Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 628 คน

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>

          วันที่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผมอยู่บรูไน ได้รับเชิญไปบรรยายด้านการจัดรูปที่ดินต่อรัฐมนตรีด้านการพัฒนาประเทศและคณะ และหลังจากนั้นผมก็เดินทางไปอีกหลายต่อหลายประเทศ พบปะผู้คนที่ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักธุรกิจ นักวิชาการและนักวิชาชีพด้านอสังหาริมทรัพย์ การธนาคาร และการพัฒนาเมือง แต่ละคนล้วนเสียดายที่ประเทศไทยเกิดรัฐประหาร ซึ่งทั่วโลกไม่ยอมรับในเรื่องนี้
          เมื่อกลางเดือนที่แล้ว ผมได้รับเชิญจากสมาคมนายธนาคารมาเลเซียไปอภิปรายเรื่องอสังหาริมทรัพย์ เขาเล่าให้ฟังว่านักลงทุนต่างชาติไปลงทุนในประเทศของเขามากขึ้น โดยมองข้ามประเทศไทยที่มีปัญหาทางการเมือง ส่วนเวียดนามที่ผมไปสำรวจตลาดอสังหาริมทรัพย์มาทั้งนครโฮชิมินห์ และเคยเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลด้านประเมินค่าทรัพย์สิน เขาก็ได้รับอานิสงส์อย่างมากเช่นกันจากการที่นักลงทุนเบือนหน้าจากไปและบ่ายหน้าไปประเทศของเขา 
          เมื่อสัปดาห์ก่อนผมเดินทางไปประชุมนานาชาติด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มาเก๊า อาจารย์มหาวิทยาลัยจากทั้งยุโรปและเอเซียต่างพากันถกเรื่องการลงทุนในจีน เวียดนามและประเทศอื่น ๆ ส่วนประเทศไทย ไม่ใช่เป้าหมายของเขาเลย หลายท่านไม่กล้าเดินทางมาประเทศไทยด้วยซ้ำ
          ล่าสุดผมไปศรีลังกาในสัปดาห์นี้ ไปพบนักพัฒนาชุมชนแออัดชาวศรีลังกา และพบศาสตราจารย์ด้านการพัฒนาเมืองชาวอินเดียผู้เคยเป็นเจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติ เขาก็เสียดายที่ประเทศไทยของเราสะดุด ผมได้เรียนรู้มาว่าทำไมประเทศอินเดียและศรีลังกา จึงไม่มีรัฐประหาร
          ในอินเดียและศรีลังกา เขา “ขุน” ทหารไว้ “ตายเพื่อชาติ” ทหารจะได้รับการดูแลอย่างดี มีความสุข ไม่ต้องแสวงหาลาภยศทางอื่น สวัสดิการก็ดีมาก ในอินเดีย มีร้านค้าสวัสดิการขายสินค้าราคาถูกแก่ทหารอีกต่างหาก นอกจากกิจกรรมป้องกันประเทศแล้ว ทหารทั้งในอินเดียและศรีลังกาแทบไม่เคยถูกเรียกใช้ในทางอื่น ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เช่น ช่วยภัยพิบัติต่าง ๆ เป็นต้น ผิดกับกรณีปากีสถานที่การเมืองไปอิงทหารตั้งแต่แรก ๆ ที่ได้รับอิสรภาพจากอังกฤษ จึงมีรัฐประหารเกิดขึ้นหลายครั้ง
          ที่สำคัญทั้งอินเดียและศรีลังกา ไม่มีการเกณฑ์ทหาร จึงไม่มี “ไอ้เณร” ไว้ให้ใช้ตรึงกำลังระหว่างทำรัฐประหาร ทหารเป็นอาชีพอย่างหนึ่ง หรือที่เรียกว่า “ทหารอาชีพ” เหมือนข้าราชการอื่น ๆ อาจกล่าวได้ว่า ในแวดวงใดหากมีการ “เกณฑ์” หรือรับ “อาสาสมัคร” ก็จะเกิดเป็นกองทัพได้ เช่น กองทัพของทหาร (พราน) หรือกองกำลังเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือกองอาสาอื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้เพื่อการต่อรองทางการเมือง
          ทหารในประเทศทั้งสองนี้ อยู่ภายใต้นักการเมือง นัยว่ากองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศแยกกันเป็นเอกเทศชัดเจน ผู้บังคับบัญชาสูงสุดก็คือประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเป็นนักการเมืองนั่นเอง หากฝ่าฝืนนโยบายของรัฐบาล ทหารก็มีโอกาสถูกปลดหรือย้ายได้ง่าย ๆ เช่นข้าราชการทั่วไป โอกาสที่ทุกเหล่าทัพจะจับมือกันออกมา “exercise” จึงแทบจะไม่มี โอกาสที่จะกระดิกกระเดี้ยไปทางไหนก็ค่อนข้างจำกัด และยิ่งขืนออกมาก็ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
          การที่นักการเมืองคุมกองทัพได้ ก็เพราะนักการเมืองหรือพรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง ได้รับการสนับสนุนหรือมีฐานเสียงจากประชาชนอย่างหนาแน่น นักการเมืองกับประชาชนมีความผูกพันกันใกล้ชิด ประชาชนมีปัญหาก็เข้าหาหรือใช้นักการเมือง ไม่ต้องเข้าหา “ขุนทหาร” ท่านใด ในศรีลังกา ยังมีพรรคการเมืองของชาวพุทธ มีพระเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือรัฐมนตรี การที่พระ ชนกลุ่มน้อยหรือชาวบ้านพื้นถิ่นกลุ่มต่าง ๆ มีความเข้มแข็งทางการเมือง ก็แสดงว่าหากมีรัฐประหารเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากพระ หรือประชาชน รัฐประหารนั้นย่อมไปไม่รอด
          อาจกล่าวได้ว่าประชาธิปไตยได้รับการปลูกฝังกันมาตั้งแต่ระดับนักเรียน ระดับหมู่บ้าน มีการถกเถียงทางการเมืองกันอย่างกว้างขวาง ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมือง ประชาชนรู้ดีกระทั่งเรื่องส่วนตัวของนักการเมืองแต่ละคนโดยแหล่งข่าวทั้งจากหนังสือพิมพ์ สื่ออื่น ๆ หรือกระทั่งการบอกต่อ ๆ กัน หนังสือพิมพ์หลายฉบับในประเทศทั้งสองนี้อาจเชียร์พรรคการเมืองหรือนักการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งบ้าง แต่ก็ไม่มีการปิดหรือการ “censor” ข่าวต่าง ๆ แต่อย่างใด จึงอาจกล่าวได้ว่าหนังสือพิมพ์เป็นสถาบันที่มีความเป็นอิสระพอสมควร
          จากปัจจัยข้างต้น จึงเห็นได้ว่า แม้ว่าอินเดียและศรีลังกา จะยากจนและล้าหลังกว่าประเทศไทยของเรา แต่เขาก็มีประชาธิปไตยที่เข้มแข็งกว่าเรา บางทีเราควรศึกษาแบบอย่างมาจากประเทศทั้งสองนี้บ้างโดยเฉพาะแนวทางการทำให้ไทยปลอดพ้นจากรัฐประหาร เข้าทำนอง “เอาเยี่ยงกา”

                                                  
หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ยังเป็นผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สินอาเซียน และกรรมการสภาที่ปรึกษา Appraisal Foundation ซึ่งก่อตั้งโดยสภาคองเกรสเพื่อการควบคุมการประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกา แต่ไม่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องทางการเมืองใด ๆ หรือเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด Email: sopon@thaiappraisal.org

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่