Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 601 คน
ต้องไม่ฟุ้งเฟ้อ ชาติจึงจะรอด
ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 24 ฉบับที่ 1918 1-3 กรกฎาคม 2547 หน้า 33-34

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ ศูนย์วิจัย-ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA

          “การจะเป็นเสือนั้นมันไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เราพออยู่พอกิน และมีเศรษฐกิจการเป็นอยู่แบบพอมีพอกิน... หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ให้มีพอเพียงกับตัวเอง” http://kamphaengphet.doae.go.th/king/101_king(1).htm
          ข้างต้นนี้เป็นพระราชดำรัสเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง พระราชทานแก่พสกนิกรเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งผมยกขึ้นมาเพื่อ เพื่อให้ทุกคนได้หวลคิดว่า ในการบริโภคใด ๆ ก็ตาม เราควรประหยัด ไม่ควรฟุ่มเฟือย ฟุ้งเฟ้อ ใช่ว่ามีเงินก็จะใช้สอยตามอำเภอใจ เพราะทรัพยากรทั้งหลายเป็นของทุกคนโดยเฉพาะลูกหลานของเราในอนาคต จึงเอามาใช้โดยไม่ยั้งคิดไม่ได้
          ทุกวันนี้ถ้าเราดูโฆษณาทางจอทีวี ก็มักพบการจูงใจให้ใช้ทรัพยากรอย่างไม่ยั้งคิด เช่น การส่งเสริมให้กู้เงิน (ด่วน) ซึ่งผมก็ไม่เข้าใจว่าคนเรามีความจำเป็นอะไรในการใช้เงินด่วนกันนักหนา (ถ้าไม่ใช่ในทางหมิ่นเหม่ต่อกฎหมาย) จึงต้องโฆษณาให้กู้เงินกันมากมายและดูเป็นอาจิณเช่นนี้

          ในแง่การเงินเคหะการนั้น เรามีข้อคิดสำหรับการเป็นหนี้ คือ:
          1. ไม่มีความจำเป็นอย่ากู้ ( โดยเฉพาะอย่ากู้มาเสพสุข ต้องเพื่อการลงทุนเป็นสำคัญ )
          2. ถ้าต้องกู้ ก็อย่าสร้างหนี้หลายทาง ( ตามความอยาก )
          3. กู้ให้กู้แต่น้อย ( อย่าเชื่อมั่นตัวเองจนเกินไป )
          4. ผ่อนให้เสร็จเร็วที่สุด ( เพราะการผ่อนช่วงแรก ๆ คือดอกเบี้ยทั้งนั้น )

          แต่ทุกวันนี้เรากลับยุยงส่งเสริมให้กู้หนี้ยืมสินโดยไม่สนใจว่า เป็นการลงทุนหรือเพื่อการบริโภคกันแน่ บางคนมีบัตรเครดิตนับสิบใบ
          การยินดีเป็นหนี้เพื่อซื้อความสบายเฉพาะหน้านั้น ไม่น่าจะมีบั้นปลายที่ดีงาม ผู้ชมชอบการเสพสุขมาก ๆ อาจยอมเสียศักดิ์ศรี-เกียรติภูมิ หรือกระทั่งยอมทรยศต่อชาติเพื่อตนเองในวันหน้าได้
          การโฆษณา “ยุยง” ให้ใช้โทรศัพท์มือถือนาน ๆ ถือ เป็นการสร้างนิสัยฟุ่มเฟือยให้กับประชาชนอีกเช่นกัน ถ้ามักง่าย-ฟุ่มเฟือยในเรื่องหนึ่งได้ เรื่องอื่นก็จะตามมา
          สำหรับสินค้า “ฟุ่มเฟือย” ในเชิงอสังหาริมทรัพย์ก็คืออาคารชุดราคาแพงที่สร้างกันมากมายในขณะนี้ จากข้อมูลของ www.area.co.th พบว่า ในช่วงเพียง 5 เดือนแรกของปี 2547 มีห้องชุดราคาตั้งแต่ 3 ล้านขึ้นไป เปิดตัว 1,898 หน่วย แต่รวมมูลค่าสูงถึง 19,068 ล้านบาท หรือ เฉลี่ยหน่วยละ 10.05 ล้านบาท!
          สินค้าประเภทนี้เคย “บูม” ในย่านใจกลางเมืองมาตั้งแต่ปี 2530-2533 และ “ฟุบ” ยาวไปพักหนึ่ง จนถึงปี 2544 เป็นต้นมา จึงเริ่มมีโครงการใหม่ ทั้งนี้เพราะที่ผ่านมาดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก (เพียง 1%) แต่ค่าเช่าสุทธิ (return on investment) ที่ได้รับกลับสูงถึง 5-6% จึงมีคนซื้อเพื่อเก็งกำไร (return of investment ) กันมาก และเป็นการช่วยกันดันราคาให้สูงขึ้นในปัจจุบันด้วย
          การที่ห้องชุดราคาแพง ๆ ขายได้ดีมากนั้น ส่วนหนึ่งไม่ใช่ผู้บริโภคซื้อ เป็นกองทุนต่าง ๆ ซื้อไว้สร้างรายได้ สร้างราคาในอนาคตด้วย ดังนั้นอย่าไปมองว่าตลาดจะดีจริงเสมอไป
          การที่ทางราชการยังปล่อยให้มีการเก็งกำไรกันอีก ทั้งที่เคยมีบทเรียนเมื่อเกิดวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ 7 ปีก่อน (พ.ศ. 2540) แสดงว่า เรายังขาดการใส่ใจในผลประโยชน์ของประชาชนเท่าที่ควร
          7 ปีมาแล้ว เรายังไม่มีศูนย์ข้อมูลเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เชื่อถือได้สู่ประชาชน เรายังไม่มีระบบคุ้มครองเงินดาวน์ผู้ซื้อบ้าน เรายังไม่มีสัญญามาตรฐานที่บังคับใช้อย่างจริงจัง
          การคุ้มครองผู้บริโภคนี้ ทางหนึ่งจะช่วยยับยั้งความร้อนแรงของการเก็งกำไร หรือการสิ้นเปลืองทรัพยากรจากการเก็งกำไร ในอีกทางหนึ่งก็จะช่วยส่งเสริมให้มีการซื้อขายทรัพย์สินมากขึ้น เพราะผู้ซื้อที่แท้จริงเกิดความมั่นใจในตลาด นอกจากนี้ยังจะช่วยคัดสรรผู้ซื้อที่มีคุณภาพให้กับผู้ประกอบการอีกด้วย

          สุดท้ายนี้ ผมขอยกคำสอนของท่านพุทธทาสมาฝากไว้บทหนึ่งว่า
          อันบุคคล กตัญญู รู้คุณโลก
          อุปโภค บริโภค มิให้หลาย
          ข้าวหรือเกลือ ผักหรือหญ้า ปลาหรือไม้ ฯลฯ
          รู้จักใช้ อย่าทำลาย ให้หายไป
          (www.thainet/watthasai/lok02.html)

          อย่าลืมนะครับ ความฟุ้งเฟ้อเห่อเหิม ย่อมไม่มีปัจจุบันที่สงบสุขและไม่มีบั้นปลายที่ดีงาม


AREA.co.th มีศูนย์ข้อมูลที่ครอบคลุมโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ มีจำนวนข้อมูลที่มากที่สุดในประเทศไทยจากการสำรวจภาคสนามอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่