ดูทั้งหมด
10 ถ.นนทรี ยานนาวา กทม.10120
15 กรกฎาคม 2562
เรื่อง ขอเสนอแนวทางการแก้ปัญหาเหมืองทองคำอัครา
กราบเรียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สิ่งที่ส่งมาด้วย รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเหมืองทองคำอัครา (7 กรกฎาคม)
ตามที่มีคำสั่งหัวหน้า คสช. 72/2559 สั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 (https://bit.ly/2JD5Y6I) กระผมซึ่งเป็นประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) ในฐานะประธานเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างยั่งยืน (https://bit.ly/2j5UTRK) เห็นว่าการปิดเหมืองนี้จะส่งผลกระทบเสียหายร้ายแรงแก่ประชาชนในพื้นที่และต่อประเทศชาติโดยรวม กระผมจึงทำหนังสือนี้มาขอเสนอข้อมูลผลการสำรวจและแนวทางการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ดังนี้:
1. ผลการสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2562 พบว่า ประชาชนถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจขณะนี้ค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำดีกว่าปัจจุบัน ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ 89% แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100% และเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ 96% แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ
2. ต่อประเด็นสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้ ปรากฏว่า 93% ระบุว่าสภาพในปัจจุบันและก่อนปิดเหมือง มีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน
3. ประชากรส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจก่อนหน้านี้ (9 พฤษาคม 2559) ว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป
ดังนั้นเครือข่ายฯ จึงขอเสนอให้:
1. ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
2. ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย
3. และเพื่อที่ตัวท่านเองหรือประเทศไทย จะไม่ต้องเสียค่าปรับหากแพ้คดีกับเหมืองอัครา รัฐบาลควรขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา และขอขอบพระคุณท่านที่จะพิจารณาเพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่และของประเทศชาติโดยรวม
ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานเครือข่ายรักษ์สิ่งแวดล้อมและประชาชนอย่างยั่งยืน
-------------------------------------
รายงานผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับเหมืองทองคำอัครา
1. บทสรุปผู้บริหาร
การสั่งปิดเหมืองทองคำตั้งแต่ปี 2560 ที่ผ่านมา สร้างปัญหาให้กับชุมชนโดยรอบหรือไม่อย่างไร คณะนักวิจัยจึงทำการสำรวจเพื่อช่วยตอบคำถามและเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานของทางราชการ การสำรวจด้วยแบบสอบถามนี้ดำเนินการในวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 โดยศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย (www.area.co.th) โดยมีคณะนักศึกษาวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ จำนวน 22 คน เป็นผู้ดำเนินการ (แต่ไม่เกี่ยวกับวิทยาลัยฯ) เพราะเป็นบุตรหลานผู้อยู่อาศัยในพื้นที่โดยตรง การสำรวจครั้งนี้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 572 ชุด หรือประมาณ 17% ของประชากร จึงนับว่าเพียงพอที่จะใช้เป็นตัวแทนได้
ผลการสำรวจพบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นหญิง 54% โดยมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ปี ต่างก็อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว โดยเฉลี่ย 38 ปีแล้ว ประชากรที่ให้สัมภาษณ์มีถึง 44% ที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด จึงนับได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามทราบข้อมูลในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้อาชีพของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มใหญ่ที่สุดทำการค้าขายหรืออาชีพอิสระ แต่เป็นการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เป็นสำคัญ มีประชากรที่เป็นเกษตรกร 29% แต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะเกษตรกรอาจออกไปทำการเกษตรในวันหยุดราชการ
ในด้านเศรษฐกิจผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำ ดีกว่าปัจจุบัน ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขเศรษฐกิจในขณะนี้ 89% แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100% เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมืองได้ 111% แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร และเศรษฐกิจในปี 2563 ได้ 96% แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ
ต่อประเด็นสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้ ปรากฏว่า 93% ระบุว่าสภาพในปัจจุบันและก่อนปิดเหมือง มีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกันนั่นเอง อาจกล่าวได้ว่าประชากรส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
สำหรับเหตุผลของการเห็นด้วยกับการปิดเหมืองได้แก่ ฝุ่นละอองเยอะ (21%) กังวลเรื่องมลพิษ (19%) ชาวนาต้องการน้ำทำนา (15%) เสียงดังรบกวน (15%) ส่วนเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ต้องการให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่ คือ ขาดรายได้ (24%) ไม่มีงานประจำทำ (21%) ตกงาน (15%) เศรษฐกิจตกต่ำ (15%) ทำงานไกลบ้าน (13%) จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองทองคำอัคราถือเป็นแหล่งงานใหญ่ และการมีเมืองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดี ได้รับความช่วยเหลือด้วยดี แต่เมื่อไม่มีเหมืองก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมตามมามากมาย
สำหรับข้อเสนอแนะได้แก่:
1. ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
2. ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย
3. ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง และเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสั่งปิดเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
อนึ่งผลการสำรวจครั้งนี้ยืนยันตามที่เคยสำรวจไว้ก่อนหน้านี้ (9 พฤษาคม 2559) ว่า ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป
2. บทนำ
ตามที่มีการสั่งปิดเหมืองทองคำในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เกิดคำถามว่า ในปัจจุบันสภาพแวดล้อมดีขึ้นหรือไม่ สถานการณ์เศรษฐกิจและสังคมเป็นอย่างไร ความเห็นของประชาชนในพื้นที่ต่อการปิดเหมืองทองคำเป็นอย่างไร คำตอบในประเด็นเหล่านี้น่าจะช่วยให้ทางราชการได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการจัดการเหมืองทองคำอัคราและเหมืองอื่นๆ ได้สอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย จึงทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นสำคัญร่วมสมัยเหล่านี้โดยให้นักศึกษาจากวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยฯ
ทั้งนี้ที่ผ่านมามี “คำสั่งหัวหน้า คสช. 72/2559 สั่งห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่ออายุประทานบัตรและใบอนุญาต และให้ผู้ประกอบการเหมืองแร่ทองคำระงับการประกอบกิจการตั้งแต่ 1 มกราคม 2560 เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการทำเหมืองแร่ทองคำ. . .คำสั่งนี้มีผลโดยตรงต่อเหมืองแร่ทองคำ ของ บ.อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และ จ.พิษณุโลก เนื่องจากเป็นผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ทองคำรายเดียวที่ยังประกอบกิจการรายเดียวในขณะนี้ บนเนื้อที่กว่า 3,000 ไร่ ซึ่งประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 1,000 คน ทั้งนี้ ก่อนมีคำสั่ง คสช.สั่งระงับกิจการ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส เคยแถลงว่ายังมีแร่ทองคำอยู่เกือบ 40 ล้านตัน และสามารถขุดแร่ได้ถึงปี 2571 ตามอายุที่เหลือของอายุประทานบัตร” (https://bit.ly/2JD5Y6I)
3. การสำรวจ
3.1 วันที่สำรวจ
คณะนักวิจัยเลือกเอาวันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันหยุดราชการ โดยหวังว่าประชาชนจำนวนมากจะพักผ่อนอยู่บ้านในวันดังกล่าว ยกเว้นบางกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรอาจออกไปทำการเกษตรโดยไม่ได้คำนึงถึงวันหยุด คณะนักวิจัยได้ทำความเข้าใจและ pre-test กับนักศึกษาในเวลา 09:00 น. และในเวลา 10:00 น.ก็ได้เดินทางออกไปสำรวจจากวิทยาลัยฯ โดยแต่ละกลุ่มกลับเข้ามายังวิทยาลัยฯ ในเวลา 13:30-14:30 น. โดยใช้เวลาสำรวจประมาณ 4-5 ชั่วโมงในวันดังกล่าว
3.2 ผู้สำรวจ
คณะนักศึกษา ปวช. และ ปวศ. ของวิทยาลัยชุมชนพิจิตร วิทยาเขตทับคล้อ จำนวน 22 คน เป็นผู้ออกทำการสำรวจ (ทั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยฯ โดยตรง) โดยในการสำรวจออกไปเป็นคู่ๆ ขี่รถจักรยานยนต์ออกสำรวจด้วยกัน ทั้งนี้นักศึกษาเหล่านี้ ส่วนมากเป็นบุตรหลานในพื้นที่ที่สำรวจ จึงรู้จักเส้นทางและสภาพชุมชนเป็นอย่างดี ทั้งนี้ก่อนออกไปสำรวจ ได้ทำการ pre-test แบบสอบถามก่อน เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน
3.3 จำนวนแบบสอบถาม
การสำรวจครั้งนี้ได้แบบสอบถามที่สมบูรณ์ สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ทั้งหมด 572 ชุด ซึ่งนับว่าเพียงพอที่จะใช้แทนความเห็นของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ซึ่งมีประชากรอยู่ 7,520 คน (https://bit.ly/2NEeAiF) แต่มีสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป ประมาณ 72% (https://bit.ly/30nEXeu) จึงอนุมานได้ว่าประชากรกลุ่มเป้าหมายที่ทำแบบสอบถามมี 5,398 คน แต่ราวครึ่งหนึ่งอยู่ห่างไกลจากเหมืองอัครา จึงเหลือประชากรในพื้นที่ใกล้เคียงเพียง 2,699 คน ในการสัมภาษณ์ หากไม่นับรวมกลุ่มที่ 13 และ 14 ที่อยู่นอก ต. เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ ในเขตจังหวัดพิจิตร ก็จะมีจำนวน 450 ราย เท่ากับได้สัมภาษณ์ความเห็นของประชาชนถึง 17% ของทั้งหมด
4. ผลการสำรวจ
ผลการสำรวจเบื้องต้นได้แจกแจงเป็นตารางแล้วเสร็จแล้ว โดยนำเสนอไว้ดังต่อไปนี้:
4.1 พื้นที่สำรวจ
เหมืองทองคำอัคราตั้งอยู่ในจังหวัดพิจิตรเป็นส่วนใหญ่ แต่โดยที่อยู่ในเขตรอยต่อของจังหวัดที่เกี่ยวข้องคือจังหวัดเพชรบูรณ์และจังหวัดพิษณุโลก จึงแบ่งการสำรวจออกตามกลุ่มต่างๆ ดังต่อไปนี้:
แผนที่ 1: พื้นที่สำรวจโดยรอบเหมืองทองคำ (ครอบคลุมพื้นที่โดยรอบในรอยตะเข็บ 3 จังหวัด)
กลุ่มที่ 1 สถานีเพาะชำกล้าไม้ อยู่ใกล้ขอบเหมืองที่สุดแห่งหนึ่ง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 2 บ้านคีรีเทพนิมิต ซึ่งก็ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากขอบเหมือง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 3 เป็นหมู่บ้านโยกย้ายใหม่ไปจากที่ตั้งเดิมเพราะเหมืองได้ซื้อบ้านและที่ดินของชาวบ้านให้ย้ายออกไปจากขอบเหมืองเพื่อป้องกันมลพิษที่อาจเกิดขึ้นได้ ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 4-5 บริเวณทางแยกจาก ทล.11 เข้า ทล.1031 หรือทางเข้าเหมืองอัครานั่นเอง ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 6 วัดหนองขนาก ซึ่งอยู่ติดกับ ทล.11 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 7-8 วัดนิคมราษฎร์บำรุง ซึ่งอยู่ติดกับ ทล.11 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 9 วัดเนินทอง ซึ่งอยู่ติดกับ ทล.11 ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร
กลุ่มที่ 10-11 วัดจิตเสื้อเต้น-วัดจีราพงศ์ ซึ่งอยู่ติดกับ ทล.11 และลึกเข้าไปจาก ทล.11
กลุ่มที่ 12 บ้านดงหลง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ใกล้กับเหมืองทองอัครา
กลุ่มที่ 13 บ้านวังชะนาง ต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ ซึ่งอยู่ห่างไปเล็กน้อยจากเหมืองทองอัครา
กลุ่มที่ 14 บ้านใหม่คลองตาลัด-สถานีอนามัยทุ่งยาว ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัด จ.พิษณุโลก
อาจกล่าวได้ว่าการสำรวจนี้ครอบคลุมประชากรในพื้นที่ศึกษาได้เป็นอย่างดี โดยคำนึงถึงประชากรที่อยู่รอบเหมืองทองคำอัคราในเขตตำบลเขาเจ็ดลูกเป็นสำคัญ
4.2 เกี่ยวกับผู้ตอบแบบสอบถาม
ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนมากเป็นหญิง 54% แต่ก็ถือได้ว่ามีสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน ที่เป็นหญิงมากกว่า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะหญิงเป็นผู้ดูแลครอบครัวเป็นส่วนมากในสังคมไทย
สำหรับอายุของผู้ตอบแบบสอบถามคือประมาณ 20 ปีขึ้นไป แต่กลุ่มใหญ่ที่สุดมีอายุอยู่ระหว่าง 46-60 ปี ทั้งนี้อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 54 ปี แสดงว่าผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ประมาณสองในสามของประชากรที่สำรวจมีอายุอยู่ระหว่าง 39 ปี - 69 ปี
สำหรับระยะเวลาในการอยู่อาศัย ต่างก็อยู่ในพื้นที่มานานแล้ว ที่อยู่ไม่เกิน 15 ปีมีเพียง 19% เท่านั้น โดยเฉลี่ยอยู่มา 38 ปีแล้ว โดยประชากรส่วนใหญ่ราวสองในสาม อยู่มาเป็นเวลา 18-58 ปีแล้ว แสดงให้เห็นว่าบุคคลเหล่านี้รู้จักพื้นที่นี้เป็นอย่างดี ความเห็นของบุคคลเหล่านี้จึงเชื่อถือได้
จะเห็นได้ว่าประชากรที่ให้สัมภาษณ์มีถึง 44% ที่อยู่อาศัยในพื้นที่มาตั้งแต่เกิด อีก 29% อยู่มาเกินกว่า 20 ปีแล้ว ที่อยู่ไม่ถึง 10 ปีมีเพียง 12% เท่านั้น
อาชีพของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มใหญ่ที่สุดทำการค้าขายหรืออาชีพอิสระ แต่เป็นการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เป็นสำคัญ ที่รับราชการมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่ (ยัง) เป็นพนักงานของเหมืองก็มีเพียง 8% เท่านั้น มีประชากรที่เป็นเกษตรกร 29% แต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ที่สุด เพราะเกษตรกรอาจออกไปทำการเกษตรในวันหยุดราชการ
4.3 สถานการณ์เศรษฐกิจ
ในขณะนี้สำหรับประเทศไทย เศรษฐกิจค่อนข้างตกต่ำ โดยดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนที่ทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เห็นว่าเศรษฐกิจแย่ถึง 58% (https://bit.ly/2xEksOg) แต่สำหรับในพื้นที่รองเหมืองทองคำอัครานี้ ปรากฏว่าผู้ตอบแบบสอบถามถึง 75% เห็นว่าเศรษฐกิจค่อนข้างแย่หรือแย่มาก ที่เห็นว่าดีหรือดีมากมีรวมกันเพียง 5% เท่านั้น แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจในพื้นที่นี้น่าจะตกต่ำกว่าในพื้นที่อื่นโดยเฉลี่ยทั่วประเทศ
ในทางตรงกันข้าม ประชากรถึง 80% เห็นว่าเศรษฐกิจชุมชนในช่วงก่อนปิดเหมืองทองคำ ดีกว่าปัจจุบัน ที่เห็นว่าแย่กว่ามีเพียง 4% เท่านั้น ส่วนในปีหน้า (พ.ศ.2563) กลุ่มใหญ่ที่สุดราว 32% เห็นว่ายังอยู่ในภาวะปานกลาง ที่คิดว่าจะแย่ลงมีถึง 42% ส่วนที่คิดว่าจะดีขึ้นมีเพียง 25% เท่านั้น แสดงว่าประชากรส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นถึงอนาคตที่เป็นบวก
ถ้าใช้เกณฑ์ 100% เป็นตัววัด จะพบตัวเลขดังนี้:
1. เศรษฐกิจในขณะนี้ 89% แสดงว่าต่ำกว่าเกณฑ์ 100%
2. เศรษฐกิจในช่วงก่อนปิดเหมือง 111% แสดงว่าเมื่อก่อนดีกว่าพอสมควร
3. เศรษฐกิจในปี 2563 96% แสดงว่าส่วนใหญ่ยังเห็นว่าเศรษฐกิจจะติดลบ
5. บทวิเคราะห์และอภิปรายผล
ในการวิเคราะห์และอภิปรายผลนี้ เน้นให้เห็นถึงกรณีที่ว่ามีมลพิษเกิดขึ้นในชุมชนหรือไม่ โดยแจกแจงในแง่มุมต่าง ๆ ดังนี้:
5.1 สภาวะมลพิษ
เมื่อตอบคำถามว่าสภาวะมลพิษในชุมชนในขณะนี้เป็นอย่างไร ปรากฏว่า ที่ตอบว่าสถานการณ์สิ่งแวดล้อมดีขึ้น มลพิษลดลงมีเพียง 7% แต่ 93% ระบุว่าสภาพในปัจจุบันและก่อนปิดเหมือง มีสภาพเหมือนกัน คือไม่ได้แตกต่างกัน คือไม่ได้มีมลพิษดังที่เข้าใจกันนั่นเอง การปิดลงของเหมืองทองคำ ไม่ได้ทำให้สภาพมลพิษดีขึ้น เพราะไม่ได้สร้างมลพิษอย่างมีนัยสำคัญอยู่แล้วในความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่สุด
5.2 ความเห็นต่อการปิดเหมือง
อาจกล่าวได้ว่าประชากรเพียง 11% เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ส่วนใหญ่ถึง 89% ไม่เห็นด้วย และอยากให้เหมืองเปิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะจะได้เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ
จะเห็นได้ว่าแทบทุกหมู่บ้านประชากรเพียงส่วนน้อยมากที่เกรงจะมีมลพิษ อาจมีเพียงกลุ่มที่อยู่ใกล้ๆ เท่านั้นที่มีความกังวลเป็นพิเศษ
5.3 อาชีพกับความเห็นต่อการปิดเหมือง
แม้ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนน้อยเพียง 11% จะเห็นว่าไม่ควรปิดเหมือง แต่หากแยกแยะตามกลุ่มอาชีพ จะเห็นได้ว่า กลุ่มค้าขาย-อาชีพอิสระ มีสัดส่วนที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุดคือ 17% ซึ่งแม้เป็นส่วนน้อยก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ประชากรบางส่วนในกลุ่มนี้อาจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก อีกกลุ่มหนึ่งก็คือกลุ่มเกษตรกรรมที่ต้องการใช้น้ำไปทำนา
สำหรับเหตุผลของการเห็นด้วยกับการปิดเหมืองได้แก่: |
1. ฝุ่นละอองเยอะ |
21% |
2. กังวลเรื่องมลพิษ |
19% |
3. ชาวนาต้องการน้ำทำนา |
15% |
4. เสียงดังรบกวน |
15% |
5. รถบรรทุกเยอะ อันตราย |
10% |
6. ไม่มีเหมืองทำให้เงียบดี |
8% |
7. ถนนชำรุด |
4% |
8. มลพิษ น้ำไม่สะอาด |
4% |
9. เป็นผื่นตามตัว |
2% |
10. ให้อยู่แบบธรรมชาติแบบเดิมดีแล้ว |
2% |
ส่วนเหตุผลของการไม่เห็นด้วยกับการปิดเหมือง ต้องการให้เปิดเหมืองขึ้นใหม่ ก็ได้แก่: |
1. ขาดรายได้ |
24% |
2. ไม่มีงานประจำทำ |
21% |
3. ตกงาน |
15% |
4. เศรษฐกิจตกต่ำ |
15% |
5. ทำงานไกลบ้าน |
13% |
6. ค้าขายซบเซาลง |
3% |
7. ครอบครัวแตกแยก |
2% |
8. ไม่ได้อยู่กับครอบครัว |
2% |
9. ไม่มีมลพิษ |
2% |
10. ไม่มีเงิน-น้ำช่วยเหลือหมู่บ้าน |
1% |
11. รายได้ลด |
1% |
12. ขาดลูกค้า |
1% |
13. ภาระเพิ่มขึ้น |
1% |
จะเห็นได้ว่าปัญหาส่วนใหญ่เป็นปัญหาเศรษฐกิจ เหมืองทองคำอัคราถือเป็นแหล่งงานใหญ่ และการมีเมืองทำให้เศรษฐกิจในชุมชนดี ได้รับความช่วยเหลือด้วยดี แต่เมื่อไม่มีเหมืองก็ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และสังคมตามมามากมาย
6. บทสรุปและข้อเสนอแนะ
จากผลการสำรวจพบว่ามีเพียงประชาชนส่วนน้อย 11% ที่เห็นด้วยกับการปิดเหมืองทองคำ ประชาชนส่วนใหญ่ถึง 89% ต้องการที่จะให้เปิดเหมืองทองคำขึ้นใหม่เพราะเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ การปิดเหมืองยังส่งผลกระทบต่อครอบครัวอีกด้วย นอกจากนั้นประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังว่าสภาพแวดล้อมก่อนและหลังการปิดเหมืองก็ไม่แตกต่างกันแสดงว่าคงไมได้มีมลพิษเช่นที่เข้าใจ
ดังนั้นทางราชการจึงควรพิจารณา
6.1 ดำเนินการเปิดเหมืองขึ้นใหม่เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
6.2 ตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจตราให้เคร่งครัดในกรณีที่อาจถูกร้องเรียนต่างๆ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหามลพิษดังที่มีเสียงเรียกร้องจากประชาชนส่วนข้างน้อย
6.3 ขยายระยะเวลาสัมปทานออกไปอีก 2-3 ปีจากกำหนดการเดิม เพื่อชดเชยระยะเวลาที่ขาดหายไปจากคำสั่งปิดเหมือง และเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าปรับที่อาจจะเกิดขึ้นได้จากการสั่งปิดเหมืองที่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคเอกชนและภาคประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่
หากทางราชการไม่ได้ดำเนินการหรือดำเนินการล่าช้าก็จะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย และสร้างปัญหาอื่นมากยิ่งขึ้น เช่น ปัญหาสังคม ครอบครัวที่สมาชิกในครอบครัวต้องออกไปทำงานในพื้นที่อื่น เป็นต้น
7. การวิเคราะห์เปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งก่อน
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2559 คณะนักวิจัยได้สำรวจความเห็นของประชาชนมาครั้งหนึ่งแล้ว (https://bit.ly/1slFPir) และพบว่า
7.1 ประชาชนถึงสี่ในห้า (78%) ต้องการให้เหมืองเปิดดำเนินการต่อไป นี่คือความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่
7.2 ในแต่ละหมู่บ้านแทบไม่มีการระบุจำนวนผู้เสียชีวิตและป่วยที่คาดว่าจะมาจากมลพิษของการทำเหมืองทองคำในรอบ 3 ปีที่ผ่านมาเลย ประชาชนผู้ให้สัมภาษณ์หลายรายระบุว่า หลายคนเสียชีวิตเพราะโรคชรา ก็ถูกนำมาอ้างว่าเสียชีวิตเพราะมลพิษจากเหมืองทองคำ
7.3 สำหรับแนวทางการแก้ไขก็คือ ควรจัดหาที่อยู่ใหม่ให้กับประชาชนที่ไม่ต้องการให้มีเหมืองทองคำ ทั้งนี้ไม่พึงเกรงว่าจะทำให้เป็นการทำลายรากเหง้าชุมชน ซึ่งเป็นเรื่องเท็จ เพราะกรณีคนไทย จีนหรืออินเดียย้ายไปทั่วโลก วัฒนธรรมก็ตามไปด้วย ไม่ได้สูญหาย และควรดำเนินการสำรวจเป็นระยะ ๆ และเผยแพร่ให้ประชาชนในท้องถิ่นอื่น เช่น ในเขตกรุงเทพมหานครได้ทราบ จะได้เข้าใจการมีเหมืองและไม่ต่อต้าน ยิ่งกว่านั้นในการทำเหมือง รัฐบาลควรกำหนดเขตให้แน่ชัดแล้วทำการเวนคืนให้เรียบร้อย จะได้ไม่มีปัญหากับประชาชนบางส่วน
ภาคผนวก 1: แบบสอบถาม
ภาคผนวก 2: ภาพกิจกรรมสำรวจวิจัย
[คลิกดูภาพใหญ่]
[คลิกดูภาพใหญ่]
ภาคผนวก 3: คณะนักวิจัย
ประวัตินักวิจัย
ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย AREA
วิทยาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต ที่ดินที่อยู่อาศัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย
ประกาศนียบัตรการพัฒนาที่อยู่อาศัย มหาวิทยาลัยคาธาลิกลูแวง
ประกาศนียบัตรการประเมินค่าทรัพย์สิน สถาบันนโยบายที่ดินลินคอล์น
ผู้ช่วยนักวิจัย
นายนพวัชร คาร์บันดา เจ้าหน้าที่โรงเรียนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไทย
นักศึกษาผู้สำรวจ |
1 |
สถานีเพาะชำกล้าไม้ |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
2 |
บ้านคีรีเทพนิมิต |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
3 |
(หมู่บ้านโยกย้ายใหม่) |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
4-5 |
แยกเข้า ทล.1031 |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
6 |
วัดหนองขนาก |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
7-8 |
วัดนิคมราษฎร์บำรุง |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
9 |
วัดเนินทอง |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
10-11 |
วัดจิตเสื้อเต้น-วัดจีราพงศ์ |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
12 |
บ้านดงหลง |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
13 |
บ้านวังชะนาง |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |
14-15 |
บ้านใหม่คลองตาลัด |
|
|
สถานีอนามัยทุ่งยาว |
(ขอสงวนนามเนื่องจากเรื่องที่สำรวจเป็นประเด็นอ่อนไหว) |