Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 637 คน
แปรรูปรัฐวิสาหกิจที่โปร่งใสต้องเริ่มที่การประเมินค่าทรัพย์สิน

ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย

        ในช่วงนี้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจถือประเด็นร้อนที่ควรจับตามองเป็นอย่างยิ่ง อาจ ถือเป็นหนึ่งในเครื่องชี้ความเป็นความตายของรัฐบาลนี้ทีเดียว เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมจัดงานประชุมนานาชาติเรื่อง "การประเมินค่าโครงการสาธารณูปโภคและการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ" ณ หอประชุมองค์การสหประชาชาติ สะพานมัฆวานรังสรรค์ ราชดำเนิน โดยได้ลงทุนเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับโลกมาพูด เช่น
        อธิบดีกรมประเมินอังกฤษ : การประเมินบริติชเทเลคอม
        รองอธิบดีกรมประเมินมาเลเซีย : การประเมินรถไฟลอยฟ้า
        ผู้แทนกรมประเมินแคนาดา : การประเมินสนามบินเปรอง
        กรรมการสมาคมการจัดการอินเดีย : การประเมินทางด่วน
        ผู้บริหารวิสาหกิจชั้นนำกรุงวอชิงตัน : การประเมินโรงไฟฟ้า
        ผู้เชี่ยวชาญจากนิวยอร์ก : การประเมินเส้นทางรถไฟ
        ปรากฏว่ามีชาวต่างชาติจาก 15 ประเทศข้ามน้ำข้ามทะเลมาเข้าร่วมถึง 40 คน จาก ทั้งหมด 70 คน โดยที่เหลือเป็นคนไทย งานนี้มูลนิธิได้สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในฐานะผู้สนับสนุนการยกระดับความรู้เรื่องการประเมินค่าทรัพย์สิน
        สิ่งที่ได้เรียนรู้สำคัญประการหนึ่งก็คือ การประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการแปรรูปรัฐวิสาหกิจนั้นมีความสำคัญมาก ในบ้านเมืองเรา การแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่เร่งดำเนินการกันอย่างเอาเป็นเอาตายนั้น ไม่รู้ (มีเวลาเพียงพอ) ได้ประเมินค่าทรัพย์สินอย่างถูกต้องตามหลักสากลหรือไม่ แต่ในต่างประเทศนั้น เขาทำกันอย่างพิถีพิถัน เพื่อหามูลค่าที่แท้จริง มีการถก เถียง/ทบทวนมูลค่ากันอย่างกว้างขวาง เพราะถ้าประมาณการมูลค่าต่ำกว่าความเป็นจริง ผู้เสียประโยชน์ก็คือประชาชนเจ้าของทรัพย์สินตัวจริงนั่นเอง
        การประเมินมูลค่ากิจการสาธารณูปโภคต่างๆ นั้น เราจะต้องประเมินทั้งกิจการ จะแยกส่วนประเมินไม่ได้ เพราะกิจการมีความเป็นเครือข่ายเกี่ยวเนื่องกัน มูลค่าของสิ่งหรือส่วนต่าง ๆ มีความเกี่ยวพันกัน หากขาดไปก็จะทำให้ส่วนอื่นๆ ด้อยค่าลงไปด้วย ดังนั้นการประเมินอย่างทั่วด้านนี้จึงต้องอาศัยคณะผู้รู้ในหลายสาขาวิชา ไม่ใช่บุคคลเดียวจะสามารถทำได้
        และแน่นอนการนี้จะเกี่ยวพันกับระยะเวลาพอสมควร คือไม่สามารถทำการรวบรัดให้แล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว เพราะสุ่มเสี่ยงต่อความผิดพลาดได้ และยังเกี่ยวพันกับค่าจ้าง ทางวิชาชีพที่ต้องสูงมากกว่าการประเมินค่าทรัพย์สินประเภททั่วไปอื่นๆ (แต่ถ้าเทียบค่าจ้างเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าทรัพย์สินนั้นจะต่ำมาก ไม่เกิน 0.005-0.01% เท่านั้น)
        เรื่องค่าจ้างนั้น ไม่จำเป็นต้องแพงระยับแบบที่ที่ปรึกษาต่างชาติมาหลอก "กรรโชก" ไปในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 แต่ก็คงไม่ใช่ว่ารัฐบาลในฐานะผู้ว่าจ้างจะพิจารณาว่าจ้างแต่ในระดับราคาสุดถูก เพราะบางครั้งผู้ประเมินอาจไม่มุ่งหวังเอาค่า "fee" ตามวิชาชีพ แต่จะเอาค่า "ฟัน" (สินบน) จากการให้ประเมินสูง/ต่ำส่งเดชตามการสั่งใต้โต๊ะ
        ในการประเมินค่าสาธารณูปโภคนั้น สิ่งแรกที่ต้องหาคือ การวิเคราะห์หามูลค่าตลาด ของกิจการเสียก่อน ซึ่งรวมตั้งแต่ทรัพย์สินที่จับต้องได้ ได้แก่ (อ) สังหาริมทรัพย์ เครื่องจักร และทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ เช่น ยี่ห้อ ชื่อเสียง สัมปทานหรือการดำเนินกิจการ เป็นต้น เมื่อได้มูลค่าตลาดที่สมควร เราค่อยมาพิจารณาเพื่อตั้งราคาหุ้น ราคาบังคับขาย ราคาอนาคต ฯลฯ
        ในการประเมินค่านี้ คณะผู้ประเมินที่เป็นผู้รู้ในหลายสาขาวิชา ต้องเข้าใจธุรกิจหรือ กิจการที่ประเมินจริงๆ ดังนั้นจึงต้องเริ่มต้นที่การศึกษากิจการอย่างจริงจังในกรอบระยะเวลา ที่เพียงพอ
        หัวใจสำคัญของการประเมินค่ากิจการสาธารณูปโภคให้ถูกต้องได้นั้น ก็คือ การออกแบบงานวิจัยถึงแนวทาง (how to) ในการวิเคราะห์หามูลค่าตลาดที่เราต้องการ และต้องพิสูจน์ให้ผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งสาธารณชนได้ทราบว่า แนวทางในการวิเคราะห์นั้นอธิบายได้ มีเหตุมีผลจริง
        เช่น ถ้าเราต้องการประเมินมูลค่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย เราหมายถึงการประเมินว่ากิจการการรถไฟฯของบ้านเรานั้นมีมูลค่าเท่าไหร่ มูลค่าของ (อ) สังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรทั้งหมดเป็นเงินเท่าไหร่ เทียบกันแล้วเป็นอย่างไร
        ถ้ามูลค่าของกิจการสูง ก็แสดงว่า เป็นกิจการที่ดีมีอนาคต แต่ถ้ามูลค่าของกิจการต่ำ กว่ามาก อาจเป็นเพราะต้นทุนการบริหารหลายรายการสูงเกินจริง ต้องพิจารณาใหม่ให้รอบ คอบ แต่ถ้าปรับแล้ว มูลค่ากิจการก็ยังต่ำกว่ามูลค่าของ (อ) สังหาริมทรัพย์และเครื่องจักรอย่างแน่แท้ ก็แสดงว่า กิจการนี้ไม่มีค่าอันควรเลย สมควรเลิกกิจการและขายแยกชิ้นทรัพย์สินมากกว่า
        การทำให้แนวทางในการวิเคราะห์มูลค่าทรัพย์สินมีหลักเหตุผล โปร่งใสในทุกขั้นตอน จะทำให้มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินได้จะได้รับความเห็นชอบจากวิญญูชน การแปรรูปรัฐวิสาหกิจก็จะประสบความสำเร็จได้
        ในส่วนของกิจการสาธารณูปโภคนั้น บางครั้งไม่จำเป็นที่จะต้องได้กำไรเสมอไป ขาดทุนก็อาจทำได้ ถ้ารัฐบาลเห็นว่า แม้มูลค่าทางธุรกิจจะไม่มี แต่มีมูลค่าทางสังคม รัฐบาลก็อาจจะอุดหนุนยอมให้ขาดทุนโดยไม่บ่น และไม่จำเป็นต้องแปรรูป หรือแปรรูปแต่ให้เงินอุดหนุนอยู่ดี
        ตัวอย่างเช่น รถไฟฟ้าใต้ดินในนิวยอร์ก ค่าโดยสารเที่ยวละประมาณ 1 ดอลลาร์ พอๆ กับค่ารถไฟลอยฟ้าบ้านเรา แต่ถือว่าถูกมาก เพราะค่าบิ๊กแมคบ้านเราราคา 40 บาทหรือ 1 ดอลลาร์ ในขณะที่บิ๊กแมคในนิวยอร์กราคาสูงถึง 7 ดอลลาร์
        การที่รถไฟฟ้าในนิวยอร์กคิดค่าโดยสารได้ต่ำมากเช่นนี้ก็เพราะรัฐบาลอุดหนุน แต่รถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร หรือกรุงกัวลาลัมเปอร์ ไปไม่ค่อยรอดก็เพราะรัฐบาลแทบไม่ได้อุดหนุนอะไรเลย จึงทำให้ผู้ลงทุนและประชาชนรับกรรมไปตาม ๆ กัน
        ผมเห็นว่า การแปรรูปรัฐวิสาหกิจจะสำเร็จได้ดี ก็ต้องอาศัยความโปร่งใสที่ต้องเริ่มต้นที่ การประเมินค่าทรัพย์สินอย่างมืออาชีพเป็นปฐม นอกจากนี้ ปัจจัยแห่งความสำเร็จอีกประการหนึ่งก็คือ รัฐบาลที่ต้องมีความโปร่งใส มุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องและสามารถพิสูจน์ให้ประชาชนเชื่อมั่นได้ว่า ดำเนินการแปรรูปเพื่อส่วนรวมจริง ๆ
        ขอเอาใจช่วยประเทศชาติของเราให้พัฒนาตามหลักวิชาที่ถูกต้องด้วยคนครับ

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่