ปัญหากองทุนหมู่บ้านโดยกิ่งอ้อ เล่าฮง
กรุงเทพธุรกิจรายวัน, พุธที่ 13, พฤหัสบดีที่ 14, ศุกร์ที่ 15 และ เสาร์ที่ 16 เมษายน 2548
 
สรุปสาระข่าว
 
         เป็นข้อเขียน 4 ตอนในกรุงเทพธุรกิจรายวัน เกี่ยวกับปัญหาของกองทุนหมู่บ้านและกองทุนอื่น ๆ ที่ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านต่าง ๆ กู้ยืม ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาในภายหลังได้
 
 
ข้อคิดเห็น
         ประสบการณ์การลงทุนในทรัพย์สิน-อสังหาริมทรัพย์สอนให้เรารู้ว่า สำหรับการเป็นหนี้นั้น เราควรมีหลักยึดอยู่ 4 ประการคือ
         1. ถ้าไม่จำเป็น ต้องไม่เป็นหนี้ (กรณีจำเป็นที่ต้องเป็นหนี้ก็ควรเป็นเพียงเพื่อการลงทุนเท่านั้น การกู้เงินเพื่อไปเสพสุขมีโอกาสสูงที่จะประสบเคราะห์ในวันหน้า)
         2. ถ้าเป็นหนี้ ต้องเป็นแต่น้อย (ไม่เกินกำลังที่จะผ่อนได้ การกู้เงินจำนวนมาก ๆ ผ่อนสูง ๆ โดยไม่เผื่อเหลือเผื่อขาด จะมีโอกาสเสียเครดิตได้)
         3. ถ้าเป็นหนี้ อย่าเป็นหลายทาง (เพราะจะทำให้มีโอกาสผิดพลาดในการบริหารเงิน และถ้าเราต้องชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่เรื่อย เราก็อาจขาดสมาธิในการทำมาหากินในที่สุด)
         4. ถ้าเป็นหนี้ จงใช้คืนโดยเร็วที่สุด (ช่วงแรก ๆ ของการผ่อนใช้หนี้มักเป็นดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น ดังนั้นยิ่งผ่อนนาน ยิ่งเสียดอกเบี้ยมาก)

ข้อคิดซ้ำ เช่น กรณี
คนไทยติดกับดักดบ. 0% ซื้อแหลกไม่สนหนี้บาน
 
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         โปรดอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
กรุงเทพธุรกิจรายวัน, พุธที่ 13 เมษายน 2548

ทุกข์คนชายขอบ แบกภาระหนี้กองทุน

         กองทุนหมู่บ้านเครื่องมือที่รัฐบาลทักษิณ หวังช่วยชาวบ้านให้ลืมตาอ้าปาก แต่ 2 ปีผ่านมา ให้บทเรียนมีค่าอย่างไร 'กิ่งอ้อ เล่าฮง' ลงพื้นที่สำรวจบทเรียนมาเล่าสู่ผู้อ่านรวม 5 ตอน โดยสุ่มเลือกจากภาคเหนือที่ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก และภาคอีสานที่ บ้านร้านหญ้า หมู่ที่ 3 ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
         คนชายขอบประสบปัญหาการใช้เงินกองทุนหมู่บ้านทำให้หนี้ท่วมตัว ไม่ได้คืนเงินล้านมากว่า 2 ปีแล้ว ประกาศจะไม่ยืมอีกหลังจากถูกชักชวนให้กู้โดยไม่เต็มใจ แถมต้องจ่ายดอกเบี้ยร้อยละ 10 ชาวบ้านเผยลงทุนดาวน์รถอีต๊อกทำไร่แต่ไร้ผลผลิต ต้องกัดฟันส่งดอกเบี้ยรถ ขณะบางรายส่งเงินคืนแต่ประธานกองทุนนำไปใช้โดยไม่หักหนี้ออกจากบัญชีเงินฝาก
         โครงการนำร่องจัดตั้งธนาคารหมู่บ้าน เพื่อหวังต่อยอดโครงการกองทุนหมู่บ้าน ตามนโยบายช่วยรากหญ้าของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในหลายพื้นที่อาจประสบความสำเร็จในการบริหารเงินกองทุนที่กำลังเกิดขึ้น แต่ในหมู่บ้านชนบทเขตชายแดน ที่ห่างไกลความเจริญซึ่งราษฎร ส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงที่ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก โดยเฉพาะที่ 'กุยต๊ะ' หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เคยประกาศอดข้าวประท้วงเมื่อปลายปี 2546 กลับประสบปัญหาไม่สามารถหาเงินส่งคืนให้กองทุนหมู่บ้านได้ เนื่องจากทำไร่ขาดทุน หลายหมู่บ้านถูกนายทุนหัวใสหลอกกู้เงินต่อถูกโกงจนหมด แถมยังเจอกรรมการกองทุนโขกดอกเบี้ยร้อยละ 10 แล้วยังนำดอกเบี้ยมาใช้กระจุย บางรายส่งคืนเงินต้นแล้วแต่บัญชีไม่ถูกหัก ส่งผลให้สมาชิกมีหนี้สินล้นตัว
         ในการสุ่มสำรวจการใช้เงินโครงการกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท โดย 'กรุงเทพธุรกิจ' ร่วมกับ สำนักข่าว IPS (Inter Press Service Asia-Pasific) และมูลนิธิญี่ปุ่น ตามโครงการรายงานข่าวความขัดแย้ง และผลกระทบที่เกิดขึ้นในสังคม โดยได้เลือกสำรวจในเขตพื้นที่ภาคเหนือที่ ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก และภาคอีสานที่ บ้านร้านหญ้า หมู่ที่ 3 ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด
         กล่าวเฉพาะในเขตพื้นที่ ต.แม่จัน ซึ่งมีจำนวน 12 หมู่บ้าน ประกอบด้วย หมู่ 1 บ้านนุเซโปล้ หมู่ 2 บ้านกล้อทอ หมู่ 3 บ้านโข๊ะทะ หมู่ 4 บ้านทิโพจิ หมู่ 5 บ้านกุยต๊ะ หมู่ 6 บ้านกุยเลอตอ หมู่ 7 บ้านหม่องกั๊วะ หมู่ 8 บ้านแม่จันทะ-กรุโบ หมู่ 9 บ้านเปิ่งเคลิ่ง หมู่ 10 บ้านเลตองคุ หมู่11 บ้านทีจอชี และหมู่12 บ้านมะโอ๊ะโค๊ะ ซึ่งการสุ่มสำรวจครั้งนี้ได้เลือกพื้นที่หมู่ที่ 5, 6,และ 8
         เหตุผลที่เลือกหมู่บ้านดังกล่าว เนื่องจากในช่วงปลายปี 2545 ที่ผ่านมา ชาวบ้านในหมู่บ้านนี้โดยเฉพาะที่บ้านกุยต๊ะภายใต้การนำของนายจอวาโพ ตระหง่านกูลชัย ได้นำชาวบ้าน 98 คน จำนวน 16 ครอบครัว (จากจำนวน 76 หลังคาเรือน) ได้ประกาศอดข้าวพร้อมทั้งคืนบัตรประชาชนให้กับผู้ใหญ่บ้านหลังจากไม่สามารถหาเงินมาคืนกองทุนหมู่บ้านได้ ในขณะที่ส่วนที่เหลือจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้กองทุนหมู่บ้านได้เช่นกัน
         ในอดีตหมู่บ้านเหล่านี้มีวิถีชีวิตความเป็นอยู่พึ่งพากับธรรมชาติ ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง ประกอบอาชีพในการปลูกข้าวไร่ ปลูกพริกและข้าวโพด ถือเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ ส่วนที่เหลือจะนำไปขาย โดยเฉพาะพริก ซึ่งขายในกิโลกรัมละ 70-110 บาท และไม่เคยมีหนี้สินใดๆ ทั้งสิ้น จนกระทั่งเมื่อประมาณปี 2544 รัฐบาลประกาศนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติสำหรับเป็นแหล่งทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน โดยเปิดโอกาสให้หมู่บ้าน 71,025 แห่งทั่วประเทศ สามารถกู้เงินกองทุนได้หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท
         สำหรับพื้นที่เขตหมู่ 5 (รวมพื้นที่บางส่วนกับบ้านกลุยเคอะ 10 ราย จำนวน 2.6 แสนบาท ) มีผู้กู้ยืมเงินเฉพาะเขตหมูบ้านกุยต๊ะจำนวน 37 ราย คิดเป็นเงินกู้ 7 .4 แสนบาท และเสียดอกเบี้ยในปีแรกร้อยละ 10 รวมคิดเป็นเงินประมาณ 7 หมื่นกว่าบาท และไม่ได้มีการตั้งกองทุนใหม่ขึ้นมารองรับหรือนำเงินจำนวนนี้มารวมกับเงินกองทุนหมู่บ้านเลย และในปี 2546 แม้จะมีการลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 5 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีชาวบ้านรายใดใช้เงินคืนเลย
         แฉกรรมการกองทุนขูดดอกเบี้ยร้อยชักสิบ
         นายคียีพอ ประกาศคลองคีริน บ้านเลขที่ 57 หมู่ 5 กล่าวว่า ยืมเงินกองทุนหมู่บ้านครั้งแรกปี 2544 จำนวน 20,000 บาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 10 ซึ่งครั้งนั้นสามารถชำระคืนได้ทั้งหมด ธนาคารและกรรมการกองทุนจึงให้กู้ต่อ จึงยืมมาอีก 30,000 บาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 5 เพื่อลงทุนทำไร่ ปลูกพริก ข้าวโพด แต่ไม่ได้ผล กลัวเป็นหนี้เพิ่มจึงนำเงินที่เหลือจำนวน 20,000 บาท ไปคืนให้กับกรรมการกองทุน ขณะนี้ยังเหลืออีก 10,000 บาท ซึ่งยังไม่ได้ใช้คืน
         'ผมมีลูก 7 คน เงินที่ยืมมาก็ไม่ได้เอาไปทำอะไร ลงทุนปลูกพริกเหมือนกับตอนที่ไม่ได้ยืมเงิน ขายได้โลละ 70-80 บาทบ้าง แต่พอลงทุนเพิ่มแล้งที่แล้ว ต้นพริกเน่า ไม่ได้อะไรเลย เงินที่ยืมมาก็ไม่ได้ทำอะไร ใช้ซื้อกินเฉยๆ หมดแล้ว เราไม่อยากได้แล้วเงิน ไม่มีเงินเมื่อก่อนก็อยู่ได้ ไม่ติดหนี้ แต่พอมีหนี้แล้วคิดอะไรไม่ออก นอนไม่หลับเลย ทำข้าวก็ไม่พอกิน เลยมารวมกลุ่มกับจอวาโพ' ชาวบ้านหมู่บ้านกุยต๊ะกล่าว
         นายคียีพอ กล่าวว่า ถ้าหาเงินใช้หนี้กองทุนหมดแล้ว ก็จะไม่กู้เงินใครอีกไม่ว่าจะเป็นเงินรัฐบาลหรือกองทุนไหนๆ และหากรัฐบาลต้องการเงินคืนในขณะนี้ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็คงไม่มีให้เหมือนกัน มีแต่ตัวก็ไม่รู้ว่าเขาจะเอาหรือเปล่า
         นายหม่อเซ่ ตระหง่านกูลชัย บ้านเลขที่ 79 หมู่ 5 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก อดีตกรรมการกองทุนที่ลาออกมารวมกลุ่มกับจอวาโพ และคียีพอ เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ค่อยอยากกู้เงิน แต่ประธานกองทุนคือ นายพะสะจา ศรีโสภาคีรี ได้เรียกประชุมชาวบ้านและบอกว่า มีเงินมาแล้วขอให้ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเพื่อขอยืมเงิน เขาให้แล้วไม่เอาไม่ได้
         ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มกู้เงิน ปีแรกๆ สามารถใช้คืนได้หมด แต่ปีต่อมาเริ่มมีปัญหามากๆ ชาวบ้านไม่ค่อยคืนเงิน หรือบางทีคืนแล้ว ประธานกองทุนก็ไม่หักยอดเงินคืนให้ มีหลายรายที่เป็นอย่างนี้
         'ผมเบื่อก็เลยลาออกจากเลขากองทุน ไม่อยากเห็นเขาทะเลาะกัน ก็เลยมารวมกับกลุ่มกับจอวาโพ จอวาโพไม่ได้กู้เงินล้าน แต่ญาติๆ เขากู้ เขาเห็นว่า ทำไมพวกเรากู้เงินแล้ว แต่ยังทำไม่พอกิน แถมยังติดหนี้เพิ่มอีก คนที่กู้ 6-7 คนก็เลยมาคุยกันว่าจะแก้ไขปัญหายังไงดี เราไม่โกง แต่ว่ายังหาเงินคืนไม่ได้' นายหม่อเซ่ กล่าว
         ชาวบ้านร้องประธานกองทุนไม่ยอมคืนเงิน
         ไม่เพียงครอบครัวของหม่อเซ่ เท่านั้นที่มีปัญหา แต่ครอบครัวของ นายหม่ออีเย พยัคฆ์ขุนคีรี บ้านเลขที่ 39 หมู่ 5 และ นางออยา ตระหง่านกูลชัย บ้านเลขที่ 72 หมู่ 5 ก็พบกับโชคร้ายเช่นเดียวกัน คือ กู้เงินมาแล้ว ตนเองได้ใช้ส่วนหนึ่ง แต่อีกส่วนถูกประธานกองทุนยืมไปใช้โดยบอกว่าจะคืนให้พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 3 แต่จนบัดนี้ 2 ปีกว่าแล้วทั้งคู่ก็ยังไม่ได้คืน
          นายหม่ออีเย กล่าวว่า กู้เงินกองทุนจำนวน 2 หมื่นบาท แต่ประธานกองทุนได้มาขอยืมไปจำนวน 1 หมื่นบาท แล้วบอกว่าปีหน้าจะใช้คืน ตอนนี้เขายังเฉยๆ ไม่เห็นเขาว่าอะไร หากเขาไม่ให้คืนก็ไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน คงต้องให้เขาขายที่ดินเอาเงินมาใช้หนี้ เพราะเราก็ต้องคืนเงินกองทุนให้รัฐบาล
          ขณะที่นางออยา เล่าว่า กู้เงินกองทุนเป็นครั้งที่สองจำนวน 2 หมื่นบาท ขณะนี้ครบกำหนดใช้เงินคืนแล้ว แต่ยังไม่มี ไม่ทราบว่าจะไปหาที่ไหน ประธานยืมไป 5 พันบาท 2 ปีแล้ว ยังไม่คืนเลย ถ้าเขาคืนให้ก็จะนำเงินจำนวนนี้ไปคืนกองทุนก่อน ค่อยๆ คืนให้ เมื่อก่อนไม่มีหนี้ไม่ลำบากเลย ตอนนี้มีหนี้เงินกู้กองทุน ส่งแต่ดอกเบี้ยปีละ 2 พันบาท มีหนี้แล้วคิดอะไรไม่ออกเลย ถ้าหมดนี้กองทุนก็ไม่เอาอีกแล้ว
          'บางรายคืนเงินไปแล้ว เขาก็ไม่ตัดยอดให้ บัญชีของชาวบ้านประธานก็เก็บไว้ทั้งหมด บอกว่าชาวบ้านเก็บไว้เองกลัวจะหาย เงินที่เรากู้มา เขาก็มายืมบอกว่า ไม่น่าจะกู้มาก ปีนี้หากรัฐบาลจะเก็บเงินคืนจริงๆ เราคงต้องไปหากู้จากนายทุนข้างนอก แม้จะเสียดอกสองต่อก็ต้องยอม' นางออยา กล่าว


กรุงเทพธุรกิจรายวัน, พฤหัสบดีที่ 14 เมษายน 2548

รายงาน : นายหน้าหลอกกู้ฮุบเงินกองทุน (2)

          ประธานกองทุนหมู่บ้านกุยต๊ะ จากตำบลอุ้มผาง อำเภอแม่จัน จังหวัดตาก ยอมรับใช้เงินไม่เป็น ขณะที่ดอกเบี้ยกว่า 7 หมื่นบาท ร่วมใช้กันหลายคน ขณะที่กะเหรี่ยงบ้านกุยเลอตอ เผยถูกห้ามนำเงินกองทุนซื้อวัว-ควาย ส่วนท้องถิ่นใกล้เคียงประสบปัญหาถูกนายหน้ายืมเงินหน้าธนาคารไม่เห็นดอก-ต้น เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว
          นายพะสะจา ศรีโสภาคีรี บ้านเลขที่ 31 ม.5 ต.อุ้มผาง อ.แม่จัน จ.ตาก ในฐานะประธานกองทุนหมู่บ้าน บอกว่า ในปี 2545 ชาวบ้านหมู่บ้านกุยต๊ะจำนวน 37 ราย รวมกับบ้านกุยเลอตอบางส่วนอีก 10 ราย รวมทั้งหมด 47 ราย ได้ร่วมกู้เงินกองทุนหมู่บ้านมาทั้งสิ้น 997,000 บาท โดยผู้กู้ทุกรายจะถูกหักดอกเบี้ยร้อยละ 10 ทันทีเมื่อถอนเงินออกจากธนาคาร และมอบให้กับประธานและคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านเก็บไว้ แต่ขณะนี้เงินจำนวนดังกล่าวได้ถูกนำไปใช้หมดแล้ว
         "เก็บดอกเบี้ยเฉพาะบ้านกุยต๊ะได้ 70,000 กว่าบาท ใช้หมดแล้ว ในธนาคารยังมีเหลืออยู่ 3 พันบาท ผมอยู่นี่ต้องมีค่าใช้จ่าย ค่าเหมารถ ค่าเดินทาง ค่าอาหาร เวลาเข้าไปประชุมในเมือง บางครั้งก็นำมาล้มหมูเลี้ยงพวกกรรมการกองทุนฯ โดยปีหนึ่งจะเดินทางเข้าอำเภอ 10 ครั้ง โดยเหมารถไปกลับครั้งละ 4,000 บาท" เขาบอกด้วยน้ำเสียงอ้อมแอ้ม
          แต่เมื่อถูกแย้งกลับว่า ค่าเหมารถกับดอกเบี้ยที่ถูกนำไปเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไม่ควรจะแพงขนาดนี้ เขานิ่งเงียบแทนคำตอบ แต่กลับผลักถุงกระดาษที่รวมรวมสมุดบัญชีเงินกู้ของธนาคารออมสิน ที่เขาเรียกเก็บคืนจากสมาชิกมาไว้ตรงหน้า แล้วพูดขึ้นว่า
         "อยากได้ก็เอาไป ผมไม่ทำแล้ว ตรวจสอบได้เลย ตอนนี้มีแค่กลุ่มจอวาโพ ที่ยังไม่คืนเงิน ส่วนคนอื่นๆ คืนหมดแล้ว" ประธานกองทุนหมู่บ้านกุยต๊ะ กล่าวพลางยอมรับว่า ขณะนี้เขาเองก็ยังไม่มีเงินคืนกองทุนฯ หลังจากกู้ยืมมาถึง 50,000 บาท เพื่อนำมาลงทุนเลี้ยงวัวควายและซื้อรถกระบะ
          และเมื่อถูกถามต่อว่า เหตุใดเขาจึงยืมเงินชาวบ้านที่กู้มาจากกองทุนฯ หลายราย นายพะสะจา กล่าวว่า ชาวบ้านบางรายกู้เงินไป 2 หมื่นบาท แต่ในฐานะประธานฯ เห็นว่า กู้มากไปกลัวคนยืมอาจไม่มีความสามารถในการใช้เงินคืนก็เลยให้ไปไม่ถึง 2 หมื่น แต่เงินจำนวนดังกล่าวยังก็ไม่ได้ถูกตัดจากบัญชี หากยังคงสภาพยอดกู้เดิมไว้ ส่วนเงินที่ขอคืนจากสมาชิกนั้นนำมาใช้เสียเอง
         "ผมยอมรับว่าปีแรกคิดดอกแพง เพราะกรรมการกองทุนฯ เห็นร่วมกันอย่างนี้ พอปีที่สองชาวบ้านบอกแพง ก็เลยลงมาเหลือร้อยละ 5 ส่วนเงินที่เอาคืนจากชาวบ้าน ยอมรับว่ายังไม่ได้คืนในบัญชีให้เขา ก็เอาไปใช้แล้ว ยังไม่รู้จะทำอย่างไรเหมือนกัน" นายพะสะจา กล่าวด้วยท่าทางกลัดกลุ้ม
          เคราะห์ซ้ำติดหนี้สองต่อ
         "หนี้สิน" ที่เกิดจากกองทุนหมู่บ้านไม่ได้มีเฉพาะที่บ้านกุยต๊ะแห่งเดียว แต่ที่บ้านกุยเลอตอ ม.6 ก็ประสบปัญหาด้วยเช่นกัน นายโอภาส ครองเคียน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 บ้านเลขที่ 28 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ในหมู่บ้านแห่งนี้มีจำนวน 86 ครอบครัว มีเพียง 27 ครอบครัวเท่านั้นที่กู้เงิน โดยในปีแรกเสียดอกเบี้ยร้อยละ 10
          เฉพาะที่บ้านของเขาได้กู้เงินกองทุนหมู่บ้านในปี 2544 จำนวน 4 หมื่นบาท และสามารถใช้คืนได้หมด ปี 2546 ต่อมาได้กู้มาอีก 5 หมื่นบาท เสียดอกเบี้ยร้อยละ 5 เพื่อลงทุนเปิดร้านขายของชำ ปลูกพริก และถั่วลิสง แต่ได้ผลผลิตไม่ดี ต้นพริกเน่าเสีย
          ส่วนการเปิดร้านของชำก็ไม่มีกำไร เนื่องจากในหมู่บ้านกู้เงินมาแล้ว ไม่รู้จะทำอะไรก็เปิดร้านขายแข่งกัน ทำให้ขายของไม่ดี โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน นอกจากนี้คนซื้อก็ขอติดหนี้ไว้ก่อน จึงได้ตัดสินใจเลิกขายเมื่อประมาณ 6 เดือนที่แล้ว
         "อยู่มาจนอายุจะ 50 ปีแล้ว ไม่เคยมีหนี้สินเลย พอมีเงินกองทุนเข้ามา ตอนนี้ต้องติดหนี้สองทาง คือ บางคนกู้มา 2 หมื่นบาท ไม่มีคืน ก็ต้องไปกู้นายทุนข้างนอกมาใช้หนี้อีก กรรมการกองทุนฯ บอกว่า เงินกองทุนที่กู้มา เอาไปทำอะไรก็ได้ แต่ห้ามไปซื้อวัวควายมาเลี้ยง ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเขาห้าม พวกเราคิดว่าลงทุนเลี้ยงวัวควาย มันยังขายได้ ตกลูกมาก็ได้ลูกเพิ่ม แต่กรรมการฯ เขาห้าม แทนที่จะหลุดหนี้กลายเป็นมีหนี้เพิ่ม ถ้าหาเงินส่งคืนงวดนี้หมดแล้ว ก็ไม่มีใครกู้แล้ว เมื่อก่อนไม่มีหนี้ไม่ค่อยปวดหัว พอมีหนี้ก็นอนไม่หลับปวดหัวกันทุกคนเลย" ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 6 กล่าว
          ผู้ใหญ่โอภาส กล่าวว่า ช่วงที่ยังไม่มีเงินกองทุนฯ มาให้กู้ ปีหนึ่งจะมีรายได้ประมาณ 1 หมื่นบาทจากการขายพริก ถั่ว ไม่เคยไปยืมเงินใคร มีเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น เท่าที่คุยกันชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่อยากกู้เงิน แต่พวกกรรมการกองทุนฯ บอกว่า ถ้าเรารวมกลุ่มไม่ได้ คนอื่นจะไม่ได้เงินด้วย แล้วก็คิดว่าถ้าคนอื่นที่กู้เงินหาส่งคืนได้ เราก็น่าจะทำได้ เราหลงใจตัวเอง ก็เลยเอาด้วย แต่ตอนนี้พอถลำเข้าไปแล้วถอยไม่ออก กลุ้มใจมาก
         "อยากให้รัฐบาลช่วย แต่ถ้าช่วยแล้วจะทำให้ชาวบ้านติดหนี้เพิ่มอีกหรือเปล่า เขาน่าจะส่งคนมาช่วยชาวบ้าน มาให้ความรู้บ้าง กรรมการกองทุนฯ ประธานกองทุนฯ เขายังไม่มีความรู้ ผมคิดว่าจะปรึกษาพัฒนากรอำเภอว่าจะทำอย่างไร บอกจริงๆ ว่า เรากลัวการเป็นหนี้ มันไม่สบายใจเลย อยากให้รัฐบาลยืดระยะเวลาการชำระหนี้ออกไปก่อน ชาวบ้านไม่หนีแน่นอน แต่ขอผ่อนส่งเป็นงวดๆ ไป แล้วก็ขอไม่ให้คิดดอกเท่านั้นก็พอ" ผู้ใหญ่บ้านกุยเลอตอ กล่าว
          ในขณะที่นางมะเลทู รัศมียิ่งมงคล บ้านเลขที่ 2 และนายจอเกลาะที หรือ มานพ พนาไพร บ้านเลขที่ 19 หมู่ 6 หมู่บ้านเดียวกับผู้ใหญ่โอภาส สมาชิกกองทุนหมู่บ้านซึ่งได้กู้เงินจำนวน 3 หมื่นบาท ซื้อรถอีต็อกเครื่องยนต์คูโบต้า มาใช้เพื่อหวังเพิ่มผลผลิตในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก แต่ปรากฏว่า ทั้งคู่ประสบชะตากรรมเดียวกัน คือ ยังไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้กองทุนได้หมด หลังจากจ่ายเงินดาวน์ไปทั้งสิ้น 3 หมื่นบาท จากราคาเต็ม 59,800 บาท
          นางมะเลทู และมานพ เล่าให้ฟังว่า ปัจจุบันทั้งคู่ยังเหลือยอดค้างชำระค่ารถอีต็อกอีกประมาณ 29,800 บาท ซึ่งเดิมได้มีกำหนดส่งให้บริษัทขายรถปีละ 16,900 บาท และครบกำหนดส่งงวดรถทั้งหมดปี 2548 แต่เนื่องจากปีที่ผ่านมาทำสวนไม่ได้ เนื่องจากฝนทิ้งช่วงนาน จึงส่งดอกเบี้ยอย่างเดียวเฉพาะปีนี้จ่ายไปแล้ว 4,700 บาท
         "ชาวบ้านเห็นเงินก้อนใหญ่มาก็ดีใจ ไม่คิดว่ากู้มาใช้แล้วจะทำให้ติดหนี้ใคร ในชีวิตผมไม่เคยติดหนี้ใคร ไม่เคยยืมใคร หนี้สินที่มีอยู่ตอนนี้ถือเป็นหนี้ก้อนโตที่สุดแล้ว มีรถแต่ฝนฟ้าไม่ตก แห้งแล้งอย่างนี้จะทำอะไรได้ ผมอยากให้รัฐบาลผ่อนผันการชำระหนี้ไปก่อน แล้วก็ไม่ต้องคิดดอกเบี้ย ผ่อนไปเรื่อยๆ ก็คงจะหมด แล้วไม่ว่าจะมีเงินกองทุนไหนมาก็คงไม่เอาแล้ว" นายมานพ กล่าว
          หมู่บ้านชายแดนถูกบีบกู้เงินแถมเจอโกงเงินกู้
          จากหมู่บ้านกุยต๊ะโดยใช้เวลาการเดินทางด้วยรถยนต์ 4 ชั่วโมงเต็ม ในระยะทาง 40 กิโลเมตร หมู่บ้านกรุโบถือเป็นหมู่บ้านที่อยู่เกือบติดกับแนวชายแดนไทย-พม่า ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวถือเป็นที่หลบซ่อนของบรรดานิสิตนักศึกษาในยุค 14 ตุลา 2516 หลักฐานหลายอย่างยังปรากฏให้เห็นโดยเฉพาะครกตำข้าวที่ใช้แรงดันจากกังหันพลังน้ำ
          นางมะซะนิ หรือ สุนีย์ ชัยกร บ้านเลขที่ 30 หมู่ 8 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เล่าด้วยน้ำเสียงภาษาถิ่นซื่อๆ ให้ฟังว่า หมู่บ้านนี้มีทั้งราษฎรที่มีบัตรประชาชนและไม่มีบัตร ครอบครัวของเธอได้กู้เงินกองทุนหมู่บ้านมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 2 หมื่นบาท และยังไม่ได้ใช้คืน เพราะว่าไม่มีเงิน ไม่มีรายได้ อีกทั้งเงินที่กู้มา ตัวเองก็ไม่ได้ใช้เลย
         "บอกจริงๆ ว่า เราอยู่ในป่า ไม่จำเป็นต้องใช้ตังค์ใช่ไหม กรรมการฯ ก็มาบอกว่าให้ช่วยกันสมัครเป็นสมาชิกกองทุน แล้วให้ช่วยกันกู้ ใจเราเอง ไม่อยากกู้ ไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาทำอะไร เขาก็บอกว่าถ้าสมาชิกไม่ถึงจำนวนที่เขาต้องการ ก็กู้ไม่ได้ กู้มาแล้วก็มีคนไทยจากแม่สอดนี่แหละขอยืมต่อ บอกว่าจะให้ดอกเบี้ยร้อยละ 3 ตอนนี้ 2 ปีแล้ว ต้นก็ไม่ได้ ดอกก็ไม่เห็น" มะซะนิ กล่าวด้วยเสียงท้อแท้
          มะซะนิ บอกว่า เงินกองทุนไม่ดีเลย เอามาให้แล้วทำให้เป็นหนี้ ต่างจากสมัยก่อนทำได้ 10 บาท 100 บาท ก็ไม่เคยเป็นหนี้ ตอนนี้ทุกคนต้องติดหนี้ "ทักษิณ" หมด ไม่รู้จะเอายังไง เชื่อเขาง่ายเราก็เลยเป็นหนี้ เป็นหนี้แล้ว ใจของเราอยู่ไม่สนุกเลย
         "ครบรอบส่งเงินมา 2 ปีแล้ว แต่เราไม่ได้ส่งเงินคืนธนาคาร เพราะไม่มีจะส่ง ตอนนี้เรารู้ตัวแล้วว่า ไม่เป็นสุข ครั้งต่อไป ถ้ามีเงินอะไรเข้ามา เราไม่เอาแล้ว ไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลต้องทำให้เราติดหนี้ด้วย" ชาวบ้านจากหมู่บ้านกรุโบ ย้ำ
         นางน่อมื่อตู๊ หรือ เรืองรอง กาญจนเจริญชัย บ้านเลขที่ 52 หมู่ 8 ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก เป็นชาวบ้านรายหนึ่งที่ไม่ยอมกู้เงินกองทุน ไม่ว่าจะถูกชักชวนจากใครๆ เหตุเพราะกลัวการเป็นหนี้ เธอเล่าให้ฟังว่า ถูกชักชวนให้กู้เงินเหมือนกัน แต่คิดถึงตัวเองว่า ยากจน หากกู้แล้วไม่มีคืนวันข้างหน้าจะทำยังไง พอคิดถึงวันข้างหน้าเลยไม่กู้ แล้วก็ไม่เคยเสียใจ และเสียดายเลยที่ไม่ได้กู้เงิน
         "เราติดหนี้เงินกู้ หายใจก็ไม่สะดวกแล้ว ไม่มีเงินหาได้ 5-10 บาทก็เป็นของเราหมด ไม่ต้องเอาไปให้ใคร เงินมันตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้หรือ เราว่ามันเป็นของร้อน ปีนี้กู้มา ปีหน้าก็ต้องกู้เพิ่ม ต้องวิ่งตลอดหยุดไม่ได้ เพื่อจะหาเงินไปให้เขา อยู่ในป่าไม่มีเงินก็อยู่ได้ แต่ไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร ฝนไม่ตก เราอยู่ไม่ได้ แล้วจะเอาเงินมาทำอะไร บางคนก็ถูกโกง เราเห็นแล้วสงสาร ทั้งๆ ที่เราจนกว่าเขาอีก" น่อมื่อตู๊ กล่าว


กรุงเทพธุรกิจรายวัน, ศุกร์ที่ 15 เมษายน 2548

พิษกองทุนเงินล้าน ... ชาวบ้านเวียนเทียนกู้ (3)

          หนี้สะพัดชาวบ้านแห่กู้เงินกองทุน-เงินล้านต่อยอดธ.ก.ส. ชาวบ้านเมืองร้อยเอ็ดรับต้องกู้เวียนเทียนใช้หนี้ 9 กองทุนในหมู่บ้าน ร้องขอขยายเวลาคืนชำระรัฐบาล ส่วนเฒ่าไร้หนี้เผยถูกตราหน้าว่า "โง่" มีเงินมากองถึงหน้าบ้านไม่ยอมยืม
          แม้เงินกู้กองทุนหมู่บ้านจะทำให้ชาวบ้านทั่วประเทศมีเงินจับจ่ายหมุนเวียนในการลงทุนทำนา ปลูกพืชไร่ และส่วนใหญ่สามารถชำระหนี้คืนกองทุนได้ครบหลังจากผ่านพ้นฤดูกาลการเก็บเกี่ยวเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยเฉพาะที่บ้านร้านหญ้า อ .สุววรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด และปรากฏว่าขณะนี้ได้มีผู้สมัครสมาชิกกองทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม 64 รายในปี 2547 เป็น 72 รายในปี 2548 จากจำนวนราษฎรทั้งหมด 117 ครอบครัว จำนวนนี้ยังไม่รวมกับสมาชิกเงินกู้กองทุนเงินล้านของธ.ก.ส. รวมทั้งกองทุนต่างๆที่ชาวบ้านร่วมกันตั้งขึ้นมาอีก 7 กองทุน
          นางสมควร แว่นทิพย์ วัย 40 บ้านเลขที่ 35 หมู่3 ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด กรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กล่าวว่า ในปี 2546 มีผู้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน 47 ราย ในปี 2547 มีสมาชิกกองทุน 64 ราย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 และในปี 2548 มีสมาชิกกองทุน 72 ราย ซึ่งจะเห็นได้ว่าในแต่ละปีมีผู้สมัครเป็นสมาชิกเงินกองทุนหมู่บ้านเพิ่มขึ้นตลอด โดยปีที่ผ่านมาสมาชิกทั้งหมดสามารถใช้เงินคืนได้ครบทั้งหมด และหลังจากชำระเงินคืนแล้วสมาชิกก็ได้กู้ยืมต่อในวงเงินที่เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
          "ปีนี้ข้าวราคาดี ชาวบ้านขายข้าวได้มากขึ้น ข้าวหอมมะลิ ราคาเกวียนละ 1 หมื่นบาท หรือกิโลกรัมละ 10 บาท พอขายข้าวเสร็จ แค่ 2 วันสมาชิกก็คืนหมด แล้วก็กู้ต่ออีก ส่วนใหญ่จะกู้เพิ่ม บางรายเคยกู้หมื่นเดียว ก็เพิ่มเป็น 2 หมื่น 3 หมื่นก็มี ปีที่แล้วเก็บดอกเบี้ยได้ 6 หมื่นกว่าบาท หลังจากหักเป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของคณะกรรมการกองทุนแล้ว 15-20% และในปีนี้ดอกเบี้ยก็คงเก็บเท่าเดิม จริงๆแล้วอยากเอาเงินที่เหลือมาซื้อที่เพื่อสร้างธนาคารชุมชน เพราะถ้าหากมีธนาคารชุมชนขึ้นในหมู่บ้านโดยให้ชาวบ้านบริหารกันเองก็น่าจะดีกว่าเทียวเข้าเทียวออกไปอำเภอ "นางสมควร กล่าว
          ไม่เพียงเงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทเท่านั้นที่ชาวบ้านร้านหญ้า หมู่ 3 ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ ยอมติดหนี้ แต่ปัจจุบันได้มีเงินกู้จำนวน 1 ล้านบาทของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.)เข้ามาในหมู่บ้านด้วย โดยเงินกู้ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7 บาท โดยมีชาวบ้านสมัครเป็นสมาชิกกู้เงินในขณะนี้ทั้งหมด 45 ราย
          นางสมควร กล่าวว่า มีเงินกู้ก็ดีทำให้ชาวบ้านมีเงินหมุนเวียน แต่ไม่อยากให้ส่งคืนเร็วภายใน 1 ปีเพราะว่าหาเงินไม่ค่อยทัน ทำให้ต้องกู้เงินกลุ่มอื่นมาใช้หนี้เงินกองทุนหมู่บ้าน จริงๆรัฐบาลน่าจะให้ยืมยาวไปเลย 5 ปี ช่วง 4 ปีแรกให้ส่งแต่ดอกเบี้ย แล้วก็ให้คืนหมดงวดสุดท้ายน่าจะดีกว่า ไม่อย่างนั้นหาเงินไม่ทันต้องกู้แบบเวียนเทียนตลอด
          นางใบ แจ่มใส บ้านเลขที่ 45 ม.3 บ้านร้านหญ้า ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า ครอบครัวของเขากู้เงินกองทุนหมู่บ้านตั้งแต่ปี 2546 จำนวน 1.5 หมื่นบาท ในปี 2547 กู้ 2 หมื่นบาท และปีนี้กู้อีก 2.5 หมื่นบาท รวมทั้งกู้เงินธ.ก.ส.อีก 3 หมื่นบาท รวมกู้ทั้งหมด 5.5 หมื่นบาท โดยเงินกู้ดังกล่าวจะนำไปใช้ในการลงทุนทอผ้าไหม ส่งลูกเรียนหนังสือ และค่าใช้จ่ายต่างๆ แม้ว่าปีนี้ราคาข้าวจะดี ขายได้แสนกว่าบาท แต่หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ทั้งค่ารถไถ ค่ารถเกี่ยว ค่าน้ำมัน ค่าจ้าง เหลือแค่ 8 หมื่น ก็ต้องนำมาใช้หนี้ทักษิณอีก
          "เป็นหนี้รัฐบาล ยังไงก็ดีกว่าเป็นหนี้นายทุน หนี้เงินล้านเสียดอกร้อยละ 6 บาท/ปี ถ้ากู้ข้างนอกเสียดอกร้อยละ 50 บาท/ปี จริงๆแล้วมีเงินก้อนนี้แม้จะทำให้ชาวบ้านมีหนี้เพิ่มขึ้นก็จริง แต่มันก็หล่อเลี้ยงให้ชาวบ้านอยู่ได้ อยากให้มีการตั้งธนาคารชุมชน แล้วก็มีการเพิ่มเงินกองทุนเข้ามาอีก "นางใบ กล่าว
          ขณะที่นางสมร หมึกสี บ้านเลขที่ 106 หมู่ 3 บอกว่า ในปีนี้ครอบครัวเธอกู้เงินธ.ก.ส.จำนวน 5 หมื่นบาทและกู้เงินกองทุนหมู่บ้านอีก 1 หมื่นบาท โดยนำมาใช้จ่ายเป็นค่าเล่าเรียนของลูกๆทั้ง 3 คน และกู้ซื้อไหมเพื่อนำมาทอผ้า และแม้ในปีนี้จะขายข้าวได้หลายหมื่นบาท แต่หักค่าใช้จ่ายทั้งหมดแล้วเหลือเพียง 3 หมื่นบาทเท่านั้น ซึ่งไม่พอ
          " ทอผ้าแม้จะมีรายได้ปีละ 2-3 หมื่นก็ไม่พอ เราต้องกู้เงินเขามาซื้อด้าย ราคาไหมก็ขึ้นจากกิโลกรัมละ 550 -850 บาทขึ้นมาเป็นกิโลกรัมละ 880-950 บาท ยอมรับว่ามีหนี้เพิ่ม ตอนนี้กลัวอย่างเดียวว่าถ้าต่อไปทำนา ข้าวไม่ได้ราคาจะทำยังไง รู้สึกลำบากใจเหมือนกันที่มีหนี้เยอะ หนี้ทักษิณกระจายไปทั่วหมู่บ้านเลย "สมร กล่าว
          และย้ำว่า นายกฯเคยบอกจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศภายใน 6 ปี ได้ไปขึ้นทะเบียนคนจนมาแล้ว ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น ติดหนี้เงินล้านทักษิณแล้ว ยังต้องติดหนี้ธ.ก.ส.ด้วย แถมยังมีหนี้กองทุนอื่นๆในหมู่บ้านด้วย ชาวบ้านไม่เคยคิดว่าตัวเองรวย ถ้ารวมจะต้องไม่มีหนี้ และตราบใดที่ยังมีหนี้เราก็ยังเป็นคนจนเหมือนเดิม
          เปิดตัวคนไร้หนี้แห่งบ้านร้านหญ้า
          พ่อใหญ่ลี อินอิ่ม บ้านเลขที่ 23 หมู่ 3 ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นครอบครัวเดียวในหมู่บ้านแห่งนี้จากจำนวน 117 ครัวเรือน ที่ไม่ยอมกู้เงินกองทุนใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเงินธ.ก.ส.หรือเงินกองทุนหมู่บ้าน เหตุที่ไม่กู้เงินกองทุนใดๆนั้นเกรงว่าจะติดหนี้และไม่มีเงินคืน หากกู้ยืมไปเรื่อยๆเงินที่มีอยู่ก็จะหมดไปโดยไม่ได้อะไรกลับมาแถมยังต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก แม้ว่าดอกจะถูกแต่อยู่บ้านนอกอย่างนี้ เราไม่ได้ทำธุรกิจมีแค่ไหนก็ควรใช้แค่นั้นพอ
          "มีคนว่าพ่อใหญ่โง่ มีเงินมากองให้ถึงหน้าบ้านแล้วยังไม่เอาอีก พ่อก็คิดในใจว่าเออ ! กูยอมโง่ เขาจะว่ายังไงก็เรื่องของเขา เขาว่าคนไม่มีหนี้คือ คนโง่ ทำไมคิดอย่างนี้ ถ้าพ่อยังไม่ตายก็จะรอดูว่า ไอ้คนฉลาดที่มันมีหนี้เมื่อไหร่มันจะหมดหนี้ หรือว่ามันจะหมดตัวไปเลยเพราะมีหนี้สินจนใช้ไม่ไหว เงินมันเป็นของดีก็จริง แต่ถ้าใช้มือเติบไม่ประมาณตัวเอง ก็อันตราย"พ่อใหญ่ลี กล่าว
          พ่อใหญ่ลี ยังบอกอีกว่า การกู้หนี้เพื่อทำให้ตัวเองรวยขึ้นนั้นไม่มีทางที่จะเป็นไปได้เลย เพราะอย่างไรเสียเมื่อครบกำหนดแล้วต้องหาใช้คืนเจ้าหนี้ กู้ตรงโน้นมาใช้ตรงนี้ เป็นเงินหมุนไม่มีอิสระ ช่วงแรกๆกู้น้อย แล้วต่อไปมือเติบก็กู้เพิ่มแล้วอย่างนี้จะหมดหนี้ได้อย่างไร หากครบกำหนดแล้วผลผลิตในปีนั้นเกิดไม่ดีจะไปเอาเงินที่ไหนมาใช้หนี้เขา ไม่กู้ดีกว่าสบายใจ
          ทั้งนี้สำหรับเงินกู้ในหมู่บ้านร้านหญ้านี้ นอกจากกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาทและกองทุนธ.ก.ส.แล้ว ยังประกอบด้วยกองทุนต่างๆอาทิ 1.กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต มีการออมเงินให้รูปหุ้น โดยเรียกเก็บในราคาหุ้นละ 20 บาท มีเงินออมจากผู้ถือหุ้นได้ประมาณ 1.5 แสนบาท ผู้กู้จะต้องเสียดอกเบี้ยให้ร้อยละ 7 -10 /ปี 2.กองทุนเฉลิมพระเกียรติ สมาชิกสามารถเข้ามาถือหุ้นได้ ในราคาหุ้นละ 500 บาท และปัจจุบันมีชาวบ้านเข้า รวมทั้งหมด 42 ราย มีเงินกองทุนสะสมฝากอยู่ในธนาคารจำนวน 100,000 บาท
          3.กลุ่มแม่บ้านสุขาภิบาลกองทุนนี้โดยเรียกเก็บเงินคนละ 100 บาท/เดือน และปัจจุบันมีสมาชิก 60 คน มีเงินเก็บประมาณ 20,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2-3 /เดือน 4.กลุ่มแม่บ้านสุขาภิบาลมีเงินกลุ่ม 36,000 บาท ให้สมาชิกกู้ยืมได้ ไม่เกินคนละ 299 บาท/ราย เพื่อนำไปใช้ในการกู้ซื้อเครื่องใช้ในครัวเรือน และคิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/ปี 5.กลุ่มสตรีทอผ้าไหม มีสมาชิก 30 คน ปัจจุบันกลุ่มมีเงินเก็บสะสมจำนวน 63,000 บาท คิดดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/ปี
          6.กลุ่มกองทุนพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 /ปี 7.กลุ่มสตรีทอผ้าไหม เงินกองทุนนี้แบ่งมาจากเงินกองทุนพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนเมืองจำนวน 50,000 บาทปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 70 คน โดยสมาชิกจะต้องลงหุ้นร่วมกันคนละ 100 บาท และหลังจากนั้นในทุกๆเดือนสมาชิกทุกคนจะต้องเก็บเงินออมเดือนละ 30 บาท เพื่อนำมาสมทบรวมกับเงินกองทุนที่มีอยู่เดิม ก่อนที่จะมีการปล่อยให้สมาชิกกู้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 บาท/เดือน
          8. กลุ่มกองทุนตำรวจอาสา เป็นเงินกู้ยืมกองทุนปุ๋ยแห่งชาติจำนวน 30,000 บาท ให้สมาชิกกู้ร้อยละ 3 บาท/ปีปัจจุบันกองทุนตำรวจอาสามีเงินทั้งสิ้นจำนวน 58,000 บาท 9.กลุ่มธนาคารข้าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการช่วยเหลือชาวบ้านในยามขัดสนโดยทางกลุ่มจะมีข้อกำหนดชัดเจน คือ ให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมาเก็บไว้ที่ฉางข้าวศาลปู่ตา ครอบครัวละ 3-5 ถัง และสมาชิกก็สามารถมาขอยืมข้าวเปลือกที่ฝากไว้ไปขายได้ รายละ 100 กิโลกรัม แต่จะต้องใช้คืน 120 กิโลกรัม


กรุงเทพธุรกิจรายวัน, เสาร์ที่ 16 เมษายน 2548

พิษกองทุนเงินล้าน.. ชาวบ้านตกเป็นเหยื่อ นายทุนท้องถิ่น (จบ)

          กองทุนหมู่บ้าน ช่วยให้ชาวบ้าน มีเงินหมุนเวียน และสร้างความกระตือรือร้น แต่ในหมู่บ้านห่างไกล หรือที่เรียกว่า 'ชุมชนชายขอบ' กำลังเผชิญ กับปัญหามากขึ้น นอกจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จากเม็ดเงินที่ลงไปแล้ว ยังเจอกับ การถูกหลอก กับบรรดานายทุน ที่เข้าไปหากิน จากความไม่รู้ของชาวบ้าน
          ทวีศักดิ์ สระใหญ่ ประธานกองทุนภาคอีสาน จ.ร้อยเอ็ด เล่าให้ฟังว่า จ.ร้อยเอ็ด มี 2,412 หมู่บ้าน ในปีที่ผ่านมาสามารถเก็บเงินคืนกองทุนหมู่บ้านได้ถึง 98% ในปีนี้จึงมีผู้สมัครเป็นสมาชิกกองทุนเพิ่มขึ้น ส่วนสมาชิกเดิมที่ใช้เงินคืนหมดแล้วบางรายได้ขยายวงเงินกู้ในปริมาณที่มากขึ้นด้วย และปัจจุบันนี้ จ.ร้อยเอ็ดได้มีการกู้ต่อยอดในล้านที่ 2 จากธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้ได้มีการปล่อยกู้ไปแล้ว โดยชาวบ้านจะกู้เงินจากทั้งกองทุนหมู่บ้านและเงินกู้ต่อยอดดังกล่าวด้วยเช่นกัน
          "หลังจากคืนกองทุนเสร็จแล้ว ส่วนใหญ่เขากู้ต่อ แล้วยังกู้ต่อยอดของธ.ก.ส.ด้วย คือ กู้ทั้งสองกองทุน ขั้นตอนการกู้ไม่จำเป็นต้องมีหลักทรัพย์อะไร ให้คณะกรรมการกองทุนชุดเดิมดูแล ผู้กู้ 8 คน จะต้องมีผู้ค้ำประกัน 7 คน มีกำหนดใช้คืนภายใน 1 ปี เหมือนกองทุนหมู่บ้าน ใครเป็นธนาคารไหนก็กู้ธนาคารนั้น ให้เขียนโครงการเสนอมาว่าจะกู้ทำอะไร โดยคิดดอกเบี้ยร้อยละ 6 บาท/ปี" ประธานกองทุนภาคอีสาน จ.ร้อยเอ็ด กล่าว
          ส่วนการจัดตั้งโครงการธนาคารหมู่บ้านนั้น ทวีศักดิ์บอกว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ทำโครงการนำร่องไปแล้ว 100 แห่งทั่วประเทศพร้อมๆ กัน โดยที่ จ.ร้อยเอ็ด ได้เริ่มดำเนินการที่บ้านปะเค อ.โพนทอง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งในเบื้องต้นคงต้องให้เจ้าหน้าที่จากธนาคารออมสินหรือธ.ก.ส.มาช่วยเป็นพี่เลี้ยง โดยจะพิจารณาจากกองทุนออมทรัพย์ที่มีอยู่ในหมู่บ้าน นอกจากนี้จะต้องมีการรับบัณฑิตกองทุนเข้ามาช่วยหมู่บ้านละ 1 คน สำหรับการฝากเงินนั้น หากหมู่บ้านใดสามารถทำโครงการธนาคารหมู่บ้านได้สำเร็จก็สามารถรับฝากได้เลยในอัตราขั้นต่ำตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป
          ระบุหนี้ทำให้ชาวบ้านกระตือรือร้น
          ทวีศักดิ์ยอมรับว่า ปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่อยู่ได้เพราะเงินกู้กองทุนหมู่บ้าน และเงินกู้จากส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ติดหนี้สินมาก
          "ที่ร้อยเอ็ด ชาวบ้านบางรายหนี้เยอะเพราะเขายังบริหารจัดการเงินไม่เป็น อย่างการกู้เงินนายทุนนอกระบบมาใช้คืนกองทุนหมู่บ้าน ยังมีอยู่บ้าง ซึ่งการมีหนี้ถ้ามองในแง่ดี คือ นอกจากจะทำให้เกิดการดิ้นรน กระตือรือร้น อยู่เฉยไม่ได้แล้ว ยังทำให้เสียเครดิตอีกด้วย ดังนั้นในระยะแรกการกู้เวียน หรือการหมุนเวียนหนี้ยังมีความจำเป็นอยู่ อย่างที่ ต.ทุ่งหลวง อ.สุวรรณภูมิ ส่วนใหญ่เขาใช้คืนได้ครบนะ รู้สึกว่าได้หมู่บ้านระดับ 3 เอด้วย พวกนี้หลังจากขายข้าวเสร็จมีเงิน เขาก็รีบมาใช้คืนแล้วก็กู้ต่อ ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกเดิมและมีที่สมัครใหม่ เขาก็กู้ทั้งกองทุนกับเงินล้านต่อยอดนั่นแหละ" ประธานกองทุนหมู่บ้านภาคอีสาน กล่าว
          เขายังบอกว่า ปัญหาระยะยาวจากการกู้เวียน หากชาวบ้านรายใดมีวินัยในการด้านใช้เงิน รู้จักลงทุนเพิ่มผลผลิตอาจสามารถหลุดจากหนี้สินได้ แต่หากทำไม่ได้โดยไม่รู้จักประมาณตนเอง ก็จะทำให้หมดตัวได้เช่นเดียวกัน เพราะไม่ว่ารัฐบาลจะนำเงินมาให้มากเท่าใดก็ตาม แต่ถ้าชาวบ้านไม่ทำมาหากินก็ฟื้นยาก ซึ่งขึ้นอยู่กับผู้กู้เงินว่ามีวินัยในการใช้จ่ายอย่างไร
          ปธ.ภาคเหนือชี้กะเหรี่ยงกุยต๊ะใช้เงินไม่เป็น
          นายองอาจ เชื้อเอี่ยมพันธ์ ประธานกองทุนภาคเหนือ บอกว่า ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ผู้กู้กว่า 90% สามารถชำระเงินคืนได้ 90% และมีปัญหาเพียง 1-2% เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เกิดจากการเบี้ยวหนี้ แต่เกิดจากการส่งเงินคืนไม่ทันกำหนด ส่วนปัญหาที่เกิดในหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อ.อุ้มผาง จ.ตากนั้น ไม่เคยรับทราบมาก่อน เนื่องจากตามลักษณะการทำงานจะมีเครือข่ายภาคที่ จ.ตากเป็นผู้ดูแล อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการเข้าไปตรวจสอบว่าเกิดปัญหาอะไรบ้าง
          "กรณีการเก็บสมุดเงินฝากของสมาชิกไว้ที่ประธานกองทุน ทำไม่ได้เด็ดขาด เข้าใจว่าที่บ้านกุยต๊ะ อ.อุ้มผาง จ.ตาก อาจจะมีปัญหา เพราะชาวบ้านบริหารจัดการเงินไม่เป็น เขายังใช้เงินไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหานี้เป็นเพียงแค่เฉพาะรายเท่านั้น คงไม่มีปัญหาอะไร" ประธานกองทุนภาคเหนือ กล่าว
          ขณะที่ นายธงชัย คำพารักษ์ ประธานกองทุน จ.ตาก ยอมรับว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกุยต๊ะและหมู่บ้านใกล้เคียงนั้นเกิดขึ้นจริง และมีเพียง 5% ที่ยังไม่สามารถใช้เงินคืนได้ ส่วนที่เหลือ 95% ผู้กู้ได้ชำระคืนและกู้ต่อยอดทั้งกองทุนหมู่บ้านและกองทุนเงินล้านต่อยอดไปแล้ว
          "ข้อมูลตรงนี้มีจริง ปัญหานี้เหมือนดาบสองคม ถ้าใช้เงินไม่เป็น มันก็อาจไปเชือดคอชาวบ้านเองได้ ปัญหาการเรียกเก็บดอกเบี้ยร้อยละ 10 บาท/ปี ถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา ถือเป็นมติที่ประชุมร่วมกันของ ต.แม่จัน เราไม่มีหน้าที่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ได้แค่คอยเป็นพี่เลี้ยง เนื่องจากต้องการให้ชาวบ้านบริหารจัดการกันเองมากกว่า ส่วนนี้อาจมีปัญหาบ้างแต่ยอมรับว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งหมด"ประธานกองทุน จ.ตาก กล่าว
          สำหรับการจัดตั้งธนาคารชุมชนนั้น ธงชัยบอกว่า ในส่วนของ จ.ตาก ได้เริ่มโครงการนำร่องแล้ว 2 แห่ง คือ ในเขตชุมชนวัดเขาแก้ว หรือวัดมณีบรรพตวรวิหาร อ.เมือง และบริเวณบ้านหนองนกปีกกา ต.โป่งแดง อ.เมือง ซึ่งถือเป็นการต่อยอดในการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อชุมชน ส่วนในพื้นที่ยังมีปัญหา จะจัดทำแผนฟื้นฟูแผนแม่บทชุมชนให้แต่ละหมู่บ้านสามารถดูแลตัวเองได้
          ด้าน น.ส.ระพีพัฒน์ ดลใจธรรม รองประธานเครือข่าย อ.อุ้มผาง จ.ตาก ยอมรับว่า ปัญหากองทุนหมู่บ้านในเขตพื้นที่ชายขอบ โดยเฉพาะ อ.อุ้มผาง มีเพียง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านแม่จันทะ บ้านกุยต๊ะ บ้านกุยเลอตอ และบ้านแม่ละมุ้งคี ซึ่งยังไม่สามารถคืนเงินกองทุนได้ เนื่องจากชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยงยังไม่มีความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการ
          "พึ่งทราบว่าปีแล้วมีการหักดอกเบี้ยหน้าธนาคาร เครือข่ายจะดูแลยอดเงินกู้ให้ตรงกับยอดเท่านั้น แต่ไม่ได้ก้าวล่วงว่าเขาหักดอกยังไง เพราะอยากให้ชาวบ้านจัดการเอง แต่ปรากฏว่ามีปัญหาเพราะว่ามีกลุ่มผู้มีอิทธิพลพวก อบต.ซึ่งจะทำกันเป็นทีม ส่งมือปืนรับจ้างวิ่งรอบ ต.แม่จัน ให้เข้าไปช่วยทำเอกสารให้กับชาวบ้านแล้วก็เรียกเก็บจากชาวบ้านเป็นหมื่น เขาเป็นกะเหรี่ยงไม่รู้ก็ให้ไป หรือบางทีมีนายทุนคนไทยเข้าไปชักจูงกะเหรี่ยงในหมู่บ้านให้กู้เงิน คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ทำให้เขาเป็นหนี้เพิ่ม"ระพีพัฒน์ เล่า
          อบต.'มือปืนรับจ้าง'หากินกับชาวบ้าน
          "ทีมมือปืนรับจ้าง" ที่เจ้าหน้าที่สาวคนนี้หมายถึง คือ เครือข่ายเครือญาติของกลุ่มอบต.ในพื้นที่ซึ่งนอกจากจะนำเงินกู้เข้าไปในหมู่บ้านยามครบกำหนดชำระคืนเงินต้นแล้ว ยังรับทำเอกสารด้านการเงินให้กับกองทุนต่างๆ ทุกตำบลโดยคิดในราคาที่แพงเกินกว่าจะเป็น นอกจากนี้ทีมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวจะเข้าไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในช่วงที่ครบชำระคืนเงินกองทุนเพื่อปล่อยเงินกู้ให้กับชาวบ้านโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 เมื่อประธานกองทุนเห็นว่ารายใดไม่มีความสามารถจะใช้เงินคืน หรือมีเงินไม่ครบชำระ ก็จะบอกให้สมาชิกกู้ยืมเงินนายทุนดังกล่าว
          "ปัญหาที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านกุยต๊ะที่ชาวบ้านยังไม่คืนเงินกองทุนนั้น 2-3 วันที่แล้ว พะสะจา ประธานกองทุนบอกว่า สิ้นเดือนนี้จะคืนเงินให้ ยังไม่รู้ว่าจะเอาเงินจากที่ไหนมาคืน แต่เขาบอกว่า ชาวบ้านพร้อมจะคืนทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มจอวาโพ 1.3 แสนบาท ซึ่งกลุ่มจอวาโพนั้น ทางพัฒนากรเคยทำเรื่องเสนอนายอำเภอไปถึงผู้ว่าฯ แล้ว แต่ไม่ทราบว่าจะจัดการอย่างไร เข้าใจว่าเขาต้องขยายเวลาการใช้หนี้ออกไป เข้าไปคุยกับเขามาแล้ว ปีนี้ชาวบ้านบอกว่าผลผลิตไม่ดี ปลูกพริกไม่ได้ตายหมด" ระพีพัฒน์เล่า
          ส่วนหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่เครือข่ายกองทุนและพัฒนากรได้เดินทางเข้าไปตรวจสอบและให้คำปรึกษาแล้วว่าจะให้การช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง แต่ยอมรับว่าที่ผ่านมาบางหมู่บ้านอยู่ไกล การคมนาคมลำบาก เจ้าหน้าที่อาจจะเข้าไปไม่ได้บ่อยนัก แต่หลังจากเมื่อทราบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นแล้ว เช่น ชาวบ้านถูกหักดอกเบี้ยหน้าธนาคาร หรือการมีมือปืนรับจ้างเข้าไปทำเอกสาร เจ้าหน้าที่คงต้องเข้าไปให้ความรู้และขอให้ชาวบ้านเข้ามาพบโดยตรง ไม่อย่างนั้นเกรงจะมีปัญหาอย่างที่หลายๆ หมู่บ้านประสบอยู่
          เตรียมลงพื้นที่ตรวจสอบปัญหา
          ทางด้าน ดร.สุพจน์ อาวาด ผอ.กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ในฐานะผอ.สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ตามพ.ร.บ.2547 ยอมรับว่า กองทุนหมู่บ้านอาจทำให้เกิดผลกระทบในเขตพื้นที่ชุมชนชายขอบบ้าง เนื่องจากชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ ยังขาดความรู้ความสามารถในการใช้เงิน ซึ่งที่ผ่านมาทางสทบ.ได้ประสานให้เครือข่ายภาคทั้งในระดับจังหวัด และอำเภอเข้าไปตรวจสอบแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด
          "หลังสงกรานต์แล้ว สทบ.ผมจะเข้าไปตรวจสอบหมู่บ้านที่มีปัญหา เช่น บ้านกุยต๊ะ กุยเลอตอ เขต ต.แม่จัน ที่มีปัญหามือปืนรับจ้างทำเอกสาร ว่ามีเครือข่ายเกี่ยวข้องกับประธานกองทุน หรือนักการเมืองท้องถิ่นเข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่ ส่วนในเรื่องการคิดดอกเบี้ยแพงโดยคณะกรรมการ หรือประธานกองทุนไม่สามารถนำไปใช้ให้ออกดอกออกผล แต่เก็บเข้ากระเป๋าตัวเอง ก็จะมีความผิดในฐานะยักยอกทรัพย์ หากตรวจสอบพบ ทางสทบ.จะแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายทันที" ดร.สุพจน์ กล่าว
          ส่วนการขอขยายเวลาชำระหนี้นั้น ดร.สุพจน์ กล่าวว่า เขตพื้นที่ชุมชนชายขอบในเขต ต.แม่จัน อ.อุ้มผาง จ.ตาก มีเพียง 3-4 หมู่บ้านที่มีปัญหา ชาวบ้านกู้เงินไปแล้ว ไม่สามารถเพิ่มผลผลิต บางครอบครัวติดค้างชำระมา 2 ปีแล้ว ซึ่งสทบ.คงต้องเข้าไปคุยกับชาวบ้านทั้งหมดว่าจะให้ความช่วยเหลือได้อย่างไรบ้าง ในระยะต้นคงอาจจะมีการประนอมหนี้ไว้ก่อน
          "การบริหารเงินกองทุน ตามปกติเราจะให้ชาวบ้านที่ยืมไปบริหารจัดการกันเอง แต่เนื่องจากคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยงเป็นคนซื่อไว้ใจคนง่าย แล้วไม่เคยมีเงินจำนวนมากๆ ไปให้เขา อาจจะทำให้ถูกหลอก เช่น ขอกู้ต่อ หรือใช้เงินไม่เป็นประโยชน์ ตรงนี้ยอมรับว่าเป็นปัญหาที่สทบ.จะต้องส่งพี่เลี้ยงเข้าไปช่วยดูแล และอาจจะมีการปรับนโยบายบ้างในเขตพื้นที่เหล่านี้" ผอ.กองทุนหมู่บ้านแห่งชาติและสังคมเมือง กล่าว