เผยค่าเช่าที่ดินถูกสุดสุด สวนทำเลทองธุรกิจกรุง
ผอ.ชี้ศาสนสมบัติไม่เจ๊ง

มติชน, 22 เมษายน 2546 หน้า 1
 
สรุปสาระข่าว
 
        เผยค่าเช่าที่ดิน-อาคารศาสนสมบัติกลางในเขตกรุงเทพฯสุดถูก ย่านบางกะปิเอกชนเสียแค่ตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน อาคารคูหาละ 90 บาท เขตราชเทวีให้เช่า 10 ไร่ ตารางวาละ 78 บาท
 
ข้อคิดเห็น
 
        นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่ง เรื่องอย่างนี้ถ้าใช้บริการการประเมินค่าทรัพย์สินตามหลักมาตรฐานสากล ก็คงไม่มีปัญหาอะไร จะเกิดความโปร่งใส สังคมและผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนสมควรตระหนักถึงความสำคัญของวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน เพื่อการจัดการทรัพย์สินต่าง ๆ อย่างไม่มีเงื่อนงำ และไม่มีปัญหาทุจริต
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
        รายงานข่าวจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พ.ศ......) แจ้งเมื่อวันที่ 21 เมษายน กรณีการบริหารจัดหาประโยชน์จากการให้เช่าที่ดินกว่า 3 หมื่นไร่ และอาคาร ซึ่งเป็นศาสนสมบัติกลาง มีรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น เช่นปี 2543 กลับมีรายรับติดลบ 51 บาท จนมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจมีขบวนการเหลือบแอบแฝงหาประโยชน์จากศาสนสมบัติกลางนั้น จากการตรวจสอบเอกสารงบประมาณศาสนสมบัติกลาง ประจำปี 2545 พบว่าการจัดหาประโยชน์จากทรัพย์สินศาสนสมบัติกลางในเขตกรุงเทพฯและส่วนภูมิภาคตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีอัตราการเช่าค่อนข้างจะถูก ซึ่งในเขตกรุงเทพฯมีทรัพย์สินในการจัดประโยชน์จากการให้เช่าที่ดิน เช่าอาคาร 52 รายการ โดยในปี 2543 มีรายรับเพียง 14.79 ล้านบาท ปี 2544 มีรายรับ 28.49 ล้านบาท และปี 2545 ตั้งยอดไว้ 25.64 ล้านบาท ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการให้เอกชนเช่าในย่านทำเลดีๆ ในเขตกรุงเทพฯมีราคาถูก อาทิ 1.ที่ดินโฉนดเลขที่ 1474 จำนวน 22 ไร่ ในเขตราชเทวี ให้เอกชนเช่าประมาณ 10 ไร่ ค่าเช่าตารางวาละ 78 บาทต่อปี ได้ค่าเช่าประมาณ 13-15 ล้านบาท 2.ที่ดินโฉนดเลขที่ 2431 เนื้อที่ 9 ไร่ ในเขตปทุมวัน ได้รับค่าเช่าประมาณ 3-4 ล้านบาทต่อปี และให้เช่าอาคารตึกแถวคูหาละ 600-1,500 บาท 3.โฉนดที่ดินย่านพาหุรัด เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย ให้เอกชนเช่าที่ดินปลูกสร้างอาคารพาณิชย์ 30 คูหา เสียค่าเช่าปีละ 70,000 บาท
        นอกจากนี้ ยังมีที่ดินแขวงทุ่งมหาเมฆ เขตสาทร ให้เอกชนเช่าที่สร้างอาคารพาณิชย์กว่า 100 คูหา เสียค่าเช่าปีละประมาณ 100,000 บาท และยังเป็นที่น่าสังเกตว่าการเช่าที่ดินของบริษัทเอกชนบางรายมีราคาถูกมาก อย่างการเช่าที่ดินศาสนสมบัติกลางวัดแม้นเขียน เขตบางกะปิ ของบริษัทกรุงเทพอาคาร จำกัด จำนวน 5 ไร่ 27 ตารางวา เสียค่าเช่าตารางวาละ 1.50 บาทต่อเดือน และค่าเช่าอาคาร 145 คูหา เสียค่าเช่าคูหาละ 90 บาทต่อเดือน
        รายงานข่าวระบุว่า การจัดประโยชน์ศาสนสมบัติกลางจำนวน 52 รายการในเขตกรุงเทพฯ จะอยู่ในพื้นที่เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตป้อมปราบฯ เขตบางคอแหลม เขตบางรัก เขตสาทร เขตบางซื่อ เขตราษฎร์บูรณะ เขตบางกะปิ เขตหนองจอก เขตบางขุนเทียน เขตพระประแดง เขตคลองสาน เขตบางพลัด เขตบางบอน เขตบางกอกใหญ่ เขตยานนาวา เขตตลิ่งชัน เขตทวีวัฒนา เขตภาษีเจริญ เขตจอมทอง เขตสวนหลวง เขตบึงกุ่ม และเขตดุสิต โดยมีอัตราการเช่าแบ่งเป็น 1.เพื่อปลูกสร้างที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์ การเกษตร ซึ่งจะมีอัตราค่าเช่าตั้งแต่ตารางวาละ 25 สตางค์, 50 สตางค์, 1 บาท, 1.50 บาท, 2 บาท, 2.50 บาท, 3 บาท, 4 บาท, และสูงสุด 78 บาท 2.การเช่าอาคารพาณิชย์ ตึกแถว มีอัตราค่าเช่าคิดเป็นคูหา คูหาละ 60-1,800 บาท
        รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับการจัดประโยชน์ศาสนสมบัติกลางในเขตภูมิภาคมีจำนวน 13,724 ไร่ ใน 57 จังหวัด โดยปี 2543 มีรายรับประมาณ 27.6 ล้านบาท ปี 2544 จำนวน 30.90 ล้านบาท ซึ่งรายได้ต่อปีของแต่ละจังหวัดค่อนข้างมีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนเนื้อที่ดินให้เช่า อาทิ ที่ จ.จันทบุรี ให้เอกชนเช่า 60 ไร่ ได้ค่าเช่าต่อปี 22,213.54 บาท จ.ชุมพร เอกชนเช่า 168 ไร่ ได้ค่าเช่าต่อปี 100,896 บาท จ.เชียงใหม่ ให้เอกชนและราชการเช่า 730 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 1.97 ล้านบาท จ.นครราชสีมา ให้เอกชนและราชการเช่า 64 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 281,175 บาท จ.นนทบุรี ให้เอกชนและราชการเช่า 304 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 851,016 บาท จ.ประจวบคีรีขันธ์ ให้ราชการและเอกชนเช่า 28 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 71,507 บาท จ.ปทุมธานี เอกชนเช่า 157 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 582,053 บาท จ.พระนครศรีอยุธยา เอกชนและราชการเช่า 3,418 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 3.2 ล้านบาท จ.พิจิตร เอกชนเช่า 107 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 19,084 ไร่ จ.เพชรบุรี เอกชนและราชการเช่า 359 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 601,716 บาท และ จ.สุรินทร์ เอกชนเช่า 57 ไร่ ค่าเช่าต่อปี 22,000 บาท
        ขณะที่นายสุทธิวงศ์ ตันตยาพิศาลสุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า การบริหารงานจัดเก็บประโยชน์ไม่ได้เจ๊ง เพียงแต่ในแต่ละปีต้องหักรายจ่ายส่วนต่างๆ กับรายรับ อาทิ ค่าจ้างพนักงานศาสนการ เงินช่วยเหลืองานด้านพระพุทธศาสนา การส่งเสริมการศึกษาพุทธศาสนา อีกทั้งต้องนำรายได้เข้าสมทบกองทุนสะสมศาสนสมบัติกลางในแต่ละปี ซึ่งปัจจุบันนี้มีเงินสะสมอยู่ 2,000 กว่าล้านบาท จึงบอกว่าบริหารเจ๊งไม่ได้ ส่วนจัดเก็บรายได้จากค่าเช่าที่ดิน อาคาร ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีการค้างค่าเช่า โดยจะให้ทำสัญญาเช่าระยะเวลาสูงสุดแค่ 30 ปี และอัตราค่าเช่าจะจัดเก็บตามแต่ละเขตพื้นที่
        นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลงานในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องจัดการ เว้นแต่ได้รับคำขอให้เข้าไปตรวจสอบ ดังนั้นขณะนี้จึงไม่สามารถทำอะไรได้ทั้งสิ้น