อาคารอ่วมโยธาฯ ตรวจสภาพรายปี
ประชาชาติธุรกิจ 8 ธันวาคม 2548 หน้า 37
 
สรุปสาระข่าว
 
         ผู้ประกอบการโรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด โรงงาน ป้ายอ่วม ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองออกกฎเหล็ก ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารเช็กสภาพทุกปี ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทั้งอาคารเก่าและใหม่ ป้องกันปัญหาตึกถล่ม ตึกทรุดและไฟไหม้ เจ้าของคอนโด มิเนียมมีเฮ กฎหมายยกเว้นให้อีก 5-7 ปี จนกว่าจะได้ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย
 
ข้อคิดเห็น
 
         สาธุ นาน ๆ กฎหมายอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนจะได้ออกมาที แต่ยังไม่รู้จะถูกดึง ถูกทิ้งไว้อีกนานเพียงใด
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         ผู้ประกอบการโรงมหรสพ โรงแรม สถานบริการ อาคารชุด โรงงาน ป้ายอ่วม ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม หลังกรมโยธาธิการและผังเมืองออกกฎเหล็ก ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารเช็กสภาพทุกปี ด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 25 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทั้งอาคารเก่าและใหม่ ป้องกันปัญหาตึกถล่ม ตึกทรุดและไฟไหม้ เจ้าของคอนโด มิเนียมมีเฮ กฎหมายยกเว้นให้อีก 5-7 ปี จนกว่าจะได้ผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

         แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ พลอากาศเอกคงศักดิ์ วันทนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงนามในกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดประเภทอาคารที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบ พ.ศ.2548 และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้ว เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2548 ที่ผ่านมา โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5(3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และมาตรา 32 ทวิ (3) แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2543

         "เหตุผลในการออกประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ ก็เพื่อต้องการให้อาคารที่กำหนดไว้ตามกฎกระทรวงนี้ ทำการตรวจสอบสภาพอาคาร โครง สร้างของตัวอาคาร และอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ของอาคาร โดยจ้างผู้ตรวจสอบมาทำการตรวจสอบ ในทุกปีจะมีการตรวจสอบย่อย และทุก 5 ปีจะเป็นการตรวจสอบใหญ่ขึ้นอยู่กับผู้ทำการตรวจสอบ"

         แหล่งข่าวกล่าวว่าการดำเนินการดังกล่าวก็เพื่อประโยชน์แห่งความมั่นคงแข็งแรง และความปลอดภัยในการใช้อาคาร หลังจากที่ผ่านมามีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นบ่อยๆ ด้วยสภาพของอาคารที่ใช้งานมานาน หรือเจ้าของอาคารละเลย ไม่ทำการตรวจสอบ จนทำให้เกิดเหตุตึกถล่ม ไฟไหม้อาคาร โดยกฎกระทรวงนี้จะมีผลบังคับใช้ทั้งอาคารเก่า และใหม่

         สำหรับประเภทของอาคาร ที่ต้องจัดให้มีผู้ตรวจสอบด้านวิศวกรรมหรือผู้ตรวจสอบด้านสถาปัตยกรรม แล้วแต่กรณี มีทั้งหมด 6 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วย
         1.โรงมหรสพ
         2.โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม ที่มีจำนวนห้องพักตั้งแต่ 80 ห้องขึ้นไป
         3.สถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 200 ตารางเมตรขึ้นไป
         4.อาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด หรืออาคารอยู่อาศัยรวม ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป
         5.อาคารโรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน ที่มีความสูงมากกว่า 1 ชั้น และมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 5,000 ตารางเมตรขึ้นไป
         6.ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้น สำหรับติดหรือตั้งป้ายที่สูงจากพื้นดิน ตั้งแต่ 50 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ตั้งแต่ 50 ตารางเมตรขึ้นไป
            หรือป้ายที่ติดหรือตั้งบนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคาร หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของอาคาร ที่มีพื้นที่ตั้งแต่ 25 ตารางเมตรขึ้นไป

         อย่างไรก็ตามในการจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคารสำหรับอาคารชุดนั้น เนื่องจากยังมีข้อปัญหาที่ยังไม่ชัดเจนในเรื่องของ ผู้ที่จะรับผิดชอบ ในการเสียค่าใช้จ่ายที่จะต้องว่าจ้างผู้ตรวจสอบอาคาร เพื่อมาตรวจสอบอาคาร เนื่องจากในอาคารชุดหรือคอนโดมิเนียม จะมีเจ้าของหลายคน จึงให้ได้รับการยกเว้นการจัดให้มีผู้ตรวจสอบอาคาร เป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ สำหรับอาคารที่มีพื้นที่ไม่เกิน 5,000 ตารางเมตร และได้รับการยกเว้นเป็นเวลา 7 ปี นับแต่วันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ สำหรับอาคารที่มีพื้นที่เกิน 5,000 ตารางเมตร จนกว่าจะหาผู้ที่จะมารับผิดชอบได้

         "ในการตรวจสอบนั้น กรมโยธาธิการ จะทำการขึ้นบัญชีผู้ตรวจสอบ และทำการอบรมหลักสูตรการตรวจสอบ จนกว่าจะผ่าน ซึ่งขณะนี้กรมยังไม่ได้ดำเนินการ ยังไม่รู้ว่าจะมีผู้ตรวจสอบที่มาขึ้นทะเบียนกับกรมเป็นจำนวนเท่าไหร่ ขณะที่อาคารทั่วประเทศมีอยู่จำนวนมาก ดังนั้น กฎกระทรวงฉบับนี้ ถึงแม้จะมีผลบังคับใช้แล้ว แต่ในทางปฎิบัติยังไม่สามารถดำเนินการได้ อาจจะต้องรอไปอีก ระยะหนึ่ง จนกว่าทุกอย่างจะลงตัวก่อน รวมถึงหลักเกณฑ์รายละเอียดต่างๆ ในการตรวจสอบมีผลประกาศใช้ก่อน ขณะนี้รอประกาศในราชกิจจา"

         ด้านนายอิสระ บุญยัง กรรมการสภาที่อยู่อาศัยไทยเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า นอกจากกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้ว ขณะนี้กรมโยธาธิการอยู่ระหว่างนำกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ.2543) ว่าด้วยการกำหนดลักษณะ แบบ รูปทรง สัดส่วน เนื้อที่ ที่ตั้งของอาคาร ระดับ เนื้อที่ของที่ว่างภายนอกอาคารหรือแนวอาคาร และระยะหรือระดับระหว่างอาคารกับอาคารหรือเขตที่ดินของผู้อื่น หรือระหว่าง อาคารกับถนนทางเท้าหรือที่สาธารณะ ฯลฯ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 57 (พ.ศ. 2544) ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ.2528) เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดอายุและการต่ออายุใบอนุญาตก่อสร้าง หรือดัด แปลงอาคาร ตลอดจนมาตรการผ่อนผันให้เจ้าของอาคาร ซึ่งก่อสร้าง หรือดัดแปลงไม่เสร็จ ภายในอายุ ใบอนุญาต และไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต หรือใบอนุญาตใหม่ สามารถขออนุญาตเพื่อดำเนินการก่อสร้าง หรือดัดแปลงอาคารต่อไปจนเสร็จ หรือจนสามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย อยู่ระหว่างยกร่างแก้ไขและถูกนำกลับไปพิจารณาใหม่

         "กฎหมายทั้ง 2 ฉบับถือเป็นกฎหมายสำคัญ และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์โดยตรงจึงอยากให้เร่งพิจารณา ภาคเอกชนพร้อมที่จะให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลเพื่อให้กฎหมายออกมาสอดคล้องกับความเป็นจริงและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย"