Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
ดูทั้งหมด

ตีพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 11-14 กุมภาพันธ์ 2550 หน้า 37

ที่ TAF.01/219/50

24    มกราคม     2550

เรื่อง                 ขอเสนอความเห็นต่อนโยบายที่อยู่อาศัยประเทศไทย

กราบเรียน         พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์
                        ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

สำเนาเรียน        รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลัง
                        รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
                        รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย

                          เนื่องด้วยมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย จัดการสัมมนาเรื่องนโยบายที่อยู่อาศัยประเทศไทยซึ่งจัดติดต่อกันเป็นปีที่ 5 แล้ว ในงานดังกล่าว กระผมได้นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับการจัดทำนโยบายที่อยู่อาศัยประเทศไทย จึงขอสรุปมากราบเรียน ฯพณฯ ด้วยหวังจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยของประชาชน ดังรายละเอียดเพื่อโปรดพิจารณาต่อไปนี้:

                          1. ประเทศไทยยังขาดการกำหนดนโยบายที่อยู่อาศัย
                          ประเทศไทยยังไม่มีการประกาศนโยบายและแผนที่อยู่อาศัยที่ชัดเจน นอกจากนี้ยังไม่มีองค์กรรับผิดชอบที่เป็นรูปธรรม เช่น กระทรวงที่ดิน หรือทบวงที่อยู่อาศัยเช่นประเทศอื่น แม้ระยะหนึ่งประเทศไทยเคยมีคณะอนุกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยในคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ก็ยุบเลิกไปในภายหลัง การนี้แสดงว่าภาคที่อยู่อาศัยในยังไม่ได้รับความสนใจจากภาครัฐอย่างจริงจัง
                          กรณีตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านเช่นสิงคโปร์ รัฐบาลจัดหาที่อยู่อาศัยถึง 879,092 หน่วย <1> ให้ประชากรส่วนใหญ่ถึง 83% ได้อยู่อาศัย แต่ในกรณีประเทศไทย นับตั้งแต่ปี 2519-2550 การเคหะแห่งชาติสามารถจัดสร้างที่อยู่อาศัยใหม่เพื่อขายในท้องตลาดได้เพียง 144,108 หน่วย <2> แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว จำนวนบ้านในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ล้านหน่วยซึ่งล้วนแต่เป็นการสร้างสรรค์โดยภาคธุรกิจเอกชนหรือส่วนบุคคลทั้งสิ้น
                          และในหนังสือที่กระผมได้กราบเรียน ฯพณฯ ในครั้งก่อน (ลว. 9 ธันวาคม 2547) กระผมยังได้เสนอว่า ทางมูลนิธิยินดีให้รายชื่อผู้เชี่ยวชาญในนครนิวยอร์คเพื่อที่ทางราชการจะไปปรึกษาหารือในระหว่างที่คณะผู้ประเมินค่าทรัพย์สินจากประเทศไทยไปดำเนินการประเมินค่าทรัพย์สิน เพราะทางมูลนิธิมีเครือข่ายความร่วมมือด้านวิชาการและข้อมูลในสหรัฐอเมริกาและทุกประเทศทั่วโลก

                          2. ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาคที่อยู่อาศัย
                          นโยบายที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงมักเกิดจากความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานการณ์ตลาด เช่นเมื่อครั้งที่รัฐบาลของ ฯพณฯ พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร มีนโยบายการก่อสร้างบ้านเอื้ออาทร ก็ได้รับข้อมูลสนับสนุนทางราชการซึ่งเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่า ในประเทศไทยมีชุมชนบุกรุกที่ดินถึง 5,000 ชุมชน รวม 1.6 ล้านครอบครัว <3> (รวมประชากรประมาณ 10 ล้านคน) ความจริงกระผมเป็นผู้สำรวจชุมชนแออัดทั่วประเทศและพบว่า ประเทศไทยมีชุมชนแออัดบุกรุกเพียงไม่กี่ร้อยแห่งจากชุมชนแออัดทั้งหมด 1,589 ชุมชน และแม้หากพิจารณาถึงประชากรของชุมชนแออัดทั้งหมด (รวมผู้บุกรุกส่วนน้อยแล้ว) ก็มีเพียง 1.8 ล้านคน หรือราว 3% ของประชากรไทยเท่านั้น <4> ชุมชนแออัดส่วนใหญ่เป็นชุมชนเช่าที่ปลูกบ้านและชุมชนเจ้าของบ้านพร้อมที่ดินซึ่งไม่มีปัญหาการขาดความมั่นคงในการอยู่อาศัย
                          ยิ่งกว่านั้นประชากรในชุมชนแออัดส่วนใหญ่ไม่ใช่ "คนจน" ในประเทศไทยมี "คนจน" (ผู้มีรายได้น้อยระดับต่ำกว่าเส้นความยากจน) เพียง 10.0% หรือ 6 ล้านคน ซึ่งใกล้เคียงกับในสหรัฐอเมริกา (12.0%) <5> แต่ส่วนใหญ่อยู่ในชนบท "คนจน" ในเขตเมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครจึงมีจำนวนน้อย การนำเสนอตัวเลขที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเช่นนี้ทำให้เกิดความสับสนและนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาดได้

                          3. การขาดการศึกษาอย่างจริงจัง 
                          ที่ผ่านมาประเทศไทยมักขาดการศึกษาอย่างจริงจังหรือเพียงพอก่อนออกมาเป็นนโยบายหรือมาตรการ เช่น เมื่อยามที่กรมประชาสงเคราะห์ในสมัยก่อนสร้างแฟลต 5 ชั้นบริเวณถนนดินแดงในปี 2508 นั้น เกิดจากการเลียนแบบมาจากประเทศตะวันตก ซึ่งประเทศเหล่านี้สามารถสร้างได้เพราะเป็นประเทศร่ำรวย แต่ประเทศไทยสร้างได้เพียงบางส่วนก็ต้องหยุดไปเพราะมีงบประมาณที่จำกัด ประกอบกับผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดที่ย้ายขึ้นอยู่บนแฟลตก็ยังขายสิทธิ์กลับลงมาอาศัยในชุมชนแออัดดังเดิมอีก ทำให้การแก้ไขปัญหาไม่สิ้นสุด
                          การที่ชาวบ้านสามารถขายสิทธิ์การอยู่อาศัยในแฟลตได้ แสดงว่าแฟลตมีตลาดที่แน่นอน ดังนั้นหากมีการศึกษาให้ชัดเจน รัฐบาลในสมัยนั้นน่าจะสร้างแฟลตขายให้ข้าราชการหรือผู้มีรายได้ระดับปานกลางที่มีความสามารถในการซื้อก่อน รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องอุดหนุนการสร้างแฟลตแก่ผู้มีรายได้น้อยเช่นที่ผ่านมา แฟลตก็จะเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีฐานะพอสมควร ภาพพจน์ก็จะดี การอยู่อาศัยแบบแฟลตก็อาจเป็นค่านิยมที่ดี และเมื่อโอกาสอำนวย จึงสร้างที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่ในภายหลัง ก็จะได้รับการต้อนรับ ที่สำคัญเขตเมืองก็คงไม่ขยายตัวในแนวราบเช่นทุกวันนี้ พื้นที่ชั้นดีทางการเกษตรรอบกรุงเทพมหานครก็คงไม่ถูกแปรสภาพเป็นเมืองเช่นทุกวันนี้

                          4. บ้านเอื้ออาทร-บ้านมั่นคง เป็นนโยบายที่ควรทบทวน
                          เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2546 กระผมเคยทำหนังสือคัดค้านการสร้างบ้านเอื้ออาทร-บ้านมั่นคงถึง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น <6> ซึ่งกาลเวลาก็ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความไม่เหมาะสมของโครงการดังกล่าว กระผมขออนุญาตคัดลอกหนังสือไว้บางส่วน ดังนี้:
                          "ฯพณฯ มีดำริเรื่องนี้จากการไปดูงาน ณ กรุงมอสโกเมื่อ 3 เดือนก่อน และพบว่าเขาสร้างที่อยู่ให้ประชาชน 4 ล้านตารางเมตรนั้น กระผมขอกราบเรียนข้อเท็จจริงเพื่อ ฯพณฯ ทราบว่า ที่นั่นภาคเอกชนอ่อนแอจนรัฐบาลต้องแบกรับภาระไว้เอง แต่ที่ประเทศไทยของเรา ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่ต้องสร้างบ้านคนจนเลย กระผมได้ค้นพบว่า เฉพาะในช่วงปี 2533-2541 ภาคเอกชนไทยได้สร้างทาวน์เฮาส์และอาคารชุดราคาถูก (หน่วยละไม่เกินสี่แสนบาท) ถึง 226,810 หน่วย รวมพื้นที่ 6-7 ล้านตารางเมตรในเขต กทม.และปริมณฑล การผลิตที่อยู่อาศัยของภาคเอกชนไทยมีประสิทธิผลสูง จนกระทั่งทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาสลัม นอกจากนี้ค่าเช่าบ้านก็ต่ำมาก เช่น ห้องชุดที่ขายไม่ออกย่านชานเมืองได้ถูกดัดแปลงให้เช่าในอัตราเดือนละ 500-2,000 บาท ซึ่งถูกกว่าค่าเช่าห้องในสลัมย่านใจกลางเมือง"                          

                          5. นโยบายสำคัญด้านที่อยู่อาศัย
                          กระผมเชื่อว่า ประเทศไทยจะสามารถสร้างสรรค์นโยบายที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมและยั่งยืนสำหรับประเทศไทย ก็ต่อเมื่อ ประการแรก การมีข้อมูลที่ถูกต้องซึ่งเป็นพื้นฐานของการวางนโยบายและแผน ตลอดจนการบริหารรัฐกิจที่เหมาะสม ในกรณีใดที่บริหารโดยขาดข้อมูลย่อมไม่อาจประสบความสำเร็จ และอาจเกิดช่องโหว่ในการทุจริตประพฤติมิชอบได้ ประการที่สอง ความจำเป็นต้องมีการศึกษาอย่างจริงจัง ยาวนานเพียงพอ หาไม่จะเกิดนโยบายแบบ "สุกเอาเผากิน" โดยขาดการ "ตกผลึก" จากการศึกษา และประการที่สาม การมีแรงผลักดันที่แข็งขัน ต่อเนื่องจากฝ่ายการเมือง (strong government commitment) โดยไม่มีวาระซ่อนเร้น จึงจะมีโอกาสสร้างสรรค์นโยบายที่ดีได้
                          นโยบายสำคัญด้านที่อยู่อาศัยที่ควรดำเนินการ ได้แก่:
                          นโยบายที่หนึ่ง คือการส่งเสริมภาคเอกชนให้สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน (enabling policy) โดยการอำนวยความสะดวกให้กลไกตลาดสามารถจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ประชาชนโดยรัฐบาลไม่ต้องแบกรับภาระ
                          นโยบายที่สอง คือการคุ้มครองผู้บริโภค โดยถือว่าผู้บริโภคเป็นศูนย์กลาง (ไม่ใช่ผู้ประกอบการ) เพราะถ้าผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง ก็จะเกิดความมั่นใจต่อตลาดที่อยู่อาศัยส่งผลให้มีการซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อผู้ประกอบการ และทุกฝ่ายในที่สุด
                          นโยบายที่สาม การมีองค์กรอิสระเพื่อการสนับสนุนด้านข้อมูลและนโยบาย เช่น การมีคณะกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยที่เป็นอิสระ ไม่ใช่แต่งตั้งตามใจชอบจากฝ่ายการเมืองหรือข้าราชการประจำ การมีศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอิสระในการเสนอข้อมูลโดยไม่ต้องอยู่ใต้อาณัติของผู้มีส่วนได้เสียฝ่ายใดในวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ การมีสภาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นศูนย์รวมผู้เกี่ยวข้องทุกสาขาวิชาชีพอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ใช่จำกัด/ขีดวงเฉพาะผู้ประกอบการพัฒนาที่ดิน ก็เป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง
                          นโยบายที่สี่ การสร้างความเข้มแข็งให้กับนักวิชาชีพ เช่น การจัดตั้งสภาผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน สภาควบคุมวิชาชีพนายหน้า และผู้บริหารทรัพย์สิน เป็นต้น การทำให้นักวิชาชีพมีความเข้มแข็งจะเป็นกลไกในการช่วยตรวจสอบผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคเป็นหลัก
                          นโยบายที่ห้า การสร้างกลไกป้อง-ปรามเพื่อความเป็นธรรม เช่น ในกรณีที่ผู้ซื้อบ้านทำผิดสัญญา ไม่ยอมรับโอนทรัพย์สิน จะต้องถูกยึดเงินดาวน์ ในทางตรงกันข้ามหากเจ้าของโครงการสร้างเสร็จช้ากว่ากำหนดตามสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามสัญญา ก็ต้องถูกปรับในอัตราที่เหมาะสม หรือในกรณีลูกหนี้ไม่อาจชำระหนี้ได้ตามสัญญา จะต้องมีการบังคับคดีและมีกลไกการขายทอดตลาดที่มีประสิทธิภาพ หรือถ้าผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ดำเนินการประเมินผิดพลาด ก็ต้องจ่ายค่าปรับ (เช่น 20-50 เท่าของค่าจ้าง) หรือถ้านายหน้าฉ้อฉล จะต้องยึดใบอนุญาตเป็นต้น

                          6. มาตรการเร่งด่วน
                          มาตรการสำคัญที่ควรดำเนินการก็คือ
                          มาตรการที่หนึ่ง การคุ้มครองเงินดาวน์ หรือ Escrow Account <7> ในการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรการนี้ควรมีมาก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ หลังวิกฤติก็ไม่ได้ดำเนินการอะไรในทำนอง "วัวหายล้อมคอก" และบัดนี้วิกฤติผ่านพ้นมาถึง 10 ปีแล้วก็ยังอยู่ในขั้นตอนการร่าง การนี้แสดงให้เห็นถึงการขาดความตระหนักรู้อย่างร้ายแรงของรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาทั้งหลายต่อการคุ้มครองผู้บริโภค กระผมทราบว่าในร่างมาตรการดังกล่าวที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จะเพียงให้ผู้ประกอบการดำเนินการคุ้มครองเงินดาวน์แบบสมัครใจ แต่กระผมเห็นว่าควรเป็นภาคบังคับเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อผู้ซื้อตามกฎหมาย
                          มาตรการที่สอง การบังคับใช้สัญญาที่เป็นธรรมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ที่ผ่านมาทางราชการมีสัญญามาตรฐานอยู่ฉบับหนึ่ง แต่ขาดการบังคับใช้ตามกฎหมาย ทำให้ผู้ซื้อเกิดความเสียเปรียบในการทำนิติกรรม หากมีการบังคับใช้สัญญาดังกล่าวอย่างจริงจัง จะช่วยให้ธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยมีมาตรฐาน ได้รับความเชื่อถือ อันเป็นการเพิ่มกำลังซื้อที่ชัดเจน
                          มาตรการที่สาม การสร้างการมีความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR หรือ corporate social responsibility) ที่ผู้มีส่วนได้เสียทั้งผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง คู่ค้า ลูกค้า ผู้บริโภค ชุมชนและสังคมควรได้รับการคุ้มครองจากการดำเนินกิจการอย่างมีความรับผิดชอบของผู้บริหารโครงการ  <8>
                          กระผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ข้อคิดเห็นจากประสบการณ์ของกระผมนี้จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติของเราตามสมควร และสำหรับเอกสารสรุปผลการสัมมนา ปรากฎอยู่ในภาคผนวกท้ายหนังสือนี้

                          จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

ขอแสดงความนับถือ

(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานกรรมการ

หมายเหตุ
<1>
รายงานประจำปี 2005-2006 Housing Development Board หน้า 81 และ 85 http://www.hdb.gov.sg/fi10/fi10297p.nsf/ImageView/AR0506/$file/statistics-and-charts.pdf
<2>
นับถึงปี 2550 ประมาณการโดยการเคหะแห่งชาติเฉพาะเคหะชุมชนที่จัดสร้างเพื่อขายให้ภาคเอกชน (ไม่รวมบ้านเอื้ออาทร หรือบ้านที่สร้างให้ทางราชการเท่านั้น) http://www.nhanet.or.th/pplan/groupkg1.html
<3>
ข่าวที่ทางราชการแถลงเหตุผลการสร้างบ้านเอื้ออาทร ปรากฎในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 7 มกราคม 2546 น.10
<4>
Global Report On Human Settlements 2003: the Case of Bangkok ซึ่งเสนอต่อองค์การสหประชาชาติ (UN-Habitat) น.5
<5>
ข้อมูลเกี่ยวกับประเทศไทย ปรากฏ ณ https://www.cia.gov/cia/publications/factbook/geos/th.html#Econ ส่วนข้อมูลเกี่ยวกับประเทศสหรัฐอเมริกา ปรากฏ ณ https://www.cia.gov/cia/publications/factbook/geos/us.html#Econ
<6>
โปรดดูรายละะเอียดหนังสือดังกล่าวที่ http://www.thaiappraisal.org/Thai/letter/letter06.htm
<7>
Escrow Account: เป็นการประกันว่าเงินดาวน์ที่ผู้ซื้อจ่ายแก่ผู้ขายบ้านซึ่งเป็นนักพัฒนาที่ดินนั้นจะได้รับการคุ้มครอง หากนักพัฒนาที่ดินรายนั้นเกิดประสบปัญหาไป จะสามารถนำเงินจำนวนนี้มาคืนแก่ผู้ซื้อก่อน ผู้ที่จะเก็บรักษาเงินดาวน์นี้ไว้อาจเป็นสถาบันการเงินหรือหน่วยงานที่ได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่าย โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.hud.gov/offices/hsg/sfh/res/respafaq.cfm#w
<8>
โปรดดูรายละเอียดได้ที่ โสภณ พรโชคชัย. CSR คือหน้าที่ ใช่อาสา วารสาร Thai Appraisal Vol.5 No.5 กันยายน-ตุลาคม 2549 หน้า 18-19 และ Sopon Pornchokchai. Nine Understandings of CSR. Bangkok Post, December 15, 2006, B.8
 

ฝ่ายอำนวยการ 
น.ส.นงลักษณ์ จตุเทน
โทร.0.2295.3171 ต่อ 116,117

 

ภาคผนวก 1: การจัดสัมมนา "นโยบายที่อยู่อาศัยประเทศไทย

                          การสัมมนาครั้งนี้ถือเป็นการสัมมนาในหัวข้อเดียวกันครั้งที่ 5 (ปีที่ 5) ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทย ร่วมกับโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย และถือเป็นการเสวนาวิชาการรายเดือน ครั้งที่ 51 (ปีที่ 5 เดือนที่ 12) มูลนิธิได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิมาระดมความเห็นเพื่อพิจารณาถึงนโยบายที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย ในปี 2549 ที่ผ่านมา มูลนิธิได้จัดการสัมมนาในวันศุกร์ที่ 22 ธันวาคม ณ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ อาคาร 2 ห้อง 301 ถ.พระราม 9 กรุงเทพมหานคร
                          การสัมมนานี้ มีผู้เข้าร่วมสัมมนาประมาณ 160 คน โดยมูลนิธิได้เรียนเชิญผู้แทนจากหน่วยงานต่าง ๆ จากราชการส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนทั้งสถาบันการเงิน วิสาหกิจที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัย ตลอดจนองค์กร สมาคม มูลนิธิที่เกี่ยวข้อง และผู้สื่อข่าวไปเข้าร่วมสัมมนาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับค่าใช้จ่ายด้านสถานที่ อาหารเครื่องดื่ม ค่าวิทยากร ทางโรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

   
13:00
เปิดการเสวนา
13:30
การนำเสนอ "แบบอย่างและบทเรียนของการจัดการที่อยู่อาศัยไทย พ.ศ.2500-2550"
โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
14:00
การสัมมนากลุ่มย่อย (แสดงชื่อกลุ่มและผู้นำการเสวนากลุ่ม)
กลุ่มที่ 1: สร้างเมืองใหม่อย่างไรให้เป็นจริง:
มรว.เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้ช่วยปลัด กรุงเทพมหานคร
กลุ่มที่ 2: แนวทางที่ถูกต้องในการสร้าง "บ้านคนจน":
น.ส.ฉันทมา ชานนท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการและพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ
กลุ่มที่ 3: ระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อที่อยู่อาศัย:
นายทวนทอง  ศิริมงคลวิชย์ สำนักจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่  กรมโยธาธิการและผังเมือง
กลุ่มที่ 4: มาตรการป้องกันการเก็งกำไรที่เหมาะสม :
นายพัลลภ กฤตยานวัช ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
กลุ่มที่ 5: ทำเลที่อยู่อาศัยที่มีอนาคตในปี 2550
อ.วสันต์ คงจันทร์ รองประธานบริหาร บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร ผอ.สำนังานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
16:00
ความเห็นของหน่วยราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ
นายกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการ แทนผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
นายสมศักดิ์ เศรษฐนันท์ รองผู้อำนวยการ สำนักผังเมือง ผู้แทนผู้ว่าราชการ กรุงเทพมหานคร
ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ผู้แทนเลขาธิการ สนง.คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
น.ส.ฉันทมา ชานนท์ ผู้แทนผู้ว่าการ การเคหะแห่งชาติ
นายพัลลภ กฤตยานวัช ผู้แทนกรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
17:30
ปิดการสัมมนา
ภาคผนวก 2: ผลการสัมมนากลุ่มย่อย

                          การสัมมนาได้จัดการประชุมกลุ่มย่อย 5 เรื่องได้แก่ เรื่องที่ 1: การสร้างเมืองใหม่ให้เป็นจริง  เรื่องที่ 2: แนวทางที่ถูกต้องในการสร้าง "บ้านคนจน" เรื่องที่ 3 ระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อที่อยู่อาศัย  เรื่องที่ 4มาตรการป้องกันการเก็งกำไรที่เหมาะสม และเรื่องที่ 5 ทำเลที่อยู่อาศัยที่มีอนาคตในปี 2550

                          เรื่องที่ 1: การสร้างเมืองใหม่ให้เป็นจริง
                          ประเทศไทยมีความจำเป็นในการสร้างเมืองใหม่  เพราะกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวน้อย น้ำท่วม อาชญากรรมและยาเสพติดมีมาก การจราจรติดขัด มลพิษ การขาดแคลนสถานศึกษา และการคุณภาพการศึกษาต่ำกว่ามาตรฐาน ในช่วงที่ผ่านมาที่ผ่านมาในประเทศไทยก็ยังไม่มีการสร้างเมืองใหม่ที่ชัดเจน เมืองใหม่บางพลีของการเคหะแห่งชาตินั้นก็เป็นเพียงเคหะชุมชนขนาดใหญ่ ไม่ใช่เมืองใหม่ที่สามารถอยู่ได้ด้วยตนเอง ยังต้องพึ่งพาภายนอกอยู่ ทั้งด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการ เป็นต้น
                          การสร้างเมืองใหม่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ทำให้มีความเป็นไปได้จำกัด เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากมาก และยังมีปัญหาตามมามากมาย จากการอภิปรายพบว่า ปัจจัยสำคัญ 9 ประการ ที่จะทำให้สามารถสร้างเมืองใหม่ได้ประสบความสำเร็จก็คือ  1.  ศรัทธา 2. เสถียรภาพ 3. ผู้เชี่ยวชาญ 4. สาธารณูปโภค 5. บรรษัทพัฒนาเมือง 6. พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจกับชุมชน 7. ทำเลที่ตั้ง 8. การเวนคืนที่ดินอย่างยุติธรรม 9. งบประมาณ ที่มากกว่า 1 แสนล้านบาท
                          ลักษณะสำคัญของเมืองใหม่ก็คือ เมืองใหม่ต้องตอบสนองการใช้ชีวิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น ใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีการบริการด้านการศึกษาที่ดีได้มาตรฐานและเพียงพอ เมืองใหม่ควรมีมีเนื้อที่อย่างน้อย 12,000 ไร่ขึ้นไป มีขีดความสามารถในการจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานของตนเองทั้งด้าน เช่น น้ำประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ การคมนาคม มีองค์การภาครัฐที่สนับสนุนและรับผิดชอบ มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน มั่นคง เพราะเป็นโครงการระยะยาวและเกี่ยวข้องกับชีวิตของประชาชน
                          สำหรับองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำและบริหารเมืองใหม่ควรมีสำนักพัฒนาผังเมือง ที่ประกอบด้วยหลายฝ่ายเพราะภาครัฐอาจจะมีความชำนาญเฉพาะด้านทำให้เกิดข้อจำกัด จึงต้องมีภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องร่วมด้วย ควรเกิดจากการพัฒนาชุมชนขนาดเล็กแล้วขยายให้ใหญ่ขึ้นเพื่อความสำเร็จที่เป็นไปได้อย่างยั่งยืน องค์การบริหารและจัดการที่เหมาะสม กระผมได้นำเสนอไว้ในรายละเอียดแล้ว <1>

                          เรื่องที่ 2: แนวทางที่ถูกต้องในการสร้าง "บ้านคนจน"
                          "คนจน" ที่การเคหะแห่งชาติหมายถึงนั้นหมายเฉพาะถึงผู้มีรายได้น้อยในเมือง คือครัวเรือนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และมักอยู่อาศัยในที่อยู่อาศัยซึ่งอาจจะมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าปกติ เช่น ในชุมชนแออัด การถือครองที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยอาจจะเป็นสิทธิการเช่า
                          แนวทางการจัดหาที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยในปัจจุบัน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทร บ้านมั่นคง บ้านธนารักษ์ ซึ่งล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เช่น บ้านมั่นคงเป็นที่อยู่อาศัยในบริเวณเดิม แต่มาตรฐานอาจจะต่ำกว่าปกติ ส่วนบ้านเอื้ออาทรจะเน้นการให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน แต่โครงการมักตั้งอยู่ห่างไกล เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางสูง ในส่วนของบ้านธนารักษ์ได้บ้านในราคาที่ไม่สูงนักเพราะมีต้นทุนที่ต่ำ
                          ข้อเสนอแนะของที่ประชุมก็คือ 1. การจัดหาที่อยู่อาศัยแบบเช่าเพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางเลือกสำหรับการจัดที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยแทนการให้ผู้มีรายได้น้อยมีกรรมสิทธิ์ของตนเอง ซึ่งแม้แต่ผู้มีรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำยังไม่อาจทำได้นัก 2. มาตรฐานที่อยู่อาศัยควรจัดหาให้เหมาะสมกับรายได้และการผ่อนชำระ 3. ผู้มีรายได้น้อยควรมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานที่อยู่อาศัย 4. ภาครัฐต้องมีนโยบายที่ชัดเจนในด้านนี้ เช่น การกำหนดคุณสมบัติของที่อยู่อาศัยที่สมควรได้รับการส่งเสริมผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน

                          เรื่องที่ 3: ระบบสาธารณูปโภคที่เอื้อต่อที่อยู่อาศัย
                          การจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนาพื้นที่ มีวิธีการใหม่เพื่อจัดสัดส่วนที่ดินซึ่งสามารถแก้ปัญหาได้หลายอย่าง รวมถึงการลดปัญหาเรื่องการเวนคืน และสามารถจัดพื้นที่สำหรับสาธารณะได้มากขึ้น ทำให้การจัดการพื้นที่ที่มีปัญหาดำเนินการได้มากขึ้น มีต้นทุนต่ำและมีการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชนสามารถนำการจัดรูปที่ดินเพื่อการพัฒนา ซึ่งทำให้มีต้นทุนที่ต่ำกว่า ปัจจุบันมีกฎหมายในเรื่องนี้แล้วตั้งแต่ปี 2547 แต่ต้องรอกฎหมายลูกต่างๆ เพื่อให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น

                          เรื่องที่ 4: มาตราการป้องกันการเก็งกำไรที่เหมาะสม
                          แนวคิดมาตรการได้แก่ 1. สถาบันการเงินควรมีมาตราการอำนวยสินเชื่อที่เข้มงวด 2. ผู้ประกอบการควรกำหนดให้มีสัดส่วนเงินดาวน์ต่อราคาบ้านเพิ่มขึ้น แต่ต้องพิจารณาผลกระทบต่อความสามารถในการซื้อประกอบด้วย 3. ควรมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารจากทางราชการมากขึ้น เช่น จำนวนผู้ที่มีที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 แห่ง 4. มีการจัดประชุมสัมมนาทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบสถานะการณ์และหาแนวทางแก้ไข เป็นต้น

                          เรื่องที่ 5: ทำเลที่อยู่อาศัยที่มีอนาคตในปี 2550
ทำเลที่อยู่อาศัยบ้านมือหนึ่ง ยังคงเกาะแนวรถไฟฟ้า เช่น รัชดา-ลาดพร้าว อ่อนนุช ศรีนครินทร์ บางนา ราชพฤกษ์ ทั้งแนวรถไฟฟ้าในปัจจุบันและที่กำลังสร้าง แต่สำหรับโครงการสาธารณูปโภคในอนาคตควรพิจารณาให้มีความเป็นจริงมากกว่านี้ เช่น สายสีแดง สีม่วง และสีน้ำเงิน ส่วนในกรณีบ้านมือสอง ทำเลที่น่าสนใจได้แก่ บริเวณเพชรเกษม เพราะมีโครงการบ้านมือหนึ่งน้อย เป็นต้น

ภาคผนวก 3: ความเห็นของผู้บริหารหน่วยราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ

                          สำหรับความเห็นที่สรุปได้เป็นดังนี้:
                          นายกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
                          จากข้อเสนอของทุกกลุ่ม อาจจะแยกได้เป็น 3 มิติ คือ 1. ความจำเป็น คือจำเป็นหรือไม่ที่ต้องสร้างเมืองใหม่ น่าจะมีความเห็นร่วมกันว่า คนไทยทุกคนควรมีที่อยู่อาศัย แต่ประชาชนควรจะยอมเสียภาษีเพื่อสนับสนุนการมีสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัยที่ดี 2. การเจริญเติบโต ทั้งของบ้านเมือง คน สังคม ชุมชน เนื่องจากมีการย้ายถิ่นเพื่อหาแหล่งงานที่สร้างรายได้ที่มากกว่า 3. ความงดงาม ของเมืองใหม่ที่มีการวางแผนที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามเมืองเก่าก็มีความงดงามในอีกทางหนึ่ง
                          เรื่องของนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาตินั้น ควรดำเนินการในเรื่องการสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดที่อยู่อาศัยและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยจัดทำฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ จัดตั้งสภาที่อยู่อาศัยไทย จัดตั้งคณะกรรมการที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ร่าง พรบ.การจัดการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา และการส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง ส่วนที่สอง ควรมีการพัฒนาและเชื่อมโยงตลาดเงินและตลาดทุนเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตลาดที่อยู่อาศัยและภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยสร้างระบบสินเชื่อที่อยู่อาศัยในตลาดแรกและตลาดรอง การประกันความเสี่ยงที่อยู่อาศัย การสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง และสุดท้ายการพัฒนาตลาดรองสินเชื่อที่อยู่อาศัย แล้วช่วยกันเติมเต็มในสิ่งที่ขาดให้สมบูรณ์มากขึ้น เมื่อทุกฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกันการพัฒนาอย่างยั่งยืนก็จะประสบผลสำเร็จ

                          ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ผู้อำนวยการสำนักวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สำนักงาน
                          คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
                          ในแผนฯ 9 มียุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง แต่ในแผนฯ 10 จะไม่มีในเรื่องของการพัฒนาเมือง แต่จะอยู่ใน 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ การพัฒนาคน พัฒนาสังคม-ชุมชน การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความยั่งยืน การรักษาสิ่งแวดล้อม และประการสุดท้ายคือ การบริหารจัดการที่ดี โดยสรุปจะส่งผลให้มีการพัฒนาชุมชนพัฒนาเมือง ซึ่งมีผลต่อการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัย ทางภาพเศรษฐกิจก็จะสนับสนุนให้มีการเจริญเติบโตของที่อยู่อาศัยในเมืองต่างๆ ที่มีเศรษฐกิจดี ซึ่งส่งผลต่อทำเลที่อยู่อาศัย และย้อนกลับมาถึงนโยบายที่อยู่อาศัย
                          ในด้านการสนับสนุนต่างๆ และที่สำคัญคือ จะต้องสร้างหลักประกันสังคมให้กับผู้ที่มีรายได้น้อยโดยจะต้องการจัดหาที่อยู่อาศัย ภาครัฐควรดำเนินการ 1. การประสานระหว่างกระบวนการทางเศรษฐกิจกับนโยบายที่อยู่อาศัย 2. การประสานบริหารจัดการของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง และการรักษาสิ่งแวดล้อม ของหน่วยงานต่าง ๆ 3. การแก้ปัญหาที่ดีก็คือการจัดทำแผนพัฒนาเมืองและนโยบายที่อยู่อาศัยที่สอดคล้องกัน และ 4. การเก็บรวบรวมข้อมูลอสังหาริมทรัพย์เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่สอดคล้องกับความเป็นจริง

                          นางสาวฉันทนา ชานนท์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการและพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ
                          ในการพัฒนาที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ควรมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และควรศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นประโยชน์ในอนาคต สำหรับผู้อยู่อาศัย ควรมีส่วนร่วมในการพัฒนา ซึ่งสิ่งสำคัญที่สุดคือ การมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาที่อยู่อาศัยและชุมชนของตนเอง ในด้านการจัดรูปที่ดินนั้น จะช่วยทำให้เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างเต็มที่ก็มีปัญหาด้านการใช้ระยะเวลาการดำเนินการมาก ในส่วนของการป้องกันการเก็งกำไร ในกรณีบ้านเอื้ออาทร ป้องกันด้วยการห้ามเปลี่ยนมือใน 5 ปีแรกที่ซื้อไว้ สำหรับกรณีที่อยู่อาศัยทั่วไป การการใช้ระบบภาษีทรัพย์สินอาจสามารถป้องกันการเก็งกำไรได้ โดยสรุปแล้ว นโยบายที่อยู่อาศัยมีความสำคัญมาก แต่ประเทศไทยยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะไม่มีความต่อเนื่องของนโยบายเมื่อเปลี่ยนรัฐบาล

                          นายพัลลภ กฤตยานวัช ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิชาการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 
หลายปีที่ผ่านมายังไม่มีนโยบายที่อยู่อาศัยของประเทศอย่างชัดเจน ทั้งที่หลายประเทศมีหน่วยงานที่รับผิดชอบและมีนโยบายอย่างชัดเจนล่วงหน้าสำหรับอนาคต ทุกกลุ่มมีความคิดเห็นที่ดีในเวลาที่ค่อนข้างจำกัด แต่โดยสรุปก็ต้องมองเรื่องนโยบายที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ควรมีการรื้อฟื้นคณะอนุกรรมการนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติขึ้นมาใหม่หลังจากยุติบทบาทลงเนื่องจากวิกฤตเศรษฐกิจ ภายใต้สภาพัฒน์ฯ เพื่อรับผิดชอบนโยบายที่อยู่อาศัยแห่งชาติ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค และแม้ในขณะนี้ภาคเอกชนจะมีศักยภาพสูงในการพัฒนาที่อยู่อาศัย แต่ก็ควรมีหน่วยงานที่คอยกำกับให้การพัฒนาของภาคเอกชนสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ

                          ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการบริหาร
                          การพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
                          ในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ ในอนาคตจำเป็นต้องขยายจาก 2 ทางวิ่ง เป็น 4 ทางวิ่ง มิฉะนั้นจะรองรับการจราจรได้เพียง 10 ปีเท่านั้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องซื้อที่ดินเพิ่ม ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้มีแผนการจัดหาที่ดินไว้ล่วงหน้า ภาครัฐควรทำการศึกษาพื้นที่ที่ต้องขยายรวมถึงแนวเส้นเสียงในอนาคต และแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อทำความเข้าใจในทันที ถ้าทำการซื้อที่ดินเพื่อขยายไม่ได้ ภาครัฐจำเป็นต้องต้องหาที่ดินใหม่สำหรับท่าอากาศยานนานาชาติแห่งที่ 3 ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือไม่ก็อาจต้องสร้างในอ่าวไทย เหมือนประเทศอื่น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเรื่องการเวนคืนที่ดินและมลพิษทางเสียงของประชาชน

 
ภาคผนวก 4: รายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนา

                 รายชื่อผู้เข้าร่วมสัมมนาในวันที่ 22 ธันวาคม 2549 ประกอบด้วยผู้เกี่ยวข้องในภาครัฐและภาคเอกชน จำนวน 123 ท่าน ดังรายนามต่อไปนี้:

1
คุณกรกัญญา เตชะรุ่งนิรันดร์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
2 คุณกรศรัณย์ สุดสวาส บจก.สิริวลัย
3 คุณกฤษ ตรีวิศวเวทย์ บมจ.ช.การช่าง
4 คุณกฤษฎา อุทยานิน รองผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
5 คุณกัณติทัต มลทา หัวหน้าฝ่ายวิจัย บจก.พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พาร์ทเนอร์
6 คุณกำภู ภูริภูวดล สถานีโทรทัศน์ ช่อง 9
7 คุณเกรียงไกร โลหะจรูญ อีคอนนิวส์
8 คุณขวัญชัย อุดมเกียรติกูล ส่วนบุคคล
9 คุณคณิต ศักดิ์พิมานพร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
10 คุณจตุพล รัมมะพันธ์ บมจ.ธนาคาร ยูโอบี 
11 คุณจารุพรรณ วานิชธนันกูล ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย
12 คุณเจษฎา ลอยธง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
13 คุณฉัตรสุดา โพธิรักษ์ บมจ.ปริญสิริ
14 คุณฉันทนา ชานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการและพัฒนาที่อยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติ
15 คุณชนกนันท์ มงคลชัยประทีป บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
16 คุณชนม์เจริญ ทองวัฒน์ บจก.ไจแอ็นท คอนสตรัคชั่น
17 คุณชลวิทย์ ณ สงขลา BPB Thai
18  คุณชัชวัล จิระสัมฤทธิ์ฤกษ์ บจก.ซีพีแลนด์
19 คุณชัยชนะ ศัตรูลี้ องค์การสวนสัตว์
20 คุณชาญณรงค์ บุริสตระกูล กรรมการผู้จัดการ บจก.อีสานพิมาน กรุ๊ป
21 คุณชาติชาย ตรีศุกร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
22 คุณชาลี ชมชื่น กองการพนักงาน สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
23 คุณโชติรส ศิริพงษ์เสถียร บมจ.ลลิล พร็อพเพอร์ตี้
24 คุณฐิติณัฐ วิวัฒน์ชาญกิจ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ
25 คุณณรงค์ ทัศนนิพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซีฟโก้
26 คุณณัฎฐาลักษณ์ ปิ่นเจริญ เลขากรรมการผู้จัดการ บจก.ไจแอ็นท คอนสตรัคชั่น
27 คุณณัฐชา หวังบุญชัย ส่วนบุคคล
28 คุณณัฐวุฒิ นิยมญาติ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน
29 คุณณีย์ ม่วงพั่น Executive Property
30 คุณดวงฤทัย อมรสิน โฮมบายเออร์ไกด์
31 คุณตฤกร ภูมิ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน
32 คุณโตมร ปานะไชย วัฎฎะ อาคารที่ดินวันนี้
33 คุณถิรนันฺท์ เดชขุนทด บมจ.เมโทรสตาร์
34 คุณทรงพล ภาคแก้ว นักประเมินฯ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
35 คุณทรรณชิต เอี่ยมจิต การเคหะแห่งชาติ
36 คุณทวนทอง ศิริมงคลวิชย์ สำนักจัดรูปที่ดินเพื่อพัฒนาพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง
37 คุณทศพล กระสายเงิน ข่าวหุ้น
38 คุณทัศนีย์ ทิมา บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
39 คุณธนากร อินทวงศ์ เทศบาลตำบลบ่อทอง
40 ดร.ธีรธร ธาราไชย บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค
41 คุณนงลักษณ์ จตุเทน บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
42 คุณนเรต ศรีเมือง เทศบาลเมืองคูคต
43 คุณนันทวัน สุริยจันทราทอง Marketing Manager บจก.อีเทอร์ไนซ์
44 คุณนันทวัลภ์ วุฒินันท์ ผจก.ฝ่ายนิติกรรมและประสานงานราชการ บมจ.วังทองกรุ๊ป
45 คุณนิพัฒน์ วิสาวะโท บจก.จระเข้ 3 ดาว
46 รศ.ดร.นิพันธ์ วิเชียรน้อย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
47 คุณนุชนารถ รัตนสุวรรณชาติ บจก.บางกอก เดค-คอน
48 คุณบัญญัติ บุญมา เจ้าหน้าที่จัดหาที่ดิน 8ว กองกฎหมายและที่ดิน กรมชลประทาน
49 คุณบุษภา ศรีพานิชย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
50 คุณประจวบ คำยวง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
51 ดร.ประทีป ตั้งมติธรรม ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ศุภาลัย
52 คุณปราณี จารุพานิช บมจ.ธนาคารนครหลวงไทย
53 คุณปริภัทร วิลามาศ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคิน
54 คุณปัทมา จันทรานุกูล รองกรรมการผู้จัดการ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
55 ดร.ปัทมา เธียรวิศิษฎ์สกุล ผอ.สำนักวางแผนเศรษฐกิจมหภาค สภาพัฒน์ฯ
56 คุณปิยพร กิตติวัฒโณคุณ บจก.ธนาพัฒน์
57 คุณปุณิกา ศิลปรัศมี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
58 มรว. เปรมศิริ เกษมสันต์ ผู้ช่วยปลัดกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร
59 คุณพงษ์ศักดิ์ บุญกล่อมจิตร บจก.ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์
60 คุณพรเทพ สุธีรชัย ผจก.ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บจก.เนชั่นไวด์ พร็อพเพอร์ตี้
61 คุณพะเยาว์ เรืองโรจน์ ผช.ผจก.สมาคม ส่วนบุคคล
62 คุณพัลลภ กฤตยานวัช ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
63 คุณพิชญะ พูลสุรพันธุ์ ส่วนบุคคล
64 คุณพิชิต ชุติมาเทวินทร์ ส่วนบุคคล
65 คุณพิเชษฐ์ มุสิกะโปดก มหาวิทยาลัยสยาม
66 คุณพิมชนก พุ่มปรีดา โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
67 คุณโพยม รุจิรสสวยวงศ์ เทศบาลตำบลแพรกษา
68 คุณภูดิศ เชื้อชมภูภากร บ้านกรองทอง
69 คุณภูวนัย สัตยพิพัฒน์ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
70 คุณมยุรกาญจน์ สันติยานนท์ บจก.ดีแลนด์ ดีเวลลอปเม้นท์
71 คุณมลวิภา ลีวงศ์เจริญ จนท.วิเคราะห์อุตสาหกรรม บมจ.ธนาคารกสิกรไทย
72 คุณมานิต วัจฉลพงษ์ ฝ่ายลงทุน บจก.เมืองไทยประกันชีวิต
73 คุณยุทธนา อิสมาแอล บมจ.ธนาคาร ยูโอบี 
74 คุณยุวลักษณ์ คณะเจริญ กรรมการผู้จัดการ บจก.เซ็นทรัล แอสเซ็ท
75 คุณเยาวลักษณ์ ทองเจริญสกุล หัวหน้าแผนการตลาด บจก.นัมเบอร์วัน เฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์
76 คุณรัตนานพ จันทรัตน์ ผู้บริหาร บจก.นัมเบอร์วัน เฮ้าส์ซิ่ง ดิเวลลอปเม้นท์
77 คุณลดาวัลย์ ธนะธนิต ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ
78 คุณเลิศมงคล วราเวณุชย์ ผช.กรรมการผู้จัดการ บมจ.รสาพร็อพเพอร์ตี้ ดีเวลลอปเม้นท์
79 คุณวรพล ลิ้มรัก บมจ.ธนาคาร ยูโอบี 
80 คุณวรรณภา คล้ายสวน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
81 คุณวราพงษ์ ป่านแก้ว หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
82 คุณวริศรา ตั้งจิตเจริญพงศ์ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีวีลอปเมนท์
83 คุณวสันต์ คงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการ บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
84 อาจารย์วิฆเนศ วงศ์วาณิชวัฒนา หัวหน้าภาค คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
85 คุณวิภารัตน์ หัทยาสิทธินันท์ เลขานุการและประสานงานโครงการ บมจ.อีสเทอร์น สตาร์ เรียลเอสเตท
86 คุณวิโรจน์ นรารักษ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
87 คุณวิไลวรรณ คลาคล้ำ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
88 คุณวิศิษฎ์ คุณากรกุล กรรมการผู้จัดการ บจก.เรียลตี้เวิลด์ อัลไสแอม
89 คุณวุฒิชัย ลีลากุลธนิต บจก.ซีพีแลนด์
90 คุณวุฒิพงษ์ ธรรมราชรักษ์ กรมที่ดิน
91 คุณศรีอรุณ จัง หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์
92 คุณศิริพร นันทมงคล บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส
93 คุณสงคราม จันทร จนท.ประเมินราคา 4 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)
94 นพ.สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม นายกสมาคม สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย
95 คุณสมบูรณ์ กนกนภากุล กรมทางหลวงชนบท
96 คุณสมประสงค์ แจ้งอรุณนิจ กรมทางหลวง
97 คุณสมยศ โสภณพงษ์ ส่วนบุคคล
98 คุณสมศรี อินสุ่น องค์การบริหารส่วนตำบลหนองปรือ
99 คุณสมศักดิ์ เศรษฐนันท์ รองผู้อำนวยการ สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร
100 คุณสาวิตรี ระงับพิษ Construction & Property
101 คุณสุจินดา คู่อรักษา บ้านพร้อมอยู่
102 คุณสุดาวดี ธรรมไกรสร ผช.ผจก. บจก.สิทธิชัยเอนจิเนียริ่ง
103 คุณสุทธิพันธ์ ประถมพันธ์ Nation TV & TTV
104 คุณสุนทร สถาพร กรรมการผู้จัดการ บจก.เฉลิมนคร
105 คุณสุปราณี ปรีดีบัญจพงศ์ ผจก.ฝ่ายการเงิน บมจ.ยูไนเต็ดฟูดส์
106 คุณสุวรรณี มหณรงค์ชัย ประธานอำนวยการ บจก.พลัส พร็อพเพอร์ตี้ พาร์ทเนอร์
107 ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
108 คุณเสาว์นีย์ บุญชูวงศ์ บ้านกรองทอง
109 ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
110 คุณหิรัญ เฉลิมภูชิตารักษ์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
111 อาจารย์อติณัช ชาญบรรยง โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
112 คุณอนงค์ลักษณ์ แพทยานันท์ ผอ.ฝ่ายการตลาด บจก.เจ้าพระยามหานคร
113 คุณอภิชาต ประสิทธิ์นฤทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บจก.ศิริวลัย
114 คุณอภิญญาภรณ์ ประดับหยิ่ว ส่วนบุคคล
115 คุณอภินันท์ เตียตระกูล ผช.หนส.กำกับและประเมินฯ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
116 คุณอภิวัฒน์ พงษ์อารีย์ เจ้าหน้าที่ 7 จำหน่ายทรัพย์ 3 บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด
117 คุณอรวรรณ จารุวัฒนาถาวร อาคารที่ดินอัพเกรด
118 คุณอรอนงค์ หอวัฒนสุข บจก.อินโนเวชั่น ดิวิลอปเมนท์
119 ว่าที่ รต. อัมพร พึ่งประเสริญ โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
120 คุณอารีรัตน์ ปี่เป้า การเคหะแห่งชาติ
121 คุณอุดมศักดิ์ อัมพวัน เทศบาลตำบลบ้านแพรก
122 คุณอุดมศักดิ์ สิทธิญาณ วิศวกรโยธา 7 วช. รักษาการหัวหน้าฝ่ายสถาปัตยกรรม เทศบาลนครนนทบุรี
123 คุณอุไรศรี เอกเศวตอนันท์ Nation TV
 
สำเนาหนังสือตอบจากกระทรวงการคลัง
Area Trebs