Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 593 คน
     การผังเมืองนานาชาติที่ไทยพึงศึกษา
กรุงเทพธุรกิจ วันศุกร์ที่ 20 เมษายน 2555 หน้า 12

ดร.โสภณ พรโชคชัย
sopon@area.co.th  facebook.com/dr.sopon

          เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2555 ผมทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง อธิบดีกรมและผู้บริหาร กทม. เกี่ยวกับการยกเครื่องผังเมือง กทม. ใหม่ แนวคิดและวิธีการที่เราทำผังเมืองมานั้น ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
          ท่านสังเกตบ้างไหม โรงงานต่าง ๆ ขาดการควบคุม บางพื้นที่ห้ามสร้างตึกแถว ก็ ‘เลี่ยงบาลี’ สร้างจนได้ ในพื้นที่ใจกลางกรุงที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วน ก็ไม่ยอมให้สร้างตึกสูงใหญ่ กลัวจะหนาแน่น ปัดสวะ จนบริษัทพัฒนาที่ดินต้องไปสร้างอยู่เขตปริมณฑล  คนซื้อบ้านก็ต้องตะเกียกตะกายออกไปนอกเมือง สิ้นเปลืองค่าเดินทางและเวลา สาธารณูปโภคก็ต้องขยายออกไปไม่สิ้นสุด และสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน
          ผมไม่ได้เห็นแก่พวกนักธุรกิจ ผมไม่เป็นนายหน้า ไม่พัฒนาที่ดินเอง แต่ผมเห็นแก่ชาวบ้านคนส่วนใหญ่ เพราะถ้าปล่อยให้วางผังเมืองอย่างนี้ ต่อไป กทม. ของเราคงจะย่ำแย่ลงทุกวัน บทความวันนี้ผมจึงขออนุญาตเขียนเรื่องผังเมืองต่างประเทศเพื่อที่เราจะได้ “เอาเยี่ยงกา” แต่ใช่ว่าเราจะ “เอาอย่างกา” ไปเสียทั้งหมด

ฝรั่งเศส
          แปลกใจไหมว่า ปารีสมีความหนาแน่นของประชากรถึง 22,000 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่ไทยมีความหนาแน่นเพียง 3,600 คน แต่กลับดูแออัดกว่าทั้งนี้เพราะการก่อสร้างไม่มีการเว้นพื้นที่รอบอาคารหรือไม่มีระยะร่นแบบ “ฟุ่มเฟือย” เช่นประเทศไทย แม้ว่าในเขตใจกลางเมืองจะมีการจำกัดความสูงของอาคารไม่เกิน 37 เมตรก็ตาม การวางผังเมืองใหม่ พร้อมกับสร้างที่อยู่อาศัยสองข้างถนนยังเป็นการคืนกำไร คือทำให้การสร้างถนนใช้เงินแต่น้อย โดยเอา 2 ข้างทางที่เวนคืนมา ทำการก่อสร้างอาคารต่าง ๆ โดยการเวนคืนดำเนินการอย่างขนานใหญ่เป็นเวลากว่า 20 ปี นอกจากนี้ยังได้รับเงินทุนจากสถาบันการเงินต่าง ๆ ที่อำนวยสินเชื่อให้กับการพัฒนาสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ในเมือง
          นอกจากนี้การเวนคืนที่ดินยังใช้เพื่อการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมือง นอกเหนือจากการตัดหรือขยายถนน ทำให้เมืองมีสภาพที่น่าอยู่อาศัย จะสังเกตได้ว่าใจกลางกรุงปารีสมีการเวนคืนก่อสร้างสะพานมากถึง 24 สะพานในระยะทาง 14.3 กิโลเมตรของแม่น้ำแซน หรือมีสะพานทุกระยะ 600 เมตรโดยเฉลี่ย ในขณะที่ใจกลางกรุงโซลมีสะพานทุกระยะ 1.16 กิโลเมตร ส่วนใจกลางกรุงเทพมหานคร จากสะพานพระราม 6 - สะพานภูมิพล 1 ระยะทาง 23 กิโลเมตรมีสะพานเพียง 12 สะพานหรือ 1.9 กิโมเมตรต่อหนึ่งสะพาน ซึ่งถือว่าน้อยมาก ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของความเจริญในฝั่งธนบุรี กับฝั่งกรุงเทพมหานคร ทำให้เสียโอกาสการพัฒนาฝั่งกรุงเทพมหานครซึ่งอยู่ใกล้ใจกลางเมือง

จีน
          ผังเมืองเซี่ยงไฮ้นั้นวางไว้ในปี 2543 แล้วจะให้แล้วเสร็จในปี 2563 หรือภายในระยะเวลา 20 ปี เป็นการวางผังโดยกำหนดการใช้ที่ดินในเขตต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจนและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด ต่างจากของไทยที่เปลี่ยนแปลงใหม่ได้ในทุก 5 ปี ซึ่งในแง่หนึ่งอาจดูคล้ายกับว่าดี ตรงที่หากการวางแผนใดไม่เหมาะสม ก็สามารถแก้ไขได้ใน 5 ปีต่อมา แต่ในอีกแง่หนึ่งก็แสดงว่าไม่ได้วางแผนให้ดีเพียงพอ เพียงห้วงเวลาสั้น ๆ แค่ 5 ปีก็เปลี่ยนใหม่อีกแล้ว
          การวางแผนที่เปลี่ยนใหม่ในห้วงเวลาสั้น ๆ แสดงให้เห็นถึงการวางแผนที่ไม่ครอบคลุมหรือมีลักษณะบูรณาการเพียงพอ จึงทำให้ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ๆ อย่างไรก็ตามการวางแผนระยะยาวของจีน ก็ใช่ว่าจะตายตัว แต่สามารถปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเรื่อย ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่เถรตรงหรือขาดความยืดหยุ่น
          ที่ว่ามีจุดหมายและเป้าประสงค์ที่แน่ชัดนั้น เขาคงไม่ได้ใช้แต่นักผังเมืองในการดำเนินงาน ผังเมืองเกิดจากความพยายามของนักวิชาชีพหลายหลายที่เกี่ยวข้อง โดยวาดภาพไว้ชัดเจนว่า ต่อไป ณ พ.ศ.ไหน นครเซี่ยงไฮ้จะไปทางไหน บรรลุถึงจุดใด จะต้องมีการพัฒนาอะไรใหม่ ๆ ที่ไหนมาแสดงถึงการบรรลุ ต้องพัฒนาสาธารณูปโภคอะไรบ้างที่จะอำนวยความสะดวก และจะมีการกำหนดการใช้ที่ดินในรายละเอียดอย่างไร
          ผังเมืองเซี่ยงไฮ้นั้นกำหนดไว้เลยว่า บริเวณไหนจะกำหนดให้มีการพัฒนาอะไรในอนาคต ของไทยเราคงนึกไม่ออกเลย หากจะมีการวางผังเมืองว่า ต่อไปภายใน 8 ปี เราจะ “ขอคืนพื้นที่” ของแขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพมหานคร มาพัฒนาเป็นอาคารชุดพักอากาศใจกลางเมืองในแนวสูงมากขึ้น รวมทั้งพัฒนาเป็นพื้นที่พักอาศัยราคาแพงใจกลางเมืองเพื่อนำเงินที่ได้มาพัฒนาเมืองในบริเวณอื่นต่อไป

สหรัฐอเมริกา
          แนวคิด Smart Growth นี้เน้นการพัฒนาพื้นที่ในเมืองให้มีประสิทธิภาพ ไม่ได้มุ่งส่งผู้มีร่ายได้น้อยหรือผู้มีรายได้ปานกลางออกไปอยู่นอกเมือง เช่น นนทบุรี สมุทรปราการหรือจังหวัดอื่นในเขตปริมณฑล ที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาสร้างแต่บ้านแนวราบกินพื้นที่ออกไปนอกเมืองมากที่สุด ทรัพยากรถูกใช้ไปอย่างสิ้นเปลืองที่สุด จนใครต่อใครทราบดีว่าในอเมริกา หากใครไม่มีรถ ย่อมเหมือนคนพิการ ไปไหนไม่ได้ เพราะแต่ละที่ ไม่ว่าจะเป็นศูนย์การค้า สำนักงาน หรืออื่น ๆ ล้วนแต่ห่างไกลจากบ้านทั้งนั้น แต่อเมริกาก็พัฒนาอย่างสูญเปล่านี้ได้มานานเพราะมีเงินมาก จะบันดาลอะไรก็ทำได้นั่นเอง
ในระยะหลังมานี้อเมริกาจึงค่อยสำนึกได้ว่านี่เป็นการพัฒนาที่ทำร้ายตัวเองเป็นอย่างมาก จึงเกิดแนวคิด Smart Growth นี้ขึ้น ข้อนี้ไทยและประเทศในเอเชียจึงไม่ต้องตื่นเต้นมากนัก เพราะเมืองไทยเราดีกว่ามากในแง่นี้ ขนาดเวียดนามที่ผมเคยเป็นที่ปรึกษาของกระทรวงการคลังที่นั่นมาระยะหนึ่ง ก็ยังมีละแวกบ้านแบบพึ่งตนเองได้ จะซื้อหาอะไรก็มีอยู่แถวนั้น ไม่ต้องถ่อไปซื้อไกลถึงใจกลางเมือง
          เมืองที่มีการวางผังเมืองตามแนวคิด Smart Growth จะถือหลักการ 10 ประการคืออ การสร้างโอกาสที่อยู่อาศัยที่หลากหลาย การสร้างชุมชนที่เดินถึงกันได้ การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน การสร้างอัตลักษณ์ของท้องที่ การตัดสินใจพัฒนาที่คาดการณ์ได้เป็นธรรมและคุ้มค่า การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน การรักษาสภาพแวดล้อมที่ดี การมีทางเลือกการคมนาคมขนส่งที่หลากหลาย การพัฒนาชุมชนที่มีอยู่แล้ว (ไม่ใช่สร้างชุมชนใหม่) และการออกแบบอาคารที่มีประสิทธิภาพแต่ไม่หนาแน่นเกินไป

สิงคโปร์
          สิงคโปร์เป็นอีกนครหนึ่งที่ผังเมืองนั้นน่าพิศวงเป็นอย่างยิ่ง ที่ว่าผังเมืองสิงคโปร์น่าพิศวงนั้น ไม่ใช่ว่าเป็นผังเมืองที่มีความวิเศษสลับซับซ้อนอะไร แต่เป็นผังเมืองที่วางแผนการใช้ที่ดินตามแนวคิดการผังเมืองจริง ๆ ไม่ใช่ลักษณะการขีดสีวาดเส้นไปตามสภาพที่เป็นอยู่หรือการขีดเขียนผังไว้โดยไม่อาจเป็นจริง หรือเข้าข่าย “แพลน (แล้ว) นิ่ง (เฉย)” แทนที่จะเป็น “Planning” จริง ๆ
          สิงคโปร์มีการวางแผนการใช้ที่ดินเป็นระยะถึง 50 ปี ส่วนในระยะกลางสิงคโปร์มีแผนแม่บทที่กำหนดการใช้ที่ดินในระยะ 10-15 ปี และมีการปรับปรุงได้เป็นระยะ ๆ โดยมีองค์การปรับปรุงการพัฒนาเมือง (Urban Redevelopment Authority) เป็นผู้รับผิดชอบ มีการวางแผนกันทุกตารางเมตรในพื้นที่สิงคโปร์ว่าจะให้พัฒนาอะไรหรือไม่อย่างไร พร้อมจำกัดความสูงที่ชัดเจนเป็นระเบียบ
          สิงคโปร์เรียกตัวเองว่าเป็นเมืองในสวนหรือ Garden City ทั้งที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 7,300 คนต่อตารางกิโลเมตร หรือสูงกว่าไทยสองเท่าตัว ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสิงคโปร์เน้นการพัฒนาเป็นแนวดิ่งแบบรวมศูนย์หลายศูนย์ และสงวนพื้นที่รอบนอกไว้เพื่อเป็นพื้นที่สีเขียว ผิดกับผังเมืองกรุงเทพมหานครที่ไล่คนออกจากกรุงเทพมหานครไปบุกรุกพื้นที่สีเขียวในจังหวัดอื่น

          การวางผังเมืองที่ดีจะทำให้เมืองมีการพัฒนา มีความเป็นอารยะ มูลค่าทรัพย์สินงอกเงย  ประเทศไทยควรไปศึกษาการวางผังเมืองให้ถึงแก่นเพื่อมาวางผังเมืองที่ดีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่