สรุปสาระข่าว
 
        เกี่ยวกับหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้รอบใหม่ที่เกิดจากการปล่อยกู้ที่น่าสงสัยและการใช้วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการฉ้อโกง
 
ข้อคิดเห็น
 

        การโกง-คอรัปชั่นนั้นมักอาศัยวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินเป็นเครื่องมือ ต้องมีการตรวจสอบ ไม่ใช่สักแต่ให้จ้างบริษัทประเมินกันเอง ต้องป้องกันไม่ให้มีการล็อบบี้ผู้ประเมิน มีบทลงโทษที่ชัดเจน สิ่งเหล่านี้เราไม่ได้ทำ มัวไปทำการศึกษา การจัดสอบ ซึ่ง "กว่าถั่วจะสุกงาก็ไหม้" เสมือนหนึ่งพยายามทำการพัฒนาวิชาชีพ แต่ (จงใจ) เปิดช่องโหว่ไว้ น่าเสียดาย โปรดอ่านเพิ่มเติมที่
  • How to Standardize Real Estate Valuation Practices in Thailand (1998)
  • เหลียวหลังแลหน้า: สรุปบทเรียนวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 การประเมินค่าทรัพย์สินที่ไม่ได้มาตรฐาน ทำให้สถาบันการเงิน "เจ๊ง" จริงหรือ?
  • สภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน... ถึงเวลาแล้ว

     
    รายละเอียดของเนื้อข่าว
     

             ในที่สุด "วงจรอุบาทว์" ทางการเงินและเศรษฐกิจของพวก "โจรใส่สูท ใส่สเกิร์ต" ที่มีส่วนร่วมในการสร้างฟองสบู่ ทำลาย เศรษฐกิจไทยย่อยยับเมื่อ 7 ปีก่อน ก็กลับมาฟื้นคืนชีพอีกหน สมคบกับกลุ่มอำนาจกู้เงินจากธนาคารของรัฐ ไปปั่นหุ้นและอสังหาริมทรัพย์ อย่างสนุกมือ ยิ่งกว่าพิมพ์แบงก์ได้เองเสียอีก ก็ต้องถือว่าเป็นโชคดีของเมืองไทยที่ "พระสยามเทวาธิราช" บันดาล ให้เกิดข้อขัดแย้งและ มีการตรวจสอบ จนเกิดการเปิดโปงหนี้เน่าเอ็นพีแอล ก้อนใหม่ 46,000 ล้านบาท ที่เพิ่งเกิดขึ้นสดๆร้อนๆกับธนาคารกรุงไทย
             มีข้อมูลวงในเล่าว่า ทุกครั้งที่มีการอนุมัติเงินก้อนโตให้แก่ โครงการที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการแบงก์ชาติ ออกมาระบุ ว่า มีปัญหา จะอนุมัติกันในช่วงที่คุณวิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ไม่อยู่ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เพราะมีหลายโครงการที่คุณวิโรจน์ไม่เห็นด้วย แม้ผู้บริหารธนาคารกรุงไทยจะพยายามบอกว่า การอนุมัติเงินกู้ทุกครั้งมีความโปร่งใส เพราะอนุมัติในรูปของคณะกรรมการ ไม่ใช่เซ็นคนเดียว  แต่จากการตรวจสอบของแบงก์ชาติ และคำแถลงของผู้ว่าการแบงก์ชาติต่อ สาธารณชน ไปจนถึงตัวเลขหนี้เน่าที่เพิ่มขึ้น 46,000 ล้าน บาท ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ ก็ฟ้องชัดว่า การปล่อยกู้เงินก้อนใหญ่ หลายหมื่นล้านบาทของธนาคารกรุงไทยมีปัญหา และไม่โปร่งใสแน่นอน
             ก็เป็นเรื่องที่ ธนาคารกรุงไทยเอง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องสอบสาวออก มาให้ชัดเจน เพื่อปกป้องเงินของประชาชนที่ถูกกู้ไปแบบไม่ โปร่งใส และต้องให้ประชาชนมาใช้หนี้อีกในอนาคต อย่างที่ใช้หนี้ กองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ทุกวันนี้   ถ้าหากนายกฯทักษิณ ชินวัตร จะมุ่งมั่นปราบคอรัปชันอย่างที่ประกาศจะดีเดย์ ในวันที่ 3 ตุลาคมนี้ ก็น่าจะสั่งให้ ปปง.เข้าไปร่วมตรวจสอบในเรื่องนี้ แล้วเอาเงินของประชาชนคืนมา อย่าให้คนพวกนี้เอาไปเสวยสุขสร้างความมั่งคั่ง ให้แก่ตนเองและพวกพ้อง อย่างที่ท่านนายกฯเคยประกาศมาตลอด   เรื่องนี้ ผมคิดว่านายกฯทักษิณต้องทำ เพื่อไม่ให้คนกลุ่มเพียงน้อยนิดมาบ่อน ทำลายเศรษฐกิจไทย ที่กำลังฟื้นตัวและกำลังก้าวหน้าไปด้วยดี
             วงจรอุบาทว์ทางการเงินที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบการเงินและธนาคารไทยในวันนี้ ไม่มีอะไรต่างไปจากช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อ 7 ปีก่อนเลย เป็นการเอาอัฐยาย ซื้อขนมยาย แล้วสร้างความร่ำรวยให้แก่คนทำแบบกุ้งฝอยตกปลากะพง ลงทุนแสนบาทตั้งบริษัท แล้วไปกู้เงินแบงก์ได้ร้อยล้านพันล้านบาท  ถ้าไม่มีการรู้เห็นเป็นใจ ทำไม่ได้แน่นอน ไม่ว่าธนาคารไหน
             คนในวงการแบงก์เล่าให้ฟังว่า ขบวนการเริ่มตั้งแต่การสมคบกับ "บริษัท ประเมินหลักทรัพย์" ให้ประเมินราคาทรัพย์สินเกินมูลค่าจริง หลายสิบเท่าตัว เพื่อให้ราคาทรัพย์สินที่เคยเป็นหนี้เน่า โครงการร้าง ศูนย์การค้าร้างเพิ่มขึ้น จากนั้นก็นำไปใช้เป็นหลักทรัพย์ขอกู้เงินจากธนาคาร  แต่ละรายล้วนแต่คนคุ้นหน้าที่เคยมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทยล่มสลายเมื่อ 7 ปีก่อนทั้งนั้น วันนี้หวนคืนชีพมาทำบาปใหม่อีกครั้ง
             ตัวอย่างล่าสุดก็มี เมื่อศูนย์การค้าร้างแห่งหนึ่ง บริษัทประเมินเคยตีราคาขายไว้แค่ 300 ล้านบาท ก็ยังไม่มีคนซื้อ เพราะทำเลไม่ดี แต่พอมีคนมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง มีการประเมินราคาใหม่ ท่านผู้อ่านเชื่อไหม ราคาประเมินใหม่พุ่งขึ้นไปถึง 2,000 ล้านบาท แล้วไปขอกู้ธนาคาร   เรื่องทำนองนี้กำลังเกิดขึ้นอีกหลายโครงการ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อระบบการเงิน สถาบันการเงิน และเศรษฐกิจไทยโดยรวม อย่างแน่นอน
             เป็นเรื่องที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รัฐมนตรีคลัง และ นายกฯทักษิณ ชินวัตร จะต้องเร่งทำลาย "วงจรอุบาทว์" นี้ โดยด่วนครับ   ก่อนที่มันจะหวนกลับมาเป็นเชื้อร้ายทำลายเศรษฐกิจประเทศไทยอีกหน.