ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯแห่งชาติล่ม! เป็นได้แค่หน่วยงานในธอส.
"ขรรค์" ยันทำได้ใช้งบ 90 ลบ.ลุย

ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1920, 8 ก.ค. - 10 ก.ค. 2547
สรุปสาระข่าว
 
          ภาคเอกชนฝันสลาย! ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ ในรูปองค์อิสระภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังล่ม "คลัง" ยุบขนาดองค์กร-โครงสร้างองค์กรกลายเป็นหน่วยงานหนึ่งในธอส. "ขรรค์ ประจวบเหมาะ" เอ็มดี. ธอส.ยันจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนใช้เวลานาน ยันแม้ไม่ใหญ่ แต่คุณภาพเทียบเท่า เผยใช้งบธอส.จัดตั้ง 60-90 ล้านบาทลุยพัฒนา ด้านภาคเอกชนขานรับดีกว่าไม่มี สำคัญที่ข้อมูลต้องเชื่อถือได้-รวดเร็ว
 
ข้อคิดเห็น
 
         เป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ประเทศมาเลเซีย สามารถมีศูนย์ข้อมูลฯ ได้ภายใน 9 เดือนนับแต่ทางนายกรัฐมนตรีมีดำริ แต่ของเราผ่านวิกฤติมา 7 ปี ก็ยังไม่ศูนย์ข้อมูลฯ (โปรดดูศูนย์ข้อมูลภาคเอกชนที่สำราจข้อมูลภาคสนามทั่วประเทศที่ AREA Real Estate Index)
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         ภาคเอกชนฝันสลาย! ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติ ในรูปองค์อิสระภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลังล่ม "คลัง" ยุบขนาดองค์กร-โครงสร้างองค์กรกลายเป็นหน่วยงานหนึ่งในธอส. "ขรรค์ ประจวบเหมาะ" เอ็มดี. ธอส.ยันจัดตั้งเป็นองค์กรมหาชนใช้เวลานาน ยันแม้ไม่ใหญ่ แต่คุณภาพเทียบเท่า เผยใช้งบธอส.จัดตั้ง 60-90 ล้านบาทลุยพัฒนา ด้านภาคเอกชนขานรับดีกว่าไม่มี สำคัญที่ข้อมูลต้องเชื่อถือได้-รวดเร็ว
         นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้เรื่องการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติได้ถูกรัฐบาลส่งเรื่องกลับมาให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้รับผิดชอบโดยจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานในความรับผิดชอบของธนาคารอาคารสงเคราะห์ไม่ได้เป็นองค์กรมหาชนและสังกัดกระทรวงการคลังเหมือนเจตนารมย์ในครั้งก่อน ส่วนเหตุผลที่ส่งกลับมาคิดว่ารัฐคงมองว่าการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลให้เป็นองค์กรมหาชนกระทำได้ลำบาก และมีปัญหาด้านเงินงบประมาณที่สูงเกินไปซึ่งผมก็เห็นด้วยในการค่อยเป็นค่อยไปแต่ไม่ใช่เป็นองค์กรเล็กๆ ที่ไม่มีบทบาทและไม่มีโครงสร้างที่แข็งแกร่งซึ่งเมื่อเวลาไปขอความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ทางสมาคมฯ เองก็สนับสนุนให้มีศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เพราะจะได้เป็นที่พึ่งกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกอบการเอง และสถาบันการเงินก็จะได้นำข้อมูลตรงนั้นมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ได้
         "การทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีข้อมูลเพื่อใช้ประกอบการการตัดสินใจลงทุน เพราะศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เปรียบเสมือนเรด้าร์หรือเข็มทิศช่วยกำหนดทิศทางการลงทุนไม่ให้เกิดความผิดพลาด ยิ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่อาศัยช่วงจังหวะและโอกาสหรือที่เรียกว่าช่วงฟ้าเปิดเข้ามาในตลาดโดยไม่มีข้อมูลในการประกอบธุรกิจที่เพียงพอ ใช้ความรู้สึกส่วนตัวในการตัดสินใจลงทุน ทำสินค้าเข้ามาในตลาดเป็นจำนวนมากโดยไม่คำนึงถึงดีมาน์และซัพพลาย์เมื่อสินค้าเกิดโอเว่อร์ซัพพลาย์หรือฟ้าปิดก็นอนตายกันเกลื่อน"
         ต่อเรื่องนี้ นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมต.กระทรวงการคลังได้มอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งขณะนี้ได้เสนอแผนการจัดตั้งส่งไปให้ครม.พิจารณาแล้ว ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีมติครม.ออกมาแต่ก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น จากกรมที่ดินซึ่งกรมที่ดินได้มีการจัดตั้งทีมงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ประสานข้อมูลกับธนาคารอาคารสงเคราะห์โดยธนาคารฯ จะเข้าพบปลัดกทม. เพื่อขอความร่วมมือในการส่งข้อมูลและเข้าไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อพบอบต.และอบจ. เพื่อขอข้อมูลในส่วนภูมิภาคด้วย
         ในเบื้องต้นนี้ธนาคารฯ จะเก็บข้อมูลหลักๆ ที่เป็นดัชนีชี้วัดภาคอสังหาฯ ด้วยกัน 6 หมวด คือ ข้อมูลสถิติการออกใบอนุญาต ข้อมูลสถิติยอดขายที่อยู่อาศัย ข้อมูลที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จและจดทะเบียนเพิ่มขึ้นในเขต กทม.-ปริมณฑล ข้อมูลสถิติการซื้อขายเปลี่ยนมือที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีราคอสังหาริมทรัพย์ และข้อมูลสถิติการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่ ซึ่งขณะนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้รับงบประมาณจำนวน 60-90 ล้านบาทโดยเป็นงบประมาณของธนาคารอาคารสงเคราะห์เองซึ่งจะแบ่งการดำเนินการและการใช้เงินเป็นระยะๆ ภายในเวลา 3 ปี เมื่อถึงสิ้นปีธนาคารฯ มีกำไรก็จะตัดออกเป็นค่าใช้จ่าย
         นายขรรค์ กล่าวต่อว่า การลดขนาดของศูนย์ข้อมูลฯ ลงมา เนื่องจากการจัดตั้งเป็นองค์มหาชนต้องใช้เวลามาก กระทรวงการคลังต้องการที่จะเร่งรัดให้มีศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้เร็วที่สุดและจะต้องเปิดให้บริการให้ได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินปีครึ่งศูนย์ข้อมูลฯ ก็จะมีความสมบูรณ์ และการดำเนินงานของศูนย์ข้อมูลฯ จะมีคณะกรรมการบริหารชุดเล็กเป็นผู้ดูแลและมีคณะกรรมการบริหารชุดใหญ่ควบคุมดูแลอีกที โดยได้มอบหมายให้ ผช.รมต. ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล เป็นผู้ประสานงานในเรื่องดังกล่าวนี้และเป็นประธานในการประชุมหารือในแต่ละครั้ง
         นายขรรค์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลฯ ภายใต้การดำเนินงานของธนาคารฯ จะไม่ได้ใช้งบประมาณมากเท่ากับการเป็นองค์กรมหาชนแต่ก็จะทำให้ดีพอๆ กัน ข้อมูลของศูนย์ข้อมูลฯ จะต้องสามารถชี้วัดธุรกิจได้ ตรงต่อเวลา และมีความเชื่อถือได้ ซึ่งธนาคารฯ จะปรับปรุงข้อมูลให้มีความทันสมัย ทันกับเหตุการณ์ ทั้งนี้เชื่อมั่นได้ว่าภาคประชาชน เอกชน และนักวิเคราะห์ข้อมูล และภาครัฐจะได้ใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อไปวางแนวทางต่อไป
         ด้านนายโชคชัย บรรลุทางธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย กล่าวว่า ถึงแม้ว่าจะว่าศูนย์ข้อมูลจะไม่ได้เป็นองค์กรมหาชนและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยตรงแต่ก็ดีว่าไม่มีการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลเลย ขณะนี้ศูนย์ข้อมูลฯ อยู่ระหว่างการเริ่มต้น ในเบื้องต้นนี้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ได้รับเงินงบประมาณมาจำนวน 20 ล้านบาทสำหรับการจัดตั้งซึ่งในอนาคตก็มีแนวทางที่จะเติบโตต่อไปให้เอกชนได้อาศัยข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนรวมถึงประชาชนก็จะได้ใช้ประโยชน์ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐเช่นแบงก์ก็จะได้ใช้ประโยชน์เช่นกัน แต่สมาคมฯ ยังมีความเป็นห่วงอยู่ว่าจะได้รับความร่วมมือมากน้อยแค่ใหนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งข้อมูลมายังธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของศูนย์ข้อมูลฯ ที่จะต้องมีวิธีแก้ไข ในส่วนของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ของสมาคมฯ เองก็จะเดินหน้าควบคู่กันไปกับศูนย์ข้อมูลจากธนาคารอาคารสงเคราะห์โดยมีแนวทางและภาระกิจไม่แตกต่างกันกับศูนย์ข้อมูลของภาครัฐ
         ด้านนายอนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียน พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่ว่าศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติจะอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังโดยตรงหรือไม่หรือจะต้องเป็นองค์กรมหาชน แต่ขึ้นอยู่กับผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบว่าจะสามารถจัดหาข้อข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต่อการประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ดีแค่ใหน
         การโอนศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งก็เป็นข้อดีเพราะธนาคารอาคารสงเคราะห์มีความเข้าใจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นอย่างดีและมีความรู้ทางด้านนี้มากกว่ากระทรวงการคลังซึ่งไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ อย่างไรก็ตามการที่จะได้รับความร่วมมือในการส่งข้อมูลต่างๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์เป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูล ธนาคารอาคารสงเคราะห์เองจะต้องแสดงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญของการมีข้อมูลทางด้านอสังหาริมทรัพย์และประโยชน์จากการใช้ข้อมูลที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญจะต้องแสดงให้เห็นว่าศูนย์ข้อมูลจะรักษาความลับของภาคเอกชนได้โดยไม่ให้ตกไปอยู่ในมือคู่แข่งได้ขณะเดียวกันศูนย์ข้อมูลฯ ก็จะต้องส่งภาพรวมของตลาดกลับมาให้ภาคเอกชนได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นเป็นหน้าที่ของภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยการดูแล
         "ธนาคารอาคารสงเคราะห์ต้องมีความชัดเจนในการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลโดยหาคนที่มารับผิดชอบอย่างจริงจังและยกระดับให้มีความน่าเชื่อถือและที่สำคัญรัฐต้องสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งเพราะต้องใช้เงินสูง" นายอนุพงษ์ กล่าว
         นายประสงค์ เอาฬาร นายกสมาคมบ้านจัดสรร กล่าวว่า 3 สมาคมได้มีการประชุมร่วมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์หารือถึงเรื่องนี้มาโดยตลอดและจะมีการประชุมอีกครั้งในเร็วๆนี้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ควรที่จะนำมาวิพากษ์วิจารณ์กัน เพราะการหารือกันยังไม่ยุติ การที่ศูนย์ข้อมูลฯไม่ได้สังกัดอยู่ในกระทรวงการคลังไม่ใช่สิ่งสำคัญ และการที่มีงบประมาณเยอะแต่ไม่มีข้อมูลที่ต้องการก็ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ฉะนั้นปัจจัยสำคัญอยู่ที่ฮาร์ดแวร์ไม่ได้อยู่ที่ซอฟท์แวร์