วุฒิพบข้อมูลทุจริตโกงค่าเวนคืนที่ดินอื้อ
ผู้จัดการรายสัปดาห์, ศุกร์ที่ 27 มิถุนายน 2546
 
สรุปสาระข่าว
 
        เลขาฯกมธ.ปกครองวุฒิสภาแนะรัฐบาลแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น อย่างเร่งด่วน หลังลงพื้นที่ตรวจสอบพบการทุจริตในหน่วยงานรัฐทุกระดับ เผยการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินและการก่อสร้างเขื่อนเป็นอีกตัวการหนึ่งที่สูบเงินแผ่นดินมหาศาลแต่ไม่เคยจัดการคนทำผิดได้
 
ข้อคิดเห็น
 
        คิดสั้น ๆ ชัด ๆ เลยว่า อย่างนี้ต้องใช้วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        เลขาฯกมธ.ปกครองวุฒิสภาแนะรัฐบาลแก้ปัญหาการคอร์รัปชั่น อย่างเร่งด่วน หลังลงพื้นที่ตรวจสอบพบการทุจริตในหน่วยงานรัฐทุกระดับ เผยการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินและการก่อสร้างเขื่อนเป็นอีกตัวการหนึ่งที่สูบเงินแผ่นดินมหาศาลแต่ไม่เคยจัดการคนทำผิดได้
        กรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา เป็นอีกคณะหนึ่งที่ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนมากที่สุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการร้องเรียนเรื่องการทุจริต คอร์รัปชั่นจากทุกหน่วยงาน ซึ่ง กมธ.ชุดนี้ได้แบ่งเรื่อง การร้องเรียนออกเป็น 7 เรื่อง คือ ด้านการเมือง การปกครองระดับประเทศ ด้านการเมืองระดับท้องถิ่น ด้านมาตรฐานและความเป็นอยู่ของประชาชน ปัญหาการทุจริตหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถูกกลั่นแกล้ง และไม่ได้รับความเป็นธรรม ปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาสัญญาหรือสัมปทานของรัฐ
        ปรีชา ปิตานนท์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะเลขา นุการคณะกรรมาธิการการปกครองวุฒิสภา เปิดเผย กับ"ผู้จัดการรายสัปดาห์"ว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นติดอันดับหนึ่งในของเรื่องที่การร้องเรียนเข้าสู่คณะกรรมาธิการการปกครอง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ในการประชุมกรรมาธิการการปกครองซึ่งจัดขึ้น อาทิตย์ละสองครั้งจะมีเรื่องการคอร์รัปชั่นทุกครั้ง
        จากสถิติการร้องเรียนกรรมาธิการ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม 2545ถึงเดือนพฤษภาคม 2546 มีทั้งสิ้น 193 เรื่อง มีเรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นหรือการปฏิบัติหน้าที่โดย มิชอบถึง 37 เรื่อง เป็นเรื่องที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการสอบ สวนจากคณะกรรมาธิการแล้วปรากฎว่าเรื่องนี้ไม่สามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่นั่นคือนักการเมืองได้เลยแม้แต่คนเดียว
        "บางเรื่องมีการร้องเรียนว่ามีนักการเมืองเข้ามา เกี่ยวข้องแต่ไม่สามารถสาวไปถึงตัวการใหญ่ได้เพราะหลักฐาน"ขาดหาย"ไป ซึ่งคณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกตว่าการการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่น เป็นการกระจายทุจริตด้วย"
        การทำงานของคณะกรรมาธิการการปกครองมีส่วนอย่างมากที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อสังคมโดยเฉพาะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เช่น ปัญหาการทุจริตการจัดซื้อรถยูโรทูของ ขสมก.เรื่องนี้ได้ทำให้คนที่เกี่ยวข้องต้องร้อนๆหนาวๆ บางส่วน ชิงลาออกไปแล้ว
        ปัญหาการเก็บ "ส่วยรถตู้" ตอนนั้นได้มีมาตรการ ที่จะให้รถตู้ทั้งหลายเข้าไปเป็นรถร่วมบริการกับ ขสมก.แต่เมื่อมีการตรวจสอบพบว่ามีรถตู้เพียง 400 กว่าคันจาก 10,000 กว่าคันที่ยอมเข้าไปร่วมโดยถูกฎหมาย
        "สาเหตุของเรื่องนี้ก็เกิดจากการคอร์รัปชั่น มีคนในองค์กรสร้างความง่ายให้เป็นความยากโดยการ "ป่วน"ให้เจ้าของรถตู้ต้อง"จ่ายเบี้ยรายทาง"หรือสัมปทาน แต่เมื่อกมธ.ได้ศึกษากฎหมายขนส่งครบทุกมาตราแล้วไม่ปรากฎว่ามีกฎหมายสัมปทานอยู่ใน กฎหมายขนส่งฉบับไหนเลย จุดนี้คือจุดเริ่มต้นที่ทำใหสังคมได้รับรู้ว่าตรงนี้ไม่ได้มีสัมปทาน ใครที่มีคุณสมบัติเดินรถโดยสารก็สามารถขออนุญาตเดินรถได้"
        นอกจากนี้ กมธ.ยังเข้าไปดำเนินการก่อนและมาถึงตอนนี้ได้นำไปสู่การปฏิบัติแล้วคือเรื่องมอเตอร์ ไซด์รับจ้าง กมธ.เราไปทำเรื่องนี้มาสามปีแล้ว ตอนนั้น กมธ.ได้เสนอต่อรัฐบาลว่ามอเตอร์ไซด์รับจ้างไม่ผิดกฎหมายเพราะไม่มีกฎหมายเอาผิด เรื่องนี้มีคำสั่งจากรัฐว่าห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้อง กมธ.ได้เสนอเรื่องนี้แล้วแต่ไม่มีใครสนใจจนมันเกิด ปัญหา"ผู้มีอิทธิพล"ขึ้นอย่างทุกวันนี้
        ปัญหาการบุกรุกที่ดินสาธารณะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ กมธ.ชุดนี้ได้รับการร้องเรียนมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้มีผู้ร้องเรียนว่ามีบริษัทต่างชาติที่ร่วมทุนกับผู้ลงทุนชาวไทยรุกที่บริเวณ"หาดเลพัง"ในจังหวัด ภูเก็ต เมื่อ กมธ.ลงไปตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ปรากฎว่าที่ดินสาธารณะในจังหวัดภูเก็ตมีการออกเอกสารส่อไปในทางที่มิชอบและส่อไปในทางทุจริตมากมาย แม้กระทั่งสารบบที่ดินทั้งหลายก็"ล่องหน"ไป
        "เรื่องนี้เราเริ่มคุ้ยมาก่อน กมธ.ลงไปตรวจสอบหลายครั้งก่อนที่จะชี้ข้อมูลให้หน่วยงานที่รับผิดชอบลงไปตรวจสอบจนกลายเป็นข่าวโด่งดังในวันนี้"
        กมธ.ได้ลงไปตรวจสอบการคอร์ รัปชั่นในหลายๆ เรื่องทั่วประเทศ บางเรื่องเป็นสิ่งที่สังคมมอง เห็นเป็นเรื่องปกติเพราะคนที่ทุจริตจะนำเอาช่องว่าง ของกฎหมายมาใช้และรัฐก็ไม่สามารถเอาผิดได้ เช่นการสร้างถนน แล้วมีการจ่ายค่าเวณคืนที่ดินกับประชาชนที่เป็นเจ้าของที่ดิน
        ขณะนี้กมธ.กำลังรวบรวมหลักฐานต่างๆเพื่อนำ เสนอต่อรัฐบาลคือ การจ่ายค่าเวนคืนที่ดินที่เกิดจาก การก่อสร้างถนน การก่อสร้างเขื่อนต่างๆ ซึ่งราคาที่ จ่ายกับราษฎรที่เดือดร้อนเมื่อเทียบกับค่าก่อสร้างพบ ว่า มีการจ่ายค่าเวณคืนที่ดินสูงกว่าค่าการก่อสร้างเขื่อนหลายโครงการ เช่น เขื่อนคลองโสน ในจังหวัดตาก ซึ่ง กมธ.ลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วพบว่า มีการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินถึง 500 ล้านบาทในขณะที่ค่าก่อสร้างเขื่อนเพียงสองร้อยกว่าล้าน ที่สำคัญที่ดินบริเวณนั้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าสงวน
        นอกจากนี้ยังได้มีการกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้าน บริเวณที่จะมีการตัดถนนเลียบฝั่งชายแดนพม่าในราคาถูกแต่ถึงเวลาจ่ายค่าเวนคืนกลับคิดราคาไร่ละสองหมื่นบาท
        "น่าแปลกที่ราคาที่ดินตามชายแดนจังหวัดตาก มีราคาเท่ากับการจ่ายค่าเวนคืนที่ดินที่จะสร้างถนนบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นทางผ่านที่จะลงไปสู่ภาคใต้"
        เลขาฯคณะกรรมาธิการการปกครอง กล่าวสรุป ว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงและควรจะเร่งแก้ไขโดยด่วน คือปัญหาการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นในทุกระดับและทุกหน่วยงาน แต่รัฐบาลยังไม่ลงมือแก้ไขอย่างจริงจังหากเปรียบเทียบกับการดำเนินตามนโยบายเร่งด่วน อื่นๆ
        "ผมแปลกใจมากที่รัฐบาลยังไม่เอาจริงเอาจังกับปัญหาคอร์รัปชั่นทั้งๆที่ได้ประกาศ เป็นนโยบายเร่งด่วนไปแล้ว" สว.ปรีชาระบุ