Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 886 คน
     จิตอาสา ไม่ใช่ CSR
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 5-7 กันยายน 2554 หน้า 44

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>

          คำว่า ‘จิตอาสา’ กำลังมาแรง  บ้างก็ว่าคือ ‘ปาง’ หนึ่งของความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ (CSR: Corporate Social Responsibility) ในที่นี้มาวิเคราะห์กันให้ชัดเจนว่า ‘จิตอาสา’ กับ CSR เกี่ยวพันหรือแตกต่างกันอย่างไร อาจมีความพยายามในการใช้จิตอาสาในเชิงหลอกลวงให้วิสาหกิจขาดความรับผิดชอบต่อสังคมหรือไม่

อาสาสมัครเป็นสิ่งที่ดี
          การอาสาทำดี มีจิตอาสาย่อมเป็นสิ่งที่ดี สมควรได้รับการยกย่อง การทำดีย่อมดีต่อตนเองและผู้อื่น  อย่างน้อยก็ทำให้คนทำดีสบายใจ ผิดกับการทำชั่วย่อมทำให้ผู้กระทำร้อนรุ่มไม่เป็นสุข การร่วมกันทำดีเป็นหมู่คณะในวิสาหกิจหนึ่งยังเป็นการเสริมสร้างความสามัคคีและบรรยากาศที่ดีในหมู่คณะ การทำดีเป็นสิ่งที่ทุกศาสนาให้ความสำคัญโดยเริ่มจากการทำทานที่ถึงพร้อมและโดยไม่กระทบตนเองและผู้อื่น
          หน่วยงานที่อาสาทำดีในสังคมมีให้เห็นทั่วไป และทำงานค่อนข้างได้ผลโดดเด่นดีเลิศ เช่น มูลนิธิร่วมกตัญญู มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง ที่แม้แต่ดาราบางคนก็ยังไปเป็นอาสาสมัครกู้ภัย นอกจากนี้ในส่วนของนักธุรกิจก็ยังมีสโมสรที่เกี่ยวข้อง เช่น โรตารี่ ไลอ้อน ซอนต้า เป็นต้น รวมทั้งสมาคมและมูลนิธิเด่น ๆ เช่น มูลนิธิดวงประทีป สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน เป็นต้น ความเสียสละของมวลสมาชิกเหล่านี้ในการบริจาคทานหรือทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม ล้วนเป็นสิ่งที่ควรชื่นชม

รังสรรค์คำใหม่ ๆ
          กิจกรรมทำดีก็มีการเปลี่ยนรูปแบบ เช่น กิจกรรมที่ดำเนินการโดยผู้ที่มีฐานะดีในสังคม ก็คือกิจกรรมแจกข้าวของเหล่าคุณหญิงคุณนาย ซึ่งเริ่มต้นในช่วง 50-60 ปีก่อน แต่ในระยะหลังมา กิจกรรมเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นการทำดีเอาหน้า หรือหวังลาภยศสรรเสริญ หรือเป็นการทำดีแบบไม่ยั่งยืนต่อผู้รับ บางครั้งการไปแจกของยังอาจสร้างความยุ่งยากใจให้กับผู้แจก เพราะผู้รับแจกยังอาจตามมาขอรับของแจกเป็นระยะ ๆ จนสร้างความรำคาญแก่ผู้แจกบางส่วน เป็นต้น
          โดยที่กิจกรรมทำดีไม่จำเป็นต้องการเป็นการแจกสิ่งของหรือเงินทอง แต่ยังหมายถึงการให้ด้วยแรงงาน ปัญญา เครือข่าย ช่องทางตลาด การส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม การให้ทุนการศึกษา และอื่น ๆ ดังนั้นคำใหม่ ๆ จึงถูกรังสรรค์ขึ้นมาจาก ‘การแจกของ’ เป็น ‘การบำเพ็ญประโยชน์’ ‘การแบ่งปัน’ ‘กิจกรรมเพื่อสังคม’ และ ‘จิตอาสา’ ในที่สุด สมัยก่อนเมื่อนักศึกษาว่าง ก็อาจ ‘ออกค่ายอาสาพัฒนา’ แต่เดี๋ยวนี้ก็เรียก ‘จิตอาสา’ ตาม ๆ กันไป

มีความรับผิดชอบก่อนแล้วค่อยอาสา
          อันที่จริง การอาสาทำดีถือเป็นกิจกรรมหนึ่งของ CSR ที่แสดงออกถึงการมีน้ำใจ เมื่อผู้รับได้รับน้ำใจดังกล่าว ก็จะเห็นถึงคุณค่าของผู้ให้ และกลับมาใช้บริการของผู้ให้ เช่น การทำโฆษณาเรียกน้ำตาของบริษัทประกันชีวิตชุดต่าง ๆ ก็คงส่งผลให้ผู้ชม ซึ้งใจกับความใจดี-เห็นใจเพื่อนมนุษย์ของวิสาหกิจแห่งนี้ และซื้อกรมธรรม์ประกันชีวิตไปแล้วไม่รู้เท่าไหร่ เป็นต้น
          อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องเน้นย้ำก็คือ ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุดก่อนและเมื่อพร้อมจึงค่อยไปอาสาทำดี หรืออาจอาสาทำดีไปพร้อม ๆ กับความรับผิดชอบก็ยิ่งดีใหญ่ แต่จะมุ่งแต่การทำดี โดยละเลยความรับผิดชอบ วิสาหกิจที่ดีต้องรับผิดชอบต่อทั้งผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่และรายเล็ก ต่อลูกจ้าง ต่อคู่ค้าหรือผู้ให้บริการ (Suppliers) ต่อลูกค้า-ผู้บริโภค ต่อชุมชนโดยรอบ ต่อสังคมโดยรวม ต่อสิ่งแวดล้อม ต่อโลก ฯลฯ  สิ่งที่พึงส่งเสริมให้วิสาหกิจตระหนักก็คือ หากขาดซึ่งความรับผิดชอบ ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เท่ากับละเมิด ผิดทั้งกฎหมายแพ่ง อาญา ฯลฯ ถือเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง

ความรับผิดชอบของนักศึกษา
          ตัวอย่างหนึ่งของการให้ก็คือกรณีของนักศึกษา เรามักจะบอกให้เด็กและเยาวชนทำดี ให้นักศึกษารับใช้ประชาชน มีจิตอาสา แต่โดยทั่วไปการให้นั้นเป็นการไปจากที่สูงไปสู่ที่ต่ำ อาจมีบางทีที่การให้มาจากผู้ที่ต่ำกว่า เช่น กรณีนิทาน ‘ราชสีกับหนู’ เป็นต้น แต่ก็ถือเป็นข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นนาน ๆ ครั้ง การจะสร้างจิตสำนึกแก่นักศึกษาให้มีรู้จักเสียสละนั้น เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรให้พวกเขาตระหนักถึงหน้าที่ด้วย เพราะปีหนึ่ง ๆ รัฐบาลออกเงินถึง 35,646 บาทเป็นค่าใช้จ่ายต่อนักศึกษาหนึ่งคน <2> ในขณะที่นักศึกษาเองออกค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิด ยกเว้นในโปรแกรมนานาชาติของนักศึกษาส่วนน้อยที่อาจเก็บค่าเล่าเรียนปีละนับแสนบาท และแม้แต่ในกรณีมหาวิทยาลัยเอกชน รัฐบาลยังตามไปสนับสนุนการศึกษาอีกมากมาย
          โดยนัยนี้ เราต้องสอนนักเรียน นักศึกษาให้เห็นว่าผู้มีบุญคุณที่แท้จริงคือประชาชนผู้เสียภาษี หาใช่ใครอื่น เราต้องปลูกฝังอุดมการณ์รับใช้ประชาชนตั้งแต่เด็ก ส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาจำให้ขึ้นใจว่าผู้มีพระคุณที่แท้จริงของพวกเขาคือประชาชนที่ส่งเสริมให้พวกเขาได้เรียน จะได้แทนคุณประชาชน แทนคุณแผ่นดิน ที่สำคัญต้องไม่โกงกินในวันหน้าอันเป็นการทรยศต่อประชาชนและประเทศชาติ และไม่ใช่มุ่งแต่กอบโกยเพื่อตนเองซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวงจรอุบาทว์ทำลายชาติ  การรับใช้ประชาชนและประเทศชาติเป็นพันธกิจอันศักดิ์สิทธิ์ของนักศึกษา การเริ่มต้นคิดเพื่อส่วนรวม ย่อมเป็นมงคลต่อตนเอง และทำให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด

ความรับผิดชอบของบริษัทประกัน
          ดังที่นำเสนอไว้ข้างต้นว่า การระดมฉายหนังโฆษณาเชิงคุณธรรมที่ซึ้งกินใจหรือส่งเสริมให้คนทำดี แบบ ‘ปูพรม’ โดยใช้งบประมาณเป็นจำนวนมาก จนคนดูแล้วอดหลั่งน้ำตาไม่ได้นั้น ถือเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลดีทันตาเห็นแบบ online กล่าวคือคงมีคนดูจำนวนพอสมควรที่ ‘ปลื้ม’ จนซื้อประกันเพราะความซึ้งใจในวิสาหกิจดังกล่าว อย่างไรก็ตามความรับผิดชอบหลักของบริษัทประกันชีวิตไม่ได้อยู่ที่การทำกิจกรรม ‘จิตอาสา’ เช่นนี้
          การสร้างยี่ห้อ หรือ Brand ของวิสาหกิจประกันภัยให้ดีและยั่งยืนนั้น อยู่ที่การพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า วิสาหกิจประกันภัยนั้น ๆ มีความรับผิดชอบต่อลูกค้า ผู้เอาประกัน ไม่เบี้ยว ไม่บ่ายเบี่ยงการจ่ายเงินประกัน มีบริการที่สะดวกและมีคุณภาพทัดเทียมกับวิสาหกิจประกันภัยต่างชาติ ด้วยเบี้ยประกันที่ใกล้เคียงหรือถูกกว่าวิสาหกิจต่างชาติ ถ้าเราพิสูจน์ตัวเองได้ด้วยตัวเลขและสถิติที่ชัดเจน วิสาหกิจก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนจากปากต่อปาก หาไม่ก็เป็นเพียงการกระตุ้นยอดขายแบบ ‘ไฟไหม้ฟาง’ เป็นระยะ ๆ เท่านั้น  เผลอ ๆ หากผู้บริหารวิสาหกิจนั้น ‘หัวใส’ เช่นวิสาหกิจบางแห่ง อาจทำโฆษณาเพิ่มความดังให้กับตนเองเพื่อปูทางไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือเล่นการเมืองในอนาคตก็เป็นได้

ระวังสำลักความรัก
          การมีจิตอาสานั้น เป็นการแสดงออกซึ่งความรัก ถือเป็นคตินิยมแบบคริสต์ศาสนาที่สอนให้รักในเพื่อนมนุษย์ และรักและศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าแต่เพียงพระองค์เดียว <3> แต่ในหลักพุทธศาสนา ไม่ได้สอนให้รักแม้แต่รักต่อองค์พระพุทธเจ้าเอง พระพุทธองค์สอนเรื่องกาลามสูตร ไม่สอนให้สักแต่เชื่อ พระพุทธองค์ยังตรัสให้เห็นว่า “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” <4> พุทธศาสนาเน้นความเมตตา ซึ่งบางคนก็อาจตีความเป็นความรักแบบไม่มีเงื่อนไข (รักโดยไม่หวังผลตอบแทน) อะไรทำนองนั้น
          บางคนกล่าวไว้สวยหรูว่า ‘ให้ความรักกันเต็มแผ่นดิน ความสงบสุขก็จะบังเกิด โลกก็จะน่าอยู่ ฯลฯ’ ประโยคสมมติ (If Clause) อันนี้เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ แม้จะทำให้คนส่วนใหญ่รักกันขนาดไหน แต่เราขาดซึ่งการบังคับใช้กฎหมาย ปล่อยให้คนชั่วประกอบอาชญากรรม ความสงบสุขก็ไม่อาจเกิดขึ้น บางทีอาจต้องระวังการทำดีด้วยข้ออ้าง ‘ความรัก’ เพราะ เป็นการหลอกให้เราหลงเชื่อ ต้มเราเพื่อขายสินค้า คือแทนที่คนจะซื้อสินค้าหรือบริการเพราะคุณภาพ กลับหลงซื้อเพราะความศรัทธาในการทำดี นอกจากนี้ หากเราสังเกตให้ดี จะมีการอาสาทำดีเพื่อปกปิดความชั่ว ความผิดต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น อาชญากรก็มักชอบบริจาค คนที่ทำผิดกฎหมาย ทำลายสิ่งแวดล้อม ก็มักชอบอ้างว่าตนมี CSR เป็นต้น
          ที่ร้ายยิ่งกว่านั้นก็คือการหลงทำความดีจนกลายเป็น ‘ม้าลำปาง’ คือขาดการมองอย่างรอบด้าน จนถูกทำให้โง่งม เบื่อเมา ไม่กีดขวางการทำชั่วของอาชญากร เช่น เรายกย่องคนทำดีที่ช่วยปลูกป่าต่าง ๆ (เช่น กรณี ด.ต.วิชัย สุริยุทธ ที่เคยถูกหาว่าเป็นคน (บ้า) ปลูกต้นไม้ 2,000,000 ต้น <5>) จนหลงเข้าใจว่าการปลูกป่าเป็นหนทางสำคัญในการสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน การที่สังคมการมุ่งเน้นการทำดีด้วยการปลูกป่าโดยลืมดูการตัดไม้ทำลายป่า ก็เท่ากับปล่อยให้อาชญากรกอบโกยโดยไร้ผู้ขัดขวาง ปล่อยให้ท่านสืบ นาคะเสถียรตายฟรี เพราะป่าก็ยังลดลงในอัตราใกล้เคียงกับก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต <6>

สรุป: ทำ CSR ให้ถูกทาง
          โดยสรุปแล้ว วิสาหกิจใด ๆ จะมีความรับผิดชอบต่อสังคม นอกจากจะดำเนินการแบบ ‘จิตอาสา’ ซึ่งให้บุญตอบแทนแบบ online แล้ว ยังต้องแสดงความรับผิดชอบอย่างแท้จริงต่อสังคมด้วยการที่ไม่ละเมิดต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหลายตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อมโดยรวม ทั้งทางแพ่งและทางอาญา เราต้องดำเนินธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย ยิ่งกว่านั้นวิสาหกิจยังต้องมีมาตรฐานและจรรยาบรรณทางวิชาชีพและทางธุรกิจ โดยมีการตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสตรงไปตรงมา ไม่ใช่กระทำเพียงแค่การโฆษณาชวนเชื่อ อย่าให้ใครหรือวิสาหกิจใดเชิดชู ‘จิตอาสา’ จนบดบังความรับผิดชอบที่ต้องมีของตน
          ดังนั้น CSR จึงมีเนื้อหาใจกลางที่ความรับผิดชอบที่หลีกเลี่ยงไมได้  ส่วน ‘จิตอาสา’ เป็น Option เพิ่มเติม ผมจึงขออัญเชิญพระราชดำรัสเรื่องความรับผิดชอบมาเพื่อให้เป็นมงคลต่อทุกท่าน ดังนี้:
          “เมื่อเข้าใจความหมายของคำว่า ‘รับผิดชอบ’ ตามนัยดังกล่าวแล้ว ผู้ที่เข้าใจซึ้งในความรับผิดชอบ จะสำนึกตระหนักได้ทันทีว่า ความรับผิดชอบคือหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ทำ จะหลีกเลี่ยงละเลยไม่ได้...” <7>

อ้างอิง  
<1> ดร.โสภณ พรโชคชัย กรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบ หอการค้าไทย  กรรมการบริหาร สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และประธานกรรมการบริหาร บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ซึ่งเป็นวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และเป็นสมาชิก UN Global Compact ขององค์การสหประชาชาติ  Email: sopon@area.co.th  FB: www.facebook.com/pornchokchai
<2> โปรดดูการแจกแจงตัวเลขงบประมาณการศึกษาจากบทความของผู้เขียนเรื่อง ‘เรียนเพื่อรับใช้ประชาชน’ ณ http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market232.htm
<3> คริสต์ศาสนา: http://th.wikipedia.org/wiki/ศาสนาคริสต์
<4> โปรดดูบทความ ‘พระพุทธศาสนามอง "ความรัก" ไว้ว่าอย่างไร? ควรมีหรือควรกำจัด มีหลักธรรมใดยืนยันหรือไม่?’ http://www.wat-buddhabharami.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=90188&Ntype=5
<5> โปรดอ่าน เรื่อง ‘ด.ต.วิชัย สุริยุทธ คน(บ้า)ปลูกต้นไม้ 2,000,000 ต้น’ ที่ http://grou.ps/nonta/blogs/item/855109
<6> โปรดอ่านบทความของผู้เขียนเรื่อง ‘อย่าปล่อยให้ ‘สืบ นาคะเสถียร’ ตายฟรี’ ที่ Make Money, September 2010 p.86-87: http://www.thaiappraisal.org/thai/market/market_view.php?strquery=market203.htm
<7> พระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันศุกร์ที่ 16 กรกฎาคม 2519

 

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่