Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
ดูทั้งหมด
ที่ TAF.07/001/2550

2    กรกฎาคม     2550

เรื่อง                    ขอนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชน

กราบเรียน            ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

สำเนาเรียน          สมาชิกสภาฯ รัฐมนตรีและหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง

สิ่งที่ส่งมาด้วย      ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชน

                          เนื่องด้วยกระผมได้จัดทำข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชนข้างต้น ซึ่งมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการประเมินค่าทรัพย์สินและการบริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย จึงทำหนังสือนี้มาแสดงความคิดเห็น เพื่อหวังจะเป็นประโยชน์ต่อการออกพระราชบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม

                          อนึ่ง มูลนิธิเป็นองค์กรวิชาการสาธารณประโยชน์ที่ไม่แสวงหากำไร มุ่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์ ภาษีทรัพย์สินและการพัฒนาเมือง โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับมูลนิธิได้ที่ http://www.thaiappraisal.org

                          จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา

(ดร.โสภณ พรโชคชัย)

ประธานกรรมการ

ฝ่ายประสานงาน:
น.ส.นงลักษณ์ จตุเทน หรืออาจารย์อติณัช ชาญบรรยง
ฝ่ายอำนวยการ โทร. 0.2295.3171

สภาองค์กรชุมชน: ควรมีไหม?
พิมพ์เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ online ประชาไท มิถุนายน 2550 

รูปแบบการปกครองท้องถิ่นที่เป็นประชาธิปไตยควรเป็นอย่างไรดี เมื่อเร็ว ๆ นี้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้นำเสนอร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี สภาองค์กรชุมชนจะเป็นทางออกของปัญหาการปกครองท้องถิ่นที่ยังขาดประสิทธิภาพและยังถูกควบคุมโดยส่วนกลางได้หรือไม่

ร่างพระราชบัญญํติสภาองค์กรชุมชน
                          "ร่างบันทึกหลักการและเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน" ฉบับที่เสนอคณะรัฐมนตรี 5 มิถุนายน 2550 <3> มีสาระที่น่าสนใจซึ่งขออนุญาตวิเคราะห์ไว้ตามมาตราดังนี้:

                          มาตรา 3 "ชุมชน" หมายความว่า กลุ่มคนที่มีวิถีชีวิตเกี่ยวพันกัน และมีการติดต่อสื่อสารระหว่างกันอย่างเป็นปกติและต่อเนื่อง โดยเหตุที่อยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน หรือมีอาชีพเดียวกันหรือประกอบกิจกรรมที่มีวัตถุประสงค์ร่วมกัน หรือมีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน
                          ข้อวิจารณ์: ในกระแสโลกาภิวัฒน์ปัจจุบัน แม้แต่หมู่บ้านชนบทก็ยังไม่แน่ว่าจะ "มีวัฒนธรรม ความเชื่อ หรือความสนใจร่วมกัน" จริงหรือ

                          มาตรา 3 "องค์กรชุมชน" หมายความว่า กลุ่มคนที่มีระบบการจัดการที่สมาชิกของชุมชนจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการร่วมกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชุมชนนั้น
                         ข้อวิจารณ์: กลุ่มที่ตั้งขึ้นอาจไม่ใช่ตัวแทนของประชาชนส่วนใหญ่ เช่น อาจมีแม่บ้านเพียง 30 คน จากแม่บ้านทั้งหมด 100 คนใน 120 ครอบครัว (บางครอบครัวอาจไม่มีแม่บ้าน) ตั้งกลุ่มแม่บ้าน หรือกลุ่มอาชีพของชุมชนหนึ่งขึ้น กลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มอาชีพนี้ ไม่ได้มีสมาชิกเป็นแม่บ้านหรือชาวบ้านส่วนใหญ่ และก็อาจเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะร่วมกันเท่านั้น ที่สำคัญเป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นนี้มีวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่ได้มุ่งหวังจะมาตรวจสอบหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการปกครองส่วนท้องถิ่น การนำกลุ่มเหล่านี้มาข้องแวะกับการปกครอง จึงดูผิดการหน้าที่ไปหรือไม่

                          มาตรา 3 "หมู่บ้าน" หมายความว่า หมู่บ้านตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะการปกครองท้องที่ และให้หมายความรวมถึงชุมชนที่จัดตั้งขึ้นตามประกาศของทางราชการ
                          ข้อวิจารณ์: เชื่อว่าหมู่บ้านจัดสรร นิติบุคคลบ้านจัดสรร และนิติบุคคลอาคารชุดในเขตเมืองซึ่งมีนับหมื่นแห่งคงยังไม่ได้เป็น "ชุมชน" ตามประกาศ อาจทำให้ประชาชนจำนวนมากถูกกันออกไปจากร่าง พรบ.ฉบับนี้

                          มาตรา 5 ในตำบลหนึ่งให้มีสภาองค์กรชุมชนตำบลสภาหนึ่ง และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ การจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบลตามวรรคหนึ่ง ให้พิจารณาถึงความพร้อมของราษฎรในตำบล และต้องมีผู้แทนองค์กรชุมชนเข้าร่วมจากหมู่บ้านในตำบลอย่างน้อยร้อยละหกสิบของจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดในตำบลนั้น
                          ข้อวิจารณ์: ถ้าในตำบลหนึ่งมี 10 หมู่บ้าน มีกลุ่มแม่บ้านหรือกลุ่มอาชีพในฐานะ "องค์กรชุมชน" ของ หมู่บ้าน 6 แห่ง มาร่วมประชุมโดยไม่มี "องค์กรชุมชน" แบบอื่น จะตั้งสภาชุมชนได้หรือไม่ หรือแม้มีกลุ่มอื่น ๆ อีกบางกลุ่มมาร่วมตั้งด้วย แต่กลุ่มเหล่านี้อาจเป็นเพียงกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะและไม่ได้มีสมาชิกเป็นชาวบ้านส่วนใหญ่จริง การตั้งสภาชุมชนตำบลจะบรรลุตามเจตนารมย์หรือไม่

                          มาตรา 6 สภาองค์กรชุมชนตำบล ประกอบด้วย (1) สมาชิกซึ่งเป็นผู้แทนขององค์กรหมู่บ้าน... หรือได้มาตามจารีต ขนบธรรมเนียมประเพณี หรือตามวิถีของชุมชนหรือหมู่บ้าน... (2) สมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ... การสรรหาและแต่งตั้งสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิ ให้สมาชิกตาม (1) ดำเนินการสรรหาและแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน...
                          ข้อวิจารณ์: เป็นเรื่องที่ยากจะตัดสินหา "(กึ่ง) อริยบุคคล" มาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และคงต้องศึกษาในรายละเอียดถึงความเป็นไปได้ในการแสวงหา "ผู้ทรงคุณวุฒิ" เหล่านี้ (ความเห็นของคุณรสนา โตสิตระกูล ผู้อภิปรายท่านหนึ่ง)

                          เรื่องอำนาจหน้าที่ในการร่วมจัดทำแผน ตามอำนาจหน้าที่ของสภาองค์กรชุมชนตำบลและจังหวัด ระบุไว้ว่า "เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาตำบลเพื่อพัฒนาท้องถิ่น" (มาตรา 19 (2)) และ "เข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อพัฒนาจังหวัด" (มาตรา 25 (2))
                          ข้อวิจารณ์: การเข้าไปมีส่วนร่วมนี้เป็นในระดับไหน ไปร่วมอนุมัติแผนด้วยหรือไม่ และโดยนัยนี้เป็นการแทรกแซงการทำงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท) ในปัจจุบันหรือไม่ และสมควรดำเนินการหรือไม่

                          เรื่องอำนาจหน้าที่ในการให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม กฎหมายและการเมือง รวมทั้งการจัดทำบริการสาธารณะของหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (มาตรา 19 (3), มาตรา 25 (3) และมาตรา 30 (2))
                          ข้อวิจารณ์: อปท. จำเป็นต้องปฏิบัติตามความเห็นหรือข้อเสนอแนะหรือไม่ หากจำเป็น จะเป็นการแทรกแซง อปท. หรือไม่ หากไม่จำเป็น บทบาทของสภาองค์กรชุมชนก็มีความหมายน้อยมาก และในอีกประเด็นหนึ่งที่พึงพิจารณาก็คือ ในส่วนของสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ อำนาจหน้าที่ข้างต้นนี้ซ้ำซ้อนกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่มีอยู่ในปัจจุบันหรือไม่

                          เรื่องอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบอำนาจรัฐ  โดยระบุไว้ว่า "ส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ" (มาตรา 19 (7), มาตรา 25 (6) และมาตรา 30 (6))
                          ข้อวิจารณ์: "ส่งเสริมและสนับสนุน" อย่างไร ถือเป็นการแทรกแซงทางการเมืองหรือไม่ และที่สำคัญในร่าง พรบ.ฉบับนี้ก็ไม่ได้ให้คำนิยามของคำว่า "องค์กรภาคประชาชน" ไว้

                          มาตรา 33 ให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดตั้งและพัฒนากิจการของสภาองค์กรชุมชน
                          ข้อวิจารณ์: องค์กรชุมชนเกี่ยวพันกับการปกครองส่วนท้องถิ่นนี้ จึงควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงมหาดไทยหรือไม่ ความพยายามของรัฐบาลคือการลดความซ้ำซ้อนของหน่วยราชการ การให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนเป็นผู้ดูแล เป็นสิ่งที่สมควรหรือไม่ หรือควรเป็นหน้าที่โดยตรงของกรมการพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง หรือกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งสังกัดกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว หรือควรโอนสถาบันข้างต้นไปสังกัดกระทรวงมหาดไทยแทน ยิ่งกว่านั้นกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ควรโอนงานจัดการชุมชนให้กับกระทรวงมหาดไทยในฐานะที่ดูแล อปท. อยู่ก่อนแล้วหรือไม่ การที่มีภาพความขัดแย้ง <4> ในร่าง พรบ. ฉบับนี้เป็นการสะท้อนปัญหาความไม่เชื่อถือหรือการแย่งงานกันระหว่าง (ข้าราชการในแต่ละ) กระทรวงหรืออย่างไร

จับความจากการอภิปราย
                          เมื่อบ่ายวันพุธที่ 13 มิถุนายน 2550 ได้มีการอภิปราย "เวทีนโยบายสาธารณะ สภาองค์กรชุมชน: ประชาธิปไตยชุมชน" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีผู้ทรงคุณวุฒิหลายท่านให้ความเห็นที่น่าสนใจ จึงขอสรุปและแสดงความเห็นไว้ดังนี้:
                          รศ.ดร.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระทำโดยมีความมุ่งหวังฟื้นธรรมาภิบาล และเห็นว่าการยุบพรรคเป็นการเริ่มสร้างธรรมาภิบาล เพราะตุลาการทั้ง 9 ท่านล้วนแต่เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ระดับสูงสุดของประเทศ ประชาธิปไตยโดยระบบตัวแทนอาจไม่ใช่คำตอบ สภาองค์กรชุมชนจึงถือเป็นการกระจายอำนาจให้กับประชาชน
                          สมมติฐานข้างต้นนี้สมควรทบทวนเรื่องหลักเหตุผลให้จงหนัก เพราะความมุ่งหวังดังกล่าวจะจริงหรือไม่ ยังสรุปไม่ได้ เป็นสิ่งที่ต้องพิสูจน์จากผลงาน แต่รัฐประหารเป็นวิธีการนอกกติกาสากล เป็นการใช้กำลังอาวุธและขัดรัฐธรรมนูญ และถือเป็นการอธิบายที่ยึดตัวบุคคลมากกว่าหลักเหตุผล
                          คุณรสนา โตสิตระกูล ผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีชื่อเสียง เห็นว่าสังคมไทยมีวงจรที่ไม่ดี คือ มี "ฉ้อราษฎร์บังหลวง—รัฐประหาร—ฉ้อราษฎร์บังหลวง—รัฐประหาร"
                          นี่เป็นการอธิบายที่น่าสนใจมาก แต่ในความเป็นจริง เราอาจไม่สามารถอธิบายปัญหาบ้านเมืองที่ซับซ้อนได้ด้วยแบบจำลองง่าย ๆ เท่านี้ เพราะที่ผ่านมา ก็ไม่อาจพิสูจน์ได้ว่ารัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ฉ้อราษฎร์บังหลวงจริง <5> สำหรับรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนเท่านั้น ยังไม่อาจสรุปได้
                          ท่านยังตั้งข้อสังเกตต่อที่ประชุมว่าสมัยเป็นเด็กนักเรียน ไม่ค่อยมีใครยกมืออยากเป็นหัวหน้าห้อง โดยนัยนี้คนดีมีคุณธรรมอาจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมมติฐานนี้อาจใช้ในสังคมผู้ใหญ่ไม่ได้ เพราะถ้าใครดีและเห็นแก่ส่วนรวมจริง ก็ควรสมัคร (เช่นคุณรสนา) แต่ถ้าใครไม่คิดสมัคร ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล จะไปกะเกณฑ์ คงไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม การจะมารับตำแหน่งโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง (แต่จะอาศัยกระบวนการลากตั้งหรือสรรหา) ก็คงผิดหลักประชาธิปไตย
                          ครูสน รูปสูง ผู้นำชุมชน เห็นว่า การเลือกตั้งไม่ได้ทำให้ได้ตัวแทนของคนส่วนใหญ่ เช่น ในการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้าน อาจมีคนสมัคร 4 คน คนที่ได้คะแนนสูงสุด อาจได้คะแนนไม่ถึงกึ่งหนึ่งของผู้มาเลือกตั้ง
                          ข้อนี้คงไปห้ามไม่ให้มีผู้สมัครเกินกว่า 2 คนไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงถือตามเสียงที่มีจำนวนมากที่สุด (the largest proportion) ไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ เว้นแต่จะใช้วิธีซาวเสียงแล้วค่อยให้ผู้ได้คะแนนเสียงที่ 1 และ 2 มาเสนอให้ประชาชนลงคะแนนอีกครั้งเพื่อให้ได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่ง
                          ทั้งครูสน และผู้ใหญ่ชาติชาย เหลืองเจริญ แห่งบ้านจำรุง (ระยอง) ต่างเห็นว่า การเลือกตั้งทำให้เกิดความแตกแยก ถึงขนาด "ยกโคตร ยกหมู่บ้าน สู้กัน" เลย และใช้เงินจำนวนมาก ปรากฏการณ์เช่นนี้คงเป็นเพราะมีผู้หวังเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์จากการบริหาร อปท. แต่ปัญหานี้ต้องแก้ไขที่การบริหารและระบบตรวจสอบ การสร้าง "สภาองค์กรชุมชน" อาจไม่ใช่กลไกการแก้ปัญหาที่ตรงจุด ครูสนเองก็ยังไม่แน่ใจว่าในอนาคตสภาองค์กรชุมชนจะปลอดจากการแทรกแซงจากการเมืองหรือไม่
                          ผู้ใหญ่ชาติชาย ได้ให้ความเห็นว่า การพูดหรือเจรจากันให้เข้าใจกันดีกว่าการยึดหรือสู้กันตามกฎหมาย เช่น เจ้าของที่ดินแปลงหนึ่งในหมู่บ้านถูกเพื่อนบ้านปล่อยน้ำเสียเข้าที่ดินของตน จึงคิดจะฟ้องร้องตามกฎหมายกับอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ท่านให้ข้อคิดว่า ควรจะช่วยกันระบายน้ำเสียออกจากที่ดินโดยเร็วก่อนแล้วมาคุยกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกจะดีกว่า ท่านว่าขืนไปฟ้องร้องกันแต่แรก จะยิ่งไม่ยอมรับกัน ท่านจึงเห็นควรให้มีสภาองค์กรชุมชนเพื่อการปรึกษาพูดคุยกัน
                          การพูดคุยกันในชั้นตนถือเป็นกลยุทธ์เพื่อจะได้ไม่บานปลาย อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถตกลงกันได้ด้วยความสามารถในการเจรจา ก็ต้องพึงศาล ปกติประชาชนไม่อยากมีเรื่องถึงโรงถึงศาล ก็เพราะไม่ต้องการเสียค่าใช้จ่ายและเวลาโดยเฉพาะในการบังคับคดี ปรากฏการณ์ที่ผู้ใหญ่ชาติชายยกขึ้นมานี้ แสดงให้เห็นถึงความเสื่อมถอยของการบริหารระบบยุติธรรมจนทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่น เราจึงควรปรับปรุงการบริหาร ไม่ใช่ปฏิเสธไปทั้งระบบ
                          ครูสน ให้ความเห็นว่าอยากให้มีสภาองค์กรชุมชน เพื่อทำให้องค์กรชุมชนที่มีอยู่ไม่ใช่หน่วยงาน "เถื่อน" ข้อนี้ถ้าเพื่อการทำนิติกรรม องค์กรชุมชนก็สามารถจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์หรืออื่นใดได้อยู่แล้ว แต่ถ้าหมายถึงการเป็นตัวแทนของประชาชนในทางการเมืองนั้นคงไม่ได้ ความ "เถื่อน" นั้นอยู่ที่ว่าประชาชนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ ก็ "เถื่อน" อยู่ดี ตัวอย่างเช่น ในช่วงการเรียกร้องทางการเมือง มักจะมีกลุ่มหรือองค์กรเกิดขึ้นมากมาย ถ้าองค์กรเหล่านี้ไม่มีสมาชิกที่ชัดเจนหรือมีสมาชิกแบบ "เวียนเทียน" กัน ก็ถือเป็นองค์กร "เถื่อน" และไม่ถือเป็นการดำเนินงานขององค์กรที่มีความเป็นประชาธิปไตยเพราะเคลื่อนไหวเฉพาะส่วนหัวไม่กี่คน องค์กรจะไม่เถื่อนก็ต่อเมื่อสมาชิกมีฉันทานุมัติด้วย
                          กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจและคล้ายกับสภาองค์กรชุมชนที่กำลังถกเถียงกันก็คือ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่สมาชิกได้มาจากการสรรหา <6> การสรรหาเช่นนี้ได้สมาชิกที่ประชาชนทั่วไปรู้สึกเป็นเจ้าของหรือไม่ หากประชาชนมีสิทธิเลือกเอง ประชาชนจะรู้สึกมีความเป็นเจ้าของมากกว่าการสรรหาผ่านองค์กรสารพัดซึ่งไม่ใช่องค์กรที่มีประชาชนส่วนใหญ่เป็นสมาชิก
                          อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเจนก็คือสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้มาจากทั้งการสรรหาและการแต่งตั้ง ประชาชนคงไม่รู้สึกเป็นเจ้าของหรือเห็นว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นตัวแทนของตนที่จะมารับฟังตน เพราะในอดีตที่ผ่านมาประชาชนยังเคยได้รับสิทธิในการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรงด้วยตนเอง
                          คุณไพโรจน์ พลเพ็ชร สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่าที่ผ่านมา อปท. ถูกทางราชการควบคุมโดยเฉพาะในด้านแผนงานพัฒนาและงบประมาณ แม้แต่ปลัด อบต. ก็ยังถูกส่งมาจากทางราชการ ทำให้ อปท. ขาดอิสระ ครูสนเห็นว่าหาก อปท. มีอิสระกว่านี้ ก็ไม่จำเป็นต้องมี พรบ.สภาองค์กรชุมชน ฉบับนี้ ดังนั้นปัญหาสำคัญจึงเป็นสถานะและบทบาทที่ควรได้รับการปรับปรุงของ อปท. ในปัจจุบัน การตั้งสภาองค์กรชุมชนขึ้นมาอีกจึงอาจไม่ใช่ทางออก

ความเห็นต่อกรณีตัวอย่าง
                          ในเอกสารประกอบการอภิปรายนี้ มี "ตัวอย่างพื้นที่รูปธรรม" เกี่ยวกับสภาองค์กรชุมชน ซึ่งมีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้:
                          อบต.น้ำเกี๋ยน (น่าน) <7> ในเอกสารเขียนว่า "การบริหารจัดการต่าง ๆ ที่ถูกออกแบบมาจากรัฐ เป็นสิ่งที่คนในชุมชนไม่ได้ร่วมคิดและตัดสินใจ หลายอย่างจึงไม่สอดคล้องกับชุมชน เช่น โครงการลานกีฬา สร้างเสร็จแล้วกลายเป็นลานตากข้าวโพดของชาวบ้าน ไม่มีใครเล่น เพราะไม่ตรงกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน" ข้อนี้น่าแปลกเพราะเมื่อครั้งสร้างลานกีฬา ทางราชการก็คงได้ปรึกษาผู้นำชุมชนอยู่บ้าง คงไม่ใช่การตัดสินใจของรัฐฝ่ายเดียวกระมัง การที่ยังไม่มีผู้ใช้บริการ อาจเป็นเพราะยังขาดการส่งเสริมหรือไม
่                          อบต.แม่ทา (เชียงใหม่) มีระบบการเมืองแบบชาวบ้านอุปถัมภ์ผู้นำ โดยระบุว่า "เมื่อชาวบ้านฆ่าวัวจะเอาไส้ให้กำนันกินก่อน หรือลาบเนื้อก็ต้องเอาเนื้อให้กำนันก่อน กำนันแทบไม่ต้องทำนาเองเพราะชาวบ้านช่วยกันลงแรง ทำให้ตั้งแต่ปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว" กรณีศึกษานี้คงเป็นข้อยกเว้นในอดีต ที่ไม่อาจลอกเลียนแบบโดยชุมชนอื่นหรือชุมชนนี้เองในปัจจุบัน
                          อบต.บ้านต๊ำ (พะเยา) นำเสนอว่า "ไม่มีความรุนแรงในการเลือกตั้ง เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนอยู่กันแบบพี่น้อง ทุกคนรู้จักกันหมด..." กรณีนี้ก็อาจเป็นข้อยกเว้น เนื่องจากความมักคุ้นกันเอง หรือในอนาคตอาจมีผู้ขันอาสาเพิ่มขึ้นซึ่งไม่ควรไปหักห้าม ส่วนกรณีที่ นายก อบต. ที่ได้รับเลือกตั้งยังแต่งตั้งคู่แข่งเป็นที่ปรึกษานั้น นับเป็นความคิดริเริ่มที่ดีแต่ก็เป็น "เกม" อย่างหนึ่ง ที่ปรึกษาอาจไม่ได้รับการปรึกษาก็ได้และไม่ใช่ผู้ตัดสินใจอะไร ดังนั้นหากสภาองค์กรชุมชนที่คิดตั้งมีฐานะเป็นเพียงที่ปรึกษา ก็คงไม่มีความหมายมากนัก
                          กรณีชุมชนตัวอย่างอื่นก็คล้ายกัน คือที่ไม่ค่อยมีปัญหาการเลือกตั้งก็เป็นเพราะเป็นชุมชนขนาดเล็ก เช่น ชุมชนมุสลิมบ้านหัวควน (ปัตตานี) อบต.แม่เจ้าอยู่หัว (นครศรีธรรมราช) ที่ "ล้วนแต่เป็นเครือญาติ" แต่บางแห่ง เช่น อบต.ควรรู (สงขลา) แม้เป็นญาติก็ยังขัดแย้งกัน แต่ในภายหลังชุมชนนี้ก็มีการพูดคุยกันก่อนสมัคร เป็นการกรองผู้สมัครชั้นหนึ่งก่อนเพื่อลดการแข่งขัน ซึ่งคล้ายกับ อบต.ไร่สีสุก ที่คณะผู้สมัครคู่แข่งมาขอเจรจาก่อนเพราะคาดว่าจะสู้ไม่ได้ หรือที่ อบต.หนองแวงโสกพระ (ขอนแก่น) ก็มีการให้การศึกษากับผู้สมัครแข่งขัน ถือเป็นการซาวเสียงคัดสรรผู้สมัครให้เหลือน้อยคนไปในตัวด้วย
                          ตัวอย่างข้างต้นน่าสนใจ แต่ก็ใช่จะถือเป็น "แบบอย่าง" ที่ชุมชนอื่นควรเจริญรอยตามเสมอไป

รูปแบบ อปท. ที่น่าจะเป็น
                          ในปัจจุบันก็มีความทับซ้อนกันอยู่พอสมควรระหว่างกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และ อปท. และในอนาคตหากมีสภาองค์กรชุมชน ความทับซ้อนอาจยิ่งมีมากขึ้นอีก ความจริงควรมีการสังคายนาการปกครองส่วนท้องถิ่นใหม่เพื่อสลายความทับซ้อนนี้และให้การปกครองส่วนท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แต่ประเด็นนี้เป็นปัญหาการเมืองที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ ทำให้แก้ไขได้ยาก
                          อปท. ควรมีความเป็นอิสระจริงเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถปกครองตัวเอง เพื่อสถาปนาระบอบและจิตสำนึกประชาธิปไตยขั้นพื้นฐานทั่วประเทศ ความเป็นอิสระประการสำคัญที่สุดก็คือ อิสรภาพทางการเงิน อปท. จะมีอิสรภาพนี้ได้ก็ต่อเมื่อสามารถเป็นผู้จัดเก็บและบริหารภาษีทรัพย์สินภายในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น
                          ทุกปี ผู้เขียนในฐานะผู้แทนของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติในประเทศไทย <8> ได้พา อปท. หน่วยราชการตลอดจนสถาบันการเงินในประเทศไทย ไปสัมมนาและดูงานการประเมินค่าทรัพย์สินเพื่อการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในเมืองหลายแห่งในสหรัฐอเมริกา <9> ในแต่ละเมืองที่ไปนั้น อปท. ของแต่ละท้องถิ่น จัดเก็บภาษีทรัพย์สินประมาณ 1.5% ของมูลค่าตลาดทรัพย์สินมาใช้เพื่อการบริหารท้องถิ่น
                          จากการศึกษาของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยพบว่า ประเทศไทย ณ ปี 2550 มีทรัพย์สินเฉพาะที่อยู่อาศัยทุกประเภทและที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม รวมกันเป็นเงินถึง 47.534 ล้านล้านบาท <10> หากเก็บภาษีเป็นเงินเพียง 1.2% ต่อปี ก็จะเป็นเงินถึง 713,010 ล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณแผ่นดินไทยในปี 2550 ถ้า อปท. สามารถจัดเก็บและบริหารงบประมาณส่วนนี้ได้ด้วยตนเอง อปท. ก็จะมีความเป็นอิสระ สามารถว่าจ้างปลัด อปท. ได้เอง สามารถว่าจ้างบุคลากรทางการศึกษา ผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน ผู้จัดเก็บภาษีของตนเอง เป็นต้น
                          การบริหาร อปท. ในประเทศตะวันตก ตำแหน่งสูงสุดในแทบทุกแผนก เช่น แผนกการศึกษา แผนกโยธา ฯลฯ ล้วนเปิดโอกาสให้ประชาชนสมัครรับเลือกตั้งหรือได้รับการแต่งตั้งเข้ามาเป็นบุคคลหรือเป็นคณะในการดูแล ไม่ใช่ให้ข้าราชการประจำกุมอำนาจทุกอย่างในการบริหาร อปท. ดังนั้นจึงไม่ใช่เลือกเพียงประธาน อปท. เช่น นายกเทศมนตรีแล้วก็จบ โปรดดูตัวอย่างเมืองนอร์ฟอร์ค (อีกเมืองหนึ่ง ในเวอร์จิเนีย) เป็นตัวอย่าง <11>
                          อย่างไรก็ตามประสบการณ์จากต่างประเทศ หากจะนำมาปรับใช้ในไทย ก็คงต้องใช้เวลาศึกษากันอย่างละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์จริงต่อประชาชน ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนนี้ก็เช่นกัน ก็คงต้องผ่านการฟังเสียงผู้รู้หรือประชาชนที่เกี่ยวข้องเป็นเวลาพอสมควร ก่อนที่จะออกมาเป็นรูปเป็นร่างกว่านี้

ข้อสังเกต
                          การที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ริเริ่มเรื่องนี้ นับเป็นความตั้งใจที่น่ายกย่องในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น แต่การที่จะมี อปท. ที่ดีนั้น ในที่ประชุมก็เห็นร่วมกันพอสมควรว่า เราจำเป็นต้องมีกลไกการตรวจสอบที่โปร่งใสและเป็นธรรม ซึ่งคงไม่ใช่ลักษณะแยกส่วน เช่น ตรวจเฉพาะการเงิน หรือ ไม่ใช่ลักษณะการแก้แค้นทางการเมือง เป็นต้น
                          รูปแบบ อปท. ที่ดีที่เป็นของประชาชนท้องถิ่นสามารถเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อผู้บริหารประเทศมีความมุ่งหวังอย่างแรงกล้า ที่จะสังคายนาหรือปฏิรูประบบราชการเฉกเช่นอารยประเทศจริง ๆ ความสำเร็จย่อมเกิดขึ้นได้อย่างไม่ต้องสงสัยว่าจะกลายเป็นแค่ไฟไหม้ฟาง

หมายเหตุ
                          บทความนี้เขียนขึ้นในช่วงที่กระแสการแนะนำ ร่าง พรบ.สภาองค์กรชุมชน ซึ่งกำลังได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง และมีข่าวความไม่ลงรอยกันระหว่างรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง <11> อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมุ่งนำเสนอความเห็นที่เป็นอิสระ และยินดีรับข้อคิดเห็นจากทุกท่าน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้มีโอกาสพบเห็นบทความนี้และโดยเฉพาะข้อคิดเห็นของทุกท่าน เผื่อจะนำไปพัฒนาการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นให้เหมาะสมยิ่งขึ้นในอนาคต

หมายเหตุ
<1> ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้ประเมินค่าทรัพย์สินและนักวิจัยด้านอสังหาริมทรัพย์และการวางแผนพัฒนาเมือง ขณะนี้ยังเป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาจรรยาบรรณ ผู้แทนสมาคมประเมินค่าทรัพย์สินนานาชาติ (IAAO) ประจำประเทศไทย กรรมการบริหาร ASEAN Valuers Association และ ASEAN Association for Planning and Housing และกรรมการสภาที่ปรึกษาของ Appraisal Foundation ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินในสหรัฐอเมริกาที่แต่งตั้งขึ้นโดยสภาคองเกรส Email: sopon@thaiappraisal.org
<2> มูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งให้ความรู้แก่สาธารณชนด้านการประเมินค่าทรัพย์สิน อสังหาริมทรัพย์และการพัฒนาเมือง โดยถือหลักว่า "Knowledge is not private property" โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thaiappraisal.org
<3> โปรดอ่านร่างได้ที่ http://www.codi.or.th/index.php?option=com_content&task=view&id=1401&Itemid=1
<4> ข่าว "ไพบูลย์-อารีย์" งัดข้อร่างพ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนท้องถิ่น ในหนังสือพิมพ์ online ประชาไท: http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=8374&SystemModuleKey=HilightNews&System_Session_Language=Thai
<5> โปรดดู http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2_%E0%B8%9E.%E0%B8%A8._2534
<6> โปรดดูรายละเอียดเกี่ยวกับ "หลักเกณฑ์และวิธีการในการคัดเลือกกันเองเพื่อให้ได้สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ" ที่ http://www2.nesac.go.th/selection/pdf/hl020.pdf
<7> โปรดดูรายละะเอียดได้ที่ http://www.namkain.com ซึ่งจัดทำโดยทางชุมชนเอง และชองทางราชการ  http://www.thaitambon.com/tambon/ttambon.asp?ID=551404
<8> สมาคมดังกล่าวคือ International Association of Assessing Officers (IAAO: http://www.iaao.org)
<9> โปรดดูกรณีตัวอย่างเมืองนอร์ฟอร์ค แมสซาชูเซ็ท: http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market53.htm, เมืองพาล์มเมอร์และนครแองเคอริจ อลาสกา: http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market92.htm, นครโอแลงโด ฟลอริดา: http://www.thaiappraisal.org/Thai/Market/Market102.htm เป็นต้น
<10> ผลการศึกษาของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยที่เผยแพร่และตีพิมพ์ในสื่อมวลชนต่าง ๆ ดูได้ที่ http://www.thaiappraisal.org/pdfNew/Research/research_2007-05-215-land.pdf
<11> เมืองนอร์ฟอล์ค มลรัฐเวอร์จิเนีย: http://www.norfolk.gov
Area Trebs