"ไทยแลนด์พลาซ่า" ปัญหาโผล่ซ้ำซ้อน
มติชนรายวัน วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม 2548 หน้า 17
 
สรุปสาระข่าว
 
         ผู้ค้าห่วงทำเลไม่เอื้อ-ยื้อเซ็นสัญญาเช่า แย้ม "ทีจี" ชิ่งหาอาคารอื่นหนีของแพง ผู้ประกอบการในไทยแลนด์พลาซ่า นิวยอร์ก ออกอาการวิตกโครงการไม่เวิร์ก บางส่วนลังเลเซ็นเอ็มโอยูกับกรมส่งเสริมการส่งออก เหตุเงื่อนไขไม่ชัดเจน คนไทยในสหรัฐติงทำเลไม่เหมาะทำการค้า ปูดการบินไทยเริ่มชิ่งหันใช้พื้นที่อาคารอื่นหนีค่าเช่าแพง
 
 
ข้อคิดเห็น
         โปรดอ่านจดหมายถึงนายกรัฐมนตรี ของ ดร. โสภณ พรโชคชัยในเรื่องดังกล่าวนี้
เรื่อง ความจำเป็นในการประเมินค่าทรัพย์สินที่ตั้งแห่งใหม่ Thailand Plaza ณ นครนิวยอร์ก (18 กุมภาพันธ์ 2548)
เรื่อง การประเมินค่าทรัพย์สินที่ตั้ง Thailand Plaza ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (9 ธันวาคม 2547)
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         ผู้ค้าห่วงทำเลไม่เอื้อ-ยื้อเซ็นสัญญาเช่า แย้ม "ทีจี" ชิ่งหาอาคารอื่นหนีของแพง ผู้ประกอบการในไทยแลนด์พลาซ่า นิวยอร์ก ออกอาการวิตกโครงการไม่เวิร์ก บางส่วนลังเลเซ็นเอ็มโอยูกับกรมส่งเสริมการส่งออก เหตุเงื่อนไขไม่ชัดเจน คนไทยในสหรัฐติงทำเลไม่เหมาะทำการค้า ปูดการบินไทยเริ่มชิ่งหันใช้พื้นที่อาคารอื่นหนีค่าเช่าแพง

         แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการไทยแลนด์พลาซ่า สาขาแรกกรุงนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการเอกชนเจ้าหน้าที่รัฐและคนไทยที่อยู่ในสหรัฐกำลังกังวลถึงการที่รัฐบาลอนุมัติให้จัดทำโครงการไทยแลนด์พลาซ่า(ทีเอชพี) ในนครนิวยอร์ก ที่อาคาร 505 ถนนฟิฟธ์อเวนิว เพราะไม่เหมาะสมที่จะจัดทำโครงการ เพราะเป็นจุดต่อรถไม่สามารถจอดรถขนส่งสินค้าได้ เป็นอุปสรรคต่อการขนย้ายสินค้าในกลุ่มสินค้าตกแต่งบ้าน เครื่องใช้ เครื่องครัวและอุปกรณ์ และผู้สัญจรไปมาส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายโดยตรงของโครงการ อีกทั้งราคาค่าเช่าพื้นที่ก็สูงกว่าอาคารใกล้เคียง โดยขณะนี้ทราบว่าบริษัทการบินไทยได้หันไปทำสัญญาเช่าพื้นที่อาคารใกล้เคียงแล้ว โดยมีค่าเช่าพื้นที่ถูกกว่าคือประมาณ 40 เหรียญสหรัฐต่อตารางฟุต ขณะที่อาคาร 505 มีราคาถึง 299 เหรียญสหรัฐต่อตารางฟุต จึงมีแต่กรมส่งเสริมส่งออก คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่นี้
         "เมื่อรัฐบาลอนุมัติให้เช่าอาคารเลขที่ 505 ก็มีคนไทยที่อยู่ในสหรัฐได้เตือนมายังผู้ประกอบการคนไทยว่าไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสม อยากให้มีการทบทวนที่ตั้งสถานที่ใหม่ จึงได้มีการจัดทำและส่งหนังสือคัดค้านไปยังกระทรวงการต่างประเทศและสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ก็เงียบหายไป "
         แหล่งข่าวกล่าวว่า อีกประเด็นที่กำลังกังวลกันมาก คือข้อสัญญาเช่าพื้นที่และเงื่อนไขในสัญญาระหว่างผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการกับกรมส่งเสริมการส่งออกในฐานะดูแลโครงการทีเอชพี แต่ผู้ประกอบการยังไม่รับทราบถึงสัญญาเช่าพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งกรมส่งเสริมการส่งออกได้แจ้งว่าจะมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ(เอ็มโอยู) กับผู้ผ่านการคัดเลือกเข้าโครงการ โดยอ้างว่ายังถือเป็นการลงนามสัญญา แต่เมื่อนำเนื้อหาของเอ็มโอยูไปให้นักกฎหมายตรวจสอบ ได้รับการยืนยันว่าถ้อยคำที่ใช้ถือว่าเป็นสัญญาและมีความผูกพันในอนาคต
         "ข้าราชการไม่ใช่พ่อค้า อาจไม่ละเอียดรอบคอบอย่างเอกชนที่ต้องแบกรับภาระเองทั้งหมด แม้รัฐจะสนับสนุนงบการตลาดและประชาสัมพันธ์แต่ก็ไม่รู้ว่าเท่าไหร่ นานแค่ไหน แต่สัญญาจะผูกพันเราทุกอย่าง สัญญาที่ให้ดูก็ยังไม่เคลียร์ จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้เอกชนยังไม่ตอบที่จะไปลงนามเอ็มโอยู"
         "ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการส่งออกได้ส่งหนังสือเชิญไปยังผู้ผ่านการคัดเลือก 31 ราย เพื่อร่วมลงนามเอ็มโอยูในวันที่ 18 พฤษภาคม 2548 แต่ก่อนกำหนดการเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็แจ้งเลื่อนการลงนามออกไปก่อน นอกจากนั้นยังมีผู้ประกอบการบางรายเองไม่ตอบรับที่จะลงนามเอ็มโอยู เพราะยังไม่มีความชัดเจนในสัญญาที่ต้องกระทำกับรัฐ