Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 539 คน
กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ด้วยการจัดประชุมนานาชาติด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย
ตลาดบ้าน ปีที่ 3 ฉบับที่ 115 วันที่ 13-19 มิถุนายน 2547 หน้า 105

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ AREA *

        ผมเพิ่งกลับจากการประชุมนานาชาติ 2004 FIABCI World Congress ที่นครฮูสตัน สหรัฐอเมริกา ในระหว่างวันที่ 24-30 พฤษภาคม ศกนี้ โดยมีผู้เข้าร่วมงานประมาณ 600 คนจาก 50 ประเทศทั่วโลก
        FIABCI เป็นสมาพันธ์อสังหาริมทรัพย์ระหว่างประเทศ (International Federation of Real Estate) ซึ่งมีสมาชิกเป็นองค์กรด้านอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก รวมสมาชิกจากทุกแห่งถึง 1.5 ล้านคน สมาชิกมีทั้งผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงิน และนักวิชาชีพทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน นายหน้า นักบริหารทรัพย์สิน เป็นต้น สหพันธ์อสังหาริมทรัพย์นานาชาตินี้ มีการจัดประชุมเป็นประจำทุกปีเวียนกันไปในแต่ละประเทศ
        ในแต่ละปีผมเดินทางไปประชุมนานาชาติหลายครั้ง สำหรับปีนี้เดือนมกราคม ก็มีการประชุมอสังหาริมทรัพย์ภาคพื้นเอเซีย แปซิฟิค, มีนาคม ก็ประชุมมหกรรมอสังหาริมทรัพย์แห่งเมืองคานส์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมถึง 15,000 คน, เมษายน ก็ประชุมวิจัยอสังหาริมทรัพย์นานาชาติที่กัวลาลัมเปอร์, และมาครั้งนี้เดือนพฤษภาคมนี้
        ส่วนเดือนมิถุนายน ก็จะเดินทางไปประชุมการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ที่สิงคโปร์ ต่อด้วยการประชุมอสังหาริมทรัพย์ภาคพื้นเอเซียที่นิวเดลฮีในเดือนสิงหาคม และการประชุมประจำปีสมาคมประเมินระหว่างประเทศที่บอสตัน ในเดือนกันยายน รวมทั้งการประชุมนักประเมินอาเซียนในเดือนเดียวกัน
        ผมจึงมีความเห็นว่า ถ้าบ้านเราได้จัดการประชุมนานาชาติบ้าง จะเป็นการขยายโอกาสการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

การประชุมอสังหาริมทรัพย์นานาชาติมีอะไรบ้าง
        การประชุมแบ่งเป็นหลายระดับ ระดับแรกก็เป็นในภูมิภาคซึ่งมักจัดเป็นรายปี เช่น การประชุมนักประเมินอาเซียน (AVA: ASEAN Valuers Association) และการประชุมนักวางผังและเคหะ (AAPH: ASEAN Association of Planning and Housing) ซึ่งหลัง ๆ มาก็ชัก "ปลายแผ่ว" หรืออาจขึ้น ๆ ลง ๆ ตามภาวะ แต่ก็เป็นการเปิดโอกาสให้นักวิชาชีพ ได้พบปะ แลกเปลี่ยนและสังสรรค์กันระหว่างประเทศ
       การประชุมระดับทวีป ส่วนมากเป็นพวกอาจารย์ที่สอนทางด้านนี้มานำเสนอผลงานวิชาการเพื่อยกระดับเป็น ผศ. รศ. กัน ซึ่งมักจัดเป็นรายปีเช่นกัน ได้แก่ Pacific Rim Real Estate Society (PRRES) สมาคมแบบนี้มีในทวีปอาฟริกา เอเชีย ยุโรป อเมริกาด้วย โดยย่อเป็น AfRES, AsRES, ERES, ARES และนาน ๆ ครั้งจะรวมกันจัดเป็น IRES หรือ International Real Estate Society
        อย่าง PRRES ที่จัดขี้นที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2547 ผมเป็น "Contact Person" ของงาน ทั้งนี้เพราะแต่แรกผมเป็นคนรับอาสาจากทาง PRRES มาจัดในประเทศไทยตั้งแต่การประชุมปี 2545 แต่ทางธรรมศาสตร์ขอรับอาสาจัดไป จึงให้เกียรติคงผมไว้เป็น "Contact Person" ของงาน
        สำหรับการจัดประชุมระดับโลกนั้นมีหน่วยงานหลัก ๆ ที่ดำเนินการทุกปีก็เช่น FIABCI ที่ผมเพิ่งไปมา, MIPIM ซึ่งมีลักษณะเชิงการค้าสูงมาก (คนเข้าร่วมงานมหกรรมทุกคนต้องเสียค่าลงทะเบียนคนละ 60,000 บาท), World Valuation Congress ซึ่งเป็นกลุ่มนักวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สิน แต่รายหลังนี้จัดทุกสองปี และ FIG ชื่อย่อตามภาษาฝรั่งเศสว่า (Federation of Surveyors) ซึ่งใหญ่กว่า RICS (Royal Institution of Chartered Surveyors) ของสหราชอาณาจักรมาก แต่จัดงานใหญ่เพียง 4 ปีหน
        นอกจากนี้ยังมี หน่วยงานระดับประเทศแต่ใหญ่มาก จัดงานประชุมนานาชาติ เช่น National Association of Realtors (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งมีสมาชิก 1 ล้านคน, Appraisal Institute, International Association of Assessing Officers ทั้งสามแห่งนี้อยู่ในสหรัฐอเมริกา, และ RICS (สหราชอาณาจักร) และ Australian - New Zealands Property Institute แต่กลุ่มเหล่านี้ก็ค่อนข้างแคบเฉพาะในวิชาชีพตน

ปัญหาของการจัดงานประชุมนานาชาติที่ผ่านมา
        ปัญหาประการแรกที่ได้นำเสนอไปบ้างแล้วก็คือ การจัดเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ประเมิน นายหน้า อาจารย์ มหาวิทยาลัย นักพัฒนาที่ดิน การผนึกประสานในภาพรวมของแวดวงอสังหาริมทรัพย์เพื่อการเรียนรู้อย่างครบกระบวนการยังไม่มี
        และที่เกี่ยวเนื่องกันก็คือ เฉพาะประเทศ เช่น องค์กรต่าง ๆ ในสหรัฐอเมริกา แล้วว่าจะพยายามให้เป็นนานาชาติ ก็มักเน้นเฉพาะในอเมริกาเหนือเท่านั้น
        ปัญหาที่สองก็คือ ขาดความต่อเนื่อง ขึ้น ๆ ลง ๆ ตามความพร้อมของคนจัด ทำให้ความน่าเชื่อถือ ฝากผีฝากไข้ได้ลำบาก
        ปัญหาอีกประการหนึ่งก็คือ หลายงานมีค่าใช้จ่ายสูงมาก เช่น FIABCI, MIPIM บางงานก็ถูกกว่า เช่นที่อาจารย์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น แต่ก็เพื่อการ "สังวาส" ทางวิชาการเป็นสำคัญ

รูปแบบที่ไทยเราควรดำเนินการ
        ไทยเราก็สามารถจัดงานระดับโลกได้ เราสามาารถเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาเป็นกรรมการจัด เชิญองค์กรต่าง ๆ ที่สนใจมาร่วมเป็นเจ้าภาพโดยไม่ยาก ส่วนรูปแบบที่ควรทำประกอบด้วยการการประชุมและการจัดมหกรรมหรือนิทรรศการ
        ในส่วนของการประชุม เราสามารถเชิญผู้เชี่ยวชาญสำคัญ หรือแบบอย่างความสำเร็จ (Best Practices) ทั่วโลกที่มักที่การประกวดกันเสมอมาร่วมได้ และการที่เราจัดแบบครบองค์รวมทั้งนายหน้า นักประเมิน นักพัฒนาที่ดิน สถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ การรประชุมจะมีรสชาติมากขึ้น ไม่แห้ง ๆ ดาด ๆ การให้รางวัลการนำเสนอดีเด่น ก็อาจเป็นตัวช่วยสำคัญให้ได้ผู้เข้าร่วมที่มีคุณภาพจริง ๆ
        ในส่วนของนิทรรศการนั้น จากประสบการณ์ของผม มีแบบอย่างที่ดีที่สุด 2 งานก็คือ Valuation 2000 ที่เอาหน่วยงานทั้งประเมินและอื่น ๆ ทั่วโลกมารวมกัน ณ เมืองลาสเวกัส ในปี 2543 งานนั้นค่าบูธ ถูกมาก สามารถเชิญองค์กรต่าง ๆ มาได้มากมาย การยิ่งมีคนมาร่วมแสดงผลงานมากเท่าไร ก็ยิ่งจะดึงดูดผู้เข้าร่วมได้มากเท่านั้น
        ส่วนอีกงานที่ดีก็คือ MIPIM ที่เมืองคานส์ทุกปี ซึ่งเป็นการเชิญทั้งเมือง เทศบาล หน่วยงานท้องถิ่น สถาบันการเงินใหญ่ทั่วโลก และนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องมาออกงานเพื่อเชิญชวนให้เกิดการลงทุน ในกรณีนี้เรามีเมืองที่น่าลงทุนมากมาย ประเทศในภูมิภาคนี้ เช่น อินโดจีน ตะวันออกกลาง ก็อยากหานักลงทุนทั้งนั้น การจัดแบบ "นัดพบ" เช่นนี้ย่อมจะดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลมาร่วมงานมากขึ้น

เราจะได้อะไร
         รับรองว่าถ้าเราจัดงานอย่างนี้ เราคงได้หน้าแต่ไม่เสียค่าโง่แน่นอน แต่ประการสำคัญที่จะได้ก็คือ การที่มีนักลงทุน นักวิชาชีพจากทั่วโลกเดินทางเข้ามา จะเป็นการที่ทำให้เขาเห็นศักยภาพของประเทศเรา ระหว่างมาก็ยังเกิดการจับจ่ายมากมาย และผลจากการลงทุนตามมาก็จะยังมีอีกมาก
         ถ้าเรามีความมุ่งมั่นร่วมกันสร้างสรรค์เราก็ย่อมจะประสบความสำเร็จเพื่อประเทศชาติได้ในที่สุด


AREA.co.th มีศูนย์ข้อมูลที่ครอบคลุมโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั่วประเทศ มีจำนวนข้อมูลที่มากที่สุดในประเทศไทยจากการสำรวจภาคสนามอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2537
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่