Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 755 คน
CSR ของนักวิชาชีพเป็นอย่างไร
สยามธุรกิจ วันที่ 14-17 มีนาคม 2552 หน้า 25

ดร.โสภณ พรโชคชัย *

            หลายท่านอาจจะงงว่า CSR เกี่ยวอะไรกับนักวิชาชีพ เพราะในความเข้าใจที่บิดเบี้ยวจากการสื่อสารในสังคมทำให้เข้าใจว่า การให้หรือการบริจาคคือตัวตนของ CSR ซึ่งเป็นคำย่อภาษาอังกฤษว่า Corporate Social Responsibility หรือ ความรับผิดชอบต่อสังคมของวิสาหกิจ
            อันที่จริงการให้นั้นก็คือการบำเพ็ญประโยชน์อย่างหนึ่ง แม้จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของ CSR แต่ก็เป็นเพียง “กระพี้” ไม่ใช่แก่นแท้ แก่นแท้ของ CSR ก็คือการที่วิสาหกิจปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่เอาเปรียบ ไม่ฉ้อฉลต่อทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนโดยรอบวิสาหกิจและสังคมโดยรวม ดังนั้นนักวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นในรูปบุคคลหรือวิสาหกิจก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัดตามหลักนิติรัฐหรือนิติธรรม (Rule of Law) ซึ่งถือว่าทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย
            อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตามกฎหมายโดยเคร่งครัด ไม่ได้จำกัดไว้เฉพาะนักวิชาชีพ บุคคล หรือวิสาหกิจทั้งหลายก็ต้องปฏิบัติตามนี้ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็คง “ไม่มีขื่อ ไม่มีแป” และกลายเป็น “ซ่องโจร” ไปในที่สุด และกฎหมายข้างต้นถือเป็นกฎหมายแท้ ๆ หรือเรียกว่า Hard Law

Soft Law กับ CSR
            แต่ในสังคมนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่า Soft Law หรือ “กฎหมายอย่างอ่อน” ซึ่งไม่ใช่กฎหมาย Hard Law ข้างต้น แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรรยาท มาตรฐานวิชาชีพ จรรยาบรรณธุรกิจหรืออะไรทำนองนี้ ซึ่ง Soft Law นี้เกี่ยวข้องกับวงการนักวิชาชีพโดยตรง
            ในวงวิชาชีพต่าง ๆ มี Soft Law ซึ่งสังคมทั่วไปก็เคยได้ยินอยู่บ้าง เช่น จรรยาบรรณแพทย์ มรรยาททนาย มาตรฐานบัญชี เป็นต้น ดังนั้นนักวิชาชีพที่มี CSR ก็คือนักวิชาชีพที่มีการปฏิบัติตาม Soft Law โดยเคร่งครัดจนสร้างความไว้วางใจและความเชื่อถือต่อผู้ใช้บริการและสังคมโดยรวม

ระหว่าง Soft Law กับ Hard Law
            Soft Law กับ Hard Law สัมพันธ์กันตรงไหน ทั้งสองอย่างมีจุดบรรจบกัน เช่น ในกรณีการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ในการประกอบวิชาชีพ นักวิชาชีพมักต้องมีการศึกษาหาความรู้ต่อเนื่อง โดยกำหนดไว้ว่าควรเป็นเวลากี่ชั่วโมงต่อปี จึงจะสามารถต่ออายุสมาชิกได้ นักวิชาชีพใดที่ไม่ได้ใส่ใจศึกษาก็จะไม่ได้รับการต่ออายุสมาชิกเป็นต้น
            ทำไมวิชาชีพต่าง ๆ จึงกำหนดให้นักวิชาชีพทำการศึกษาต่อเนื่อง เหตุผลก็คือการพัฒนาความรู้ความสามารถเพื่อที่จะสามารถให้บริการลูกค้าได้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ไม่ใช่ว่าพอจบสาขาวิชาที่เรียนมาในระดับปริญญาตรีเพียง 4 ปี แต่ไม่เคยทำการศึกษาต่อเนื่องเลย แล้วก็ให้บริการไปเรื่อย ๆ แบบ “พระตีระฆังไปวัน ๆ” โดยไม่พัฒนาความรู้เลยนั้น คงไม่ได้

ประชาชนเป็นศูนย์กลาง
            ทำไมจึงมีการบังคับใช้หลักนิติรัฐโดยห้ามละเมิด หรือมีการวางและบังคับใช้ Soft Law โดยเคร่งครัด เหตุผลก็คือเพื่อผู้บริโภคนั่นเอง เพราะในทางกฎหมายก็ถือว่า อำนาจเป็นของปวงชน ในทางรัฐศาสตร์ก็ถือว่า ประชาชนคือเจ้าของประเทศ หรือแม้แต่ในทางการตลาดก็ถือว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” ดังนั้นนักวิชาชีพจึงต้องให้ความสำคัญกับประชาชนเป็นอันดับแรก
            ประชาชนนี้ไม่ใช่สิ่งลอย ๆ แต่หมายถึงผู้บริโภค ลูกค้าของเรานั่นเอง หากประชาชนวางใจใช้บริการ ก็ย่อมถือเป็นมงคลต่อวิสาหกิจ การถือประชาชนเป็นที่ตั้งจึงเป็นหนทางเดียวที่จะพัฒนาธุรกิจหรือวิชาชีพให้ดีขึ้น เราจึงต้องเริ่มต้นที่ประชาชนก่อน ไม่ใช่ที่ประโยชน์ของนักวิชาชีพ หาไม่นักวิชาชีพก็คงเป็นเพียง “แกงค์” หรือ “ซ่องโจร” ไป

การควบคุมทางวิชาชีพ
            การควบคุมทางวิชาชีพ ได้แก่:
            1. การออกใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หลายท่านคงจำภาพยนตร์เรื่อง “องค์บาก” ได้ ในภาพยนตร์ดังกล่าว มีเรื่องใบอนุญาตเล่นดนตรี ซึ่งตามท้องเรื่องดูน่าขัน แต่ในความเป็นจริงนับเป็นความน่าเสียดายเป็นอย่างยิ่ง หากมีการออกใบอนุญาตในวิชาชีพต่าง ๆ ตั้งแต่สมัยนั้น วิชาชีพต่าง ๆ ก็จะมีการพัฒนา โดยทั่วไปในแต่ละวิชาชีพก็จะมีการจัดระดับ นักวิชาชีพก็จะพยายามเพิ่มพูนความรู้เพื่อการยกระดับตนเองอยู่เสมอ
            2. การควบคุมการปฏิบัติงานตามวิชาชีพ เพื่อให้นักวิชาชีพปฏิบัติงานโดยยึดถือมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพโดยเคร่งครัด หาไม่จะถูกลงโทษในสถานต่าง ๆ ตั้งแต่การตักเตือนจนถึงการยึดใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หมดทางทำมาหากินในวิชาชีพอีกต่อไป
            อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาต่าง ๆ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรควบคุมวิชาชีพ เพราะถือเป็นธุรกิจอย่างหนึ่ง ที่มีผู้ให้บริการทั่วไป เช่น สถาบันการศึกษาในระดับต่าง ๆ ทั้งหลาย หากองค์กรวิชาชีพจัดการศึกษาเสียเอง ก็เท่ากับผู้บริหารองค์กร “ทำมาหากิน” กับการจัดการศึกษา ทำให้ขาดความเป็นกลางในการควบคุมทางวิชาชีพไป

รัฐบาลต้องยื่นมือ
            ในการควบคุมวิชาชีพต่าง ๆ รัฐบาลต้องออกหน้ามาควบคุม โดยเสนอกฎหมายให้มีพระราชบัญญัติวิชาชีพต่าง ๆ และจัดตั้งสภาวิชาชีพตามกฎหมาย เช่น แพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สภาวิชาชีพบัญชี เป็นต้น ในแต่ละวงการเช่น แพทย์ อาจมีแพทยสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือมีสมาคมแพทย์เฉพาะทางต่าง ๆ มากมาย แต่เพื่อการควบคุมวิชาชีพที่เป็นกลาง จึงต้องตั้งสภาวิชาชีพ
            สมาคมวิชาชีพ ไม่สามารถเป็นผู้ควบคุมนักวิชาชีพได้ เพราะสมาคมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าปล่อยให้กรรมการสมาคมซึ่งเป็นบริษัทคู่แข่งหนึ่ง มาคอยตัดสินหรือควบคุมบริษัทคู่แข่งอื่น ก็ย่อมไม่เกิดความเป็นธรรม สมาคมวิชาชีพอาจทำหน้าที่ปกป้องผู้ประกอบวิชาชีพ จัดงานสังสรรค์ หรืออื่น ๆ อย่างสมาคมนักบัญชีและผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาตแห่งประเทศไทย แต่เดิมก็จัดการศึกษา แต่เมื่อมีสภานักบัญชี สมาคมนี้ก็ยุบเลิกไป เพราะไม่มีหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ เป็นต้น สมาคมในวิชาชีพอื่นก็อาจยังอยู่ แต่ไม่ได้ทำหน้าที่ควบคุมวิชาชีพ
            สภาวิชาชีพจะประกอบด้วยผู้แทนจากรัฐบาลซึ่ง (โดยทางทฤษฎี) ถือเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชน  นอกจากนี้ยังมีผู้แทนนักวิชาชีพ ผู้แทนผู้ใช้บริการ ผู้แทนหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น

ต้องคุมจึงมีอารยะ
            การควบคุมวิชาชีพจึงเป็นเครื่องแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ของนักวิชาชีพโดยแท้ ในสังคมไทย ยังมีนักวิชาชีพอีกมากที่รัฐบาลยังไม่ได้ควบคุม โดยเฉพาะนักวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประชาชน และอาจสร้างความเสียหายได้ในวงกว้าง เช่น ตัวแทนนายหน้า ผู้บริหารทรัพย์สิน ผู้ประเมินค่าทรัพย๋สิน เป็นต้น
            ประเทศที่ขาดการควบคุมทางวิชาชีพ ย่อมเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทุจริตและประพฤติมิชอบต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย ทำให้ปัญหาการฉ้อโกงทั้งในสังคมและการฉ้อโกงชาติเกิดขึ้นอย่างดกดื่น การควบคุมและพัฒนานักวิชาชีพย่อมทำให้นักวิชาชีพมีความเป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำโดยมิชอบ และจะเป็นการช่วยสังคมตรวจสอบความถูกต้องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี

            รัฐบาลที่ดีจึงควบให้ความสำคัญกับการพัฒนานักวิชาชีพให้รับใช้สังคมได้อย่างแท้จริง

* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ขณะนี้เป็นประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย (www.thaiappraisal.org) ผู้เขียนหนังสือ “CSR ที่แท้” ซึ่งอ่านได้ฟรีที่ http://csr-thai.blogspot.com และยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ สาขาเศรษฐกิจพอเพียง และสาขาอสังหาริมทรัพย์ และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่