Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 2,925 คน
คนจนในไทยมีเพียง 10%

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          คนจนคือชนกลุ่มน้อยนิดในประเทศไทย! จากข้อมูลของ CIA ระบุว่าประเทศไทยมีคนจนอยู่เพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ <3> แล้วทำไมบางคนยังเข้าใจว่าคนไทยส่วนใหญ่ยากจนอยู่อีก เมื่อเร็ว ๆ นี้ ตอนคุณรสนา โตสิตระกูลในฐานะนักการเมืองรุ่นใหม่ ตอบโต้กับคุณปลื้ม ก็ยังอ้างว่าประชาชนไทย 70% ยากจน <4> เรามี “คนยากจน” หรือ “คนอยากจน” จำนวนมากกันแน่ คนที่มักวาดภาพว่าคนไทยส่วนใหญ่ยากจนนั้นเป็นเพราะความเข้าใจผิดหรือมีวาระซ่อนเร้นอะไร เรามักชอบเอาคนจนหรือความจนมาอ้างหรือไม่

ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
          ข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งที่เชื่อถือได้ต่างระบุสอดคล้องกันว่าประชากรไทยที่ยากจนคืออยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนมีเพียง 9-10% โดยประมาณ แม้แต่เมื่อปี 2505 ประชากรไทยที่ถือว่ายากจนก็มีเพียงครึ่งหนึ่ง (57%) ไม่ใช่ 70% เช่นที่เข้าใจกัน และหลังจากนั้นประชากรที่ยากจนก็เป็นคนส่วนน้อยมาโดยตลอด

          จากชุดข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) ระบุว่า ณ ปี 2549 จำนวนคนจนลดเหลือ 9.6% ของคนไทยทั้งประเทศ หรือ 6.1 ล้านคนจาก 63.4 ล้านคน ช่องว่างความยากจนก็ลดลง ความรุนแรงของปัญหาความยากจนก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในการลงทะเบียนคนจนในสมัยรัฐบาลทักษิณปรากฏว่ามีผู้ลงทะเบียนถึง 8,258,435 คนหรือ 13.2% <5> ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรวม “คนอยากจน” เข้าไว้ด้วย แต่ก็ยังถือว่าคนเหล่านี้เป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย
          สำหรับรายละเอียดรายได้ต่อหัวของสภาพัฒน์ฯ พบว่า เส้นความยากจนในเขตกรุงเทพมหานครอยู่ที่รายได้ 2,020 บาทต่อหัวต่อเดือน หมายความว่าในครอบครัวที่หัวหน้าครอบครัวมีรายได้ประมาณ 8,000 บาทต่อเดือน หากต้องเลี้ยงคู่ครองที่ไม่มีรายได้และลูกอีก 2 คน ถือว่าเป็นคนยากจน แต่ถ้าเป็นในชนบทภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นความยากจนอยู่ที่ 1,215 บาท ที่กำหนดไว้ต่ำกว่าก็เพราะค่าครองชีพถูกกว่าและชาวชนบทยังสามารถหาผักปลาจากแหล่งธรรมชาติโดยไม่ต้องใช้เงินอีกด้วย

ประเทศไทยดีขึ้นกว่าแต่ก่อน
          ที่ว่าคนไทยที่ยากจนมีเพียง 10% นั้น ไม่ใช่ไปตีความแบบศรีธนญชัยว่า 90% เป็นคนรวย นอกจากคนยากจนแล้ว ยังมี “คนเกือบจน” คือผู้ที่มีรายได้สูงกว่าเส้นความยากจนไม่เกิน 20% อีก 8.2% แสดงว่าประชากรส่วนใหญ่ของไทยมากกว่า 80% ไม่ใช่คนยากจนอย่างแน่นอน และในอีกด้านหนึ่งประเทศไทยมี “คนจนค่นแค้น” หรือมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนเกินกว่า 20% เหมือนกัน แต่มีเพียง 3.8% เท่านั้น <6>
          การที่ประเทศไทยมีคนจนน้อยลงอย่างเด่นชัดก็เพราะได้พัฒนาจากประเทศเกษตรกรรมเป็นประเทศอุตสาหกรรมแล้ว <7> ในปี 2494 ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ถึง 38% มาจากภาคเกษตรกรรม แต่ในปี 2548 เหลือเพียง 10% ในขณะที่ GDP ภาคอุตสาหกรรมเติบโตจาก 14% เป็น 38% ในช่วงเวลาเดียวกัน สินค้าออกสำคัญในอดีตคือข้าว ยางพารา ไม้สัก แต่ทุกวันนี้ได้แก่ ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เสื้อผ้า รถยนต์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามประชากรไทยส่วนใหญ่ยังอยู่ในชนบท ซึ่งต่างจากประเทศที่จนกว่าไทย เช่น ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง ทั้งนี้มีเหตุผลที่ผู้คนมักไม่ทราบก็คือ ประเทศเหล่านี้เป็นประเทศเกาะ ประชากรจึงมักต้องอยู่ในเขตเมืองท่า แต่ประเทศไทยมีผืนดินติดต่อกันเป็นป่าไม้อันอุดม จึงมีการบุกรุกถากถางป่ากันมากมาย ประมาณว่าหมู่บ้านชนบท 70,000 หมู่บ้าน ครึ่งหนึ่งเกิดเมื่อ 50 ปีหลังนี้เอง <8>
          เมื่อ 50 ปีก่อน แอปเปิล 1 ผลราคา 5 บาท แต่ค่าแรงขั้นต่ำวันละ 10 บาท ครัวเรือนใดมีโอกาสรับประทานทุเรียนหรือมีโทรทัศน์ถือว่าเป็นผู้มีฐานะ แต่เดี๋ยวนี้คนไทยมีกินมีใช้ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน อัตราการฆ่าตัวตายที่หลายคนคิดว่าเพิ่มขึ้นก็กลับลดลง และอยู่ในอัตราต่ำกว่าประเทศส่วนใหญ่ในโลกเสียอีก โดยในปี 2549 มีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จประมาณ 5.7 ต่อประชากรหนึ่งแสนคน เป็นตัวเลขที่ลดลงจากปี 2548 ที่ 6.3 คน ปี 2547 ที่ 6.9 คน และปี 2546 ที่ 7.1 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน และหากเปรียบเทียบกับทั่วโลก อัตราการฆ่าตัวตายของไทยจัดอยู่อันดับที่ 72 จาก 100 ประเทศ <9>

การวิเคราะห์เปรียบเทียบ
          ในภูมิภาคอาเซียน ประเทศที่ถือว่าไม่มีคนยากจนก็คือบรูไนและสิงคโปร์ ส่วนมาเลเซียดีกว่าไทยคือมีคนยากจนเพียง 5.1% สำหรับประเทศที่มีคนยากจนถึงหนึ่งในสามก็คือกัมพูชา พม่า ลาวและฟิลิปปินส์ ในกรณีประเทศเวียดนามซึ่งเพิ่งสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2550 พบว่ามีคนยากจนเพียง 14.8% ดังนั้นถ้าใครจะคิดว่าไทยมีคนจนมากกว่าเวียดนามก็คงต้องคิดใหม่ หรือถ้าคิดว่าคนไทยยากจนเป็นส่วนใหญ่ก็คงเข้าใจว่าเราแย่กว่ากัมพูชาหรือพม่าเสียอีก

          สำหรับกรณีชุมชนแออัดในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยของคนยากจนเป็นส่วนใหญ่ เพราะสภาพัฒน์ฯ ระบุว่า คนยากจนในกรุงเทพมหานครมีไม่ถึง 1% เท่านั้น หรือต่ำกว่าหนึ่งในร้อย ดังนั้นหากพบใครในกรุงเทพมหานครบอกว่าตนเองยากจน แสดงว่าเขาพูดเล่น โกหกหรือพูดโดยไม่รู้ตัว นอกจากนี้จากการสำรวจยังพบว่า ในชุมชนแออัด ยังมีมือถือ โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า กันเป็นส่วนใหญ่และมีจำนวนมากกว่า 1 หน่วยในครัวเรือนหนึ่งอีกด้วย <10>

ผลร้ายของความคลาดเคลื่อน
          การมีข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง จะสร้างวิสัยทัศน์ที่สร้างสรรค์ได้อย่างไร ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักบริหารทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ก็ควรมีข้อมูลและความเชื่อที่ถูกต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง การจงใจทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อนย่อมก่อความเสียหาย เช่น การที่ NGO บางแห่งเคยให้ข้อมูลที่เป็นเท็จอย่างร้ายแรงว่า ประเทศไทยมีโสเภณี 2 ล้านคน ทำให้พจนานุกรมลองแมน เคยให้คำจำกัดความของกรุงเทพมหานครว่าเป็นนครแห่งโสเภณีในปี 2536 <11> จะสังเกตได้ว่านักเคลื่อนไหวทางสังคมมักพยายามโฆษณาว่าปัญหาที่ตนเกี่ยวข้องอยู่มีขนาดใหญ่ ด้วยหวังให้สังคมให้ความสนใจ และให้ความช่วยเหลือ แต่น่าเสียดายที่ทุกคนก็ใช้วิธีเดียวกันจนเฝือ สังคมเลย “มึน” และกลับคิดว่าปัญหาทั้งหลายนั้นสุดแก้ไข กลายเป็นปัญหาโลกแตกไป
          รัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา ก็ได้รับข้อมูลเท็จจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ชุมชนแออัดซึ่งเข้าใจว่าเป็นที่อยู่อาศัยของคนจนมีจำนวนมหาศาล โดยระบุว่าในประเทศไทยมีการบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว <12> จนเกิดโครงการ “บ้านเอื้ออาทร” และ “บ้านมั่นคง” แต่ความจริง ความต้องการที่อยู่อาศัยมีน้อยมาก สิ่งที่สร้างขึ้นกลับกลายเป็นการ “เอื้ออาทร” ต่อผู้รับเหมาและผู้ร่วมทุนโครงการมากกว่า แทนที่จะสร้างบ้านตามความต้องการจริง กลับสร้างตามความต้องการลวง หรือสร้างเกินกว่าความต้องการจนขายไม่ออก
          คนที่ดีใจถ้าประเทศไทยมีคนจนเพิ่มขึ้น ก็คงมีแต่พวก NGO ลักษณะองค์กรนอกกฎหมายบางแห่งโดยเฉพาะที่รับเงินต่างชาติมาเคลื่อนไหวหรือทำกิจกรรม เพราะจะได้มีงานทำไปเรื่อย ๆ ผมว่าเราต้องรักศักดิ์ศรีของชาติและของคนไทย ต้องพัฒนาประเทศให้คนไทยหายจน ถ้าเรามัวคิดว่าเรายากจนและติดกรอบคิดแบบคนยากจนอยู่เรื่อย เมื่อไหร่ไทยเราจะลืมตาอ้าปากได้้
          คนไทยจน ๆ เป็นคนส่วนน้อย โปรดอย่านำมาแอบอ้างหากิน

อ้างอิง
<1> ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ที่ทำวิจัยต่อเนื่องเกี่ยวกับชุมชนแออัด โดยเป็นคนแรกที่ค้นพบชุมชนแออัดถึง 1,020 แห่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และสำรวจชุมชนแออัดในภูมิภาคทั่วประเทศ เคยได้รับมอบหมายจากองค์การสหประชาชาติหลายหน่วยงานให้ศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองและชุมชนแออัด เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็น ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org
<2> มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaiappraisal.org
<3> โปรดดูรายละเอียดที่ https://www.cia.gov/library/publications/the-world-factbook/geos/th.html#Econ
<4> โปรดอ่านบทความ “ถามต่อคำชี้แจงของ ‘รสนา โตสิตระกูล’” ในหนังสือพิมพ์ Online ประชาไท 14 มีนาคม 2551: http://www.prachatai.com/05web/th/home/11491
<5> โปรดดูรายละเอียดที่ ตารางที่ 1 แสดงข้อมูลพื้นฐานจำนวนผู้จดทะเบียน http://www.khonthai.com/webpnr/stpnr1_link.php
<6> โปรดดู ตารางที่ 6 สัดส่วนและจำนวน คนจน จนมาก จนน้อย เกือบจน (ด้านรายจ่าย) ปี 2533-2549 ของสภาพัฒน์ฯ ที่ http://poverty.nesdb.go.th/poverty_new/doc/news/wannee_20071130114433.zip
<7> รายงานของ Sopon Pornchokchai. Evaluation of Housing Finance Mechanisms in Thailand เสนอต่อองค์การสหประชาชาติด้านที่อยู่อาศัย (UN-HABITAT) ณ เดือนธันวาคม 2549
<8> Angel, S. Where Have All the People Gone? Urbanization and Counter-Urbanization in Thailand, UNCHS. 1985.
<9> ข่าว “เผยสถิติฆ่าตัวตายคนไทยลด จับตา ‘ระยอง’ มาแรงเสี่ยงแซงทุกจังหวัด” http://www.dmh.go.th/sty_libnews/news/view.asp?id=7653 และโปรดดูตารางขององค์การอนามัยโลก
http://www.who.int/mental_health/prevention/suicide/suiciderates/en และดูเพิ่มเติมในแผนที่โลกที่
http://www.who.int/mental_health/prevention/suicide/suicideprevent/en 
<10> รายงานของ Sopon Pornchokchai. Global Report on Human Settlements 2003 หน้า 22 จากการสุ่มสำรวจในชุมชนหนึ่ง เสนอต่อองค์การสหประชาชาติด้านที่อยู่อาศัย (UN-HABITAT)
<11> โปรดอ่าน “It has threatened to expel journalists who impugn the honour of Thai womenfolk, and forced Longman's dictionary to change its 1993 edition, the entry for Bangkok which included the line "a place where there are a lot of prostitutes." Thailand, in its turn, has been considerably abused by statisticians and NGOs. Claims that there are 2m or more prostitutes in the population of 64m, as was once stated in a Time cover story, are absurd. This much-quoted figure was drawn from the statistics of the Coalition Against Trafficking in Women, an international NGO. If true, it would mean that one in four Thai women between the ages of 15 and 29 in Thailand was a prostitute” ได้ที่ http://www.prospect-magazine.co.uk/article_details.php?id=6889
<12> โปรดอ่านในกรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2546 น.10 อ้างในหนังสือของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ถึงนายกรัฐมนตรี ที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/letter/letter06.htm
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่