"โฆสิต" ชี้ ศก.เสี่ยง ทางรอดเน้น "ออม"
กรุงเทพธุรกิจรายวัน, พฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2546
 
สรุปสาระข่าว
 
        ประเมินอนาคตเศรษฐกิจ ยังมีความผันผวน ฟื้นตามแรงกระตุ้นรัฐ แรงงานใหม่จะเจอปัญหาว่างงาน แนะธุรกิจเร่งปรับตัวยุคเศรษฐกิจผันผวน
        "โฆสิต" ระบุเศรษฐกิจผันผวน เสี่ยงสูงแนะทางรอดประชาชนเน้น "ออมเงิน" คาดไทยเผชิญภาวะราคาต่ำยาวนาน ถึงปีหน้า ส่งผลเติบโตแบบลุ่มๆ ดอนๆ รอการกระตุ้นจากภาครัฐ แรงงานใหม่จะเจอปัญหาว่างงานและอัตราผลตอบแทนการออมต่ำ
        นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าแนวทางการบริหารของภาคธุรกิจในยุคแห่งความผันผวนปัจจุบัน นั้นสิ่งสำคัญคือการปรับตัว ซึ่งขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยค่อนข้างผันผวน แต่มีกระแสว่าเราจะได้ประโยชน์จากความผันผวนนี้ ซึ่งหลายคนคิดเช่นนั้น แต่บางคนก็กลัวจากบทเรียนในอดีต ความรู้สึกในขณะนี้ของภาคธุรกิจไทยคือ "กล้าๆ กลัวๆ" ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจทำธุรกิจเพราะคิดว่าภาวะเช่นนี้จะอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งภาวะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจะล้อเล่นได้
 
ข้อคิดเห็น
 
        ถ้าคิดแต่จะ "เสพสุขไม่สิ้นซาก" "แก้ผ้าเอาหน้ารอดไปวัน ๆ" จะ "มิประสบเภทภัยมากกว่าวาสนา" หรือ
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        ประเมินอนาคตเศรษฐกิจ ยังมีความผันผวน ฟื้นตามแรงกระตุ้นรัฐ แรงงานใหม่จะเจอปัญหาว่างงาน
        แนะธุรกิจเร่งปรับตัวยุคเศรษฐกิจผันผวน
        "โฆสิต" ระบุเศรษฐกิจผันผวน เสี่ยงสูงแนะทางรอดประชาชนเน้น "ออมเงิน" คาดไทยเผชิญภาวะราคาต่ำยาวนาน ถึงปีหน้า ส่งผลเติบโตแบบลุ่มๆ ดอนๆ รอการกระตุ้นจากภาครัฐ แรงงานใหม่จะเจอปัญหาว่างงานและอัตราผลตอบแทนการออมต่ำ
        นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่าแนวทางการบริหารของภาคธุรกิจในยุคแห่งความผันผวนปัจจุบัน นั้นสิ่งสำคัญคือการปรับตัว ซึ่งขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจโลกและไทยค่อนข้างผันผวน แต่มีกระแสว่าเราจะได้ประโยชน์จากความผันผวนนี้ ซึ่งหลายคนคิดเช่นนั้น แต่บางคนก็กลัวจากบทเรียนในอดีต ความรู้สึกในขณะนี้ของภาคธุรกิจไทยคือ "กล้าๆ กลัวๆ" ทำให้ไม่กล้าตัดสินใจทำธุรกิจเพราะคิดว่าภาวะเช่นนี้จะอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งภาวะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องจะล้อเล่นได้
        "สิ่งสำคัญคือการบริหาร แบงก์ก็ต้องดู ต้องมองหาบางสิ่งบางอย่าง ผมคิดว่าขณะนี้ทุกคนกำลังมองหาสิ่งเดียวกันคือมองหาในลักษณะยั่งยืน เนื่องจากมีบทเรียนจากอดีตมาแล้ว" นายโฆสิต กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ "อนาคตเศรษฐกิจไทย" จัดโดยสมาคมธรรมศาสตร์บริหารธุรกิจ (ทีบีเอส) ที่โรงแรมไฮแอท เอราวัณ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.ที่ผ่านมา
        เขากล่าวอีกว่าหากธุรกิจเจอแรงกดดันเช่นนี้สิ่งสำคัญคือการปรับตัว ทุกธุรกิจมีดำเนินการเช่นนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์ต้องดูแลต้นทุน หาช่องทางหารายได้ หาวิธีการแข่งขันที่ไม่เหนื่อยมาก ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีหลายรูปแบบ อาจใช้นวัตกรรมใหม่ เน้นแข่งที่คุณภาพ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์
        เขากล่าวว่า ไม่เห็นด้วยถึงการเรียกร้องให้ใช้จ่ายมากขึ้น เพราะภาวะเศรษฐกิจขณะนี้มีความไม่แน่นอนสูง หากเป็นเช่นนี้ภาคครัวเรือนต้องเร่งออมกันมากขึ้น ซึ่งเป็นการออมที่จำเป็นเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว เรื่องการออมเพื่อให้เพียงพอต่อความปลอดภัยนี้ไม่เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ย จนกระทั่งการออมมีเกินพอแล้วนั่นแหละ ตอนนั้นจึงจะเริ่มพูดถึงผลตอบแทน
        สำหรับความผันผวนและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจนั้น นายโฆสิต กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันในรูปแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อนคือความกดดันจาก"ภาวะราคาต่ำ" ซึ่งดูได้จากดัชนีเงินเฟ้อพื้นฐานของประเทศไทยเมื่อย้อนหลังไป 14 เดือน อยู่ในระดับไม่เกิน 0.5% และในเดือนที่แล้วเพิ่มขึ้น 0.1% เมื่อเทียบปีต่อปี
        "เศรษฐกิจไทยจะได้รับแรงกดดันเช่นนี้จนถึงสิ้นปี และในปีหน้าอาจได้รับแรงกดดันเช่นเดียวกัน แต่ไม่น่าจะแรงขึ้นกว่าปีนี้ ผมคิดว่าจะมีแรงกดดันที่นานมาก แต่ผมไม่อยากให้แรงขึ้น"
        แรงกดดันจากภาวะราคาต่ำเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยแล้ว 3 ประการ คือ 1.อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะเติบโตแบบที่เรียกว่าลุ่มๆ ดอนๆ กล่าวคือบางช่วงดีบางช่วงไม่ดี ประเดี๋ยวสูงประเดี๋ยวต่ำ ดังนั้นรัฐบาลจึงกระตุ้นแบบแหลกลาญ ซึ่งปรากฏให้เห็นในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น รัฐบาลจะกระตุ้นทุกด้านอย่างหนัก เช่น แจกเงินให้ใช้ ดอกเบี้ย 0% เมื่อรัฐบาลกระตุ้นคนก็เฮ แต่เมื่อไม่กระตุ้นเศรษฐกิจก็หงอย
        2.ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นในตลาดแรงงาน โดยอัตราการว่างงานกับโอกาสในการหางานทำของผู้เริ่มเข้าตลาดแรงงานจะยากขึ้น เมื่อธุรกิจไม่สามารถดูแลเรื่องราคาสินค้าได้เนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรงและกำลังการผลิตเหลือ บรรดาภาคธุรกิจจึงต้องดูแลต้นทุนของตัวเอง ซึ่งในหลายประเทศเริ่มปรากฏให้เห็น เช่น สหรัฐมีอัตราการว่างงานสูงถึง 6.4% ยุโรป 9% และญี่ปุ่นก็อยู่ระดับสูงมาก ดังนั้นในตลาดแรงงานจะมีปัญหา
        3. ผลตอบแทนการออมต่ำ ซึ่งถือว่าไม่เป็นธรรมกับผู้มีรายได้จากการออม เพราะจะไปลงทุนอะไร ผลตอบแทนต่ำหมด เป็นภาวะที่ต่ำทั่วโลกและผลตอบแทนต่ำในทุกธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะธนาคารเท่านั้น
        "หากผ่านจุดนี้ไป สิ่งที่อยากเห็นการกระตุ้นอีกแบบ ควรเน้นถึงประสิทธิภาพมากขึ้น และหากความจำเป็นในการกระตุ้นจากภาครัฐคลี่คลายลง และหากรัฐกระตุ้นต่อทำให้เกิดปัญหาได้ ดังนั้นภาครัฐต้องกระตุ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันซึ่งใช้เงินเหมือนกัน แต่ไม่ใช่แจก"
        3 สาเหตุกดดันภาวะราคาต่ำ
        นายโฆสิต ยังกล่าวถึงสาเหตุภาวะราคาต่ำเกิดจาก 1.กำลังการผลิตเหลือ ซึ่งเกิดมาตั้งแต่สมัยเศรษฐกิจฟองสบู่ที่มีการลงทุนสูงถึง 40% ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (จีดีพี) แม้ว่าการใช้กำลังการผลิตจะเห็นได้จากกำลังการผลิตในปี 2541 อยู่ที่ 50.8% แต่ในปี 2546 ช่วง 5 เดือนแรก กำลังผลิตอยู่ที่ 66.9%ซึ่งถือว่าดีขึ้นแต่ยังมีกำลังการผลิตยังเหลืออีกมากดังนั้นจึงเป็นแรงกดดันที่ไม่ง่ายจะมีการลงทุนใหม่ ซึ่งเรายังเป็นห่วงเรื่องการลงทุน เพราะการเติบโตทุกวันนี้มาจากการบริโภค ไม่ใช่จากการลงทุน
        2. การแข่งขันยุคโลกาภิวัตน์ทำให้กระแสการแข่งขันรุนแรงและส่งผลต่อระดับราคาสินค้า การแข่งขันทั้งจากประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าหรือต่ำกว่าไทย เมื่อการแข่งขันสูงขึ้นทำให้อำนาจทางธุรกิจถูกลดทอนลงไป
        3. การเคลื่อนย้ายเงินทุนในการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้ เงินทุนไหลเข้าออกเร็วเกินไป หากเงินทุนจากต่างประเทศไหลไปที่ไหน ค่าเงินของประเทศนั้นจะแข็งค่าขึ้น และมีโอกาสจะใช้สินค้าถูกจากต่างประเทศมากขึ้น และช่วยให้เงินเฟ้อไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่ประเทศที่เงินทุนเคลื่อนย้ายออก ค่าเงินจะอ่อนและเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น
        นายโฆสิต กล่าวว่าที่ผ่านมาหลายประเทศ พยายามที่จะดิ้นออกจากวงจรดังกล่าว และประเทศไทยก็ทำได้ดี แต่มีหลายเรื่องไม่ได้อยู่ในการควบคุมของรัฐบาล เช่น การส่งออก ซึ่งขณะนี้ถือว่าดีมาก แต่การส่งออกของไทยไปตลาดหลักคือสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นไม่ได้ขยายตัว ซึ่งประเทศที่ส่งออกไปตลาดหลักเพิ่มขึ้นคือจีน แต่ส่งออกของไทยไปขยายตัวมากคือในตลาดจีน
        "อย่างนี้แสดงให้เห็นว่าเราได้โอกาสจากการเติบโตของจีน ซึ่งจีนได้โอกาสจากประเทศหลักเหล่านี้ ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่าหากประเทศหลักมีปัญหาจะส่งผลต่อจีน และกระทบต่อไทยอีกที"