คลังเบรก"ภาษีที่ดิน-มรดก"คว่ำ โยนรัฐบาลชุดหน้าชี้ชะตา
กลุ่มทุน-แลนด์ลอร์ดเฮ!
ประชาชาติธุรกิจ 11 มิถุนายน 2550 หน้า 1
 
 
สรุปสาระข่าว
 
        คลังผวาแรงต้านโถมซ้ำรัฐบาลยุคขาลง สั่งเบรก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกะทันหัน ทั้งที่ อยู่ในบัญชีกฎหมายเร่งด่วนที่จะผลักดันบังคับใช้ "ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์" อ้างต้องการให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชี้ขาด กลุ่มทุน แลนด์ลอร์ด เฮลั่น แผนรีดภาษีจากการถือครองทรัพย์สินแท้งซ้ำซาก ด้านครูหยุยชี้ รมว.คลังกลับลำยิ่งทำให้เสียแต้ม
 
ข้อคิดเห็น
 
        ในประเทศที่เจริญและมีอารยธรรมกว่าไทย เขาเก็บภาษีทรัพย์สินปีละประมาณ 1-2% ของมูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินตามราคาตลาดในแต่ละปี แล้วนำเงินนี้ไปใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น แต่ของไทยไม่เป็นอย่างนี้ ไม่ยอมให้เสียภาษี ไม่ยอมให้ท้องถิ่นดูแลภาษีของตนเอง ทำให้ต้องพึ่งรัฐบาลกลาง กรณีประเทศไทยถึงเป็นความบิดเบี้ยวอย่างหนึ่งที่คำนึงถึงประโยชน์เฉพาะกลุ่มคือชนชั้นสูงในสังคมที่มีสมบัติมากมายแต่ไม่ยอมเสียภาษี
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 

        คลังผวาแรงต้านโถมซ้ำรัฐบาลยุคขาลง สั่งเบรก พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกะทันหัน ทั้งที่ อยู่ในบัญชีกฎหมายเร่งด่วนที่จะผลักดันบังคับใช้ "ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์" อ้างต้องการให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชี้ขาด กลุ่มทุน แลนด์ลอร์ด เฮลั่น แผนรีดภาษีจากการถือครองทรัพย์สินแท้งซ้ำซาก ด้านครูหยุยชี้ รมว.คลังกลับลำยิ่งทำให้เสียแต้ม

        นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ...และร่างพระราชบัญญัติภาษีมรดก พ.ศ. ...พร้อมสรุปผลการศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดกมาให้พิจารณาแล้ว ขณะนี้ตนกำลังศึกษารายละเอียดร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะเป็นเรื่องใหญ่และเป็นการเปลี่ยนแปลงกติกาทางสังคม ทั้งนี้ในความเห็นของตนคิดว่า ควรจะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจเรื่องนี้แทนจะดีกว่า

        เนื่องจากหากรัฐบาลชุดปัจจุบันรวบรัดผลักดันประกาศใช้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และ พ.ร.บ.ภาษีมรดก อาจจะมีปัญหาเรื่องความเหมาะสมว่ามีมากน้อยแค่ไหน นอกจากนี้จะต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้รอบด้านเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยนำมาชั่งน้ำหนักดูว่าควรจะประกาศบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวหรือไม่

        "เรื่องการใช้มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการกระจายรายได้ เป็นเรื่องที่พูดกันมานานและมีข้อเสนอแนะมากมาย ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่นักเคลื่อนไหวเข้ามามีบทบาทในรัฐบาล ผลักดันให้ใช้โอกาสตอนที่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือดำเนินการ แต่นักเคลื่อนไหวทางสังคมไม่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ดังนั้นบางเรื่องที่คนส่วนน้อยเห็นด้วย คนส่วนใหญ่อาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้ ตรงนี้ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี"

        นายฉลองภพกล่าวว่า ตนมองว่าการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาทางสังคมจะต้องทำอย่างรอบคอบ และต้องพิจารณาว่าเมื่อทำแล้วจะมีมาตรการอะไรมารองรับ ถ้าจำเป็นต้องทำจะมีความเหมาะสมแค่ไหน มาตรการอะไรที่ออกมาแล้วทำให้ระบบแข็งแกร่งขึ้น โดยไม่กระทบกฎกติกาของสังคมมากเกินไปก็อยู่ในวิสัยที่จะทำได้ เรื่องนี้แม้นักเคลื่อนไหวอยากให้ทำ แต่ประชาชนส่วนใหญ่อาจจะบอกว่า ตรงนี้เอาความชอบธรรมอะไรมาทำ จึงต้องทำให้ประชาชนมีความเห็นตรงกันก่อนว่าจำเป็นจะต้องเปลี่ยนแปลง ขณะเดียวกันต้องมาดูว่าระบบพร้อมหรือไม่พร้อมด้วย

        "อย่างเรื่องภาษีมรดกมีบางประเด็นที่ทำให้ประชาชนต้องจ่ายภาษีเพิ่มเหมือนกัน กระทรวงการคลังยังไม่ทราบเลยว่าประชาชนจะเอาด้วยหรือเปล่า เรื่องนี้อยู่ในแผนมานานแล้ว แต่คิดว่าขณะนี้สังคมโดยรวมยังไม่พร้อม คงจะต้องอาศัยเวลาพัฒนาไปอีกระดับหนึ่ง คงต้องพยายามหาจุดที่พอทำได้ และอธิบายให้ได้ว่าไม่ใช่เป็นการไปฉวยโอกาส"

        นอกจากนี้ที่ต้องคำนึงถึงให้มากคือเศรษฐกิจกำลังมีปัญหาในเรื่องของความเชื่อมั่น หากทำแล้วอาจจะทำให้ความเชื่อมั่นยิ่งแย่ลง ก็น่าจะชะลอไปก่อน เพราะต้องมองในหลายๆ มุม อย่างช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลจำเป็นต้องตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เมื่อเศรษฐกิจดีไม่มีปัญหาเรื่องการเร่งรัดการจัดเก็บภาษี การปรับโครงสร้างภาษีก็เป็นนโยบายที่จะต้องทำอยู่แล้ว การชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนจึงไม่เสียหาย เนื่องจากโครงสร้างภาษีในปัจจุบันมีอีกหลายตัวที่ดูเหมือนลักลั่นกัน ทั้งภาษีที่เก็บจากธุรกิจ หรือภาษีที่เก็บจากครัวเรือน แต่จะไม่ทำให้บิดเบือนหรือทำให้บิดเบือนน้อยที่สุด เพื่อให้คนเกิดความเชื่อมั่นจะได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไปได้

        แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่าเพิ่งจะทราบว่า รมว.คลัง จะชะลอการผลักดันบังคับใช้กฎหมาย 2 ฉบับ ดังกล่าว เพราะเกรงว่าประชาชนส่วนใหญ่จะไม่เห็นด้วย และอาจจะเกิดกระแสคัดค้าน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอส่งผลกระทบต่อทั้งประชาชนและภาคธุรกิจมากอยู่แล้ว หากภาครัฐออกกฎหมายมาจัดเก็บภาษีเพิ่มอีกก็จะยิ่งสร้างความเดือดร้อนให้เพิ่มขึ้น

        ในส่วนของภาษีมรดกนั้น ที่ผ่านมาแม้หลายฝ่ายจะพยายามผลักดัน แต่คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ เพราะในทางปฏิบัติยังต้องผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอน การจะชะลอเรื่องไว้ก่อนก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร ต่างไปจาก ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คืบหน้าไปมาก เนื่องจากผ่านการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา แต่เมื่อ รมว.คลังเห็นว่าควรจะให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้ตัดสินใจมากกว่า ก็เท่ากับว่าตัวร่างกฎหมายที่เดินหน้ามาแล้วถึงครึ่งทางต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกครั้ง

        เป็นไปได้ว่าสาเหตุที่ภาครัฐไม่อยากนำร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาพิจารณาต่อ เป็นเพราะเกรงจะเกิดกระแสคัดค้าน เนื่องจากขณะนี้รัฐบาลกำลังประสบปัญหาถูกกลุ่มบุคคลหลายๆ กลุ่มรุมต่อต้านอยู่แล้ว จึงไม่ต้องการสร้างแนวร่วมที่ไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐบาลเพิ่มขึ้นอีก ทั้งๆ ที่ร่างกฎหมายฉบับนี้ถือเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายเร่งด่วนที่รัฐบาลชุดนี้ต้องการจะผลักดันบังคับใช้

        ที่น่าสังเกตคือร่างกฎหมายฉบับนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณาโดยรัฐบาลหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่สุดท้ายก็ถอยหลังกลับไปนับหนึ่งใหม่ทุกครั้ง เพราะไม่มีรัฐบาลชุดใดผลักดันอย่างจริงจัง แม้ทราบดีว่าเป็นร่างกฎหมายที่จะนำมาประกาศใช้แทนกฎหมายว่าด้วยภาษีโรงเรือนและที่ดิน และกฎหมายว่าด้วยภาษีบำรุงท้องที่ ที่ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ในปัจจุบัน นอกจากนี้หากกฎหมายใหม่ประกาศใช้ คาดว่าจะทำให้รัฐมีรายได้จากการ จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก 6 หมื่นล้านบาท/ปี เป็นอย่างต่ำ

        สศค.จึงรวมภาษีโรงเรือนและที่ดินกับภาษีบำรุงท้องที่ แล้วยกร่างเป็น พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ให้มีการจัดเก็บภาษีจากการถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีใหม่ จากเดิมที่ภาษีโรงเรือนและที่ดินใช้ค่าเช่ารายปีของทรัพย์สินเป็นฐานภาษี ซึ่งซ้ำซ้อนกับภาษีเงินได้ ขณะที่ภาษีบำรุง ท้องที่จัดเก็บโดยใช้ราคาปานกลางของที่ดินเป็นฐานภาษี

        แหล่งข่าวกล่าวว่า ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะใช้การประเมินฐานภาษีจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดิน และให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บภาษี โดยในส่วนของฐานภาษีนั้นจะให้มีการหักค่าบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุด แทนการหักค่าเสื่อมราคาของสิ่งปลูกสร้าง ตามระเบียบของคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน

        โดยกำหนดอัตราภาษีดังนี้ 1.อัตราทั่วไป เรียกเก็บไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี สำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ใช้เป็นที่อยู่อาศัย โรงงาน โรงแรม อาคารและสิ่งก่อสร้างทั่วๆ ไป ส่วน โรงเรือนว่างเปล่า โรงเรียนเอกชนให้จัดเก็บไม่เกินร้อยละ 0.1 ของฐานภาษี ส่วนที่ดินที่ใช้ในการประกอบการเกษตรกรรมให้จัดเก็บไม่เกินร้อยละ 0.05

        2.อัตราภาษีที่จัดเก็บจากผู้ถือครองที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ จะจัดเก็บไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี ตามอัตราภาษีทั่วไปใน 3 ปีแรก แต่หากยังไม่ได้ทำประโยชน์ให้จัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น 1 เท่า ทุกๆ 3 ปี แต่ไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี

        อย่างไรก็ตามเพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ในปีแรกที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับจะจัดเก็บภาษีเพียง 50% ของอัตราที่กำหนด จากนั้นจึงค่อยปรับเพิ่มเป็น 75% ในปีที่ 2 และจัดเก็บเต็ม 100% ในปีที่ 3

        เมื่อรัฐไม่ผลักดันร่างกฎหมายต่อ ผู้ถือครองที่ดินว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ ก็คงปล่อยที่ดินให้ว่างเปล่าหรือไม่ทำประโยชน์ต่อไป เพราะไม่มีมาตรการด้านภาษีมากดดัน ขณะเดียวกันบรรดานายทุนรวมทั้งแลนด์ลอร์ดที่ถือที่ดินไว้จำนวนมากก็จะไม่ได้รับกระทบจากการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หรือภาษีทรัพย์สิน ที่เดิมหลายฝ่ายคาดหวังว่าจะช่วยสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม และทำให้มีการกระจายการถือครองที่ดินหรือทรัพย์สินมากขึ้น

        ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ก่อนหน้านี้นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เคยชี้แจงในสภาว่า รัฐบาลชุดนี้จะผลักดันประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและภาษีมรดกเต็มที่ พร้อมกับยืนยันว่าจะสามารถดำเนินการเสร็จเรียบร้อยภายในรัฐบาลชุดนี้ จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดนายฉลองภพออกมากระงับการออกกฎมายใหม่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีดังกล่าว

        "การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกมาค้าน ทำให้รัฐบาลเสีย ในหลักการคือเรื่องนี้ต้องทำให้เสร็จทันในรัฐบาลชุดนี้ หลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งกระทู้ถามนายสมหมาย กลางสภาแล้ว เมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังรับปาก เราก็ได้เริ่มร่างกฎหมายไปแล้ว เพราะฉะนั้นรัฐมนตรีว่าการกับรัฐมนตรีช่วยว่าการควรกลับไปคุยกันให้รู้เรื่อง คนหนึ่งเอา คนหนึ่งไม่เอาอย่างนี้ไม่ถูก แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ทำอะไรไม่อยู่กับร่องกับรอย ทั้งๆ ที่เรื่องนี้ได้รอกันมานานแล้ว"

        นายวัลลภกล่าวอีกว่า ในส่วนของภาษีมรดก นั้น ก็ควรจะทำให้เสร็จสิ้นภายในรัฐบาลนี้ด้วย เนื่องจากสามารถที่จะทำให้ผ่านได้โดยเร็ว หากต้องการให้ผ่านไปถึงรัฐบาลหน้าอาจต้องรอไปอีกนาน

        "รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่กล้าทำแน่นอน เพราะก็มาจากนายทุน เขาไม่ยอมแน่ เหมือนกับเรื่องการหาที่ตั้งรัฐสภาแห่งใหม่ ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเต็มไปด้วยนายทุน