Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 702 คน
CEO อย่างคุณ รู้ค่าข้อมูลจริง?
กรุงเทพธุรกิจ 30 เมษายน 2551 หน้า 34

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการบริหาร Agency for Real Estate Affairs (AREA) <2>

          ใคร ๆ ก็มักพูดว่า เราต้องมีข้อมูลประกอบการทำธุรกิจ แต่ผมเชื่อว่า CEO มากหลายที่ไม่ได้บริหารด้วยข้อมูล แต่ใช้อารมณ์ ลางสังหรณ์ ทิฐิหรือกระทั่งไสยศาสตร์ ทำให้ความล้มเหลวเกิดขึ้นอย่างไม่น่าผิดพลาด ไม่น่าให้อภัย ส่งผลต่อองค์กร ครอบครัว คู่ค้า วงการธุรกิจตลอดจนเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

เชื่อสิ่งผิด ๆ
          การตัดสินใจโดยขาดข้อมูลเป็นความหายนะ เว้นแต่เรามีฐานะเพียงพอที่จะเสี่ยง จะลองเพื่อซื้อความรู้ ผมจำได้ว่าในยุคเศรษฐกิจกำลังรุ่งเรือง ชาวบ้านซื้อบ้านกันโดยประมาท ไม่ได้ตรวจสอบเลยว่าเอกสารสิทธิถูกต้องไหม โครงการมีทางออกสาธารณะจริงไหม สัญญาถูกเอาเปรียบไหม ราคาที่ซื้อเหมาะสมหรือไม่ ทำให้หลายคนซื้อบ้านแต่ท้ายสุดได้เพียงกระดาษใบสัญญา หรือได้แค่เสาบ้านที่ยังสร้างไม่เสร็จ
          บางคนเชื่อโชคราง ไสยศาสตร์หรืองมงายกับฮวงจุ้ย คนจีนส่วนมากแม้เชื่อเรื่อง “ฮวงจุ้ย” แต่ก็มีข้อพึงสังวรเพื่อป้องกันไม่ให้งมงาย ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “เอ๊กเต็ก หยี่เห็ง ซาฮวงจุ้ย” (สำนวนจีนแต้จิ๋ว) ซึ่งเป็นคติเตือนใจว่า ความสำเร็จของคนเรานั้นขึ้นอยู่กับ 1. เต็ก 2.เห็ง และ 3.ฮวงจุ้ย โดยทั่วไป “เต็ก” และ “เห็ง” มักใช้คู่กัน หมายถึง คุณธรรมน้ำใจ และกรรมดีที่ประกอบออกมา การเรียงลำดับ 1, 2 และ 3 นี้ เพื่อให้ผู้คนได้ตระหนักว่า “ฮวงจุ้ย” นั้นมาอันดับสาม ไม่ใช่อันดับหนึ่ง ไม่ใช่อันดับสอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้คนงมงาย ฝักใฝ่ในการเชื่อ "ฮวงจุ้ย" แต่ให้ยกย่องคุณธรรม-น้ำใจของคนเรามากกว่า

มี “กู” ไว้ ไม่ผิดพลาด
          “กู” ในที่นี้ ไม่ใช่หลวงพ่อที่ไหน แต่คือ “ข้อมูล” อย่างที่เขาว่า “รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง” การมีข้อมูลที่ดี จะช่วยให้การติดสินใจไม่ผิดพลาด ทุกคนต้องหาข้อมูล ถ้าเราเป็นเจ้าของโครงการแล้วไม่หาข้อมูล ตั้งราคาส่งเดช ก็คง “ประสบเภทภัยมากกว่าวาสนา” (ตามสำนวนกำลังภายในจีน)
          ใคร ๆ ก็รู้ว่าข้อมูลมีความสำคัญ ใคร ๆ ก็พูดให้ดูเท่ ๆ ได้ แต่ความจริงหลายคนก็ไม่ยอมจ่ายเพื่อการได้ข้อมูล แต่กลับใช้ความจัดเจน การคาดเดาส่งเดช หรือติดตระหนี่ เข้าทำนอง “ฆ่าควายเสียดายเกลือ”  เป็นต้น  บางคนสนใจข้อมูลเหมือนกัน แต่เป็นแบบ “จอมปลอม” คือ เป็นพวกทำมาดเท่เป็น “นักวิชาการ” ชอบสวมอาภรณ์ของผู้รู้เพื่อให้ตนดูขลัง แต่ความจริงไม่ได้ใส่ใจในข้อมูล หรือเห็นคุณค่าของข้อมูลเพื่อการวางแผนจริง คนเหล่านี้จำนวนมากที่ไม่มีเวลาที่จะอ่านหรือฟังรายงานให้ได้ศัพท์ด้วยซ้ำไป
          ส่วนที่ว่า “ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด” นั้นไม่จริง เพราะถ้ามีความรู้จริง เอาตัวรอดแน่ แต่ที่ผ่าน ๆ มา เราไม่รู้จริง แต่แสร้งว่ารู้ ตัดสินใจไปตามการคาดเดา ทำโครงการโดยอาศัยลางสังหรณ์ จึง “เจ๊ง” ต่างหาก

ข้อมูลที่ดี.. มาจากการทำซ้ำ
          การไปหาข้อมูลเช่น ยอดขายในโครงการหนึ่งเพียงครั้งเดียวนั้น อาจผิดพลาดได้ ข้อมูลอาจไม่จริง แต่ถ้าเราไปซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็จะได้ความจริง บางทีอาจรู้ข้อมูลมากกว่าเจ้าของโครงการที่เป็นมือสมัครเล่น รู้มากกว่าหัวหน้าเซลล์ ที่ไม่ค่อยเข้าสำนักงานขาย หรือมากกว่าพนักงานขายที่เพิ่งเข้าใหม่เสียอีก
          การได้ความจริงนั้น จึงไม่ใช่การประกอบอาชญากรรม เช่น ไปพ่วงแฟกซ์ ไปเจาะเว็บไซต์คู่แข่ง หรือส่งสายลับไปหาข้อมูลที่ไม่เปิดเผย เราเพียงต้องการข้อมูลในระดับที่ผู้ซื้อบ้านพึงมีสิทธิรู้เท่านั้น แล้วนำข้อมูลมาประมวลเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่ถูกต้องประกอบการตัดสินใจที่สอดคล้องกับความเป็นจริง ผู้ประกอบกิจการทั้งหลายในทุกวงการก็ต้องพยายามเข้าใจสถานการณ์ตลาด (หั่งเช้ง) ให้ได้ จึงต้องทำการวิจัยตลาดนั่นเอง

เหนือข้อมูลคือการวินิจฉัย
          ถ้าเรามีข้อมูลแล้ว ยังตัดสินใจไม่ได้ เราต้องมีสมมติฐานไว้ก่อนเลยว่า เรายังมีข้อมูลไม่เพียงพอ ยังพิสูจน์ทราบอะไรบางอย่างไม่ชัดเจน เพราะสัจธรรมก็คือ ถ้ามีข้อมูลที่ดีและเพียงพอแล้ว เราใช้ตัดสินใจได้แน่นอน ดังนั้นในระหว่างขั้นตอนการหาข้อมูลจนถึงจะนำไปใช้นั้น เราต้อง “วินิจฉัย” ข้อมูลเสียก่อน ดูว่าข้อมูลไหนจริงหรือเท็จ ข้อมูลไหนยังขาดหรือเกินบ้าง
          วงจรแห่งความสำเร็จของงานชิ้นหนึ่ง ๆ จึงเริ่มต้นที่ข้อมูลและจบลงที่การประเมินผล ตามขั้นตอนที่ว่า หาข้อมูล (fact finding) วินิจฉัย (diagnosis) วิเคราะห์ (analysis) ดำเนินการ (action) ติดตามผล (follow up) และประเมินผล (evaluation) ก่อนที่จะเริ่ม fact finding ในรอบใหม่

ข้อมูลแสดงความมีอารยธรรม
          ถ้าหากทุกฝ่ายตระหนักถึงความสำคัญของข้อมูล การทำธุรกิจก็จะประสบความสำเร็จ ยกตัวอย่างในวงการตลาดอสังหาริมทรัพย์ การมีข้อมูลย่อมแสดงถึงการมีวุฒิภาวะมากขึ้น โดย:
          1. นักพัฒนาที่ดินก็รู้จักลงทุนศึกษาตลาดจริง ๆ เพื่อที่จะสร้างบ้านให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
          2. ผู้บริโภคก็รู้จักใช้ข้อมูล ลงทุนประเมินค่าทรัพย์สินที่จะซื้อ ออกแรงสำรวจโครงการต่าง ๆ ให้ได้ข้อมูลเพียงพอก่อนการตัดสินใจซื้อ
          3. สถาบันการเงิน ก็ใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจอำนวยสินเชื่อมากกว่าใช้ “เส้นสาย” หรือ “ใต้โต๊ะ” และ
          4. หน่วยราชการก็ใช้ข้อมูลเพื่อการเตือนภัยทางเศรษฐกิจและกำหนดมาตรการที่เหมาะสมทันการณ์หากวิกฤติเศรษฐกิจมาเยือน

คุณเป็น CEO แท้หรือไม่
          การลงทุนจัดทำข้อมูลและใช้ข้อมูลอย่างเหมาะสมนี้ จึงเป็นการแสดงออกซึ่งความมีอารยะธรรมที่เพียงพอในสังคม ที่การตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ นั้น ไม่ได้ใช้เฉพาะความเชื่อในตนเองหรือความเชื่อทางไสยศาสตร์เท่านั้น ความมีอารยะยังแสดงออกจากความโปร่งใสของการเปิดเผยและใช้ข้อมูลต่าง ๆ อย่างเพียงพอด้วย นอกจากนี้ยังรวมถึงการมีธรรมาภิบาลที่ดีในการบริหารและการจัดการยุคใหม่มีข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่ง และถึงแม้ไม่ใช่อันดับหนึ่งแต่ก็เป็นอันดับแรก

          การตระหนักถึงคุณค่าและรู้จักใช้ข้อมูลจึงเป็นอีกหนึ่งตัววัดว่า คุณเป็น CEO ของแท้หรือไม่

อ้างอิง
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าสาขาจรรยาบรรณ ที่ปรึกษาหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และ ASEAN Association for Planning and Housing และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

Agency for Real Estate Affairs (AREA) เป็นวิสาหกิจของคนไทยที่เป็นศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าทรัพย์สินที่ให้บริการทั่วราชอาณาจักรและเอเซียอาคเนย์ สำหรับในด้านข้อมูลถือเป็นศูนย์ข้อมูลที่มีข้อมูลภาคสนามที่ใหญ่และปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.area.co.th

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่