ถลุงแสน ล. ค่า "สมองฝรั่ง" รัฐ-เอกชนระดมจ้าง บ.ที่ปรึกษา
ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 กันยายน 2548 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
         เปิดตัวเลขไทยเสียดุลค่าที่ปรึกษาต่างชาติปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ระบุครึ่งแรกปี"48 จ่ายไปแล้วกว่า 76,680 ล้านบาท สอดรับแนวทางทุจริตแบบวิถีทางช้างเผือกที่นิยมตั้งบริษัทปรึกษาแต่ไม่รู้มีฝีมือจริงหรือไม่ ระบุเฉพาะหนองงูเห่าว่าจ้างที่ปรึกษาตรึม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า จากการหารือกันของคณะทำงานพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้หยิบประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านบริการที่ต้องจ่ายให้กับต่างประเทศ
 
ข้อคิดเห็น
 
         โปรดทราบ "อย่าเห็นขี้ฝรั่งหอม"
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         เปิดตัวเลขไทยเสียดุลค่าที่ปรึกษาต่างชาติปีละกว่า 1 แสนล้านบาท ระบุครึ่งแรกปี"48 จ่ายไปแล้วกว่า 76,680 ล้านบาท สอดรับแนวทางทุจริตแบบวิถีทางช้างเผือกที่นิยมตั้งบริษัทปรึกษาแต่ไม่รู้มีฝีมือจริงหรือไม่ ระบุเฉพาะหนองงูเห่าว่าจ้างที่ปรึกษาตรึม แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า จากการหารือกันของคณะทำงานพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน ได้หยิบประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในด้านบริการที่ต้องจ่ายให้กับต่างประเทศ
         โดยเฉพาะค่าที่ปรึกษาในด้านต่างๆ จากตัวเลขที่ปรากฏนับว่าสูงมาก ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีกำลังตรวจสอบรายละเอียดและสั่งการให้หาทางแก้ไขอยู่
"เรื่องนี้จะต้องดูอย่างละเอียด ถือว่าเราเสียเปรียบในด้านการแข่งขันกับต่างประเทศ เราต้องนำเข้าผู้เชี่ยวชาญ หรือต้องว่าจ้างที่ปรึกษาด้านต่างๆ มากมาย และเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากประมาณ 150,000 ล้านบาทต่อปี เกือบเท่าๆ กับงบประมาณของกระทรวงศึกษาฯทั้งปีเลยทีเดียว ทำให้ต้องมาทบทวนเรื่องนี้กันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการว่าจ้างให้ศึกษาแต่หน่วยงานนั้นๆ ไม่ได้นำผลการศึกษามาใช้อย่างคุ้มค่า ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้นำมาให้จริงๆ จังๆ เป็นการสูญเสียทรัพยากรอย่างยิ่ง" แหล่งข่าวกล่าว
         ต่อประเด็นดังกล่าวผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า รายจ่ายในภาคต่างประเทศโดยเฉพาะในส่วนรายจ่ายภาคบริการ ซึ่งประกอบด้วยรายจ่ายค่าขนส่ง ค่าท่องเที่ยว ค่าสื่อสารโทรคมนาคม ค่ารอยัลตี้และเครื่องหมายการค้า/สิทธิบัตร ค่าประกันภัย และค่าบริการอื่นๆ (นิยามคือค่าเช่าและค่าบริการทางเทคนิค ธุรกิจ ซึ่งหมายถึงค่าที่ปรึกษาและบริการอื่นๆ) ปรากฏว่าในแต่ละปีประเทศไทยจะต้องเสียค่าบริการเหล่านี้ให้กับต่างประเทศในจำนวนที่สูงมาก
         จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2539-2548 มีค่าใช้จ่ายค่าบริการรวมให้แก่ต่างประเทศ ดังนั้น 314,929 ล้านบาท, 451,400 ล้านบาท, 319,160 ล้านบาท, 353,560 ล้านบาท, 368,760 ล้านบาท, 341,960 ล้านบาท, 415,360 ล้านบาท, 429,560 ล้านบาท, 550,880 ล้านบาท และ 294,040 ล้านบาท (ครึ่งปีแรก 2548) ตามลำดับ
         และจากค่าบริการดังกล่าวนี้แบ่งเป็นค่าบริการอื่นๆ ซึ่งเป็นค่าที่ปรึกษาในด้านต่างๆ ดังนี้ 130,825 ล้านบาท, 201,960 ล้านบาท, 161,720 ล้านบาท, 173,560 ล้านบาท, 165,680 ล้านบาท, 113,520 ล้านบาท, 158,480 ล้านบาท, 154,920 ล้านบาท, 173,400 ล้านบาท และ 76,680 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ ทั้งนี้คิดอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 40 บาท/ดอลลาร์ ยกเว้นปี 2539 คิดที่ 25 บาท/ดอลลาร์)
         อนึ่ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 มีการการสัมมนาเรื่องคอร์รัปชั่นสายพันธุ์ใหม่ คนไทยต้องรู้ทัน จัดโดยคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดขึ้น ซึ่งมีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินร่วมเสวนาด้วยได้กล่าวว่าถึงการทุจริตว่า แยกเป็นโครงการเล็กโครงการใหญ่ โดยเฉพาะในโครงการใหญ่ปัญหาที่พบคือผู้บริหารละเลยความรับผิดชอบและผู้ปฏิบัติอยู่ในสภาพจำยอม และระบุว่าปัจจุบันการคอร์รัปชั่นทำแบบวิถีช้างเผือกคือ 1.การใช้ระบบที่ปรึกษา ซึ่งเป็นวิธีการที่น่ากลัวมาก เพราะมีการอ้างตัวเองเสมือนหนึ่งว่าเป็นบริษัทที่มีความรู้ความสามารถสูง ทั้งที่เราไม่รู้ว่าในเรื่องนั้นเขามีความสามารถแค่ไหน 2.มีการใช้ระบบคณะกรรมการ จะเห็นว่าหน่วยงานใหญ่ๆ มีการตั้งคณะกรรมการและคณะกรรมการเหล่านั้นคือคนของตัวเองเพื่อเลือกรับบริษัทที่ตัวเองต้องการ 3.การใช้องค์กรตรวจสอบที่เกี่ยวข้อง และองค์กรที่ตรวจสอบพยายามทำให้อ่อนแอมากที่สุด
         จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังพบว่าทั้งหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชนมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา อาทิ เดือนกันยายน 2546 ทางกระทรวงพลังงานมีการว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา อาทิ คณะกรรมการกำกับโครงการศึกษาการกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนากิจการพลังงานของประเทศ โดยว่าจ้างบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้งกรุ๊ป จำกัด วงเงิน 26 ล้านบาท ทำการศึกษา 17 สัปดาห์, กรณีบริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) หรือทีพีไอ เคยว่าบริษัทเอ็ฟเฟ็คทีฟ แพลนเนอร์ส และมีการยกเลิกเนื่องจากมีการคิดค่าจ้างแพง ปี 2548 กระทรวงการคลังว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจากออสเตรเลียศึกษาการออกพันธบัตรเพื่อขายให้กับรายย่อย
         จากรายงานประจำปีของบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (โครงการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ได้ระบุงบฯงานจ้างที่ปรึกษาทั่วไปปี 2547 จำนวน 2,879 ล้านบาท ปี 2546 จำนวน 2,584.6 ล้านบาท, งานจ้างศึกษา สำรวจและออกแบบ ปี 2547 จำนวน 1,582.6 ล้านบาท ปี 2546 จำนวน 1,420.03 ล้านบาท อาทิ งานจ้างที่ปรึกษาระบบสารสนเทศด่านตรวจคนเข้าเมือง 5.8 ล้านบาท, งานจ้างที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานระบบสารสนเทศและระบบเอกซเรย์ในเขตปลอดอากร 21.17 ล้านบาท, งานจ้างที่ปรึกษาออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างศูนย์การขนส่งสาธารณะ 13.99 ล้านบาท, งานจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้างสถานีแปลงไฟฟ้าย่อยที่ 2 และโรงบำบัดน้ำเสียโรงที่ 2 วงเงิน 13 ล้านบาท, งานที่ปรึกษาออกแบบและปรับปรุงคุณภาพดินและงานผิวทางลานจอดบริเวณอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 และทางวิ่งเส้นที่ 3 74.5 ล้านบาท
         นอกจากนี้ จากรายงานข่าวเมื่อกันยายน 2547 ที่ผ่านมาระบุว่า จากข้อตกลงเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-ออสเตรเลียที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2548 ปรากฏว่ามีนักธุรกิจทั้งสองฝ่ายสนใจในภาคธุรกิจบริการ ซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดและมีการขยายตัวเร็ว นายพรศิลป์ พัชรินทร์จนะกุล กรรมการรองเลขาธิการ สภาหอการค้าไทยกล่าวในตอนนั้นว่ามีนักธุรกิจออสเตรเลียสนใจที่จะเข้ามาจัดตั้งบริษัทบริการด้านกฎหมายและบริการที่ปรึกษาธุรกิจหลายบริษัท ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทจากออสเตรเลียมาตั้งบริษัทที่ปรึกษาในไทยแล้วประมาณ 30 บริษัท