Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 910 คน
มีจริยธรรมแต่ละเมิดกฎหมาย!
วารสาร Construction & Property ฉบับเดือนมกราคม 2550

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          คุณธรรมและจริยธรรมเป็นคำรื่นหูที่ใคร ๆ ก็อยากพูดหรืออยากฟังเพราะทำให้รู้สึกตลบอบอวลไปด้วยความดีงาม ทำให้ทั้งผู้พูดและผู้ฟังดูดีไปด้วย แต่บทความนี้มุ่งหวังจะชี้ให้เห็นในอีกแง่มุมหนึ่งว่า เราไม่อาจงมงายกับสิ่งฉาบหน้าเพราะบางคนอาจอ้างคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อละเมิดกฎหมายหรือประกอบอาชญากรรมได้

คนทำดีแต่เป็นอาชญากร
          มีคนทำดีมากมายแต่ประกอบอาชญากรรมอยู่เป็นนิจ บริษัทพัฒนาที่ดินบางแห่งอาจดูประสบความสำเร็จ ทำบุญทำกุศลมากมาย เจ้าของก็ดูมีชื่อเสียง ไม่เคยได้รับการติติงจากสื่อมวลชน แต่กลับ “รีดเลือดกับปู” ต่อผู้รับเหมา ทำผิดสัญญาก่อสร้างล่าช้าเกินทน หรือส่งมอบบ้านที่ไม่มีคุณภาพ ก่อสร้างแบบสุกเอาเผากินให้ลูกค้า อีกกรณีหนึ่งสถาบันการเงินบางแห่งอาจเป็นผู้อุปถัมภ์งานมรดกของชาติที่ยิ่งใหญ่หรือทำสาธารณประโยชน์มากมาย แต่ภายในสถาบันการเงินนั้นกลับเละเทะ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ผู้บริหารโกงสถาบันการเงินของตัวเอง พนักงานเรียกเก็บเงินใต้โต๊ะกับผู้มาขอกู้ ผู้บริหารให้สินเชื่อกับเครือญาติโดยไม่มีหลักประกันจนกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ สุดท้ายสถาบันการเงินแห่งนั้นก็ล้มไป
          ในวงการบริหารธุรกิจ รัฐกิจหรือแม้แต่ในครอบครัวทั่วไป ยังมีคนประเภท “มือถือสาก ปากถือศีล” อยู่มากมาย คนเหล่านี้ทำความดีเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือการทำธุรกิจ เพื่อการไต่เต้า หรือเพื่อการทำงานการเมืองโดยไม่คำนึงถึงการกระทำที่ผิดกฎหมาย ผิดทำนองคลองธรรม แต่น่าเสียดายกรณีเช่นนี้ ส่วนมากไม่ค่อยได้รับการตรวจสอบ ปล่อยให้คนเหล่านี้ประกอบอาชญากรรมอย่างนี้เรื่อยมา

คุณธรรม จริยธรรมและกฎหมาย
          คุณธรรม จริยธรรมและกฎหมายถือเป็นเนื้อเดียวกัน แยกออกจากกันไม่ได้ ขัดกันไม่ได้ ย่อมไม่มีภาวะที่ “ถูกกฎหมายแต่ผิดจริยธรรม” หรือ “มีคุณธรรมแต่ละเมิดกฎหมาย” สิ่งที่ถูกต้องก็คือ “ถูกกฎหมายคือมีจริยธรรมและคุณธรรม” “มีคุณธรรมต้องปฏิบัติตามกฎหมาย” เป็นต้น ส่วนการทำบุญถือเป็นการอาสาบำเพ็ญประโยชน์ หรือการเสียสละตามกำลังตามใจสมัคร ซึ่งไม่ใช่วิสัยที่จะไปกะเกณฑ์อะไร และเป็นสิทธิของผู้ที่จะทำบุญโดยเฉพาะว่าจะทำหรือไม่
          คำพูดที่ว่าเราควรใช้คุณธรรมและจริยธรรมนำหน้านั้นฟังดูดี แต่ต้องใช้วิจารณญาณให้ดีเช่นกัน เพราะสมัยมีผู้คนมากมายที่ “หน้าเนื้อใจเสือ” อาศัยการทำดีฉาบหน้าเพื่อปกปิดการทำผิดกฎหมายของตน ทางที่ดีเราพึงสังวรไว้ก่อนว่า คนที่พูดถึงความดีงามบ่อยหรือมากเป็นพิเศษนั้นอาจเป็นผู้ต้องสงสัยได้ว่าเป็นคนที่มีเลศนัยบางประการหรือไม่ เพราะโดยทั่วไปคนทำดีมักถ่อมตนไม่ “ยกหาง” ตัวเอง

เริ่มต้นที่การปฏิบัติตามกฎหมาย
          กรณีที่กฎหมายมีช่องโหว่อยู่บ้าง เราก็ควรแก้ไขกฎหมายให้ทันสมัยอยู่เป็นระยะ ๆ หากข้อกฎหมายไม่ค่อยได้รับการแก้ไข ก็เท่ากับว่าเราส่งเสริมการทำผิดกฎหมาย เปิดช่องโหว่อยู่ร่ำไป เช่นในวงการประเมินค่าทรัพย์สิน มีการจัดสอบและจัดการศึกษาให้กับบริษัทประเมินอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นการทำได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ช่องโหว่ที่ไม่ได้แก้ก็คือ การปล่อยให้บริษัทมหาชนว่าจ้างบริษัทประเมินกันเอง ซึ่งย่อมมีโอกาสเกิดการประเมินค่าทรัพย์สินตามใจชอบอันอาจทำให้ประชาชนผู้ถือหุ้นเสียประโยชน์ได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนว่าหากเรา “ปลื้ม” กับการทำดีในระดับหนึ่ง (จัดสอบและจัดการศึกษา) แต่ละเลยสาระสำคัญคือ การอุดช่องโหว่ ก็เท่ากับเราเปิดโอกาสให้เกิดการฉ้อฉลอย่างน่าสลดใจ
          เราจะหวังให้กฎหมายสมบูรณ์แบบ ไร้ช่องโหว่คงไม่ได้ บางคนอาจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อหาผลประโยชน์ใส่ตัวบ้าง แต่กรณีนี้ก็เกิดขึ้นได้น้อยมาก และคงต้อง “ยกประโยชน์ให้จำเลย” ไป เพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ไม่ถือเป็นความผิด และกฎหมายทั้งหลายก็มักไม่มีผลย้อนหลัง อย่างไรก็ตามปัญหาส่วนมากที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ผู้รักษากฎหมายร่วมมือตีความกฎหมายอย่างบิดเบี้ยวเพื่อฉ้อฉลมากกว่า เช่น การสร้างอาคารพาณิชย์ในพื้นที่ต้องห้ามบางบริเวณตามผังเมือง ด้วยการหลีกเลี่ยงไปสร้างเป็นบ้านเดี่ยวที่ดูคล้ายอาคารพาณิชย์โดยแต่ละหลังห่างกันแค่คืบเดียว กรณีเช่นนี้ถือว่าผิดกฎหมายชัดเจน แต่ผู้รักษากฎหมายคงตีความส่งเดช หรือ “เอาหูไปนา เอาตาไปไร่” มากกว่า
          ข้อพึงสังวรประการสำคัญก็คือเราจะให้ใครมาละเมิดกฎหมายที่มีอยู่ไม่ได้ หาไม่ก็จะเป็นการยอมรับอาชญากรรมไป ดังนั้นเราจึงต้องเริ่มต้นที่การทำให้ถูกต้องตามตัวบทกฎหมายที่มีอยู่ก่อนเพื่อให้เกิดการยึดถือปฏิบัติตามกติกาที่ชอบธรรม ผู้ไม่ยึดถือกฎหมาย ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมไม่ถือเป็นผู้มีคุณธรรมหรือมีจริยธรรมอย่างเด็ดขาดเพราะการละเมิดกฎหมายถือเป็นการล่วงเกินหรือเอาเปรียบบุคคลอื่น เป็นการสร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมโดยรวม

สรุปย้ำ ทำถูกกฎหมายคือทำดี
          การที่เราไม่โกงผู้มีส่วนได้เสียของเรา ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น คู่ค้า คู่แข่ง ลูกค้า สังคมในสำนักงาน โรงงานหรือโครงการอสังหาริมทรัพย์ของเรา ตลอดจนการไม่ทำร้ายสังคมโดยรวม ถือได้ว่าเรามีจริยธรรมและเราไม่ทำผิดกฎหมาย การที่เราโกงผู้มีส่วนได้เสียข้างต้น ย่อมเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญา กฎหมายผังเมือง กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค ฯลฯ
          การที่เราทำถูกต้องตามกฎหมาย ก็คือการที่เรามุ่งหวังคงอยู่อย่างยั่งยืน เข้าทำนอง “ซื่อกินไม่หมด คดคิดไม่นาน” โดยเคร่งครัด ในทางตรงกันข้ามหากเราละเมิดกฎหมาย เราก็อาจติดคุกหรือเสียค่าปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้งการเสียชื่อเสียง ทำให้ยี่ห้อของสินค้าของเราด้อยค่าลง การทำถูกต้องตามกฎหมายจึงไม่ใช่การอาสาบำเพ็ญประโยชน์ ไม่ใช่การทำตามคำสอนทางศาสนา แต่เป็นกติกาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นการลงทุนสำคัญประการหนึ่งในการสร้างมูลค่าให้กับชื่อเสียงของกิจการของเราด้วย
          อย่าลืม ความดี จริยธรรมและคุณธรรม ไม่ใช่สิ่งแปลกแยกไปจากการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และกรรมการสภาที่ปรึกษาขององค์การประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org

Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่