Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 597 คน
อาคารชุดพักอาศัยใจกลางเมือง พ.ศ.2537-2551
วารสารธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมษายน – มิถุนายน 2551

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA <2>

          ประเด็น “สุดฮอต” ในวงการที่อยู่อาศัยของไทยก็คือ อาคารชุดใจกลางเมืองจะล้นตลาดหรือไม่ เพราะเห็นสร้างกันดกดื่นจนกระทั่งแม้แต่ผู้ประกอบการที่อยู่อาศัยประเภทอื่นยังนึก “อิจฉา” กระทั่งยอมมาสร้างอาคารชุดแข่งบ้าง หรือบ้างก็ให้สัมภาษณ์ว่าตลาดอาคารชุดกำลังจะโรยราแล้ว ตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ กำลังจะเบ่งบานขึ้นบ้างแล้ว เป็นต้น ความจริงเป็นอย่างไร?
          ในฐานะที่ทางศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA แห่ง Agency for Real Estate Affairs อันเป็นศูนย์ข้อมูลที่สำรวจข้อมูลภาคสนามมาอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องที่สุดในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2537 ได้สำรวจภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์จนถึงไตรมาสที่ 1/2551 แล้วเสร็จเมื่อกลางเดือนเมษายน 2551 จึงขอสรุปมานำเสนอ โดยเฉพาะในส่วนของอาคารชุดพักอาศัยใจกลางเมือง
          อาคารชุดใจกลางเมืองหมายถึงโครงการอาคารชุดที่เสนอขายห้องชุดที่ตั้งอยู่ในทำเล F5 (รัชดาภิเษก-ลาดพร้าว) I1 (พหลโยธินช่วงต้น) I2 (ปทุมวัน-พญาไท) I3 (สุขุมวิท-พระราม 4) และ I4 (สีลม-ยานนาวา) ทำเลเหล่านี้ก็คือบริเวณใจกลางเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กับรถไฟฟ้านั่นเอง เป็นทำเลที่ทางศูนย์ข้อมูลฯ AREA กำหนดขึ้นตามการกระจายตัวของโครงการ ไม่ใช่ดูจากแผนที่เขต-แขวง
          

ตลาดอาคารชุด 2537-2550
          ตลาดอาคารชุดพักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครนับแต่ที่ทางศูนย์ข้อมูล วิจัยและประมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA ได้ดำเนินการเก็บรวบรวมมาในช่วงปี 2537-2550 (14 ปี) นั้น พบว่า ในแต่ละปีมีการเปิดตัวขึ้นมาเป็นอย่างมากในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ พ.ศ. 2540 และเหลือสะสมมาในแต่ละปีต่อเนื่องกันในแต่ละปี ทั้งนี้โปรดดูรายละเอียดในแผนภูมิที่ 1 ซึ่งแสดงจำนวนอุปทานในแต่ละปี ซึ่งรวมทั้งที่เปิดใหม่กับที่คงค้างมาจากปีก่อน กับจำนวนหน่วยที่ยังเหลือขายอยู่ในท้องตลาดในแต่ละปี (ส่วนต่างที่เหลือคือจำนวนที่ขายได้ในแต่ละปี)
          จะสังเกตได้ว่า ในช่วงปี 2539-2545 จำนวนสินค้าที่คงค้างในตลาดมีสูงมาก โดยเฉพาะในช่วงปี 2539 – 2543 ในช่วงเวลานี้ จำนวนอุปทานคงค้างในแต่ละปี กับจำนวนที่เสนอขายในท้องตลาดมีความใกล้เคียงกันมาก ถือเป็นช่วงวิกฤติอย่างที่สุดที่จำนวนหน่วยขายยังเหลืออยู่ในตลาดเป็นจำนวนมาก จวบจนถึงปี 2543 อุปทานในตลาดจึงลดลงอย่างเด่นชัด จาก 84,229 หน่วยในปี 2542 เป็น 50,695 หน่วยในปี 2543 ทั้งนี้เพราะส่วนหนึ่งล้มเลิกโครงการไป
          อาจกล่าวได้ว่า วิกฤติตลาดที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดได้ดำเนินไปจนถึงปี 2545 ที่จำนวนอุปทานในท้องตลาดกับจำนวนที่คงค้างอยู่มีปริมาณใกล้เคียงกัน แต่นับจากปี 2546 เป็นต้นมา การดูดซับ (absorption) ของตลาดดีขึ้นมาก และในปีดังกล่าวนั้นเป็นปีที่ตลาดอาคารชุดใจกลางเมืองเริ่มเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเพราะภาวะดอกเบี้ยเงินฝากในขณะนั้นต่ำมาก เหลือเพียง 1-2% จึงทำให้มีผู้สนใจลงทุนซื้ออาคารชุดพักอาศัยที่มีศักยภาพใจกลางเมืองมาลงทุน (เก็งกำไร) และอยู่อาศัยอีกส่วนหนึ่ง
          อาจกล่าวได้ว่าแม้ในปีหลัง ๆ ที่ผ่านมาที่มีข้อวิตกว่าอาคารชุดพักอาศัยจะล้นตลาดนั้น กลับปรากฏว่าอาคารชุดขายได้ดีมาก และปริมาณคงค้างในตลาดยังมีอยู่น้อยมาก ดังนั้นจึงสามารถสรุปได้ว่า อาคารชุดยังไม่ล้นตลาดในเร็ววันนี้อย่างแน่นอน

สถานการณ์ ณ สิ้นปี 2550
          ณ ทุกกลางปีและสิ้นปีปฏิทิน ทางศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA ได้วิเคราะห์สถานการณ์ตลาด ในที่นี้ได้แยกแยะวิเคราะห์เฉพาะในกรณีอาคารชุดใจกลางเมือง ตามที่ปรากฏในตารางที่ 1
          ณ สิ้นปี 2550 พบว่า อาคารชุดใจกลางเมืองทั้งหมดมีหน่วยขายรวมกัน ทั้งโครงการใหม่และเก่าทั้งสิ้น 53,951 หน่วย สามารถขายได้ 45,305 หน่วย หรือ 84% อาจกล่าวได้ว่าแทบทุกระดับราคาสามารถทำยอดขายได้ใกล้เคียงกันคือระหว่าง 73-87% ณ สิ้นปี 2550 เหลือหน่วยขายอยู่ในตลาดเพียง 8,646 หน่วย โดย ณ ครึ่งหลังของปี 2550 ขายได้ประมาณ 18,461 หน่วย นับว่าสามารถขายได้ดีมาก
          ในทุกพื้นที่ ทั้งรัชดา-ลาดพร้าว-พหลโยธิน เพลินจิต-สุขุมวิท-สีลม รวมทั้งสีลม-พระราม 3 สามารถขายได้เหลือเพียงไม่ถึง 15% เท่านั้น ปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าสินค้าประเภทอาคารชุดพักอาศัย สามารถขายดีมากโดยเฉพาะในเขตใจกลางเมืองในช่วงปี 2550 ที่ผ่านมา และไม่มีปรากฏการณ์ใด ๆ ที่แสดงว่าตลาดที่อยู่อาศัยอยู่ในขั้นวิกฤติจนต้องเยียวยาแต่อย่างใด
          

สถานการณ์ไตรมาส 1/2551
          ในช่วงไตรมาส 1/2551 มีโครงการอสังหาริมทรัพย์เปิดตัวใหม่ทั้งสิ้น 71 โครงการ จำนวน 18,705 หน่วย รวมมูลค่า 51,651 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ย 2.761 โดยในจำนวนนี้เป็นที่อยู่อาศัย 67 โครงการ จำนวน 18,039 หน่วย รวมมูลค่า 46,348 ล้านบาท หรือราคาเฉลี่ย 2.569 ล้านบาท
          หากเทียบกับช่วงไตรมาส 1 ของปีก่อนหน้า (พ.ศ. 2550) จะพบว่า จำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดลดลงไปถึง 28% จำนวนหน่วยลดลง 9% อย่างไรก็ตามมูลค่ากับเพิ่มขึ้น 10% และหากพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย พบว่าโครงการที่อยู่อาศัยลดลงไปถึง 29% จำนวนหน่วยลดลง 11% อย่างไรก็ตามมูลค่ากับเพิ่มขึ้น 6%
          อาจกล่าวได้ว่า แม้จำนวนโครงการจะลดลง แต่ขนาดโครงการโดยเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัยกลับเพิ่มขึ้นจาก 217 หน่วยต่อโครงการเป็น 269 หน่วยต่อโครงการ และในไตรมาส 1/2551 นี้ ที่ราคาเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นแสดงให้เห็นว่าการสร้างบ้านราคาถูก ๆ ในท้องตลาดคงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง ทั้งนี้ส่วนหนึ่งอยู่ที่วัสดุก่อสร้างแพงขึ้นนั่นเอง
          เมื่อนำตัวเลขไตรมาส 1/2551 มาคาดการณ์อนาคตถึงภาวะตลาดทั้งปี 2551 นั้น คาดว่าในปี 2551 ทั้งนี้ จะมีโครงการอสังหาริมทรัพย์เกิดใหม่ทั้งสิ้น 284 โครงการ จำนวน 74,820 หน่วย รวมมูลค่า 206,603 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นที่อยู่อาศัย 268 โครงการ จำนวน 72,156 หน่วย รวมมูลค่า 185,039 ล้านบาท
          หากเทียบกับช่วง ปี 2550 จะพบว่า จำนวนโครงการอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในปีนี้ น่าจะลดลงไปถึง 24% จำนวนหน่วยลดลง 11% มูลค่าแทบจะไม่ลด โดยลดไปเพียง 1% เท่านั้น และหากพิจารณาเฉพาะโครงการที่อยู่อาศัย พบว่าโครงการที่อยู่อาศัยในปี 2551 เทียบกับปี 2550 น่าจะลดลงลดลงไปถึง 25% จำนวนหน่วยลดลง 11% และมูลค่าลงลงไปเพียง 1% เท่านั้น
          โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่า ขนาดตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เปิดตัวใหม่ในปี 2551 แทบไม่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2550 อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์อย่างต่อเนื่อง ก็มีโอกาสที่ภาคธุรกิจนี้จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวแปรที่ผันแปรไปตามภาวะเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองเป็นสำคัญ
          อาจกล่าวได้ว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไตรมาส 1/2551 ก็ยังมีกิจกรรมต่อเนื่อง และมีขนาดตลาดใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ไม่ได้มีภาวะตกต่ำจนรัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามหากรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเพิ่มเติมอีก ก็อาจส่งผลให้เกิดการซื้อขายและนำเสนอสินค้าออกมาสู่ท้องตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ตามภาวะที่จะล้นตลาดก็คงยังไม่เกิดขึ้นแต่อย่างใด สำหรับปัจจัยลบได้แก่ ปัญหาเงินเฟ้ออันเกิดขึ้นจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าทำให้ความสามารถในการซื้อของประชาชนลดลง นอกจากนี้ปัญหาความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศ อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ อาจทำให้เกิดการชลอตัวได้

อาคารชุดพักอาศัยใจกลางเมืองไตรมาส 1/2551
          ในช่วงไตรมาส 1/2551 มีอาคารชุดในเขตใจกลางเมืองเกิดขึ้น 4,482 หน่วย หรือประมาณ 25% ของอุปทานที่อยู่อาศัยทั้งหมดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมมูลค่า 17,686 ล้านบาท หรือประมาณ 38% ของมูลค่าโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด โดยกลุ่มใหญ่ที่สุดนำเสนอขายห้องชุดที่มีราคาประมาณ 3-5 ล้านบาท 1,348 หน่วย รองลงมาเป็นราคา 2-3 ล้านบาท จำนวน 1,044 หน่วย ที่มีราคาขายต่ำกว่า 1 ล้านบาท และเกินกว่า 10 ล้านบาท มีจำนวนน้อยมาก คือเป็นเพียงประมาณกลุ่มละ 5% ของอุปทานอาคารชุดใจกลางเมืองเท่านั้น โดยเฉลี่ยแล้วห้องชุดในเขตใจกลางเมืองเสนอขายในราคา 3.95 ล้านบาทต่อหน่วย
          ในช่วงเดือนที่เปิดตัวปรากฏว่าขายได้ประมาณ 28% ของหน่วยขายห้องชุด ซึ่งแสดงถึงการกระตุ้นยอดขายเป็นอย่างมากในช่วงแรก สินค้ากลุ่มนี้ขายได้ดีพอสมควรโดยเฉพาะเมื่อเทียบที่อยู่อาศัยประเภทอื่น อย่างไรก็ตามห้องชุดราคาต่ำกว่า 2 ล้านบาท กลับขายได้ในสัดส่วนที่น้อยกว่า ทั้งนี้คงเป็นเพราะคุณภาพและทำเลที่ไม่ได้ตั้งอยู่ใกล้รถไฟฟ้าจริง (ต้องใช้พาหนะอื่นต่อออกไปอีก)
          หากพิจารณาเป็นรายทำเลจะพบว่า ทำเล F5 (รัชดาภิเษก-ลาดพร้าว) เป็นทำเลที่มีการเสนอขายในราคาค่อนข้างต่ำ คือ 1.58 ล้านบาทต่อห้องชุดหนึ่งหน่วย ซึ่งเป็นเพราะตั้งอยู่ห่างไกลจากรถไฟฟ้า สินค้าส่วนใหญ่จึงขายในราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท และการขายค่อนข้างช้า
          I1 (พหลโยธินช่วงต้น) เป็นทำเลที่ราคาขยับสูงขึ้น เนื่องจากใกล้เมืองมากขึ้น ราคาเฉลี่ยเป็นเงิน 2.7 ล้านบาท อัตราการขายในช่วงเดือนแรกที่เปิดตัว มีมากเกินกว่า 20% ซึ่งถือได้ว่าขายได้ดีพอสมควร ส่วนที่ถือว่าอยู่ใจกลางเมืองหรือเขต Central Business District (CBD) โดยตรง ได้แก่ ทำเล I2 (ปทุมวัน-พญาไท) ปรากฏว่าราคาเฉลี่ยยิ่งสูงขึ้นเป็น 3.76 ล้านบาท โดยส่วนมากขายในราคาเกินกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป และขายได้ 31%
          ทำเล I3 (สุขุมวิท-พระราม 4) ถือเป็นย่านที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้สูงใจกลางเมือง โดยกลุ่มนี้สร้างห้องชุดขายในราคาหน่วยละ 8.07 ล้านบาท สถานการณ์การขายในทำเลนี้นับว่าดีที่สุด คือขายได้ประมาณ 53% เฉพาะในเดือนแรกที่เปิดตัว
          และสุดท้าย ทำเล I4 (สีลม-ยานนาวา) อันเป็นย่านธุรกิจและที่พักอาศัยราคาแพง มีการเสนอขายในราคา 6.87 ล้านบาท ซึ่งถือว่าราคาสูงมากเช่นกัน และสัดส่วนการขายก็ขายได้ดี คือประมาณ 33% ในช่วงเดือนแรกที่เปิดตัว
          จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลฯ AREA พบว่า ในช่วงไตรมาส 1/2551 นี้ อสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ขายได้ในสัดส่วนประมาณ 22% ของหน่วยขายที่เปิดตัวทั้งหมด ดังนั้นในกรณีอาคารชุดใจกลางเมืองนี้ จึงถือว่าขายได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป เป็นทรัพย์สินที่มีโอกาสดีกว่าทรัพย์สินประเภทอื่น
          
แผนที่ 1: โครงการที่อยู่อาศัยที่เกิดขึ้นในไตรมาส 1/2551 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

          
หมายเหตุ สามเหลี่ยม = โครงการอาคารชุดพักอาศัย   วงกลม = โครงการที่อยู่อาศัยทั่วไป
ที่มา: ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA (www.area.co.th)

อนาคตอาคารชุดกับรถไฟฟ้า
          การที่โครงการอาคารชุดใจกลางเมืองขายดีนั้น เป็นเพราะการสร้างอยู่ในแนวรถไฟฟ้าเป็นสำคัญ รัฐบาลในชุดปัจจุบันก็มาพร้อมกับความหวังใหม่เรื่องรถไฟฟ้า ทำให้หลายคนฝันหวานถึงการปลดปล่อยตนเองจากปัญหารถติดที่หนักหน่วงขึ้นทุกวัน และทำให้เกิดโอกาสดี ๆ แก่ทุกคน ทั้งนักพัฒนาที่ดิน ผู้ซื้อบ้าน หรือชาวบ้านทั่วไป แต่มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเกิดฝันสลายแม้อนาคตอาจมีรถไฟฟ้าก็ตาม
          ที่ผู้เกี่ยวข้องในวงการอสังหาริมทรัพย์อาจผิดหวังก็เป็นเพราะการสร้างทางรถไฟฟ้าไปชานเมืองห่างไกลนั้น ปัญหาหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ค่ารถไฟฟ้าคงแพงมาก ในปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสั้น ๆ ของเรา 2 สาย ค่าโดยสารยังสูงประมาณ 40 บาท ถ้าออกไปถึงบางใหญ่ ไปลำลูกกา ค่าโดยสารจะไม่สูงถึง 100 บาทหรือ?
          ชาวบ้านทั่วไปจะนั่งรถไฟฟ้าไปกลับวันละ 200 บาท แถมยังอาจต้องต่อรถ หรือรถจักรยานยนต์รับจ้างอีก 20-30 บาท ชาวบ้านจะแบกรับภาระได้อย่างไร นี่เป็นปัญหาที่เราต้องคิดทบทวนตรงนี้ ก่อนที่เราจะตามกระแสตัดสินใจไปซื้อบ้านตามทางรถไฟฟ้าชานเมือง ค่ารถไฟฟ้า 15 บาทตลอดสายที่เคยมีพรรคการเมืองแห่งหนึ่งหาเสียงนั้น คงเป็นไปไม่ได้ รถประจำทางโดยเฉพาะรถปรับอากาศ ยังเก็บค่าบริการสูงกว่านี้
          ถ้าเป็นปลายทางด่วน ชาวบ้านทั่วไปยังพอไปอยู่ได้ เพราะมีรถประจำทางหรือมีรถตู้รับส่ง ค่าโดยสารก็ยังไม่แพงมากนัก แต่กรณีรถไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายย่อมสูงกว่ามาก ข้อเท็จจริงนี้เราอาจไม่ทันฉุกคิด ทางราชการก็มักไม่แถลงให้ชัดเจน อย่างเมื่อครั้งแถลงข่าวรถไฟฟ้าไปสนามบินสุวรรณภูมิ ก็มีแต่คำแถลงด้านการเดินรถ ไม่มีการแถลงเรื่องค่าโดยสารแต่อย่างใด
          ความจริงแล้ว ค่าโดยสารรถไฟฟ้าในนครนิวยอร์กก็พอ ๆ กับในกรุงเทพมหานคร แต่โดยที่ค่าครองชีพที่นั่นแพงกว่า 5 เท่า ค่าโดยสารนี้จึงถือว่าถูกมาก ที่ญี่ปุ่นหรือประเทศในยุโรปก็คล้ายกัน ทั้งนี้เพราะรัฐบาลให้การอุดหนุน แต่กรณีของไทยหรือมาเลเซียรัฐบาลแทบไม่ได้อุดหนุนเลย ค่าโดยสารจึงสูง รถไฟฟ้าที่มาเลเซียก็ขาดทุนจนรัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ
          ผู้ที่คิดจะซื้อบ้านหรือทำโครงการจัดสรรตามกระแสรถไฟฟ้าชานเมืองจึงต้องคิดให้ดี ถ้าเราลงทุนซื้อไปแล้วแต่สู้ภาระค่าเดินทางไม่ไหว เพื่อนบ้านก็ไม่ย้ายเข้าอยู่ หรือบางคนก็ย้ายออก อยู่ต่อไปไม่ไหว หมู่บ้านที่เราอยู่หรือซื้อไว้ก็คงเสื่อมโทรมลงตามลำดับ มูลค่าก็อาจหดหายลงไปก็ได้
          อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ซื้อบ้านกัดฟันซื้อห้องชุดหรือที่อยู่อาศัยแบบอื่นตามแนวรถไฟฟ้าใกล้ตัวเมือง เราก็อาจหลีกเลี่ยงปัญหานี้ได้ การซื้อบ้านในทำเลดีอาจมีราคาแพงกว่าแต่ก็คุ้มค่ากว่า ทำให้ราคาห้องชุดใจกลางเมืองทั้งที่เป็นโครงการใหม่และบ้านมือสองต่างเพิ่มค่าสูงขึ้นเป็นระยะ ๆ การมีรถไฟฟ้าย่อมดีกว่าไม่มี แต่ในการเลือกซื้อบ้าน ผู้ซื้อบ้านต้องพิจารณาให้ดี อย่าหลงเชื่อตามกระแสโหมโฆษณาด้านเดียว เราต้องพิจารณาซื้อบ้านอย่างรอบรู้ จึงจะไม่ผิดหวัง

ทิศทางข้างหน้า
          โอกาสการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะประเภทโครงการอาคารชุดใจกลางเมืองตามแนวรถไฟฟ้า ยังมีโอกาสดี แต่ต้องอยู่ในระยะที่สามารถเดินทางได้สะดวก เช่น ห่างจากสถานีไม่เกิน 500 เมตร เป็นต้น ในอนาคตมูลค่าของห้องชุดก็อาจเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้เพราะตามผังเมืองและข้อกำหนดการใช้ที่ดินในปัจจุบัน โอกาสที่จะสร้างอาคารชุดโดยเฉพาะอาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษใจกลางเมืองยิ่งมีจำกัดลง
          โดยนัยนี้ที่อยู่อาศัยแบบอื่นจะเกิดขึ้นและเติบใหญ่ในอนาคตได้ก็ต่อเมื่อมีโครงการทางด่วนไปสู่ชานเมืองเป็นสำคัญ หาไม่แล้ว ในอนาคตที่อยู่อาศัยมาตรฐานของประชากรในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล คงมีแต่อาคารชุดเป็นสำคัญ

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และ ASEAN Association for Planning and Housing และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

Agency for Real Estate Affairs (AREA) เป็นวิสาหกิจของคนไทยที่เป็นศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่ให้บริการทั่วราชอาณาจักรและเอเซียอาคเนย์ สำหรับในด้านข้อมูลถือเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีข้อมูลภาคสนามที่ใหญ่และปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย AREA ได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น และรางวัลเศรษฐกิจพอเพียงจากสำนักงาน กพร. สำนักนายกรัฐมนตรี โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.area.co.th

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่