องคมนตรีออกโรงค้านเอสเอ็มแอล
กรุงเทพธุรกิจ วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม 2547 หน้า 2
 
สรุปสาระข่าว
 
         ห่วงซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้าน ที่สร้างปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะประชาชนกู้เอาไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ได้นำไปทำมาหากิน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ค้านรัฐอัดฉีดเงินลงหมู่บ้านโดยตรงตามนโยบายเอสเอ็มแอล ชี้มีความพร้อมแค่ 15% หวั่นซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้านที่สร้างปัญหามาแล้ว ระบุเป็นการจัดการสังคมที่ไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่ "หมอประเวศ" ปลุกพรรคการเมืองนำนโยบายสังคมเข้มแข็งสู้กับการเมืองแบบเก่าที่เน้นเรื่องทุนและบริโภคนิยม ด้านนายกฯเดินหน้าทุ่ม 300 ล้านนำร่องเอสเอ็มแอล 1 พันหมู่บ้าน
 
ข้อคิดเห็น
 
         คนที่คิดจะหลอกลวงคนในชาติ ก็อาจหลอกลวงได้ส่วนหนึ่ง แต่ไม่อาจหลอกลวงได้ทั้งหมด และอาจหลอกลวงได้ระยะหนึ่ง แต่ไม่อาจหลอกลวงได้ตลอดไป โปรดอ่านเพิ่มเติมในบทความ ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ชาติจึงจะรอด
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 

         ห่วงซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้าน ที่สร้างปัญหาหนี้นอกระบบ เพราะประชาชนกู้เอาไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ได้นำไปทำมาหากิน ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย ค้านรัฐอัดฉีดเงินลงหมู่บ้านโดยตรงตามนโยบายเอสเอ็มแอล ชี้มีความพร้อมแค่ 15% หวั่นซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้านที่สร้างปัญหามาแล้ว ระบุเป็นการจัดการสังคมที่ไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่ "หมอประเวศ" ปลุกพรรคการเมืองนำนโยบายสังคมเข้มแข็งสู้กับการเมืองแบบเก่าที่เน้นเรื่องทุนและบริโภคนิยม ด้านนายกฯเดินหน้าทุ่ม 300 ล้านนำร่องเอสเอ็มแอล 1 พันหมู่บ้าน          วานนี้ (14 ส.ค.) ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิทยาลัยการจัดการทางสังคม ได้จัดรายการสังคมสนทนาในหัวข้อ "การจัดการทางสังคมกับการเรียนรู้จากฐานชุมชน" โดย ศ.นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวตอนหนึ่งว่า เคยรับทราบข้อมูลจาก นายสุธรรม อารีกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ทำงานกับชาวกะเหรี่ยงในภาคเหนือว่า ตอนนี้กองทุนหมู่บ้านกำลังเป็นปัญหา เพราะเมื่อมีกองทุนหมู่บ้านละล้านเข้ามา ก็มีการกู้เงินเอาไปซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ได้เอาไปทำมาหากิน พอครบรอบต้องจ่ายคืนก็ต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาใช้คืน แล้วตอนนี้ก็ถึงรอบต้องใช้คืนหนี้นอกระบบ เมื่อไม่มี เราก็รู้กันว่าหนี้นอกระบบมีวิธีทวงอย่างไร
         "ตอนนี้เขาต้องหนีเข้าป่า เป็นหนแรกที่ชาวกะเหรี่ยงไม่ได้มาทำนา เพราะต้องหนีไปอยู่ในป่า นี่คือการจัดการของสังคมที่ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วรัฐบาลยังจะเอาเงินเอสเอ็มแอลไปลงอีก ซึ่งจริงๆแล้วหมู่บ้านที่มีความพร้อมในการจัดการมีเพียง 15% เท่านั้น" ศ.นพ.เกษม ระบุ
         อนึ่ง โครงการเอสเอ็มแอล คือโครงการตามแนวคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่เตรียมจะผันเงินลงหมู่บ้านและชุมชนทั่วประเทศโดยตรง แห่งละ 2 แสนถึง 3 แสนบาท ตามขนาดของหมู่บ้านและชุมชนที่แยกเป็นเล็ก กลาง ใหญ่ หรือ S-M-L ขณะที่ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส กล่าวในรายการเดียวกันว่า วัฒนธรรมการบริโภคนิยม วัตถุนิยม เงินนิยม และอำนาจนิยม เหมือนที่กำลังเป็นกันอยู่ในขณะนี้เป็นหนทางนำไปสู่ความหายนะ ทุกวันนี้เราวัดความเจริญหรือคุณภาพของสังคมจากจีดีพี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีดีพีเป็นคำตอบที่ถูกต้องและชอบธรรมทางสังคม และเสริมสร้างสังคม ความสัมพันธ์และการพัฒนาจิตใจต่างหากที่เป็นสิ่งสร้างให้สังคมเข้มแข็ง ซึ่งหากใครจะสู้กับการเมืองแบบเก่าที่เน้นเรื่องทุนและบริโภค ก็สามารถนำเอาแนวทางนี้ไปสู้ได้อย่างชัดเจน
         "เรื่องของรัฐบาลนั้น เป็นเรื่องการเมือง หากเขายืนยันว่าระบบทุนนิยม บริโภคนิยมดี ก็ให้เขาชี้แจง ส่วนเราก็ต้องนำเสนอเหตุผล หากแนวทางของรัฐบาลถูกก็ต้องอนุโมทนา แต่หากแนวทางของเราถูก เราก็ต้องรณรงค์ต่อไป และที่สำคัญเราต้องมีความรักต่อกัน อย่าไปเกลียดใคร อย่าไปเกลียด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถึงจะปากร้ายไปหน่อยก็ตาม" ศ.นพ.ประเวศ กล่าว ทุ่ม 300 ล.นำร่องเอสเอ็มแอลพันหมู่บ้าน
         วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวในรายการ "นายกฯทักษิณคุยกับประชาชน" ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ ถึงโครงการเอสเอ็มแอล ตอนหนึ่งว่า ได้จัดตั้งคณะทำงานของนายกรัฐมนตรี เพื่อที่จะให้มีหน่วยงานพิเศษทำเรื่องต่างๆ พอทำเสร็จก็สลายไป
         "อันนี้ผมตั้งขึ้นมาทำเพื่อที่จะเตรียมความพร้อมและพัฒนาศักยภาพของหมู่บ้านและชุมชน ตามโครงการเอสเอ็มแอล ซึ่งต้องมีทีมทำงาน ก็จะมีการนำร่องโดยใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท โดยนำร่องประมาณ 1 พันหมู่บ้านและชุมชน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม คือหนึ่งหมู่บ้านต่อหนึ่งอำเภอ เรามี 900 กว่าอำเภอ ก็เอาชุมชนในจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะกรุงเทพมหานครซึ่งมีชุมชนเยอะ มาอยู่ในโครงการนำร่องด้วย เฉลี่ยแล้วประมาณ 250,000 บาทต่อชุมชน นำร่องไปก่อน 1 พันชุมชน ก็คือ 250 ล้าน เผื่อเหลือเผื่อขาด เผื่อค่าใช้จ่ายในการดำเนินการอีกสักไม่เกิน 50 ล้าน ก็ตั้งงบเผื่อไว้ 300 ล้าน เพื่อจะได้ทดลองนำร่อง ทำให้เป็นกระบวนการเรียนรู้"
         นายกฯ กล่าวต่อว่า อยากให้หมู่บ้านใกล้เคียงส่งคนมาด้วย เพื่อจะได้เรียนรู้วิธีการบริหารงบประมาณที่ได้รับจัดสรรจากรัฐสู่ประชาชนโดยตรง เพราะว่างบประมาณมันไปที่รัฐบาล ไปที่จังหวัด และไปที่องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น แต่ว่าองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นที่เล็กที่สุดก็คือ อบต. มันยังไม่มีคำว่าหมู่บ้านและชุมชน เมื่องบ อบต.ไม่พอ ก็อาจจะนำไปพัฒนาไม่ตรงจุด เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็เลยเอางบประมาณที่รัฐบาลพึงจะจัดสรรเอง ไปแบ่งให้ประชาชนบริหารเองจำนวนหนึ่ง คือให้ประชาชนไปบริหารในระดับหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งไม่มีองค์กรท้องถิ่นขนาดเล็ก
         ตรวจราชการสระแก้วอนุมัติอีกพันล้าน ต่อจากนั้น นายกฯได้ไปปฏิบัติภารกิจตรวจเยี่ยมการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลที่ จ.สระแก้ว และได้อนุมัติงบประมาณในโครงการพัฒนาอีก 3 โครงการ คือ 1.โครงการขุดลอกคลองธรรมชาติและสระเก็บน้ำจำนวน 81 แห่ง มูลค่า 335.6 ล้านบาท 2.เห็นชอบในหลักการก่อสร้างโครงการทางหลวงหมายเลข 33 กบินทร์บุรี-สระแก้ว มูลค่า 750 ล้านบาท โดยมอบหมายให้กรมทางหลวงไปกำหนดรายละเอียดต่างๆ ก่อนนำเสนออนุมัติงบประมาณ และ
         3.อนุมัติงบประมาณจำนวน 200 ล้านบาท ให้กับสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น เพื่อจัดตั้งศูนย์พัฒนาลูกวัวเพื่อผลิตและส่งออกไปต่างประเทศ โดยให้ทำโครงการเสนอไปยังธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
         จากนั้น นายกฯได้กล่าวบนเวทีต่อหน้าประชาชนที่มารอให้การต้อนรับกว่า 5,000 คน ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย ดูแลความเจริญให้กับจังหวัดสุพรรณฉันใด นายเสนาะ เทียนทอง ประธานที่ปรึกษาพรรคไทยรักไทย ก็ดูแลความเจริญให้กับคนจังหวัดสระแก้วได้ฉันนั้น
         นอกจากนั้น นายกฯยังได้กล่าวให้ความมั่นใจกับเกษตรกรโคนมวังน้ำเย็นว่า การทำข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี หรือเอฟทีเอ กับออสเตรเลีย จะไม่กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงโคในประเทศอย่างแน่นอน
         ชวนจวกเลือกปฏิบัติ-ใช้เงินตามอำเภอใจ ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตอบข้อถามของผู้สื่อข่าวกรณีที่หลายฝ่ายมองว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะลงพื้นที่ภาคใต้ในสัปดาห์หน้าเพื่อเจาะฐานเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ ว่า รัฐบาลมีหน้าที่ต้องดูแลและพัฒนาคนทั้งประเทศอยู่แล้ว เพราะเก็บภาษีจากคนทั้งประเทศ หากไม่ไปก็ถือว่าผิดปกติ แต่เมื่อไปแล้ว ต้องให้ความเป็นธรรมกับคนทุกภาคทุกจังหวัดเพราะภาษีเก็บมาจากทุกจังหวัด จะมาเจาะจงเฉพาะบ้านตัวเองคงไม่ได้
         นายชวน กล่าวต่อว่า รัฐบาลปัจจุบันไม่ได้จัดสรรงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่กลายเป็นเรื่องที่ว่านายกฯจะให้ ตามอำเภอใจ ซึ่งไม่ถูกหลัก คืออนุมัติเงินก้อนใหญ่แล้วนึกจะให้ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้
         ทั้งนี้ การอนุมัติงบประมาณอย่างเป็นธรรมก็คือ การพิจารณาผ่านรัฐสภา เพราะสภาคือตัวแทนของฝ่ายราชการและฝ่ายการเมือง ซึ่งในฝ่ายการเมืองก็มีตัวแทนจากทุกพรรคการเมืองเป็นตัวแทนคณะกรรมาธิการซึ่งจะพิจารณาถึงความจำเป็น ขณะที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จะนำไปศึกษาอีกขั้นตอนหนึ่ง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอารมณ์ หรือตามอำเภอใจของใคร "รัฐบาลชุดนี้แตกต่างจากสมัยที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล เพราะจะให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 76 จังหวัด ถึงผมเป็นนายกฯที่มาจาก จ.ตรัง แต่ก็ให้ จ.เชียงใหม่มากเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ไม่ใช่ว่าบ้านนายกฯอยู่ไหน แล้วไปทำเฉพาะที่นั่น อย่างนั้นมันไม่ยุติธรรม อย่างนั้นต้องเก็บภาษีเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่เมื่อเราเก็บภาษีคนทั้งประเทศ ก็ต้องให้ความเป็นธรรมแก่คนทั้งประเทศ จะไปเลือกปฏิบัติว่าจังหวัดนี้มีฝ่ายค้านจึงให้เงินน้อย หรือใครย้ายออกมาจากฝ่ายค้านถึงจะให้เงิน ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ผิดคุณธรรมการเมืองอย่างยิ่ง" นายชวน ระบุ
         ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ บอกด้วยว่า ในอดีต สมัยเผด็จการทรราช จะเลือกให้งบประมาณเฉพาะจังหวัดที่มี ส.ส.เท่านั้น จึงกลายเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดการปฏิวัติขึ้นมา เพราะส.ส.รัฐบาลของบประมาณมากเกินไป