Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
ดูทั้งหมด

10 ถ.นนทรี 5 ยานนาวา กทม.10120

24    ตุลาคม    2560

เรื่อง      ความเห็นแย้งต่อคำแถลงของอธิบดีกรมอุทยานฯ และโปรดพิจารณาให้สร้างเขื่อนแม่วงก์โดยด่วน

กราบเรียน      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำเนาเรียน     นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อ้างถึง   ข่าวแจกกระทรวงทรัพยากรฯ ลำดับที่ 6 ลว. 20 ตุลาคม 2560

                     ตามที่เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2560 กระผม (ดร.โสภณ) ได้แถลงว่า "ด่วน เปิดโปงป่าแม่วงก์ที่แท้มีแต่ไม้เล็กๆ ต้องสร้างเขื่อน (ถ่ายจากสถานที่จริง)" {1}  ปรากฏว่านายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาชี้แจงผ่าน "ข่าวแจกลำดับที่ 6 ลว.20 ตุลาคม" {2} ดร.โสภณ จึงทำหนังสือนี้ถึงนายกฯ และสำเนาถึงนายธัญญาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง และเพื่อให้ ฯพณฯ ได้โปรดพิจารณาสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยด่วน

                     คลิปวีดีโอที่ ดร.โสภณ ไปถ่ายทำถึงสถานที่จริง น่าจะเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนที่ถูกอ้างว่าเป็นป่าสมบูรณ์นั้น แท้จริงเป็นเพียงพื้นที่ที่เพิ่งฟื้นฟูขึ้นมาไม่นาน จึงมีแต่ไม้ต้นเล็ก ๆ ที่นำมาอ้างไม่ให้สร้างเขื่อน  อีกทั้งยังเป็นที่ตั้งของบ้านเรือนของประชาชนมาแต่เดิม และยังมีต้นมะพร้าวที่เคยปลูกไว้ปรากฏอยู่  ดร.โสภณ จึงขอนำเสนอข้อมูลหักล้างเพื่อยืนยันความเหมาะสมในการสร้างเขื่อนแม่วงก์ ดังนี้:

                     1. การที่นายธัญญาให้ข้อมูลว่าไม้รังในแปลงที่สำรวจมีความสำคัญในอันดับที่ 1 มีค่าความถี่สัมพัทธ์ (RF%) ความหนาแน่นสัมพัทธ์ (RD%) ความเด่นสัมพัทธ์ (RDO%) และค่าดัชนีความสำคัญ (IVI) ที่ 76.83 นั้น แต่ในความเป็นจริง ค่า IVI ดัชนีอาจสูงถึง 300 และผลการสำรวจอื่นก็พบตัวเลขที่แตกต่างจากที่นายธัญญาแสดง {3}

                     2. นายธัญญา ระบุลักษณะของป่าเสื่อมโทรมว่า "มีไม้ขนาดความโตวัดโดยรอบ. . .ตั้งแต่ 50-100 เซนติเมตรขึ้นไป. . .ไม่เกินไร่ละ 8 ต้น. . ." {4} เท่ากับว่า ถ้าในพื้นที่ 1 ไร่ มีต้นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 15.91 เซนติเมตรเพียง 9 ต้น ก็ถือว่าไม่เป็นป่าเสื่อมโทรม หรือเป็นป่าสมบูรณ์ ทั้งที่ในความเป็นจริง ต้นไม้ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางดังกล่าว เป็นไม้ที่เพิ่งปลูก/ฟื้นฟูขึ้นมาเพียง 10-20 ปีเท่านั้น {5}  ถ้าใช้มาตรฐานนี้พื้นที่ว่างที่ปล่อยรกร้างไว้สัก 10-20 ปีในใจกลางกรุงเทพมหานคร ก็มีสภาพเป็นป่ารกชัฏยิ่งกว่าในสถานที่สร้างเขื่อนแม่วงก์เสียอีก  หากพิจารณาจากสถิติของกรุงเทพมหานครพบว่ามีต้นไม้ยืนต้นจำนวน 6 ล้านต้น แสดงว่าในทุก 1 ไร่มีต้นไม้ 6.12 ต้น ทั้งที่ในกรุงเทพมหานครมีพื้นที่สีเขียวจำกัดมาก  ดังนั้นเกณฑ์ที่กำหนดว่าป่าเสื่อมโทรมมีต้นไม้ยืนต้นขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 15.91 เซนติเมตร ไม่เกิน 8 ต้น จึงเป็นการกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง


ที่มา: http://bit.ly/1PxgZUQ

 


ที่มา: http://bit.ly/2zpfFz8

 


ที่มา: http://bit.ly/2h4cxSD

                     3. ที่นายธัญญาอ้างเรื่องไม้ขนาดใหญ่นั้น ในพื้นที่สร้างเขื่อนแม่วงก์ มีจำนวนต้นไม้อยู่ทั้งหมด 697,922 ต้นนั้น มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียง 1,073 ล้านบาท {7} หรือเพียง 8% ของมูลค่าการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ นับเป็นปริมาณที่น้อยมาก และทางราชการจะร่วมกับชาวบ้านปลูกทดแทนอีก 3 เท่าตัว {8} ที่สร้างเขื่อนแต่เดิมเคยเป็นพื้นที่สัมปทานตัดไม้ และมีประชาชนอาศัยอยู่ 200 ครัวเรือน หากประมาณการจากเมื่อปี 2525 หรือ 30 ปีก่อนหน้ารายงาน EHIA ปี 2555 จะพบว่า ไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 30 เซนติเมตร จะไม่มีเมื่อ 30 ปีก่อน

                     ส่วนไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30-60 เซนติเมตร ก็คือไม้ขนาด 30-60 เซนติเมตรในปี 2555 แต่หากคิดเฉพาะที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางขนาด 15.91 เซนติเมตรหรือ 16 เซนติเมตรขึ้นไปตามมติ ครม.เรื่องป่าเสื่อมโทรมตามข้อ 2  ซึ่งถือเป็นไม้ขนาดใหญ่ ก็จะเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง (ของบรรทัดที่ 10) ดังนั้นเมื่อรวมกับไม้ที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตรขึ้นไป จึงมี 101,198 ต้น หรือตกไร่ละ 8.19 ต้นเท่านั้น แสดงชัดว่าเมื่อครั้งแรกที่จะก่อสร้างเขื่อนในปี 2525 พื้นที่นี้ยังเป็นป่าเสื่อมโทรมอยู่เลย  แต่ด้วยการชะลอเวลาเรื่อยมา จึงทำให้ต้นไม้โตขึ้นตามลำดับ  แต่โดยที่พื้นที่นี้จำเป็นต้องใช้เพื่อการสร้างเขื่อน การพยายามฟื้นฟูป่าในบริเวณนี้เพียงเพื่อการห้ามสร้างเขื่อน จึงเป็นการใช้ทรัพยากรของชาติไปอย่างสูญเปล่า ควรไปฟื้นฟูป่าในบริเวณอื่นที่แต่ละปีถูกทำลายปีละนับล้านไร่ {9} จะดีกว่า

                     4. ที่นายธัญญา ว่า "สาเหตุของน้ำท่วมและภัยแล้งนั้น มิได้อยู่ที่การจะสร้างเขื่อนหรือไม่" แต่หากพิจารณาจากส่วนราชการอื่น เช่น กรมชลประทานต่างก็ศึกษาตามหลักวิชาการโดยครบถ้วนว่าควรสร้างเขื่อนเพื่อแก้ไขปัญหานี้ {10} หากถามความเห็นของประชาชนในพื้นที่ ก็จะพบว่า จากผลการสำรวจ 3 รอบ ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนนี้ {11} เราจึงควรเคารพภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยเช่นกัน

                     5. ข้อเสนอแนวทางแก้ไขของนายธัญญาไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ที่ดินแถวนั้นล้วนเหมาะแก่การปลูกพืชไร่ ไม่มีใครปลูกพืชรากลึกเลยตามที่นายธัญญาเสนออย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ถ้าวิธีนี้ทำได้จริง ก็คงไม่ต้องรอเขื่อนแล้ว  การขุดสระขนาดเล็ก ก็ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไร้ประสิทธิภาพ {12} ยิ่งกว่านั้นยังมีการอ้างอิงกันว่าหากสร้างเขื่อนแล้วไม่มีน้ำจะทำอย่างไร  ข้อนี้ได้มีการพิสูจน์แต่ชัดแล้วว่า ในแต่ละปีมีน้ำไหลมารวมกันเพียงพอ และภายในเวลาไม่กี่ปี ก็จะสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                     6. ในแถลงของนายธัญญายังพาดหัวว่า ดร.โสภณ ในฐานะ "บริษัทเอกชนด้านอสังหาริมทรัพย์" ข้อนี้ ดร.โสภณ เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ไม่ใช่นายหน้าหรือไม่ได้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เองเป็นสำคัญ และถึงแม้เป็นบริษัทเอกชน ก็รักป่าไม้ โดย ดร.โสภณ เคยจัดประกวดเรียงความชิงโล่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในเรื่องการรักษาป่าไม้ จนได้รับหนังสือชมเชยจากอธิบดีกรมป่าไม้ {13} และจัดพิมพ์หนังสือโดยไม่คิดมูลค่ารณรงค์ในด้านนี้อีกด้วย {14}  ยิ่งกว่านั้น ดร.โสภณ ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการสร้างเขื่อน อย่างไรก็ตามการปล่อยให้ป่าขาดการดูแลเท่าที่ควร อาจกลายเป็นแหล่งในการหาผลประโยชน์/แอบตัดไม้ทำลายป่าของคนบางกลุ่มโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับป่าไม้เอง {15}

                     ในการก่อสร้างเขื่อนนั้น ทางราชการควรตระหนักว่าเขื่อนสำคัญๆ ของไทย ล้วนสร้างบนภูเขา แม้จะต้องตัดต้นไม้ไปส่วนหนึ่ง แต่ก็พิสูจน์ให้เห็นชัดว่าการสร้างเขื่อนมีประโยชน์อเนกอนันต์ทั้งเขื่อนภูมิพล {16} เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนรัชชประภา ฯลฯ  การสร้างเขื่อนแม่วงก์จึงไม่ได้ทำลายป่าไม้ ซึ่งหากมีการก่อสร้างแต่แรก ก็มีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมอย่างชัดเจน  และแม้ถึงวันนี้เมื่อมีการสร้างเขื่อน ก็จะทำให้เกิดความชุ่มชื้นมากขึ้น ทำให้ป่าไม้อุดมสมบูรณ์กว่าเดิม มีอาหารให้สัตว์ป่าได้ขยายพันธุ์อีกด้วย  และเขื่อนเป็นปราการป้องกันการเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า

                     สำหรับต่อประชาชนคนเล็กคนน้อย เขื่อนจะช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วม ฝนแล้ง มีผลดีต่อการชลประทาน ผลิตไฟฟ้า ผลิตน้ำประปาได้ ทำการประมง การท่องเที่ยว พื้นที่ก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ก็อยู่ตรงบริเวณชายของป่าแม่วงก์ ก็เป็นป่าเต็งรังซึ่งเป็นป่าโปรงเป็นหลัก การเสียที่ดินขนาดเพียง 1/1,000 เท่าของผืนป่าตะวันตกในบริเวณนี้จึงคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่ง เมื่อมีน้ำมากขึ้น ย่อมจะสามารถทำให้โดยรอบชุ่มชื้น ขยายพื้นที่ป่าได้อีกมหาศาลกว่านี้

                     การที่ไม่มีเขื่อนมาเป็นเวลานานถึงกว่า 30 ปี ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น  ฝายที่พยายามสร้างทดแทนไร้ประสิทธิภาพ ประชาชนต้องขุดบ่อบาดาลเอง โดยเสียค่าใช้จ่ายนับหมื่นๆ บาท น้ำที่ได้ก็มีสนิม ไม่อาจดื่มได้ {17}  ในกรณีน้ำท่วม ชาวนาก็ต้องรีบเกี่ยวข้าวขายขาดทุนเหลือเกวียนละ 3,000-4,000 บาท แต่ละปีรัฐบาลต้องชดเชยให้ประชาชนในพื้นที่จากภัยแล้งและน้ำท่วมหลายร้อยล้านบาทต่อปี หากนำเงินเหล่านี้มาสร้างเขื่อนก็คงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยแก่ประชาชน ซึ่งหากประชาชนมีน้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ก็ยิ่งจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศชาติได้มากกว่านี้

                     จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอกราบขอบพระคุณ มา ณ โอกาสนี้

 

ด้วยความเคารพ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)

อ้างอิง

{1} อ่านที่ http://bit.ly/2yzin7G ฟังที่ https://youtu.be/W3Hkuubzbmo

{2} http://bit.ly/2zElKsr

{3} วิทยานิพนธ์ของ น.ส.วิสา พิลึก (http://bit.ly/2iv5buL) ในป่าแม่วงก์ พบไม้เต็งมีค่า IVI มากกว่าไม้รังที่มีค่า IVI ที่ 60.01 ไม่ใช่ 76.83

{4} ตามมติ ครม. 9 พฤษภาคม 2532 (https://goo.gl/Ac9cl) ซึ่งออกหลังมีความพยายามสร้างเขื่อนแม่วงก์โดยกรมชลประทานที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2525 (https://goo.gl/ArgvAe)

{5} http://bit.ly/1PxgZUQ และ Link เพิ่มเติมจากแหล่งอื่นๆ

{6} จำนวน 3,186,640 ต้น คาดว่าเฉพาะต้นไม้ของกรุงเทพมหานคร (http://bit.ly/2y0fkqq) เพราะกรุงเทพมหานครทราบว่าส่วนใหญ่ล้อมมาปลูกโดยไม่มีราก  ดังนั้นหากรวมต้นไม้ของเอกชนด้วย อาจมีจำนวนอีกมาก ในทีนี้จึงประเมินไว้ที่ 6,000,000 ต้น

{7} http://bit.ly/1Prlq4r

{8} โปรดดูรายงานข่าวนี้ที่ http://bit.ly/2y2yLde

{9} การสูญเสียพื้นที่ป่า http://bit.ly/2zLtXuW

{10} http://bit.ly/2yxyEKU

{11} http://bit.ly/2c17hdD

{12} ดูกรณีคลองสาลี http://bit.ly/1QBK1iX

{13} http://bit.ly/2yxzrM8

{14} http://bit.ly/2grXt0c

{15} แอบตัดไม้ทำลายป่าโดยเจ้าหน้าที่ป่าไม้และอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ (http://bit.ly/2yw8nwD http://bit.ly/1SPdr3x http://bit.ly/2xUjHDb http://bit.ly/1Tkdeoy http://bit.ly/2gxSezN เป็นต้น)

{16} ผลิตไฟฟ้า ชดเชยการนำเข้าน้ำมันเตาได้ 342,418.16 ล้านบาท ชลประทานกว่า 10 ล้านไร่ ประมงมูลค่า 427.37 ล้านบาท ส่งเสริมการท่องเที่ยว (27 ล้านคน) (http://bit.ly/2fxLqNc)

{17} http://goo.gl/7h8Ljk

Area Trebs