รู้ถึงกฎเกณฑ์ของกฎหมายและได้ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์นั้นอย่างถูกต้องแล้วย่อมเป็นการป้องกันไม่ให้ได้รับผลร้ายที่กฎหมายกำหนดนั่นเอง
          สำหรับ "สิ่งพิมพ์" ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องสำคัญในกฎหมาย คือ ผู้พิมพ์ และผู้โฆษณา ซึ่งกฎหมายกำหนดคุณสมบัติไว้ คือ

  1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  2. มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
  3. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  4. ไม่เคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
  5. กรณีนิติบุคคลเป็น ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา กรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนอื่นของนิติบุคคลนั้นต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 1 ถึงข้อ 4 ดังกล่าวข้างต้นด้วย
          ในทางปฏิบัติการจัดทำแผ่นพับ แผ่นโฆษณาทั้งหลาย มักจะว่าจ้างให้โรงพิมพ์เป็นผู้ดำเนินการ แต่สาเหตุที่ต้องนำมากล่าวถึงในเรื่องนี้ เนื่องจากกฎหมายวางหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่หนังสือพิมพ์ รวมถึงสิ่งพิมพ์ที่บันทึกด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายหรือให้เปล่าไว้โดยเฉพาะให้ต้องแสดงข้อความ ดังต่อไปนี้
  1. ชื่อของผู้พิมพ์และที่ตั้งโรงพิมพ์
  2. ชื่อและที่ตั้งของผู้โฆษณา
  3. เลขมาตรฐานสากลประจำหนังสือที่หอสมุดแห่งชาติได้ออกให้
          กรณีของสิ่งพิมพ์นั้น ผู้พิมพ์ต้องส่งสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่หนังสือพิมพ์จำนวน 2 ฉบับให้หอสมุดแห่งชาติภายใน 30 วันนับแต่วันเผยแพร่ หากฝ่าฝืนไม่จัดส่งให้หอสมุดแห่งชาติภายในกำหนดหรือไม่แสดงข้อความที่กฎหมายกำหนด สำหรับสิ่งพิมพ์ที่เป็นหนังสือที่จัดพิมพ์ขึ้นในประเทศไทยซึ่งไม่ใช่หนังสือพิมพ์ รวมถึงสิ่งพิมพ์ที่บันทึกด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์เพื่อขายหรือให้เปล่า ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทและหากยังฝ่าฝืนต้องระวางโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกินหนึ่งพันบาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง ส่วนผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา ที่ขาดคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดมีโทษทางอาญาจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          สิ่งพิมพ์ที่เกี่ยวข้องกับแวดวงอสังหาริมทรัพย์มากอีกประเภทหนึ่ง คือ หนังสือพิมพ์ ซึ่งหากพิจารณาการประกอบกิจการในปัจจุบันจะเห็นได้ว่าการสื่อสารการตลาดระหว่างผู้ประกอบการกับลูกค้าให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ภาคอสังหาริมทรัพย์หลายบริษัทมักจะจัดทำนิตยสารหรือวารสารนอกเหนือจากแผ่นพับ แผ่นโฆษณา เพื่อเสนอข้อมูลข่าวสารให้แก่ผู้บริโภคโดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายกันอย่างแพร่หลาย และหากพิจารณาจากความหมายของกฎหมายจะเห็นได้ว่าทั้งนิตยสารและวารสารล้วนจัดเป็นหนังสือพิมพ์ตามกฎหมายทั้งสิ้น ซึ่งการจัดทำหนังสือพิมพ์นั้นจะมีผู้ที่มีบทบาทสำคัญอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มของ เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณา กลุ่มหนึ่ง และกลุ่มของผู้รับผิดชอบในการจัดทำและควบคุมเนื้อหา ข้อความ หรือภาพ ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ หรือที่เรียกว่า บรรณาธิการ อีกกลุ่มหนึ่ง ซึ่งในทางปฏิบัติจะพบเห็นได้โดยทั่วไปว่าในสองกลุ่มที่กล่าวถึงนี้มักจะมีคนในแวดวงอสังหาริมทรัพย์เข้าไปเกี่ยวข้องอยู่จำนวนไม่น้อย ซึ่งผู้ที่มีบทบาททั้ง 2 กลุ่มนี้กฎหมายได้กำหนดคุณสมบัติไว้ต่างหากจากกัน
          สำหรับ "เจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณา หนังสือพิมพ์" ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 กำหนดคุณสมบัติไว้เช่นเดียวกับกรณีของสิ่งพิมพ์แต่มีรายละเอียดเพิ่มเติมคือ บุคคลที่เป็นเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ ผู้พิมพ์ หรือผู้โฆษณา ที่เป็นบุคคลธรรมดาต้องมีสัญชาติไทย และหากเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์เป็นนิติบุคคลต้องมีบุคคลซึ่งมีสัญชาติไทยถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของหุ้นทั้งหมดและต้องมีกรรมการไม่น้อยกว่าสามในสี่ของกรรมการทั้งหมดเป็นผู้มีสัญชาติไทย และห้ามมิให้บุคคลใดถือหุ้นแทนบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทย ซึ่งหากขาดคุณสมบัติจะถูกเพิกถอนการจดแจ้งหนังสือพิมพ์
          ส่วน "บรรณาธิการหนังสือพิมพ์" พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 กำหนดให้บุคคลผู้เป็นบรรณาธิการ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้
  1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์
  2. มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติแห่งประเทศซึ่งมีสนธิสัญญากับประเทศไทย
  3. มีถิ่นที่อยู่ประจำในราชอาณาจักร
  4. ไม่เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  5. ไม่เคยต้องโทษคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่พ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือเป็นความผิดโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ
          กรณีของหนังสือพิมพ์กฎหมายกำหนดให้ต้องยื่นจดแจ้งการพิมพ์ ในการยื่นจดแจ้งการพิมพ์ต้องยื่นแบบการจดแจ้งการพิมพ์ที่ สำนักหอสมุดแห่งชาติ สำหรับในเขตกรุงเทพมหานคร ส่วนในเขตภูมิภาคสามารถยื่นจดแจ้งได้ที่ ส่วนวัฒนธรรมจังหวัด โดยต้องยื่นแบบจดแจ้งการพิมพ์พร้อมหลักฐาน ดังต่อไปนี้
  1. ชื่อ สัญชาติ ถิ่นที่อยู่ของผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการหรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์แล้วแต่กรณี
  2. ชื่อของหนังสือพิมพ์
  3. วัตถุประสงค์และระยะเวลาออกหนังสือพิมพ์
  4. ภาษาที่หนังสือพิมพ์จะออกใช้
  5. ชื่อและที่ตั้งโรงพิมพ์หรือสถานที่พิมพ์
  6. ชื่อและที่ตั้งสำนักงานของหนังสือพิมพ์
          ถ้าออกหนังสือพิมพ์โดยไม่จดแจ้งการพิมพ์ หรือกรณีที่ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของหนังสือพิมพ์ ไม่มีคุณสมบัติครบถ้วน กฎหมายกำหนดโทษทางอาญาจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          สำหรับบรรดาหนังสือพิมพ์ซึ่งได้แจ้งความแก่เจ้าพนักงานการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ก่อนที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 กฎหมายให้ถือว่าหนังสือพิมพ์ดังกล่าวได้มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 แล้ว และรวมถึงบรรดาผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา บรรณาธิการ หรือเจ้าของกิจการหนังสือพิมพ์ที่ได้จดแจ้งตามพระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.2484 ก่อนที่จะประกาศใช้พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 กฎหมายให้ถือว่าได้มีการจดแจ้งการพิมพ์ตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ด้วย
          กฎหมายจดแจ้งการพิมพ์เปิดโอกาสให้มีการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออกสู่สาธารณะได้สะดวกขึ้นกว่าเดิม ซึ่งน่าจะเป็นช่องทางที่ทำให้การพัฒนาองค์ความรู้ด้านอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยสามารถนำเสนอได้อย่างกว้างขวางและหลากหลายมากขึ้น เพราะกฎหมายได้ลดอุปสรรคในการใช้เสรีภาพบางประการลง แม้ว่าพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์จะส่งเสริมให้มีการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นออกสู่สาธารณะได้สะดวกขึ้นแต่ก็ไม่ได้นำข้อดีของกฎหมายการพิมพ์ฉบับเดิมมาบัญญัติไว้ด้วย การใช้เสรีภาพจึงต้องระมัดระวังในการใช้เสรีภาพในทางที่กระทบกระทั่งต่อเสรีภาพของบุคคลอื่นอันอาจนำมาซึ่งการฟ้องร้องดำเนินคดี ผู้เขียนจึงอยากทิ้งท้ายให้ผู้อ่านระลึกอยู่เสมอว่า "เสรีภาพนั้นคู่กับความรับผิดชอบเสมอ"
 
Area Trebs
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่