Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 1,589 คน
ต่างชาติกับที่ดินไทย: ไม่ให้ซื้อ
อาคารที่ดินอัพเกรด 12-19 มีนาคม 2550 หน้า 63-64
โพสต์ทูเดย์ 28 กุมภาพันธ์ 2550 หน้า A13

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          การที่มีต่างชาติมาลงทุนซื้อที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อื่นในบ้านเรา ถึงแม้จะเป็นการเก็งกำไร แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ประเทศเรามีอนาคต มีสิ่งดีที่พวกเขาสนใจมาลงทุน ไม่เช่นนั้นคงไม่มา แต่เราควรให้ต่างชาติมาลงทุนในกรณีนี้หรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง และมีแต่การรู้ให้จริงเท่านั้น จึงจะสรรค์สร้างแนวทางที่ดีในการดำเนินการที่เหมาะสมจริงเพื่อวงการธุรกิจ สังคมและประเทศชาติโดยรวม

ประสบการณ์ต่างประเทศ
          ผมได้ส่ง email ไปสอบถามผู้รู้ซึ่งเป็นเพื่อนผมในประเทศต่าง ๆ โดยเริ่มต้นที่ประเทศพี่เบิ้มคือ สหรัฐอเมริกา นายซิรินซิออน (Mr.John Cirincione)<3> ผู้ประเมินค่าทรัพย์สินให้กับกิจการของรัฐ กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาแทบไม่มีข้อจำกัดในการถือครองอสังหาริมทรัพย์โดยคนต่างชาติ มีชาวญี่ปุ่น ยุโรป ตะวันออกกลาง และอื่น ๆ ไปซื้ออสังหาริมทรัพย์กันมากมายในประเทศนี้ ถึงขนาดมีการตั้งสมาคมนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ต่างชาติ (www.afire.org) ด้วยซ้ำ
          ที่ แคนาดา ก็คล้ายคลึงกัน โดย นายลอ (Mr.Kenneth Lau)<4> ผู้บริหารประจำภูมิภาคของสำนักงานประเมินค่าทรัพย์สินของรัฐ ให้ข้อมูลว่าชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ เพียงแต่ต้องเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย นอกจากนี้ยังสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ผ่านการลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์
          สำหรับใน ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่เช่นกัน ศ.คูเปอร์ (Prof.John M.Cooper)<5> อดีตผู้เชี่ยวชาญที่มาประจำการในไทยถึง 5 ปี กล่าวว่า ออสเตรเลียก็ไม่มีข้อจำกัดในการครอบครองที่ดินและอสังหาริมทรัพย์โดยคนต่างชาติ ( ยกเว้นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ ) แต่สำหรับทรัพย์สินที่มีราคาสูงเป็นพิเศษ ผู้ซื้อต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการพิจารณาการลงทุนต่างชาติ (www.firb.gov.auj) ซึ่งโดยมาก 99% มักได้รับอนุมัติ
          ในประเทศ อังกฤษ นายแซนเดอร์สัน (Mr.Paul Sanderson)<6> ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานกลางประเมินค่าทรัพย์สิน ก็กล่าวว่าอังกฤษไม่มีข้อจำกัดใด แต่ต้องดำเนินการซื้อ / ขายอย่างโปร่งใสตามพิธีการ เพื่อป้องกันการฟอกเงิน หรือกิจกรรมอื่นที่เข้าข่ายอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ
          ส่วนประเทศเพื่อนบ้านที่ทันสมัยอย่าง สิงคโปร์ นั้น นายฟู่ (Mr.Jeffrey Foo)<7> อดีตนายกสมาคมตัวแทนนายหน้าอสังหาริมทรัพย์สิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า ชาวต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ได้ ส่วนกรณีที่ดิน ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาล และซื้อได้ในขนาดไม่เกิน 348 ตรว . ยกเว้นที่เกาะเซ็นโตซ่า ที่มีการถมทะเลมาจัดสรรที่ดินเป็นรีสอร์ทหรู ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่ดินได้ในขนาดใหญ่กว่านี้
          ส่วนประเทศ เวียตนาม ซึ่งเป็นรัฐสังคมนิยม นายทวน (Mr.Ngoc-Tuan Dao, ชาวเวียตนามนิยมให้เรียกชื่อหลังของชื่อตัว )<8> นักกฎหมายและรองผู้อำนวยการฝายฝึกอบรมของรัฐวิสาหกิจประเมินค่าทรัพย์สินที่ใหญ่ที่สุดในเวียตนามกล่าวว่า ชาวต่างชาติไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อที่ดิน แต่สามารถเช่าที่ดินได้ในโครงการพัฒนาที่ดินที่ทางราชการกำหนด
          ในราชอาณาจักร กัมพูชา นายนง (Mr.Nong Piseth)<9> ผู้อำนวยการกองประจำกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ชาวต่างชาติไม่สามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในกัมพูชา แต่สามารถเช่าได้ในระยะเวลา 70 ปี ( ต่ออายุได้อีก หากเจ้าของยินยม ) นอกจากนี้ยังไม่จำกัดในการนำเงินเข้าออกประเทศอีกด้วย

ประมวลภาพรวมในต่างประเทศ
          
จะเห็นได้ว่าประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย ไม่ห่วงการลงทุนต่างชาติในประเทศตน อย่างกรณีสหรัฐอเมริกา มีขนาดที่ดินใหญ่กว่าไทยถึง 18 เท่า มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่าไทยถึง 22 เท่า <10> จะไปกลัวนักลงทุนต่างชาติทำไม ก็คงคล้าย ๆ กรณีไทยกับลาว เราคงไม่กลัวเศรษฐีลาวมาลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทย ถ้าไม่ใช่ประเด็นการเมือง นักลงทุนลาวมาซื้อเท่าไหร่ ไทยก็ไม่สะเทือน ส่วนกรณีอังกฤษก็คล้ายกับประเทศอุตสาหกรรมอื่น แม้เป็นประเทศที่มีขนาดเล็ก แต่ทรัพย์สินราคาแพงระยับ เศรษฐีต่างชาติคงไม่มีสิทธิกลืนประเทศอังกฤษเป็นแน่แท้
          สำหรับประเทศในแถบนี้คือสิงคโปร์นั้น เขาให้ซื้อแต่อาคารชุดพักอาศัยและพาณิชยกรรม ส่วนที่ดินก็แทบจะถือว่าไม่ให้ซื้อก็ว่าได้ และราคาที่ดินเช่นที่เกาะเซ็นโตซ่าก็ตกตารางวาละถึง 410,000 บาท <11> ส่วนประเทศเวียตนามและกัมพูชาที่ล้าหลังกว่าไทย ก็ยังไม่อนุญาตให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ แต่ต่างชาติก็แห่กันไปลงทุนโดยไม่ยี่หระใด ๆ

ไม่ต้องล่อด้วยกรรมสิทธิ์ที่ดิน
          ผมจำได้ว่าสมัยก่อนเกิดวิกฤติปี 2540 สิงคโปร์อนุญาตให้คนต่างชาติซื้อห้องชุดได้ตั้งแต่ชั้น 5 ขึ้นไป ชั้นล่าง ๆ ห้ามซื้อ ( สงสัยกลัวถูกยกไปทั้งแท่ง .. ฮา ) แต่พอเกิดวิกฤติ ก็ให้ซื้อได้หมด เพื่อหวังจูงใจให้มาลงทุน ( ขอให้มาเถอะ จะอดตายอยู่แล้ว ) ประเทศทุนนิยมทุกประเทศในภาคพื้นเอเซียอาคเนย์ทั้งไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ต่างผ่อนคลายกฎหมายให้ต่างชาติสามารถซื้อห้องชุดได้ และสามารถซื้อที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยได้ โปรดดูรายละเอียดจากกรมที่ดิน <12>
          แต่ในยามภาวะเศรษฐกิจตกต่ำปี 2540-2543 แทบไม่มีต่างชาติรายใดมาซื้ออสังหาริมทรัพย์ จะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2542-5 มีต่างชาติมาซื้อห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพียง 5,465 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของอาคารชุดทั้งหมดในเขตดังกล่าว <13> จนสุดท้ายเมื่อปี 2547 จึงยกเลิกให้ต่างชาติซื้อห้องชุด 100% เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนต่างชาติซื้อ <14> ยกเว้นที่ซื้อในราคาถูก ๆ แบบ “ ขายยกเข่ง ” อย่างกรณี ปรส . เท่านั้น และที่ต่างชาติไม่มาซื้อก็เพราะว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ซื้อไปราคาก็ไม่ขึ้น ( แถมอาจตกต่ำลงเสียอีก ) ผิดกับช่วงก่อนหน้านั้น ราคาขึ้นเร็วกว่าเงินฝากเสียอีก จึงทำให้ต่างชาติมาซื้อบ้าน ที่ดิน และห้องชุดเก็งกำไรกันมากมาย ( อย่างผิดกฎหมาย – ผ่านคนรู้จัก ) ทั้งที่ช่วงนั้นไทยไม่ได้ยอมให้ต่างชาติซื้อแต่อย่างใด
          ในทางตรงกันข้าม ประเทศสังคมนิยม เช่น จีน เวียตนามและกัมพูชา เขาไม่อนุญาตให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ ให้แต่เช่าระยะยาว แต่ก็มีต่างชาติไปลงทุนประเทศเหล่านั้นก้นมหาศาล นี่แสดงชัดเจนว่า การ “ ล่อ ” ด้วยการถือครองที่ดิน ไม่ใช่ประเด็นเสียแล้ว แนวคิดการให้ต่างชาติซื้ออสังหาริมทรัพย์ จึงควรทบทวน

อย่าเข้าใจผิด
          มีบางคนบอกว่า นักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ข้ามชาติลงทุนในยุโรปตะวันออกมหาศาลกว่าการซื้อขายภายในประเทศเสียอีก อันนี้เป็นความเข้าใจผิด หลักพื้นฐานของอสังหาริมทรัพย์ (real estate) ก็คือ อสังหาริมทรัพย์เป็นเรื่องของการใช้สอยภายในประเทศเป็นสำคัญ นักลงทุนต่างชาติเขาแค่สนใจลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ที่โดดเด่น (prime) เป็นสำคัญ ซึ่งเป็นส่วนน้อย อสังหาริมทรัพย์หลักในประเทศส่วนใหญ่คือที่อยู่อาศัยถึง 90%
          ยกตัวอย่างกรณีประเทศไทย มีบ้านทั้งหมดประมาณ 19,016,784 หน่วย <15> หากบ้านหน่วยหนี่งมีราคาเฉลี่ย 815,789 บาท <16> มูลค่าที่อยู่อาศัยในประเทศจะมีสูงถึง 15,514 พันล้านบาท หรือสูงกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ ณ ราคาตลาด ปี 2548 ซึ่งมีมูลค่า 7,103 พันล้านบาท <17> ถึง 2 เท่า ขณะที่มูลค่าการลงทุนของต่างชาติโดยรวมตามการส่งเสริมการลงทุนในปี 2548 มีมูลค่าเพียง 325.827 พันล้านบาท <18> หรือ 2% ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยในประเทศไทยเท่านั้น)
          ยิ่งกว่านั้นหากพิจารณาว่าการลงทุนของต่างชาตินั้นแม้จะประกอบไปด้วยเครื่องจักร บุคลากร เงิน และอสังหาริมทรัพย์ แต่เชื่อว่าอสังหาริมทรัพย์ ( ที่ดิน โรงงานหรือสถานประกอบการ ) เป็นเพียงปัจจัยการผลิตไม่ถึง 10% ของการลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มใหญ่ที่มาลงทุนด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วไป นอกจากนี้ช่วงชีวิตของธุรกิจ / อุตสาหกรรมต่าง ๆ มีอายุประมาณ 5-20 ปี เป็นสำคัญ จึงไม่จำเป็นต้องถือกรรมสิทธิ์ที่ดิน

ส่งเสริมการลงทุนต่างชาติให้ถูกทาง
          ความจริงประเทศไทยเติบโตและมั่งคั่งจนถึงวันนี้ได้ ก็เพราะการลงทุนจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment, FDI) โดยแท้ โดยเฉพาะการลงทุนของญี่ปุ่นภายหลังข้อตกลง Plaza Accord<19> ในปี 2528 ที่ประเทศยักษ์ใหญ่ตกลงร่วมกันแทรกแซงค่าเงินสหรัฐอเมริกาให้อ่อนค่าลงและทำให้ค่าเงินเยนแช็งขึ้น ญี่ปุ่นก็ไม่อาจส่งสินค้าไปขายในสหรัฐอเมริกาได้สะดวก จึงทำให้เกิดการลงทุนของญี่ปุ่นไปทั่วเอเซียทางด้านอุตสาหกรรมเพื่อส่งไปขายยังยุโรปและสหรัฐอเมริกาแทนการผลิตในญี่ปุ่นเอง และทำให้ญี่ปุ่นสามารถไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก เพราะค่าเงินแข็งขึ้นจาก 240 เยนต่อดอลลาร์เป็นประมาณ 120 เยนภายในเวลา 2 ปี
          อย่างไรก็ตาม FDI ควรจะมุ่งเน้นในด้าน การลงทุนพัฒนาอุตสาหกรรมทั้งหลายเพื่อการส่งออก โดยเราไทยอาจให้ใช้ที่ดินฟรีหรือเช่าที่ดินในราคาต่ำเพื่อจูงใจให้มาลงทุนด้วยซ้ำไป โดยหวังผลให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงานเป็นสำคัญ นอกจากนี้ยังควรให้มาลงทุนในการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (mega-projects) โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค
          ส่วนการลงทุนด้านพัฒนาที่ดินไม่จำเป็นต้องส่งเสริม ถือเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สามารถทำได้โดยเฉพาะในการซื้ออาคารชุดพักอาศัย เพราะหากประเทศไทยมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ ต่างชาติก็ย่อมจะมาซื้อทรัพย์สินเอง ส่วนการทำตัวเป็นนักพัฒนาที่ดินโดยนักลงทุนต่างชาติก็สามารถทำได้ การแข่งขันกับนายทุนไทยจึงอาจเกิดขึ้น อาจมีเสียงไม่พอใจจากนายทุนไทยบ้าง แต่ก็คงต้องปล่อยไปเพราะการแข่งขันจะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ และรัฐบาลพึงยึดผลประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นสำคัญ เพียงแต่รัฐบาลต้องควบคุมไม่ให้เกิดการครอบงำตลาดหรือกรณีฉ้อฉลอื่น

ที่ดินไม่จำเป็นต้องขายใคร
          ในความเป็นจริงแล้วที่ดินไทย ไม่จำเป็นต้องขายใคร ไม่ผิดกติกาสากล เพราะนักลงทุนต่างชาติมีลู่ทางอื่นมากมายในการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนสูง ถอนทุนง่าย เร็ว และซับซ้อนน้อยกว่าการซื้ออสังหาริมทรัพย์เสียอีก เช่น การซื้อหุ้น พันธบัตร การลงทุนในกองทุนต่าง ๆ ในการเจรจา FTA ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดให้ใครในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและที่ดินอยู่แล้ว
          การที่ต่างชาติมาลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์จึงไม่ได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่เป็นเพียง “ แร้งลง ” มาจิกกินเหยื่อ ปั่นราคา สร้างความวุ่นวายในประเทศที่ขาด “ ขื่อแป ” ที่เพียงพอการป้องกันการเก็งกำไรและปั่นราคามากกว่า ตัวอย่างหนึ่งก็คือ ในปัจจุบันมีกรณีที่ชาวต่างชาติมา “ ยึด ” ที่ดินในพื้นที่ท่องเที่ยวทั้งภูเก็ตและสมุย กรณีเหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะการฉ้อฉลร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและชาวบ้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งควรเร่งดำเนินการแก้ไขก่อนจะกลายเป็นปัญหาใหญ่โตในอนาคต

          อย่าลืม ตัดแผ่นดินขาย ใช่วิสัยมืออาชีพ

 

หมายเหตุ
<1>
ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทย สาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย และกรรมการบริหาร ASEAN Association for Planning and Housing Email: sopon@thaiappraisal.org
<2>
มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรด้านเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org
<3>
Mr.John Cirincione, SRA was a Director of Technology Integration for ValX-CDC and director of MISMO (Mortgage organization in the US . He is also a valuer and a speaker in Bangkok on valuation.
<4>
Mr.Kenneth Lau is the Regional Manager of Appraisals, Ontario Region of the Public Works and Government Services Canada (www.pwgsc.gc.ca/text/index-e.html)
<5>
Prof.John M. Cooper, former Australian consultant to the Thai Government, Board Member of the Thai Real Estate Business School (www.trebs.ac.th)
<6>
Mr.Paul Sanderson, Director, Modernization, The Valuation Office Agency (VOA) is an executive agency of HM Revenue & Customs (HMRC) with 85 offices (www.voa.gov.uk)
<7>
Mr.Jeffrey Foo was a President of the Institute of Estate Agents from 2004 to 2005. Currently he is the 2nd Vice-President of FIABCI-Singapore Chapter (www.jeffrealty.com.sg/html/coprofile.html)
<8>
Mr.Ngoc-Tuan Dao, Deputy chieft of Reseach & Training, Southern Information and Valuation Center , Vietnam
<9>
Mr.Nong Piseth, Ministry of Finance, Kingdom of Cambodia
<10>
โปรดดูเปรียบเทียบรายประเทศได้ที่ www.cia.gov/cia/publications/factbook
<11>
ดร.โสภณ พรโชคชัย . “ เซ็นโตซ่า : เกาะท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่ น่าศึกษา ” www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market84.htm หรือดูราคาเสนอขายล่าสุดโดยตรงได้ที่ www.sentosacove.com.sg/saleoverall.htm
<12>
โปรดดูเกี่ยวกับ สรุปการได้มาซึ่งที่ดินของคนต่างด้าว สรุปการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในห้องชุดของคนต่างด้าว การได้มาซึ่งที่ดินหรือห้องชุดของคนต่างด้าวและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าว สรุปการเช่าที่ดินของคนต่างด้าวเพื่อพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม และการได้มาซึ่งที่ดินเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว ได้ที่ www.dol.go.th/guide/menu_foreigner.php
<13>

จากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5-8 ธันวาคม 2545 หน้า 39 นอกจากนี้ห้องชุดในช่วงปี 2533-2541 ในเขต กทม . และปริมณฑลมีมูลค่ารวมกัน 445,049 ล้านบาท ( ข้อมูลจาก Agency for Real Estate Affairs)

<14>

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 8-10 กรกฎาคม 2547

<15>
โปรดดูรายละเอียดที่ http://service.nso.go.th/nso/data/data23/stat_23/toc_1/1.1.1-4n.xls
<16>
ราคาเฉลี่ยของบ้านใหม่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลคือ 3.1 ล้านบาท ( ข้อมูลจาก Agency for Real Estate Affairs ในฐานะศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่บ้าน ) ราคาบ้านที่มีอยู่แล้วทั้งเก่าและใหม่ น่าจะต่ำกว่านี้ประมาณ 50% หรือประมาณ 1.55 ล้านบาท อย่างไรก็ตามราคาบ้านทั่วประเทศก็ยังน่าจะต่ำกว่าราคาในกรุงเทพมหานคร คือน่าจะมีราคาเพียง 40% หรือ 0.62 ล้านบาท และโดยที่บ้านใน กทม . และปริมณฑลมี 4 ล้าน ที่เหลือคือ บ้านในจังหวัดภูมิภาค ราคาบ้านเฉลี่ยทั้งประเทศจึงน่าจะเป็น 815,789 ล้านบาท (4x1.55 + 15x.62) / 19
<17>
โปรดดู www.nesdb.go.th/econSocial/macro/NAD/1_qgdp/data4_05/06%20QGDP%20Q4-2005_ENG.pdf
<18>
โปรดดู www.boi.go.th/english/download/statistics_foreign_investment/54/FDIINV05DEC.pdf
<19>
คำอธิบายอยู่ใน http://en.wikipedia.org/wiki/Plaza_Accord

 

 

บทสัมภาษณ์ฉบับภาษาอังกฤษ
USA
It is quite common to see foreigners own property in the US. The Japaneses own big name hotels. There are European and Saudi Arabia owners of high profile ocean front type properties and winter ski resort properties. The British Petroleum from the UK owns several thousand automobile gas stations throughout the US .

CANADA
Foreigner can own real property in Canada . They must declaration their non-resident status and on sale the proceeds are subject to a withholding tax if you own the property as an individual. Ownership through REITS and a corporation is somewhat more complicated.

AUSTRALIA
There is no serious restriction to foreign ownership of any property in Australia . The only requirement is for high value property transactions to be submitted to the Australian Foreign Investment Review Board which also considers other types of investment as well. In 99% of cases there has been no restriction. It seems it is only a problem if the public gets excited and if the property is some sort of landmark or traditional or historical etc. For normal properties, no problems. If you go to www.firb.gov.au you will find their guidelines and specific information about property. None of the other government agencies and departments, including the state property title registration offices ever worry about the nationality of purchasers or vendors.

UNITED KINGDOM
As far as I am aware, there is no restriction on foreigners buying or renting properties in this country. There are certain formalities (declarations, etc) to be observed now to prevent "money laundering" or other criminal activities, but there is no restriction on ownership as such.

SINGAPORE
There is no restrictions to foreigners owning properties in Singapore like apartments, condo, commercial except for landed properties which they will have to seek approval from the government before purchasing. Approval are given on case to case basis and for property that does not exceed 15,000 sq ft of land. However, foreigners can buy landed properties in Sentosa which is an island not within Singapore as the government have made that as an exception.

VIETNAM
Based on the Land Law 2003, a foreign is not allowed to own the land by himself. He is just allowed to lease / rent the land under investment project. There is no controversy about this at the moment.

CAMBODIA
A foreigner cannot own properties but they can lease up to 70 years and renewable upon request (See Chapter 6, article 16). There is no any restriction in capital flow ( See more in chapter 4 & 5). Any controversy shall be solved as appeared in Chapter 8. (Royal Decree No. 03/NS 94).

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่