Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 659 คน
รู้ให้จริงกับนิทานเรื่อง “อาจารย์กับงู”
 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 19-21 กุมภาพันธ์ 2552 หน้า 23

ดร.โสภณ พรโชคชัย *
19 มกราคม 2552

          ผมได้รับมอบหมายจาก “ฐานเศรษฐกิจ” ให้มาทำหน้าที่รับใช้ท่านผู้อ่านเดือนละครั้งเป็นเวลา 1 ปี ในคอลัมน์ที่ผมขอตั้งว่า “อย่าปิดฟ้าด้วยฝ่ามือ”
          ในบทความแรกของผมนี้ ขอนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาฝากท่านผู้อ่าน เป็นนิทานจากปากของอาม่า (คุณยาย) ของผมเองครับ ท่านเป็นชาวจีนโพ้นทะเลมาจากแผ่นดินใหญ่เมื่อปี พ.ศ.2480 ท่านเล่าให้ผมฟังตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กเลยครับ อาม่าของผมคงหวังป้อนความคิดนี้ให้ผมได้ใช้ตอนโตนั่นเอง
          บทความนี้มุ่งชี้ให้นักการตลาดได้เห็นว่า ในวงการตลาดนั้น หากเรารู้ไม่จริง เสียรู้ เราก็อาจพ่ายแพ้ได้ เราจึงควรรู้ให้จริง ให้เข้าทำนอง “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง”

          เรื่องนิทานการตลาด “อาจารย์กับงู” ก็คือ
          มีอยู่วันหนึ่งอาจารย์กับลูกศิษย์คู่หนึ่งเดินไปด้วยกันตามทาง ระหว่างทางลูกศิษย์เห็นกองอะไรดูคล้ายงูอยู่เบื้องหน้า จึงบอกอาจารย์ว่า
          “อาจารย์ครับ ข้างหน้ามีงู”
          อาจารย์ยังคงเดินอย่างมั่นคงและตอบสวนกลับมาอย่างเนิบนาบว่า
          “มิน่าล่ะ อาจารย์จึงได้ยินเสียงเลื้อยของอะไรบางอย่าง”
          ต่อมาลูกศิษย์เดินไปดูใกล้ ๆ และใช้ไม้เขี่ยดู เห็นมันไม่ไหวติง จึงรีบตะโกนมาบอกอาจารย์ว่า
          “อาจารย์ครับ งูมันตายแล้ว”
          อาจารย์ก็วางท่าหลับหูหลับตาตอบกลับมาว่า
          “มิน่าล่ะ อาจารย์ถึงได้กลิ่นอะไรเหม็น ๆ”
         และเมื่อลูกศิษย์ได้ตรวจดูอย่างละเอียดกลับพบว่าเป็นแค่เชือกขดหนึ่ง จึงบอกความจริงแก่อาจารย์อาจารย์ก็กลับตอบหน้าตาเรียบเฉยว่า
          “อาจารย์ว่าแล้วไหมล่ะว่ามันไม่น่าจะมีเรื่องเช่นนี้” และต่อว่าทำนองว่าลูกศิษย์เข้าใจผิดไปเอง

          นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การไม่มีข้อมูลที่แท้จริง แล้วกลับเดาสุ่ม ด่วนสรุป ย่อมส่งผลเสีย และไม่อาจนำเอาข้อมูลใดมาเป็นทรัพยากรประกอบการตัดสินใจที่ได้สาระประโยชน์
          อาจารย์หรือผู้รู้หลายคนมักชอบทำตัว “แสนรู้” ให้สมฐานะอยู่เสมอ ๆ แต่ความจริงอาจารย์จำนวนมาก “กร่างแต่กลวง” ไม่รู้จริง ข้อนี้สอนกันมาตั้งแต่สมัยพุทธองค์ในเรื่อง “กาลามสูตร” ที่เราต้องศึกษาให้รู้ความจริง แม้แต่อาจารย์ก็ถือเป็นบุคคลที่เราจะสักแต่ถือเป็น Reference ไม่ได้
          ถ้าเราเป็นนักวิเคราะห์ตลาดที่เชี่ยวชาญขั้นอาจารย์ บางทีก็อาจติดเหลี่ยมตัวเองด้วยประการฉะนี้ เพราะระดับอาจารย์มักชมชอบหรือกระทั่งเสพติดกับการให้คนแสดงความนับถือ ไม่ต่างจากผู้ทรงอำนาจ  บางครั้งสั่งสมพิษร้ายในตัวมากไปก็จะกลายเป็นคนที่ชอบเอาแต่ใจตัวเอง มีอัตตาสูง และขาดความคิดที่เป็นประชาธิปไตย ไม่ฟังเสียงคนส่วนใหญ่

          ในฐานะที่เราต้องสำรวจวิจัยเพื่อหาความจริงทางการตลาดประกอบการวางแผน เราต้องถือคติ “ไม่มัวยืมจมูกคนอื่นหายใจ” ต้องน้อมใจเรียนรู้ ยินดี “หลั่งเหงื่อโทรมกาย” เพื่อหาความจริงในภาคสนาม และต้องมีทักษะวิเคราะห์ที่ละเอียดรอบคอบยิ่งขึ้น หาไม่จะกลายเป็นคน “แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน”
          ดังนั้น ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ตามท้องเรื่องจะรีบด่วนสรุปอะไรไม่ได้ เราต้องอาศัยข้อมูลที่เพียงพอ โดยนัยนี้การสรุปโดยไม่มีข้อมูลเพียงพอ ย่อมมีโอกาสผิดมากกว่าถูก ย่อมไม่อาจวางแผนการดำเนินงานการตลาดที่มีประสิทธิภาพใด ๆ ได้
          ข้อสรุปส่งท้ายก็คือ การหาข้อมูลหรือความจริงนั้น ต้องดำเนินการอย่างไม่ลดละ ในระยะแรก เรายังอาจเข้าใจผิด อาจกุมสภาพความเป็นจริงไม่ได้เพราะข้อมูลยังไม่เพียงพอ ก็ไม่เป็นไร แต่เราต้องอดทนหาข้อมูลให้ได้จนมีความมั่นใจประกอบการตัดสินใจได้ ถ้ายังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอ นักการตลาดก็คงต้องหาใหม่ จะใช้ลางสังหรหรือสัญชาติญาณไม่ได้

          คำถามต่อจากข้อสรุปนี้ก็คือ แล้วถ้าเราหาข้อมูลได้ไม่เพียงพอ แต่เราจะตัดสินใจ เราต้องทำอย่างไร ในกรณีนี้เราก็ต้อง “ไปตายเอาดาบหน้า” ล่ะครับ ต้องตัดสินใจบนพื้นฐาน “To the best of our knowledge”
          เมื่อเราจำเป็นต้องเสี่ยงตัดสินใจแบบยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ เราก็ต้องกลับมาหวนคิดว่าเราจะสามารถแบกรับ (Afford) ความเสียหายหากตัดสินใจผิดพลาดได้หรือไม่ ถ้าได้ และเรายินดี “ซื้อความรู้” (ราคาแพง) เราก็ตัดสินใจไป หากตัดสินใจถูก ก็อาจได้ผลตอบแทนเกินคุ้ม หากตัดสินใจผิดพลาด เกิดความเสียหาย เราก็ยังไม่ถึงขนาด “หมดตัว”

          แต่ถ้าเรารู้สึก Afford ไม่ไหว ก็อย่าตัดสินใจ อยู่เฉย ๆ จนกว่าจะมั่นใจพอสมควรดีกว่าครับ นักการตลาดที่ดีคงไม่ใช่นักสุ่มเสี่ยง แสวงโชค หากแต่ต้องตัดสินใจบนพื้นฐานของข้อมูล

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่