จี้รัฐแตะเบรกศก.ร้อน บิ๊กปูนใหญ่หวั่น"หุ้น-อสังหาฯ"สูงเกินจริง
ประชาชาติธุรกิจ, 11-14 กันยายน 2546 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
        แม่ทัพปูนใหญ่ "ชุมพล ณ ลำเลียง" สวนกระแส "เศรษฐกิจขาขึ้น" ข้องใจกำลังซื้อแท้หรือเทียมหลังบ้านหรูราคาแพงขายกระฉูด-ตลาดหุ้นมูลค่าเพิ่มเท่าตัว ชี้จีดีพีสูงแต่อานิสงส์ไม่ถึงรากหญ้า กำไรกระจุกเฉพาะกลุ่ม เตือนถ้าไม่เตรียม "ติดเบรก" มีสิทธิลงเหวอีกรอบ ขณะที่ดอกเบี้ยต่ำยาวนานจะก่อปัญหาในอนาคต
        . . . การที่คนจะรวยจากตลาดหุ้นสุดท้ายก็ต้องมีคนจ่าย เพราะการรวยจากตลาดหุ้นไม่ใช่รวยจากการผลิต จากการขายของได้ แต่มาจากคนอื่นที่พร้อมจะจ่ายในราคาที่สูงกว่าที่เราซื้อมาไปเรื่อยๆ และหากทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันต้องตก มันต้องจบ เกมต้องโอเวอร์. . .
        . . . ทุกคนบอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องใช้เบรก แต่ถามว่าวันนี้ "เบรก" ของเราคืออะไร เรามีเบรกอะไรบ้างและใครจะเป็นคนดึง/คนคุมเบรก. . .
        และดูข่าวเกี่ยวเนื่อง: นายแบงก์ผวา"ฟองสบู่"รอบใหม่ และ วันนี้ของ "ปูนใหญ่" "มีเงินแต่โอกาสการลงทุนยังไม่มี"
 
ข้อคิดเห็น
 
        ท่านนายกก็ยังเคยพูด ว่า อย่าพูด "half truth" เพราะอีก half ก็คือ "half-lie" ดังนั้น การตีภาพว่าเศรษฐกิจดีมากมาย จะทำให้คนประมาท อาจลงเหวได้ ผลงานรัฐบาลรัฐบาลประทับใจหลายเรื่อง ไม่ต้อง "ตีปี๊บ" ก็ได้
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        แม่ทัพปูนใหญ่ "ชุมพล ณ ลำเลียง" สวนกระแส "เศรษฐกิจขาขึ้น" ข้องใจกำลังซื้อแท้หรือเทียมหลังบ้านหรูราคาแพงขายกระฉูด-ตลาดหุ้นมูลค่าเพิ่มเท่าตัว ชี้จีดีพีสูงแต่อานิสงส์ไม่ถึงรากหญ้า กำไรกระจุกเฉพาะกลุ่ม เตือนถ้าไม่เตรียม "ติดเบรก" มีสิทธิลงเหวอีกรอบ ขณะที่ดอกเบี้ยต่ำยาวนานจะก่อปัญหาในอนาคต
วันนี้ข้อถกเถียงไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจฟื้นหรือไม่ฟื้น แต่นักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจที่รู้รสและลิ้มลองความเจ็บปวดจากวิกฤตต้มยำกุ้งมาแล้ว กำลังจับอาการสัญญาณฟื้นตัวเศรษฐกิจขาขึ้นรอบนี้ว่าจะมีบับเบิลหรือฟองสบู่อย่างที่กลุ่มอนุรักษนิยมตั้งคำถาม

หรือว่าเศรษฐกิจกำลังจะวิ่งฉิวอย่างที่รัฐบาลพยายามชี้นำ
        ในประเด็นนี้ "ประชาชาติธุรกิจ" ได้เคยสัมภาษณ์ ดร.โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้คำตอบว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแล้ว แต่ยังต้องเผชิญหน้ากับภาวะราคาต่ำอยู่ แม้ว่าจะไม่รุนแรงขึ้น แต่จะอยู่กับเราไปอีกนาน หรือที่เรียกว่า disinflation คือมีความกดดันจากราคาต่ำ และถ้าภาวะราคาต่ำต่อเนื่องนานๆ อาการที่จะพบก็คือ 1.ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะลุ่มๆ ดอนๆ 2.ตลาดแรงงานจะประสบปัญหาคนว่างงานเพิ่มขึ้น แรงงานใหม่ๆ จะหางานยากขึ้น 3.ผลตอบแทนจากการออมต่ำ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ประชาชน/ภาคธุรกิจจะต้องดูแลตัวเองก็คือ พยายามอย่าใช้จ่ายเกินตัว ต้องมีวินัย
        ล่าสุด "ประชาชาติธุรกิจ" ได้ทวนคำถามนี้อีกครั้งกับนายชุมพล ณ ลำเลียง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่เป็นมืออาชีพและคลุกคลีในภาคเศรษฐกิจแท้จริง ได้ให้ข้อเท็จจริงจากการจับสังเกตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นว่าเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้วอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้มีสัญญาณที่น่าเป็นห่วงว่ามีการเก็งกำไรในพวกที่ไม่ใช่ภาคการผลิตจริง เป็นการเก็งกำไรบนกระดาษ ได้สร้างความร่ำรวยจากราคาที่ปั่นกันขึ้นไป โดยไม่ได้มาจากผลผลิตที่แท้จริง
        สัญญาณที่ทำให้ชุมพลยกมาเป็นประเด็นก็คือ ราคาบ้านที่ขายดีที่สุดในขณะนี้ ชุมพลบอกว่า "บ้านขายดีที่สุดราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป ผมว่าเป็นไปไม่ได้ในข้อเท็จจริงและกำลังเงินที่มีอยู่ อยู่ดีๆ ประชาชนจะมีรายได้มากขนาดนั้น รวยขนาดนั้นมาจากไหน อย่าลืมว่ารายได้ของคนไทยยังเป็นเงินบาท และไม่ได้เพิ่มขึ้นมากมาย ฉะนั้น ราคาบ้านเมื่อเทียบกับรายได้มันเกินไปหรือไม่ เมื่อเกินไปก็ชวนให้คิดว่ามันแพงไปหรือไม่ "
        เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในปีนี้ มูลค่าตลาดหุ้นรวมหรือมาร์เก็ตแคปได้เพิ่มขึ้นจาก 1.5 ล้านล้านบาท เป็นประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท นั่นหมายความว่ามีคนร่ำรวยขึ้นจากตลาดหุ้นกว่า 1 ล้านล้านบาท ชุมพลมองว่าการที่คนจะรวยจากตลาดหุ้นสุดท้ายก็ต้องมีคนจ่าย เพราะการรวยจากตลาดหุ้นไม่ใช่รวยจากการผลิต จากการขายของได้ แต่มาจากคนอื่นที่พร้อมจะจ่ายในราคาที่สูงกว่าที่เราซื้อมาไปเรื่อยๆ และหากทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันต้องตก มันต้องจบ เกมต้องโอเวอร์
        เมื่อถามว่าตลาดหุ้นกำลังเกิดฟองสบู่หรือไม่ นายชุมพลกล่าวว่า "ผมว่าหุ้นบางตัวราคายังโอเค บางตัวก็เกินเหตุจริงๆ บางตัวยังถกเถียงกันได้ แต่ว่าผู้ซื้อส่วนใหญ่วันนี้ซื้อไม่เลือก เมื่อซื้อไม่เลือก ราคาก็ขึ้นไม่เลือก ทุกคนก็ซื้อราคาถูกหมด ผมคิดว่าถึงจุดที่น่าเป็นห่วงกันบ้าง แต่ผมยังไม่คิดว่าถึงจุดที่มันจะมีอะไรเกิดขึ้น ผมคิดว่าเรายังโตไปได้อีก แต่ว่าให้เบาๆ ลง"
        นายชุมพลระบุว่า เศรษฐกิจฟื้นจริง แต่คนที่ได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจในรอบนี้จะเป็นพวกที่มีทรัพย์สินอยู่แล้วและพวกเก็งกำไร ไม่ใช่ประชาชนทั่วไป แม้จะบอกว่าจีดีพี (ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ) จะดีขึ้น ประเทศรวยขึ้นและลงไปถึงรากหญ้า ก็คงต้องถามว่าถึงรากหญ้านั้นถึงมากแค่ไหน ถ้าถึงน้อยความมั่นคงก็จะน้อย
        นายชุมพลบอกว่า นี่เป็นสัญญาณที่เริ่มไม่ปกติ และถ้าเผื่อของพวกนี้ (ตลาดหุ้น อสังหาริมทรัพย์) ไม่ทำให้ทั้งหมดสะดุด เศรษฐกิจโดยทั่วไปก็ยังไปได้อยู่
แต่นายชุมพลตั้งคำถามว่า ที่ผ่านมาไม่เป็นบทเรียนหรือ ? และวันนี้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหาย ไปไหน ? ถ้าเป็นบทเรียนวันนี้ประเทศไทยมี "เบรก" อยู่หรือไม่
        นายชุมพลมีความเห็นว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้ดำเนินการมานั้นเป็นการทำดีแล้ว และวันนี้ทุกคนบอกว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะต้องใช้เบรก แต่ถามว่าวันนี้ "เบรก" ของเราคืออะไร เรามีเบรกอะไรบ้างและใครจะเป็นคนดึง/คนคุมเบรก
        นั่นต่างหากคือประเด็นที่ชุมพลต้องการจะสื่อ ส่วนจะใช้เบรกหรือไม่ใช้เบรกนั่นอีกเรื่องหนึ่ง
"ช่วยบอกหน่อยว่าเรามีเบรกอะไรบ้าง ไม่ใช่เราจะตกเหวแล้วค่อยมาผลิตเบรก เราต้อง เตรียมเบรกไว้ให้พร้อมก่อน ผมเห็นด้วยว่าเวลานี้ยังไม่ใช่เวลาใช้เบรก แต่ขอดูหน่อยว่ามีเบรกหรือไม่มีเบรก ผมก็ห่วงเหมือนกัน เหมือนบอกว่ายังไม่ถึงเวลาใช้ร่มชูชีพ แต่ถามว่ามีหรือไม่มี"
        นอกจากนี้ นายชุมพลให้ความเห็นต่อสภาพคล่องทางการเงินในปัจจุบันว่า วันนี้ผู้ฝากเงินท้อใจ ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำเกินไปแล้ว และยืนยันว่าดอกเบี้ยต่ำเกินไปไม่ดี อย่างญี่ปุ่นที่ดอกเบี้ยต่ำมานานเป็น 10 ปีก็ไม่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ นายชุมพลได้ออกตัวว่าไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ แต่ตั้งคำถามว่าการที่สภาพคล่องล้นมากๆ ตามปกติจะต้องมีคนดูแลไม่ใช่หรือ หรือไม่มีคนทำ หรือว่าไม่ทำกัน ถึงได้ปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยต่ำจนเกินไป ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ออมเงิน
ขณะเดียวกันในภาคเรียลเซ็กเตอร์ที่เป็นภาคการผลิตจริงๆ นายชุมพลกล่าวว่า ในขณะนี้กำลังการผลิตของภาคเอกชนยังเหลืออยู่ ยังไม่จำเป็นที่จะต้องขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ เหล็ก กระดาษ หรือปิโตรเคมี เพราะผลิตตามดีมานด์ที่มีจริง