Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
อ่าน 551 คน
CSR กับบริษัทอสังหาริมทรัพย์
หนังสือพิมบิสิเนสไทย ฉบับวันที่ 11-17 ธันวาคม 2549 หน้า 23

ดร.โสภณ พรโชคชัย <1>
ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย <2>

          วันนี้ผมขออนุญาตมาแหวกแนวกับเรื่องที่กำลัง hot ตอนนี้ คือ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือพันธกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียกับวิสาหกิจ <3> วงการอสังหาริมทรัพย์ของเราก็ต้องมี CSR ซึ่งหมายถึงความรับรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสีย (stakeholders) ได้แก่ผู้ถือหุ้น นักลงทุนหุ้นของบริษัทพัฒนาที่ดินมหาชนในตลาดหลักทรัพย์ ลูกจ้างในบริษัท ลูกค้าผู้ซื้อบ้าน คู่ค้าอันได้แก่ suppliers ผู้รับเหมา บริษัทยาม ฯลฯ รวมถึงชุมชนที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ (โดยไม่ไปก่อความเดือดร้อนให้เขา) ตลอดจนสังคมโดยรวม

สองคนยลตามช่อง
          การที่เราจะมี CSR นั้น ย่อมหมายถึงการเอื้อประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายอย่างเหมาะสมโดยไม่ไปเบียดเบียนฝ่ายใด บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มี CSR ย่อมไม่ขูดรีดแรงงานลูกจ้าง ไม่ฉ้อโกงลูกค้า ไม่เอาเปรียบคู่ค้า ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือทำร้ายชุมชนโดยรอบที่ตั้งของโครงการด้วยการก่อมลพิษ บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ขาด CSR ย่อมสะท้อนถึงการขาดซึ่งความโปร่งใส ผู้บริหารในแทบทุกระดับมักหาผลประโยชน์เข้าตัวเองหรือฉ้อโกง <4>
          แท้จริงแล้ว การมี CSR เป็นการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย (แต่ถ้าใครจะทำให้ดีเกินมาตรฐานกฎหมายหรือจะบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมเพิ่มเติมก็อีกเรื่องหนึ่ง) หรืออีกนัยหนึ่งคือการไม่ทำผิด หมิ่นเหม่หรือหลบเลี่ยงกฎหมายจัดสรร ข้อกำหนดการก่อสร้าง กฎหมายแรงงาน กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กฎหมายอาญาในกรณีต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้การทำ CSR จึงต้องมีกรอบกฎหมายบังคับ

คำสอนทางศาสนา?
          ที่ผ่านมาเราเคยเห็นเจ้าของโครงการอสังหาริมทรัพย์โกงลูกค้าอย่างหน้าตาเฉย แต่ก็ยังได้รับการยอมรับจากสังคม นักข่าวบางคนทำข่าวมานับสิบปียังไม่เคยได้ยินเรื่องอย่างนี้ (หรือแกล้งไม่รู้) นักการธนาคารโกงธนาคารตัวเองจนร่ำรวย บ้างก็ขโมยความคิดทางธุรกิจของลูกค้ามาทำเสียเองหรือปล่อยกู้ให้เครือญาติอย่างหละหลวม นอกจากนี้ยังมีเจ้าของโครงการหลายคนล้มบนฟูก
          บ่อยครั้งที่ CSR ถูกทำให้แปลกแยก (alienated) ไปจากความเป็นจริงที่ถือเป็น “พันธกิจ” ที่ต้องทำตามกฎหมาย จนกลายเป็นเสมือนคำสอนทางศาสนาที่เน้นว่า “ควร” ทำโน่นทำนี่ กลายเป็นการท่องคัมภีร์ลวงโลก หรือเป็นเรื่อง “คิขุ” “หน่อมแน้ม” ความแปลกแยกนี้เกิดขึ้นเพราะความไม่อยากทำ CSR ในเชิงเนื้อหา แต่ต้องการทำแบบจัดฉากหรือเพียงผักชีโรยหน้ามากกว่า

คนที่หมิ่นเหม่มักชอบ CSR
          วิสาหกิจที่มีโอกาสทำลายสิ่งแวดล้อม (หากไม่จัดการตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด) มักจะชูธง CSR เป็นพิเศษ เช่น วิสาหกิจวัสดุก่อสร้าง พลังงาน แร่ธาตุ เป็นต้น CSR มีความจำเป็น “ภาคบังคับ” เป็นอย่างยิ่งสำหรับวิสาหกิจเหล่านี้หาไม่จะยังความเสียหายต่อชีวิตและสุขภาพของชุมชนโดยรอบ และย่อมหมายถึงคุกสำหรับผู้บริหารและการพังทลายทางธุรกิจของผู้ถือหุ้น
          วิสาหกิจเหล่านี้อาจจัดกิจกรรมเพื่อสังคมที่ดูคล้ายการให้เปล่าด้วยความใจกว้าง แต่ความจริงถือเป็นการลงทุนเพียงน้อยนิดที่คุ้มค่ายิ่งในการสร้างภาพพจน์ซึ่งจะช่วยให้วิสาหกิจนั้นสามารถประกอบการได้โดยสะดวกราบรื่น และที่สำคัญหากวันหลังเกิดพลาดพลั้งทำลายชีวิตและสิ่งแวดล้อม ก็อาจได้รับความปรานี “ผ่อนหนักเป็นเบา” ไม่ถูกชุมชนและสังคมลงโทษรุนแรงนั่นเอง

 ช่วยคู่ค้าอย่างเป็นธรรม
          บริษัทอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ๆ หรือแม้กระทั่งสถาบันการเงินที่อำนวยสินเชื่อด้านอสังหาริมทรัพย์ ควรตรวจสอบด้วยว่า ฝ่ายจัดซื้อของตนโกงบริษัทของตนเองบ้างหรือไม่ หรือเจ้าหน้าที่พวกนี้อาศัยตำแหน่งหน้าที่ไป “กินตามน้ำ” กับลูกค้าผู้ซื้อบ้านหรือไม่ ถ้าวิสาหกิจใดปฏิบัติต่อ supplier ผู้รับเหมาก่อสร้าง บริษัทยาม บริษัททำความสะอาดอย่างเป็นธรรม วิสาหกิจเหล่านั้นจึงถือว่ามี CSR หาไม่ก็เป็นเพียงการฉ้อฉล มุ่งเอาเปรียบคนอื่นให้ได้มากที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่พึงละอาย
          ประเด็นความคุ้มทุนทางธุรกิจเป็นสิ่งที่เราควรพูดกันให้ชัดเจนและก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ไม่ใช่เรื่องบาปหรือเลวร้ายอะไร แต่เป็นเรื่องจริงที่ควรเปิดเผยโดยไม่บิดเบือน แต่การเอาประโยชน์โดยมิชอบจากคู่ค้า suppliers ผู้รับเหมาด้วยการโกง การผิดสัญญา ฯลฯ ถือเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่ส่วนเมื่อวิสาหกิจนั้นมีผลประกอบการดี ก็อาจ “คืนกำไร” แก่สังคมบ้างตามระดับจิตสำนึก ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่พึงชื่นชม ถือเป็นการ

เอาเปรียบคู่ค้า=ขาดจริยธรรม
          วิสาหกิจหลายแห่งเอาเปรียบคู่ค้าโดยขาดจริยธรรมอย่างเด่นชัด เช่น การยัดเยียดขายพ่วงสินค้า หรือการที่ห้างสรรพสินค้าบังคับให้วิสาหกิจสินค้าอุปโภคบริโภคแปะยี่ห้อของห้าง (house brand) แทนการให้โอกาสวิสาหกิจเหล่านั้นแจ้งเกิดยี่ห้อของเขา นอกจากนี้ยังมีปรากฎการณ์ห้างสรรพสินค้าบีบคู่ค้าให้จัดหาสินค้า-บริการแก่ตนในราคาที่ต่ำสุดเพื่อเพิ่มโอกาสการเอาชนะในสงครามราคาเพื่อการครอบงำตลาดในอนาคต
          จริยธรรมเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งเลื่อนลอยที่จะร้องขอความเมตตาจากวิสาหกิจรายใหญ่ที่ยืนอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบ แต่เป็นประเด็นความไม่เป็นธรรมที่ต้องได้รับการแก้ไขโดยกฎหมายเพื่อประโยชน์ของวิสาหกิจส่วนใหญ่และโดยเฉพาะเพื่อประชาชนโดยรวม <5> เช่น การออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด กฎหมายป้องกันการทุ่มตลาด กฎหมายผังเมืองที่ห้ามการตั้งห้าง/ร้านค้าปลีกส่งเดช กฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ห้ามการก่อสร้างอาคารที่ขาดซึ่งมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้น เป็นต้น

ร่วมกันผลักดัน CSR ที่ “ต้องทำ”
          โดยสรุปแล้ว CSR เป็นสิ่งที่ต้องกำหนดให้มีให้ทำโดยมีกรอบกฎหมายชัดเจน ทำธุรกิจต้องยึดหลัก “ซื่อกินไม่หมด คดคิดไม่นาน” โดยเคร่งครัด หาไม่จะติดคุก CSR จึงไม่ใช่การเน้นเรื่องอาสาสมัครหรือการทำบุญ การพูดถึง CSR ประหนึ่งคำสอนทางศาสนา เป็นการเบี่ยงประเด็นให้กลายเป็นการลวงโลก กลายเป็นว่าวิสาหกิจที่ทำ CSR มีบุญคุณต่อสังคมไปเสียอีก นอกจากนี้ยังต้องทำให้ชัดเจนว่า CSR นั้นคือการลงทุนอย่างหนึ่ง ซึ่งคุ้มค่าทางการเงิน การตลาด และการรักษากฎหมายเป็นอย่างยิ่ง
          กลุ่มผู้ซื้อบ้าน เป็นกลุ่มโดยตรงที่สุดที่บริษัทอสังหาริมทรัพย์พึงใส่ใจเป็นพิเศษ หาไม่จะถือเป็นการหลอกลวงประชาชนตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค และอาจเป็นการทำลายยี่ห้อของตัวเอง ทำลายโอกาสที่บริษัทของตัวเองจะเติบโตเป็นวิสาหกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
          เราต้องทำให้ CSR ศักดิ์สิทธิ์ เป็นสิ่งที่วิสาหกิจต้องทำ หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผิดกฎหมาย

หมายเหตุ
<1>

ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์ ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาอสังหาริมทรัพย์ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และกรรมการสภาที่ปรึกษาขององค์การประเมินค่าทรัพย์สิน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรสแห่งสหรัฐอเมริกา Email: sopon@thaiappraisal.org

<2>

มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง ปัจจุบันเป็นองค์กรสมาชิกหลักของ FIABCI ประจำประเทศไทย ถือเป็นองค์กรเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่มีกิจกรรมคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทยจนได้รับความเชื่อถือจากนานาชาติ โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org

<3>

คำแปลของ CSR โดย ห้องสมุด Wikipedia คือ “is an expression used to describe what some see as a company’s obligation to be sensitive to the needs of all of the stakeholders in its business operations”

<4> โปรดดูตัวอย่างเพิมเติมในบทความ โสภณ พรโชคชัย. “ธรรมาภิบาลกับผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน” ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันที่ 13-16 กรกฎาคม 2549 หน้า 14 หรือดูที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market113.htm
<5> ตัวอย่างดูได้จากข่าว “เสียงร้อง"ค้าปลีก-ส่ง"พันธุ์ไทย โดนยักษ์ข้ามชาติเบียดตกขอบ” มติชน 18 สิงหาคม 2549 หน้า 20 http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01eci01180849&day=2006/08/18
Area Trebs
 
10 ถ.นนทรี เขต.ยานนาวา, กรุงเทพมหานคร 10120 Tel.66.2295.3171 Fax. 66.2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org; สถานที่ตั้ง: แผนที่