Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 712 คน
     อย่ากลัวโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2555 หน้า 12

ดร.โสภณ พรโชคชัย
กรรมการธรรมาภิบาล สภาหอการค้าไทย
sopon@area.co.th  facebook.com/dr.sopon

          ในขณะที่ท่านผู้อ่านกำลังอ่านกรุงเทพธุรกิจฉบับนี้ในเช้าวันศุกร์ที่ 18 พฤษภาคม 2555 นี้ ผมอยู่ที่กรุงมอสโก และเพิ่งกลับจากนครเซนต์ปีเตอร์สเบอร์กเมื่อวานนี้ จากประสบการณ์ดูงานทั้งที่รัสเซียในครั้งนี้ และฝรั่งเศส และสวิสเซอร์แลนด์เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมพบว่านิวเคลียร์ที่คนไทยได้รับการโฆษณาชวนเชื่อว่าน่ากลัวนั้นจะเป็นความมั่นคงทางพลังงานที่สำคัญของไทยในอนาคต เพราะเป็นพลังงานราคาถูกและปลอดภัย ที่จะนำไทยให้เจริญกว่านี้ คนไทยจะลืมตาอ้าปากได้มากกว่านี้
          ท่านทราบหรือไม่ ในยุโรป อเมริกา และอีกหลาย ๆ ประเทศที่คนไทยใฝ่ฝันอยากไปเที่ยวนั้น ต่างมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กันเป็นจำนวนมาก เช่น รัสเซียที่ผมกำลังมาดูงานในขณะนี้ มีโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ถึง 59 แห่ง และกำลังจะสร้างใหม่อีก 6 แห่ง ฝรั่งเศส ประเทศที่มีคนไปเที่ยวมากที่สุดในโลกถึงประมาณ 80 ล้านคนต่อปี มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 58 แห่ง อังกฤษมี 19 แห่ง สวิตเซอร์แลนด์แดนสวรรค์ที่หลายคนใฝ่ฝันจะไปเยือนก็มี 5 แห่ง แม้แต่เมืองโลซานที่ในหลวงเคยประทับ ก็เคยมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ยุโรปมีรวมทั้งหมด 187 แห่ง และมีแผนจะเพิ่มอีก 19 แห่งในเร็ววันนี้ ในเอเชียยังมีที่ญี่ปุ่น 54 แห่ง และเกาหลีใต้อีก 20 แห่ง คนที่ ‘ขี้กลัว’ จริง ๆ คงไม่กล้าเดินทางไปท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้อีกต่อไป


โปรดดู: http://www.howtosurvive2012.com/htm_night/placs_01.htm

          ในประเทศเยอรมนีที่มีประชาชน (บางส่วน) ออกมาประท้วงให้ปิดโรงไฟฟ้า และนักการเมือง (บางคน) ก็ออกมารับลูกต่อเหมือนกับการเล่น ‘ปาหี่’ นั้น ก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ถึง 9 แห่ง ถ้าเยอรมนีไม่มีโรงไฟฟ้า พลังงานหลักที่จะนำมาใช้ก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็คือไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศเพื่อนบ้านนั่นเอง ที่คิดจะใช้ไฟฟ้าจากแหล่งทางเลือกอื่นยังผลิตได้ไม่มากนัก เมื่อเร็ว ๆ นี้มีการประท้วงของชาวเยอรมันต่อโรงไฟฟ้าใกล้ชายแดนฝรั่งเศส นี่ก็คงเป็นปาหี่อีกฉากหนึ่ง เพราะหากสามารถปิดโรงไฟฟ้าดังกล่าวได้ โรงไฟฟ้าฝรั่งเศสตามแนวชายแดนเยอรมนีก็ยังมีอีกมาก เยอรมนีก็คงไม่รอดอยู่ดีหากเกิดระเบิดขึ้น
          หลายท่านยัง ‘ฝันร้าย’ กับการระเบิดของโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2529 ขณะนั้นผมได้รับทุนจากองค์การสหประชาชาติไปเรียนอยู่ที่เบลเยียม ครานั้นมีคนตาย 57 คน และ 20 ปีต่อมาคาดว่าจะมีคนตายเพราะมะเร็งจากนิวเคลียร์อีก 4,000 คน ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ ก็คือประชาชนเกือบทั้งหมดอพยพทัน แม้เมือง Pripyat ที่โรงไฟฟ้าตั้งอยู่จะเป็นเมืองร้าง แต่กรุง Kiev ที่ตั้งอยู่ห่างไป 100 กิโลเมตร ก็ยังอยู่เป็นปกติ
          เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ก็เกิดระเบิดที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมา หนึ่งวันหลังจากผมกลับจากญี่ปุ่น (รอดอีกแล้ว) สิ่งที่หลายคนไม่ทราบก็คือ การระเบิดนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมีสึนามิที่ใหญ่โตสุดหยั่งคาด แต่ประเด็นสำคัญเกิดขึ้นจากความประมาทโดยแท้ แม้ไม่มีสึนามิ โรงไฟฟ้านี้ก็จะต้องระเบิดวันนี้วันพรุ่งอยู่แล้ว มีรายงานข่าวว่า บจก.เทปโก แจ้งผลเท็จกรณีผลตรวจโรงไฟฟ้า และรับว่าไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้น ซึ่งมีอายุการใช้งานนาน ดังนั้นถึงแม้ไม่มีสึนามิ โรงไฟฟ้านี้ก็จะต้องระเบิดในวันดีคืนร้ายใกล้ ๆ นั่นเอง บางท่านอาจไม่ทราบว่าในบริเวณใกล้ ๆ กันก็มีโรงไฟฟ้าอีก 3 โรง แต่ไม่มีโรงใดเสียหายเพราะแผ่นดินไหวเนื่องจากมีการตรวจสอบที่ดีอยู่เสมอ
          ความจริงอย่างหนึ่งก็คือ ไฟฟ้าจากนิวเคลียร์มีราคาถูกและก่อมลภาวะน้อยที่สุด ถ้าไม่เช่นนั้นประชาชนในยุโรป อเมริกาและญี่ปุ่น คงมีข่าวเป็นมะเร็ง หรือโรคร้ายตายกันมากมาย แต่ในทางตรงกันข้าม ประชาชนในประเทศเหล่านี้กลับมีอายุขัยสูงกว่าประเทศไทยแทบทั้งสิ้น บางคนที่ต่อต้านบอกว่า ถ้ามีโรงไฟฟ้าในไทยจริง ก็ควรไปตั้งอยู่ที่หลังบ้านของพวกสนับสนุน นี่เป็นเพียงวาทกรรมนี้เพราะไม่มีใครเอาโรงไฟฟ้าไปตั้งหลังบ้านประชาชนอยู่แล้ว เขาต้องกันพื้นที่ไว้ระยะหนึ่ง ในยุโรปที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงบ้านเรือน โดยชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับโรงไฟฟ้าได้อย่างเป็นปกติสุข
          บางท่านอาจไม่ทราบว่า ในเร็ววันนี้เวียดนามก็จะมี 2 โรง ห่างเพียง 500 กิโลเมตรจากประเทศไทย (ระยะทางราว ๆ กรุงเทพมหานคร-ขอนแก่น หรือ กรุงเทพมหานคร-ระนอง) จีนในบริเวณมณฑลทางใต้ก็มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว รวมทั้งที่กำลังก่อสร้างและกำลังวางแผนไว้อีกหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ใกล้ชายแดนเวียดนาม รวมทั้งเกาะไหหลำ ถ้าโรงไฟฟ้าในประเทศใกล้ ๆ เหล่านี้ระเบิด ประเทศไทยก็คงไม่รอด ยิ่งถ้าพม่า เขมร และลาว มีโรงไฟฟ้าแล้ว ไทยจะยังไม่ ‘ตาสว่าง’ ลืมตาดูความเป็นจริงของโลก ก็ไม่รู้จะว่าอย่างไรแล้ว ในอนาคต ไทยอาจต้องซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของประเทศเพื่อนบ้านที่ตั้งอยู่ตะเข็บชายแดนไทย
          บางท่านยังอาจกล่าวว่า ถึงอย่างไรก็ไม่ไว้ใจคนไทยว่าจะดูแลโรงไฟฟ้าได้ดีเช่นในยุโรปและสหรัฐอเมริกาอยู่ดี  ถ้าจะให้คนไทยเหล่านี้มีความเชื่อมั่นมากขึ้น ก็อาจว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญการดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จากประเทศที่เจริญแล้วมาดูแลก็ยังได้ แม้จะเป็นการ ‘ตบหน้า’ ผู้เชี่ยวชาญไทยในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตามในกรณีประเทศจีน เขาไม่ยืมจมูกฝรั่งหายใจ เขาพัฒนาการดูแลและพัฒนาโรงไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยีที่ศึกษามาจากต่างประเทศเองอย่างต่อเนื่อง
          โดยสรุปแล้ว โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ได้น่ากลัวเช่นที่เราถูกหลอกฝังหัวไว้แต่อย่างใด ดูได้จากคนญี่ปุ่น คนยุโรปและสหรัฐอเมริกาทั้งผอง ยังอยู่สุขสบายดี ไม่มีโรคภัยเพราะนิวเคลียร์แต่อย่างใด มูลค่าอสังหาริมทรัพย์ก็ไม่ลด ถ้าไม่มีพลังงานนิวเคลียร์ ป่านนี้ประเทศเหล่านี้คงยากไร้ลงในพริบตา แต่ถ้าเรากลัวกันจริง ๆ เราควรจะไปตั้งโรงไฟฟ้าห่างไกลผู้คน หรือเวนคืนที่ดินโดยจ่ายให้สูงกว่าราคาตลาดสัก 20% ให้ชาวบ้านได้กำไรมากกว่าขายในตลาดเปิด และมีการประกันชีวิตให้กับผู้คนแถวนั้นว่า หากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ทางราชการยินดีจ่ายให้ศพละ 100 ล้านบาท เป็นต้น ถ้าตายด้วยนิวเคลียร์แล้วได้ 100 ล้าน ผมเองก็ยอม จะได้เอาเงินไว้ให้ญาติมิตร
          จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา.

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่