นายกฯชูไอเดียจราจร ลุยขยายรถใต้ดิน-บนดิน
กรุงเทพธุรกิจรายวัน, พฤหัสบดีที่ 9 กันยายน 2546 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
        นายกฯชูไอเดียจราจร ลุยขยายรถใต้ดิน-บนดิน เบรกบีทีเอส สร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า เหตุฐานะการเงินมีปัญหา จี้เจรจาเจ้าหนี้ให้เสร็จก่อน สุริยะดึงสหรัฐ-จีน-ฝรั่งเศส-อังกฤษลงทุน
        "โฆสิต" ทักษิณ สั่งเดินหน้างานก่อสร้างสารพัดโครงการ แก้ปัญหาจราจรเบ็ดเสร็จใน 6 ปี ขีดเส้น สนข.เริ่มโครงการภายใน 8 เดือน ด้านสุริยะ เตรียมดึงผู้ลงทุนจาก จีน สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ เข้าประมูลงานก่อสร้างส่วนต่อขยายใต้ดินบนดิน มูลค่า 4 แสนล้านบาท หวังรองรับการให้บริการประชาชนนอกเมืองเข้าเมือง พร้อมปัดฝุ่นโฮปเวลล์ รถไฟรางคู่และโครงการเก่าๆ
 
ข้อคิดเห็น
 
        Idea ของทางราชการในกรณีนี้ สุดยอดจริง ๆ นี่แหละคือการลงทุนใน real sector และเป็นการดึงทุนนอก (FDI, foreign direct investment) เข้ามา เราควรทำอย่างนี้มานานแล้ว (ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้เคยทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเสนอความเห็นนี้มาตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2544) โปรดคลิ๊กดูรายละเอียดที่นี่
        แต่ประสบการณ์โฮปเวลล์ หรือ ด่วนขั้นที่สอง (กูมาไกกูมิ) ชี้ว่า ความไม่รู้เรื่องโครงการจริง-ทำให้สร้างซ้ำซ้อนกับโครงการอื่น ความไม่โปร่งใส-ทำให้เกิดทุจริต ทำให้รัฐและประชาชนเสียหาย ต้องควบคุมส่วนนี้ให้ได้
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        นายกฯชูไอเดียจราจร ลุยขยายรถใต้ดิน-บนดิน เบรกบีทีเอส สร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า เหตุฐานะการเงินมีปัญหา จี้เจรจาเจ้าหนี้ให้เสร็จก่อน สุริยะดึงสหรัฐ-จีน-ฝรั่งเศส-อังกฤษลงทุน
        ทักษิณ สั่งเดินหน้างานก่อสร้างสารพัดโครงการ แก้ปัญหาจราจรเบ็ดเสร็จใน 6 ปี ขีดเส้น สนข.เริ่มโครงการภายใน 8 เดือน ด้านสุริยะ เตรียมดึงผู้ลงทุนจาก จีน สหรัฐ ฝรั่งเศส อังกฤษ เข้าประมูลงานก่อสร้างส่วนต่อขยายใต้ดินบนดิน มูลค่า 4 แสนล้านบาท หวังรองรับการให้บริการประชาชนนอกเมืองเข้าเมือง พร้อมปัดฝุ่นโฮปเวลล์ รถไฟรางคู่และโครงการเก่าๆ
        ที่ทำเนียบรัฐบาล วานนี้ (10 ก.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาระบบขนส่งมวลชน ระบบราง ในเขต กทม.และปริมณฑล โดยมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี นายสมัคร สุนทรเวช ผู้ว่าราชการ กทม.เข้าร่วม
พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยภายหลังการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ว่าได้รับทราบระบบขนส่งมวลชนระบบรางทั้งหมดว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยนโยบายของรัฐบาลจะไม่ก่อสร้างเป็นช่วงๆ ตามแผน 20 ปี ที่สำนักงานนโยบายและแผนขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอมา เนื่องจากจะเสียเวลาและไม่สามารถแก้ปัญหาได้
        หากสามารถทำทั้งหมดรวดเดียวจะแก้ปัญหาการขยายตัวของรถยนต์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้ดีกว่า รวมถึงมีผลต่อทิศทางการขยายตัวของเมือง ซึ่งเส้นทางที่จะขยายคือ รถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินและสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมถึงโครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีแดง ที่เป็นแนวทางของโครงการโฮปเวลล์เดิม ซึ่ง สนข.เสนอมา 3 เส้นทาง โดยตนคิดว่าควรทำเพียง 2 เส้นทางก็พอ คือ เส้นจากรังสิตเข้าเมืองและเส้นตะวันออกจากสถานีมักกะสันไปท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

สั่งทำโครงข่าย100กม.ลงทุน4แสนล้าน
        นายกฯ ระบุว่า หากทำโครงข่ายดังกล่าวทั้งหมด จะมีความยาวรวม 100 กม.ใช้เงินลงทุนประมาณ 3-4 แสนล้านบาท และจะทำให้ระบบขนส่งมวลชนสมบูรณ์ขึ้น โดยเชื่อว่าจุดที่เป็นจุดเชื่อมต่อ จะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1-2 ปี ซึ่งจะก่อสร้างเสร็จก่อนระบบราง ขณะที่รถไฟใต้ดินสายสีน้ำเงินคาดว่า จะเสร็จประมาณเดือน เม.ย.ปีหน้า
        "แต่กว่าจะทำและขุด ผมคิดว่ารถจะติดมาก จึงให้เร่งแก้ถนนและทางยกระดับในจุดเชื่อมต่อเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้ระบบเดินทางดีขึ้น เช่น ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ก็ให้เชื่อมกับวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้การเดินทางสะดวกขึ้น ส่วนบางสายจะยืดออกไป เป็นการทำคู่ขนานกับระบบราง เพราะกว่ารถไฟฟ้าจะเสร็จต้องใช้เวลา 5-6 ปี" นายกฯ กล่าว
        ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าบีทีเอสของบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอสซี ขณะนี้บริษัทมีปัญหาการปรับโครงสร้างหนี้ ที่ยังไม่มีข้อยุติกับเจ้าหนี้ รัฐบาลจึงต้องการให้การเจรจาจบลงก่อน เพื่อให้รู้ว่าจะขยายเส้นทางได้อย่างไร
        สำหรับการเจรจาแก้ปัญหาหนี้ของบีทีเอส รัฐบาลคงไม่เข้าไปเป็นตัวกลาง เพราะเป็นเรื่องของเอกชนที่เจ้าหนี้ลูกหนี้ต้องเจรจากัน แต่จะให้กระทรวงคมนาคมเข้าไปหารือด้วย เนื่องจากยังมีการลงทุนส่วนที่เหลือ หาก กทม.ดำเนินการมากเกินไป คงรับภาระไม่ไหว โดยขณะนี้มีปัญหาที่เจ้าหนี้ไม่เชื่อถือลูกหนี้ จุดนี้จะทำอย่างไรให้จบแบบไม่คาราคาซัง เจ้าหนี้จะแปลงหนี้เป็นทุนหรือไม่
        พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวถึงการลงทุนของรัฐบาลว่า ไม่ต้องการให้ระบุถึงเรื่องเงินลงทุนขณะนี้ ซึ่งอาจเป็นจำนวนมาก แต่เมื่อเทียบกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น เช่น ประชาชนต้องใช้เวลาเดินทางถึง 4 ชั่วโมง คงไม่ไหว ดังนั้นเงินลงทุนจะนำมาจากไหนต้องคำนวณกันอีกครั้ง

สุริยะรับลูกเตรียมเปิดประมูลโครงการ
        นายสุริยะ กล่าวเสริมว่า การหารือเพื่อเร่งรัดยุทธศาสตร์ของประเทศเรื่องการนำระบบรางมาทดแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัวเดินทางของประชาชน โดย สนข.ได้เสนอโครงการแผนลงทุนระบบขนส่งมวลชน ระยะทางรวม 213 กม.มูลค่า 4.8 แสนล้านบาท ประกอบด้วย ระบบราง ระบบทางด่วน และระบบรถไฟชานเมือง
        สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น กำลังพิจารณาความเป็นไปได้ของแหล่งเงิน ซึ่งส่วนหนึ่งจะใช้งบประมาณเป็นเงินลงทุนของรัฐบาล ส่วนอื่นๆ จะใช้เงินกู้หรือเงินจากกองทุนต่างๆ หรือเปิดให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุน ในลักษณะ SINGLE OPERATOR ซึ่งอาจเป็นนักลงทุนต่างประเทศทั้ง จีน ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐ เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้
        เราจะเปิดประกวดราคาไปก่อน และระหว่างนี้ก็ศึกษาหาข้อมูลว่าจะใช้การลงทุนรูปแบบใด เพราะถ้าจะรอให้ทุกอย่างสมบูรณ์ การแก้ไขปัญหาจะไม่ทันกัน โดยเราตั้งเป้าว่า โครงการ 213 กม.นี้ จะต้องเสร็จใน 6 ปี ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 4 แสนล้านบาทแน่นอน นายสุริยะ กล่าว

นายกฯจี้เดินหน้าโครงการค้างเก่า
        อย่างไรก็ตาม นายกฯต้องการให้เร่งรัดโครงการที่ยังค้างอยู่ โดยเฉพาะโครงการที่ออกแบบรายละเอียดไว้แล้ว เช่น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 13.8 กม.มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งโครงการนี้ผ่านการพิจารณาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว โดย รฟม.จะเร่งเปิดประกวดราคา
        ส่วนโครงการที่ยังไม่ได้ออกแบบรายละเอียด รฟม.ก็ต้องเร่งดำเนินการออกแบบให้เสร็จ เช่น โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามหานครสายสีน้ำเงิน จากบางซื่อ-จรัญสนิทวงศ์-สะพานพระนั่งเกล้า ระยะทาง 11.6 กม.มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท และโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ามหานครสายสีส้มจากบางกะปิ-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 34.6 กม.มูลค่า 1.1 แสนล้านบาท

เร่งสร้างทางด่วนเชื่อมเป็นเครือข่าย
        ในด้านการแก้ปัญหาการจราจรติดขัดปัจจุบัน นายกฯ เห็นว่าควรเร่งก่อสร้างระบบทางด่วนที่อยู่ในความรับผิดชอบของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ให้เชื่อมเป็นเครือข่ายโดยสมบูรณ์ โดยเฉพาะโครงการที่มีแผนจะดำเนินการ แต่ชะลอไว้ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เช่น ทางด่วนช่วงบ้านครัว ซึ่งนายกฯกำชับให้ สนข.ศึกษารายละเอียดและดำเนินการก่อสร้างทันที
        นอกจากนี้ยังเร่งให้ก่อสร้างทางด่วนข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณถนนพระราม 2 ช่วงตรอกจันทน์ เพราะปัจจุบัน ทางด่วนช่วงสะพานพระราม 9 มีปัญหาจราจรติดขัดมาก เนื่องจากสะพานลาดชันและมีปริมาณรถมาก

เบรกบีทีเอสสร้างส่วนต่อขยาย
        นายสุริยะ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้หารือถึงโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่ง กทม.ต้องการให้เร่งดำเนินการ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า ส่วนต่อขยายช่วงสาทร-ตากสิน ระยะทาง 2.2 กม.นั้น นายกฯอนุมัติให้ดำเนินการได้ เพราะจะมีสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอีกเพียง 2 สถานี ดังนั้น บีทีเอสซี สามารถใช้รถไฟฟ้าที่มีอยู่ให้บริการต่อได้ โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มขบวนรถ ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าบีทีเอสในเส้นทางอื่นๆ ท่านนายกฯสั่งให้หยุดไว้ก่อน จนกว่าจะเจรจากับกลุ่มเจ้าหนี้เสร็จ ซึ่ง กทม.ต้องเรียกทั้งสองฝ่ายมาหารือกัน เพื่อให้ได้ข้อสรุป รวมถึงเรื่องค่าโดยสาร นายสุริยะ กล่าว

สนข.ทำข้อมูลแนวเส้นเดิมโฮปเวลล์เพิ่ม
        ส่วนโครงการระบบรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งเป็นแนวเส้นทางโครงการโฮปเวลล์เดิมนั้น นายกรัฐมนตรีให้พิจารณาว่ามีปริมาณผู้โดยสารมากน้อยเพียงใด โดยให้ สนข.จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม หากมีปริมาณผู้โดยสารมากก็ให้ใช้ระบบรถไฟ แต่ถ้าปริมาณผู้โดยสารไม่มากนัก ก็ให้ใช้ระบบรถประจำทางเข้ามาเสริม
        "ขณะนี้กำลังศึกษาว่าจะดึงคนจากชานเมืองเข้ามาในเมือง เมื่อลงทุนแล้วคุ้มค่าหรือไม่ หากไม่คุ้มจะใช้ระบบรถเมล์แทน ซึ่งเส้นนี้จะใช้รูปแบบรถไฟรางคู่ ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟปกติวิ่งสลับกัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมองว่า ทุกๆ 1-2 ตร.กม.ควรมีสถานีรถไฟไฟและรถไฟใต้ดิน ครอบคลุมพื้นที่รอบใน 113 ตร.กม.แม้ สนข.และนายสมัครจะเห็นไม่ตรงกัน เพราะนายสมัครมองว่าควรเน้นวงแหวนรอบนอกมากกว่า แต่ สนข.ต้องการเร่งพัฒนาระบบขนส่งในเมือง จุดนี้ต้องหารือเพื่อทำข้อมูลและบริการประชาชนให้ดีที่สุด" นายสุริยะ ย้ำ

ตีกลับแผนลงทุน20ปี4แสนล้าน
        รายงานข่าวจากที่ประชุม ระบุว่า ในการพิจารณาแผนพัฒนาระบบขนส่งมวลชน 20 ปีของ สนข.เงินลงทุน 3.86 แสนล้านบาท ระยะทาง 255.89 กม.นั้น นายกฯไม่เห็นด้วย ที่ภาครัฐจะเป็นผู้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและจัดหากรรมสิทธิ์ที่ดินให้เอกชน ซึ่งรัฐต้องลงทุนรวม 2.35 แสนล้านบาท คิดเป็น 61% ของมูลค่าลงทุน ขณะที่ภาคเอกชนลงทุน 1.5 แสนล้านบาท หรือ 39% แบ่งเป็นรถไฟใต้ดินสายสีแดง วงเงิน 1.22 หมื่นล้านบาท สายสีน้ำเงิน 9.84 หมื่นล้านบาท สายสีเขียว 7.91 หมื่นล้านบาท และสายสีส้ม 8.26 หมื่นล้านบาท
        นายสุริยะ กล่าวว่า นายกฯ มองว่าขณะนี้ได้รับร้องเรียนเรื่องปัญหาจราจรจากประชาชนมาก และต้องเจอปัญหานี้กับตัวเอง หากแก้ไขได้จะช่วยปัญหาเศรษฐกิจและส่งเสริมการท่องเที่ยวมาก

"ทักษิณ"กำชับสนข.เริ่มโครงการใน8เดือน
        นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการ สนข.กล่าวว่า นายกฯ ต้องการให้เริ่มดำเนินการโครงการทั้งหมดภายใน 8 เดือนข้างหน้า และภายใน 6 ปี ต้องเห็นความคืบหน้าในการแก้ปัญหาจราจร
        ด้านนายเผชิญ ไพโรจน์ศักดิ์ รักษาการผู้ว่าการ กทพ.กล่าวว่า การก่อสร้างทางด่วนในช่วงบ้านครัวนั้น ตามสัญญาระบุว่าบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีซีแอล ต้องเป็นผู้ลงทุน แต่ขณะนี้ บีอีซีแอล ระบุว่าพ้นกำหนดที่ กทพ.ต้องส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้กับบริษัทแล้ว จึงไม่ต้องการก่อสร้างส่วนนี้ และคณะอนุญาโตตุลาการกำลังพิจารณาอยู่ สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วนบริเวณถนนพระราม 2 ช่วงตรอกจันทน์ อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ

ชี้ระบบขนส่งไทยพร้อมเป็นประตู่สู่เอเชีย
        นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมจราจรและขนส่ง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวยืนยันว่า ปัจจุบันไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางระบบขนส่งของเอเชีย เมื่อพิจารณาทั้งด้านภูมิศาสตร์และระบบขนส่งพื้นฐานที่มีอยู่ โดยเส้นทางรถยนต์นั้น หากไทยสามารถเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งถึงตอนใต้ของประเทศจีนได้ ก็จะกลายเป็นประตูสู่เอเชียที่สำคัญ ขณะที่การพัฒนาระบบขนส่งแบบรางของประเทศนั้น การที่รัฐบาลประกาศจะใช้งบประมาณ 9 แสนล้านบาท พัฒนาระบบรางของประเทศถือว่าเดินมาถูกทาง ทั้งในแง่ของการประหยัดพลังงานและปัญหาจราจร โดยรัฐบาลต้องเร่งพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมต่อระบบขนส่งจากในเมืองและนอกเมือง ที่จะช่วยประหยัดเวลาการเดินทางลงได้มาก รวมถึงการขนส่งทางอากาศ
        เชื่อว่าศักยภาพของสนามบินสุวรรณภูมิ มีเหนือกว่าสนามบินชางงีของสิงคโปร์ เนื่องจากหากเชื่อมโยงเส้นทางการบินกับทวีปยุโรปและอเมริกาได้ จะสามารถประหยัดเวลาเดินทางได้ถึง 1 ชั่วโมง รวมทั้งรองรับผู้โดยสารได้ 45 ล้านคนต่อปีด้วย อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อด้อยในระบบขนส่งทางน้ำ เนื่องจากทำเลที่ตั้งของท่าเรือแหลมฉบัง เสียเปรียบท่าเรือของสิงคโปร์ ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งพัฒนาโครงการระบบขนส่งรองรับ โดยต้องเลือกระหว่างโครงการขุดคลองกระที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มูลค่า 8 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีการย้ายการใช้เส้นทางขนส่งทางเรือ จากช่องแคบมะละกา มายังโครงการดังกล่าวหรือโครงการถนน ระบบราง และท่อส่งเชื่อมระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามันหรือแลนด์บีช เส้นทางจาก อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช ไปถึง จ.กระบี่ ที่คาดว่าจะใช้เงินลงทุนน้อยกว่า หากไทยแก้ปัญหาทำให้มีการขนส่งที่ได้เปรียบในทุกระบบ ก็จะเป็นประเทศที่มีศักยภาพเป็นประตูสู่เอเชียได้ไม่ยาก