Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 855 คน
อย่าบิดเบือนพุทธศาสนา

ดร.โสภณ พรโชคชัย {1}
24 พฤษภาคม 2552

‘สนิมเหล็กเกิดแต่เนื้อ ในตน
กินกัดเนื้อเหล็กจน กร่อนขร้ำ
บาปเกิดแต่ตนคน เป็นบาป
บาปย่อมทำโทษซ้ำ ใส่ผู้บาปเอง’ {2}

            ไม่แปลกที่พบคนนอกศาสนาหมิ่นพระพุทธเจ้าอยู่เนือง ๆ เพราะความไม่ศรัทธาซึ่งชาวพุทธคงต้องอธิบายเพื่อให้โลกได้เห็นความจริง แต่ผู้หมิ่นพระพุทธเจ้า บิดเบือนคำสอนและบ่อนทำลายพุทธศาสนาอย่างร้ายกาจอาจเป็นชาวพุทธโดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบทอด เข้าทำนอง ‘สนิมเกิดแต่เนื้อ ในตน’ เสียเอง
            พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี เคยบรรยายธรรมเรื่อง ‘หมิ่นพระพุทธเจ้าบาปเพียงใด’ {3} และผมก็ได้อ่านหนังสือประวัติพระพุทธเจ้าของท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ ซึ่งแปลโดยคู่สามีภรรยาคุณรสนา โตสิตระกูลและคุณสันติสุข โสภณสิริ {4} ได้พบว่า ทุกวันนี้ชาวพุทธหรือไม่หนอที่เป็นผู้หมิ่นพระพุทธเจ้าเอง บทความนี้จึงมุ่งให้ชาวพุทธได้ฉุกคิดและร่วมทำนุพุทธศาสนาให้ถูกทาง

บิดเบือนให้กลายเป็นอื่น
            พระพุทธเจ้าเป็นศาสดาเพราะได้ศึกษาจนรอบรู้ทั้งศาสตร์และศิลปะอย่างกว้างขวางลึกซึ้ง  ก่อนตรัสรู้ก็ศึกษาคัมภีร์ศาสนาอื่นจนหมดสิ้น น้อมใจเป็นศิษย์ในหลายสำนักโดยพำนักแห่งละ 3 เดือนบ้าง 6 เดือนบ้าง จนพลังภาวนาและพลังสมาธิแก่กล้ายิ่งขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถค้นพบหนทางที่แท้จริงได้ในช่วงแรก นี่แสดงชัดว่าพระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่บรรลุธรรมด้วยการศึกษาอย่างจริงจังต่อเนื่องจนรู้แจ้ง  ไม่ใช่เพียงแต่นั่งสมาธิและที่สำคัญไม่ได้อวตารมาจากไหน
            แต่ทุกวันนี้เรากลับพยายามทำให้พระพุทธเจ้ากลายเป็นอื่น เป็นส่วนหนึ่งของเทพ พรหม สวรรค์ ฯลฯ พุทธศาสนากับศาสนาพราหมณ์กลับแยกกันแทบไม่ออก ใครเป็นคนทำ ใครเป็นคนเสริมต่อ และใครได้ประโยชน์จากการนี้ ท่านภิกษุ ติช นัท ฮันห์ กล่าวสรุปคำสอนของพระพุทธเจ้าเพื่อเตือนสติชาวพุทธว่า ‘บุคคลไม่สามารถข้ามพ้นจากอวิชชาโดยการสวดอ้อนวอนและยัญบูชา’ ชาวพุทธจึงควรศึกษาธรรมะให้รู้เพื่อความหลุดพ้น ไม่ใช่ไปยึดติดกับเปลือกหรือกระพี้
            การพยายามแปลงให้พระพุทธเจ้าเป็นภาคอวตารมาจากสิ่งอื่น อาจเพื่อให้สอดคล้องกับผู้ปกครองในยุคสมัยแต่โบราณที่เป็นวรรณะกษัตริย์ ซึ่งมักต้องทำให้ตนดูศักดิ์สิทธิ์โดยการสื่อสารว่ากษัตริย์เป็นผู้อวตารมาจากสวรรค์ ดังนั้นในเมื่อพุทธศาสนาเป็นที่เคารพของประชาชน จึงต้องทำให้พระพุทธเจ้ามีลักษณะพิเศษไปด้วย

การขัดคำสอนพระพุทธเจ้า
            เร็ว ๆ นี้มีเจ้าอาวาสแห่งหนึ่งสั่งห้ามชาวบ้านกราบพระพุทธรูป {5} กรณีนี้อาจดูแปลก แต่หลายท่านคงเคยได้ยินพุทธพจน์ที่ว่า “ดูก่อนอานนท์ ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราได้แสดงไว้ และบัญญัติไว้ด้วยดี นั่นแหละจักเป็นพระศาสดาของพวกท่านสืบแทนเราตถาคต เมื่อเราล่วงไปแล้ว” {6} พระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธยึดถือ (และปฏิบัติตาม) พระธรรมเป็นสำคัญ ดังนั้นจึงไม่มีประวัติการสร้างพระพุทธรูปเลยในอีกนับร้อย ๆ ปีต่อมา ในยุคนั้น ใครสร้างพระพุทธรูปอาจถือเป็นการล้อเลียนและไม่เคารพพุทธพจน์ {7} จะเห็นได้ว่าในการเผยแพร่พุทธศาสนาในยุคต้น จึงมีการสร้างพระไตรปิฎกเป็นตัวแทนของพุทธศาสนาออกไปเผยแพร่
            แต่ในระยะหลังมา ชาวพุทธกลับมีพระพุทธรูปไว้กราบไหว้จำนวนมาก และได้รับการอ้างอิงเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้ง ๆ ที่เราก็เคยได้ยินคำว่า ‘พระอิฐ พระปูน’ มานานแล้ว นอกจากนี้เรายังก้าวเลยไปถึงการสร้างพระเครื่อง และรูปเหมือนของพระสงฆ์ต่าง ๆ ทั้งที่ในสมัยพุทธกาลหรือแม้แต่พระภิกษุชั้นผู้ใหญ่หลังพุทธกาลก็ไม่มีใครสร้างเช่นนี้ ชาวพุทธควรทบทวนว่าการขัดพุทธพจน์นี้ทำให้เรายึดถือพุทธแต่เพียงเปลือกหรือไม่ ทำให้เราไม่ได้เน้นการเรียนธรรมะ เน้นการนิยมวัตถุ และเท่ากับทำให้พุทธศาสนาเสื่อมลงเพราะพวกเรากันเองหรือไม่
            บางท่านอาจแย้งว่า คนนั้นไม่เหมือนกัน บางคนอาจต้องมีพระพุทธรูปหรือพระเครื่องเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว เพื่อนำพาไปสู่ธรรมะในที่สุด แต่ข้อนี้ก็คงต้องมาประเมินกันให้ชัดว่า การนี้นำไปสู่ธรรมะหรือนำไปสู่พุทธพาณิชย์เป็นสำคัญ และยิ่งทำให้ชาวพุทธยึดติดในการนิยมวัตถุหรือไม่

พระพุทธรูปมีผม!
            แปลกแต่จริง พระพุทธรูปส่วนมากมักมีมวยผมหรือเกล้าผม หรือมีบางสิ่งวางอยู่บนพระเศียร ไม่ใช่แค่มีผมธรรมดา ซึ่งไม่แปลกเพราะในสมัยพุทธกาลอาจไม่มีใบมีดโกนอย่างดี แต่ในความเป็นจริงพระพุทธเจ้าโกนผมออกบวชและดำรงอยู่เช่นนี้จนปรินิพพาน ในสมัยพุทธกาล องคุลีมาลก็ยังเคยตะโกนว่า “สมณะโล้น (พระพุทธเจ้า) หยุดก่อน ๆ” {8}
            กรณีนี้หลายท่านอาจไม่คิดมาก หรือคิดเพียงว่าเป็นการให้เกียรติ หรือให้พระพุทธเจ้ามีภาพลักษณ์ที่ดูงามดี  เราจึงมักเห็นพระพุทธรูปที่มีมวยผมหรือมีสิ่งอื่นบนพระเศียรตั้งอยู่ระหว่างรูปปั้นของพระอัครสาวกคือพระโมคคัลลานะและพระสาลีบุตรซึ่งมักโกนผม  แต่หากคิดให้จริงจัง การสร้างพระพุทธรูปเช่นนี้ถือเป็นการบิดเบือนอย่างร้ายแรงหรือไม่ พระพุทธเจ้าเป็นผู้บรรลุธรรมสูงส่ง ย่อมไม่มีอารมณ์ความรู้สึกอะไร แต่ถ้าเป็นบรรพชนของเราถูกบิดเบือน-หมิ่นเช่นนี้ ท่านก็คงเสียใจอยู่ไม่น้อย
            อย่างไรก็ตามบางท่านอาจมองในแง่ศิลปะของการสร้างพระพุทธรูปที่สืบทอดมานับพันปี แต่ศิลปะที่สร้างให้ศาสดามีลักษณะผิดไปจากความจริง เป็นสิ่งที่ควรทบทวนหรือไม่ บางท่านอาจอ้างว่าพระพุทธเจ้าจะถูกปั้นแต่งอย่างไร ก็ไม่เป็นไร ขอถือพระธรรมเป็นใหญ่ ข้างต้นนี้เป็นเพียงคำแก้เกี้ยวที่แสดงว่าเราถูกเบื่อเมาจนมองเห็นการบิดเบือนเป็นเรื่องชินชาไปหรือไม่

Discredit พระพุทธเจ้า
            ในแวดวงพุทธศาสนา อาจมีขบวนการหรือความพยายามในการทำให้พระพุทธเจ้าดูด้อยลง (Discredit) อยู่หรือไม่  เรามักได้ยินคำกล่าวขานกันว่าในโลกนี้มีพระพุทธเจ้ามากมายหลายองค์ หมดยุคนี้ก็ไปยุคนั้น เราไม่คิดกันบ้างหรือว่า การโฆษณาเช่นนี้เป็นการ Discredit พระพุทธเจ้า เพราะดูคล้ายกับว่าเดี๋ยวก็พ้นยุคพระพุทธเจ้านี้แล้วและไปสู่ยุคพระพุทธเจ้าองค์ถัดไป
            บ้างก็รอคอยพระศรีอริยเมตตรัย ซึ่งมีทั้งภาพวาด รูปปั้นและตำนานต่าง ๆ ที่กล่าวว่าจะมาเป็นศาสดาแทน (Replace) พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน  และในยุคหน้านี่แหละที่จะเกิดความสมบูรณ์พูนสุข (โดยนัยก็คือดีกว่าในยุคพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันนี้) ข้อนี้ผิดแผกไปจากความเชื่อของศาสนาอื่นที่เชื่อว่า ‘พระเจ้า’ มีหนึ่งเดียวเท่านั้น ผมก็ไม่เข้าใจว่าผู้เกี่ยวข้องในพุทธศาสนาปล่อยให้มีการโฆษณาถึงพระพุทธเจ้าองค์อื่นกันมากมายได้อย่างไร เพราะนี่คือการ Discredit พระพุทธเจ้าโดยคนในพุทธศาสนาเองหรือไม่

กันพระพุทธเจ้าไปจากผู้คน
            ตามหนังสือของพระภิกษุ ติช นัท ฮันห์ พระพุทธเจ้ามุ่งสร้างความเท่าเทียมในหมู่ชน โดยแสดงออกด้วยการดื่มน้ำแก้วเดียวกับเด็กชายวรรณะจัณฑาลทั้งยังให้เด็กคนนั้นดื่มก่อน และยังรับคนจัณฑาลเข้ามาอยู่ในคณะสงฆ์ พระพุทธเจ้ายังเป็นผู้ไม่ถือตน โดยสมัยที่ลาจากวรรณะกษัตริย์มาบำเพ็ญเพียร เด็กชายวรรณะจัณฑาลให้หญ้ามาใช้ปูนั่ง ก็ยกมือไหว้ขอบคุณ สมัยเป็นพระพุทธเจ้าก็พนมมือ น้อมกายเป็นการตอบรับ พระพุทธเจ้าเคยช่วยเด็กวรรณะจัณฑาลตัดหญ้าด้วย หรือร่วมกับพระอานนท์ช่วยกันอุ้มภิกษุที่อาพาธขึ้นเตียงและเปลี่ยนจีวรให้ แล้วยังขัดถูพื้นกุฏิและซักจีวรที่เกรอะกรังดินของภิกษุดังกล่าว เป็นต้น
            เป็นไปได้ไหมที่มีกระบวนการทำให้พระพุทธเจ้าแปลกแยก (Alienated) ไปจากผู้คน เรามักใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า  ทั้งที่พระพุทธเจ้าไม่ประสงค์จะอยู่ในวรรณะกษัตริย์ แต่ประสงค์จะใช้คำพูดธรรมดา และแม้แต่ภาษาก็ยังให้ใช้ภาษาบาลี ซึ่งเป็นภาษาที่ประชาชนส่วนใหญ่ใช้กันในสมัยนั้น ดังนั้นการใช้คำราชาศัพท์กับพระพุทธเจ้า แม้ในแง่หนึ่งถือเป็นการแสดงความเคารพสูงสุด  แต่ในอีกแง่หนึ่งก็อาจเป็นการไม่นำพาต่อความตั้งใจของพระพุทธเจ้าในการสละวรรณะนี้ การใช้คำราชาศัพท์ก็เท่ากับการผูกพันพระพุทธเจ้าไว้กับวรรณะเฉพาะ

            โดยสรุปแล้ว อาจกล่าวได้ว่า การโอนอ่อนไปตามทางโลกโดยถึงขนาดขัดกับหลักการของศาสนาอย่างชัดเจนนั้น อาจเป็นเพราะการคล้อยตามอำนาจรัฐที่ปกครองมาแต่ในอดีต ในอีกแง่หนึ่งการโอนอ่อนอาจมองเป็นกุศโลบายหวังชักจูงให้คนเข้าหาศาสนาในทางอ้อม แต่การนี้อาจเป็นความสูญเปล่าเพราะไม่อาจชักจูงให้คนเข้าหาแก่นแท้ของศาสนา กลับไปติดอยู่แต่เปลือกตลอดไป และอาจเป็นการทำร้ายพุทธศาสนา ทำให้พุทธศาสนาผิดเพี้ยน เข้ารกเข้าพงมากยิ่งขึ้น

            ข้างต้นนี้จึงเป็นข้อปุจฉาและวิสัชนาเพื่อให้ชาวพุทธได้ตระหนักถึงสถานะของศาสนาที่ถูกบิดเบือน  และชาวพุทธควรยึดถือในพระธรรมที่พระพุทธเจ้าให้ยึดถือไว้เหนือเหนือยศ-ศักดิ์ เหนือชาตินี้-ชาติหน้า เหนือการนิยมวัตถุ เหนือพุทธพาณิชย์ หรือเหนือสิ่งอื่นใด เพื่อให้หลุดพ้นไปจากความทุกข์และประสบแต่ความสุขมีมงคลต่อชีวิตและสังคม ตามบทประพันธ์ของท่านพุทธทาสที่ว่า
            “กรรมดี ดีกว่ามงคล สืบสร้าง กุศล ดีกว่า นั่งเคล้า ของขลัง
พระเครื่อง ตะกรุด อุทกัง ปลุกเสก แสนฉมัง คาดมั่ง แขวนมั่ง รังรุง
            ขี้ขลาด หวาดกลัว หัวยุ่ง กิเลส เต็มพุง มงคล อะไร ได้คุ้ม
อันธพาล ซื้อหา มาคุม เป็นเรื่อง อุทลุม นอนตาย ก่ายเครื่อง รางกอง
            ธรรมะ ต่างหาก เป็นของ เป็นเครื่อง คุ้มครอง เพราะว่า เป็นพระ องค์จริง
มีธรรม ฤามี ใครยิง ไร้ธรรม ผีสิง ไม่ยิง ก็ตาย เกินตาย
            เหตุนั้น เราท่าน หญิงชาย เร่งขวน เร่งขวาย หาธรรม มาเป็น มงคล
กระทั่ง บรรลุ มรรคผล หมดตัว หมดตน พ้นจาก เกิด แก่ เจ็บ ตาย
            บริสุทธิ์ ผุดผ่อง ใจกาย อุปัทวะ ทั้งหลาย ไม่พ้อง ไม่พาน สถานใด
เหนือโลก เหนือกรรม อำไพ กิเลสา- สวะไหน ไม่อาจ ย่ำยี บีฑา ฯ {9}

อ้างอิง  
{1} ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ดูรายละเอียดได้ที่: http://www.thaiappraisal.org/Thai/contact/Default_Dr.Sopon.htm  Email: sopon@thaiappraisal.org
{2} โคลงโลกนิติ โปรดดูที่ http://www.st.ac.th/bhatips/loganit.html
{3} โปรดดูจากเว็บบอร์ดอกาลิโก http://www.agalico.com/board/showthread.php?t=15775
{4} โปรดอุดหนุนและอ่านหนังสือของมูลนิธิโกมลคีมทอง 3 เล่ม ชุดนี้ได้ที่ http://www.komol.com/autopage/show_page.php?t=1&s_id=18&d_id=18
{5} โปรดอ่านข่าวและความเห็นได้ที่ http://www.phrathai.net/node/1365 และ http://webboard.mthai.com/52/2008-07-26/402940.html
{6} พระพุทธเจ้าให้ยึดพระธรรม โปรดดูในพระไตรปิฎก http://www.84000.org/tipitaka/picture/f76.html
{7} เกี่ยวกับการสร้างพระพุทธรูป เช่น http://www.bhodhiyalaya.com/forum/viewthread.php?tid=317
{8} ดูเรื่องเกี่ยวกับองคุลีมาลได้ที่ http://www.larnbuddhism.com/ongkulymal/ongkuly05.html
{9} โปรดดูรายละเอียดได้ที่ http://watnuamkhanon.igetweb.com/index.php?mo=3&art=242669
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่