ที่ A.R.E.A. 04/255/55
17 เมษายน 2555
เรื่อง ควรเปลี่ยนแนวคิดการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร
และควรให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการแทนกรุงเทพมหานคร
เรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
นายชูชาติ หาญสวัสดิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
พลตำรวจโท ชัจจ์ กุลดิลก รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายพระนาย สุวรรณรัฐ ปลัดกระทรวงมหาดไทย
นายอุดม พัวสกุล อธิบดี กรมโยธาธิการและผังเมือง
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
นายพรเทพ เตชะไพบูลย์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
เนื่องด้วยขณะนี้กรุงเทพมหานคร กำลังจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร กระผมเห็นว่าผังเมืองนี้ไม่สอดคล้องกับประโยชน์ของประชาชนและส่งผลร้ายต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต กรุงเทพมหานครเองก็มีอำนาจจำกัด กระผมจึงขอเสนอให้รัฐบาลเป็นผู้จัดทำผังเมืองเสียเอง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้:
1. แนวคิดที่ไม่เหมาะสมในปัจจุบัน
กรุงเทพมหานครพยายามจำกัดการก่อสร้างทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น ไม่อนุญาตให้อาคารขนาดใหญ่พิเศษ (เกิน 10,000 ตารางเมตร) บนที่ดินที่อยู่ติดถนนกว้างน้อยกว่า 16 เมตร หรือจำกัดความสูงของอาคารสูงจาก 23 เมตรเหลือ 12 เมตร เป็นต้น แนวคิดในร่างผังเมืองใหม่นี้เท่ากับการสร้างความไม่เท่าเทียมกันระหว่างเจ้าของที่ดิน ทำให้ที่ดินใจกลางเมืองที่มีสาธารณูปโภคครบถ้วนไม่ได้รับการใช้สอยอย่างมีประสิทธิภาพ กีดขวางการพัฒนาในเขตเมือง ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาแนวสูงให้มาก เพื่อไม่ให้เมืองขยายออกไปในแนวราบซึ่งจะกินหรือรุกทำลายสิ่งแวดล้อม และพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่สีเขียวชานเมือง อีกทั้งยังทำให้สาธารณูปโภคต้องขยายตัวอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศชาติ นอกจากนั้นการที่ประชาชนต้องถูกบังคับโดยผังเมืองให้ออกไปอยู่อาศัยนอกเขตกรุงเทพมหานครทำให้ต้องเดินทางต้องออกสู่นอกเมืองเป็นการสร้างภาระแก่ประชาชนส่วนใหญ่อย่างใหญ่หลวง
กรุงเทพมหานครอ้างว่ามีประชาชนจำนวนมากสนับสนุนร่างผังเมืองของกรุงเทพมหานครนั้น {1} แต่กรุงเทพมหานครคงไม่เคยเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิการใช้ที่ดินต่าง ๆ อย่างเข้มงวดโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้ประชาชนได้รับทราบในระหว่างการทำประชาพิจารณ์แต่ละครั้ง
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครยังอ้างว่าที่พยายามจำกัดความสูงของอาคารก็เพราะมีปัญหาไฟไหม้บ่อยครั้งในซอยใจกลางกรุง ข้ออ้างนี้ไม่เป็นความจริง ในกรณีอาคารสูง อาคารชุดและอะพาร์ตเมนต์ ในช่วง 5 ปีล่าสุด (พ.ศ.2550-2554) นั้น เกิดเพลิงไหม้ลดลงจาก 8% ของกรณีเพลิงไหม้ทั้งหมด เป็น 7% 4% 3% และ 2% ตามลำดับ {2} กรณีอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ (ตั้งแต่ 10,000 ตารางเมตรขึ้นไป) ในปัจจุบันก็มีระบบป้องกันไฟไหม้ที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่ระบบอาคารเก่าในอดีต อาคารสมัยใหม่จึงแทบไม่เกิดเพลิงไหม้ ในอีกแง่หนึ่งการดับเพลิงของกรุงเทพมหานครต้องได้รับการปรับปรุงให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ ไม่ใช่อ้างความไร้ประสิทธิภาพมาเพื่อกีดขวางการพัฒนาประเทศ
ยิ่งกว่านั้นกรุงเทพมหานคร ยังอ้างว่าจะขยายและตัดถนนใหม่ ๆ ที่สามารถใช้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ได้ในเขตรอบนอกของเมือง แต่ในความเป็นจริง ถนนตามร่างผังเมืองกรุงเทพมหานครส่วนมากไม่ได้ก่อสร้างจริง แนวถนนยังมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และไม่มีกรอบระยะเวลาที่แน่ชัด นอกจากนี้ยังมีถนนจำนวนมากสร้างอยู่ในเขตรอบนอกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งขาดความเป็นไปได้ทางการตลาดและการเงินในการสร้างอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ดังนั้นที่ว่าจะมีการก่อสร้างถนนอีกมากมายจึงไม่เป็นความจริง
ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการวางผังเมืองบางส่วนคงไปเลียนแบบประเทศตะวันตกที่กำหนดความสูงของอาคาร เช่น กรุงปารีส ที่แม้กำหนดความสูงเพียง 37 เมตร แต่ก็ไม่ได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ว่างมากเกินความจำเป็นเช่นกรุงเทพมหานคร จึงทำให้เมืองมีการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความหนาแน่นของประชากรสูงถึง 22,000 ต่อตารางกิโลเมตร {3}
2. ผังเมืองไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ร่างผังเมืองนี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในหลายเรื่อง เช่น
2.1 วางแผนก่อสร้างถนนในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น เช่น หนองจอก แต่บางบริเวณที่ถนนเล็กและคดเคี้ยวกลับไม่มีแผนการตัดถนน เช่นทางเข้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตบางขุนเทียน
2.2 กำหนดพื้นที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เช่น พื้นที่ถนนนวมินทร์บริเวณหมู่บ้านปัฐวิกรณ์ ธนะสิน สราญรมย์ และเพิ่มพูนธานี ซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยกลับกำหนดให้เป็นเขตพาณิชยกรรม เป็นต้น รวมทั้งกำหนดบริเวณอุตสาหกรรมถนนเทียนทะเลที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เพราะกำหนดสีผังเมืองให้เป็นเขตอุสาหกรรมเฉพาะ 200 เมตรแรกที่ติดถนน (ฝั่งซ้าย) และ ตลอดแนวคลองที่ขนานกับถนน (ฝั่งขวา) แต่ในความเป็นจริง พื้นที่บริเวณนั้นทั้งหมดเป็นแหล่งอุตสาหกรรม มีโรงงานต่าง ๆ ตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก (ดังที่แสดงเป็นจุดสีแดงโรงงานเอาไว้) การกำหนดสีให้แตกต่างกันโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริง แสดงให้เห็นถึงการวางผังเมืองที่ไม่มีความละเอียดรอบคอบเพียงพอ ส่งผลเสียต่อเจ้าของกิจการอุตสาหรรมในพื้นที่
2.3 ร่างผังเมืองไม่มีแผนการจัดการเกี่ยวกับการป้องกันน้ำท่วมอย่างเป็นระบบที่เชื่อถือได้เท่าที่ควร นอกจากนี้แม้แต่ในผังเมืองฉบับปี 2549 ก็ยังไม่มีการจัดสร้างสวนสาธารณะที่เป็นจริง และส่วนมากระบุไว้ในเขตรอบนอก ซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่แล้ว และไม่ได้ดำเนินการจริง และขาดการวางแผนที่จะสร้างสวนสาธารณะที่ใช้สอยประโยชน์ได้ในเมือง ซึ่งต่างจากการวางแผนพัฒนามหานครที่ดีเช่นอารยประเทศ
3. ข้อเสนอการผังเมืองกรุงเทพมหานคร
หลักสำคัญของผังเมืองใหม่ของกรุงเทพมหานครก็คือควรมุ่งเน้นให้เกิดความหนาแน่น (High Density) ในเขตใจกลางเมืองโดยไม่ก่อให้เกิดความแออัด (Overcrowdedness) จะเห็นได้ว่ากรุงเทพมหานครมีความหนาแน่นประมาณ 3,600 คนต่อตารางกิโลเมตร ในขณะที่สิงคโปร์มีความหนาแน่นสูงถึง 7,300 คน แต่กลับถือเป็น “Garden City” เพราะพัฒนาในแนวสูง ในวงวิชาการผังเมืองสมัยใหม่เน้นการพัฒนาที่มีหนาแน่นแต่ไม่แออัด ไม่ให้เมืองเติบโตเติบโตแนวราบอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (Smart Growth) {4} โดยในทางปฏิบัติควรเป็นดังนี้:
3.1 ในพื้นที่เขตชั้นในของกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพัน- ธวงศ์ บางรัก ยานนาวา ดุสิต พญาไท ห้วยขวาง พระโขนง ธนบุรี คลองสาน บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ราชบูรณะ ควรอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ โดยกำหนดสัดส่วนพื้นที่ก่อสร้างอาคารต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio: FAR) เท่ากับ 10: 1 หรือก่อสร้างได้ 10 เท่าของขนาดที่ดิน ทั้งนี้ข้อกำหนดด้านพื้นที่ว่าง (Open Space Ratio) และพื้นที่สีเขียว ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร โดยไม่กำหนดให้พิเศษหรือแตกต่างจากพระราชบัญญัติดังกล่าว เพื่อความไม่ซ้ำซ้อนในทางข้อกฎหมาย
3.2 ให้เก็บภาษีพิเศษสำหรับการก่อสร้างอาคารขนาดใหญ่ในพื้นที่ใจกลางเมือง ให้เสียภาษีพิเศษเป็นมูลค่าประมาณ 10% ของราคาประเมิน เช่น อาคารห้องชุดใจกลางเมืองหลังหนึ่ง มีราคาประเมินตามราคาตลาดเป็นเงิน 60,000 บาทต่อตารางเมตร ก็ให้เก็บภาษี 10% เป็นเงิน 6,000 บาท ในเวลา 1 ปี หากมีพื้นที่ก่อสร้างใหม่ 1 ล้านตารางเมตร ก็จะเก็บภาษีได้ เป็นเงินปีละ 6,000 ล้านบาท รัฐบาลสามารถนำเงินภาษีนี้ไปเข้ากองทุนพัฒนาสาธารณูปโภคต่อไป
3.3 กองทุนที่ได้จากภาษีนี้สามารถนำมาก่อสร้างระบบคมนาคม เช่น รถไฟฟ้ามวลเบา ผ่านเข้าสู่ถนนหลายสายเช่น ถนนสุขุมวิท 3 (นานา เหนือ-ใต้) ถนนสุขุมวิท 49 ถนนสุขุมวิท 55 ถนนสุขุมวิท 63 ถนนสุขุมวิท 71 ถนนพระรามที่ 1ถนนพระรามที่ 4 ช่วงคลองเตย-กล้วยน้ำไท ถนนพระรามที่ 9 ถนนเจริญกรุง (สาทร-ถนนตก) ถนนจันทน์ ถนนลาดพร้าว ถนนรามคำแหง ถนนสามเสน ถนนเจริญกรุง ฯลฯ
นครซิดนีย์ แม้ถนนแคบก็ยังสามารถสร้างรถไฟฟ้ามวลเบาได้: http://mauricehyman.blogspot.com/2010/06/sydney-finalee.html
3.4 การวางผังเมืองเชิงรุก เช่น ประการแรกควรนำที่ดินของทางราชการใจกลางเมืองมาพัฒนาเป็นศูนย์ธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจมีการรวมศูนย์ สาธารณูปโภคไม่ต้องขยายตัวอย่างไร้ขอบเขต เป็นการเพิ่มศักยภาพให้กับธุรกิจด้วยกันเองในพื้นที่ ประการที่สองควรเวนคืนที่ดินเอกชนชานเมือง เช่น เขตหนองจอก ขนาดประมาณ 10,000 – 20,000 ไร่ สร้างเป็นเมืองใหม่แบบปิดล้อมแต่มีระบบขนส่งมวลชนเข้าสู่ใจกลางเมืองโดยตรง แล้วพัฒนาเป็นที่ดินที่มีสาธารณูปโภคครบ (serviced land) เพื่อจัดสรรเป็นที่อยู่อาศัย ศูนย์ธุรกิจชานเมือง เป็นต้น และประการที่สามควรสร้างนิคมอุตสาหกรรมสำหรับอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ทั้งอุตสาหกรรมบริการ อุตสาหกรรมเสริม ฯลฯ เพื่อให้เช่าหรือขายในราคาถูกเพื่อมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศโดยไม่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานนอกเขตที่กำหนด เป็นต้น
3.5 ผังเมืองควรมีการวางสวนสาธารณะต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพมหานครให้ชัดเจน จะสังเกตได้ว่าในเขตใจกลางเมือง รวมทั้งเขตต่อเมือง ไม่มีการกำหนดหรือการจัดหาพื้นที่ทำสวนสาธารณะแต่อย่างใด ส่วนในเขตรอบนอกกลับจะมีแผนซื้อที่ดินเพื่อสร้างสวนสาธารณะทั้งที่ไม่จำเป็นเพราะอยู่ในเขตที่มีต้นไม้เป็นจำนวนมากตามธรรมชาติอยู่แล้ว ผังเมืองควรกำหนดให้มีพื้นที่สวนสาธารณะขนาดเล็ก ประมาณ 1-5 ไร่ จำนวนประมาณ 3-5 บริเวณในทุก ๆ แขวงของกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะเขตพื้นที่ชั้นใน โดยซื้อที่ดิน รับบริจาคที่ดิน หรือใช้ที่ดินราชพัสดุ ตลอดจนการเช่าที่ศาสนสถาน ข้อนี้แม้กรุงเทพมหานครจะเคยพยายามดำเนินการ แต่ยังไม่สำเร็จ ก็ควรจะดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม
4. การประสานการวางผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร
การวางผังเมืองในมหานครหนึ่ง ๆ นั้น ควรเป็นกรอบที่ยึดถือร่วมกันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นการปกครอง สาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ แต่กรุงเทพมหานคร ไม่มีอำนาจการควบคุม และไม่ได้ประสานงานกับหน่วยงานเหล่านี้ในการวางผังเมือง จึงทำให้วางผังเมืองไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
รัฐบาลโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ควรประสานงานกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อจัดตั้งขึ้นมาเป็นคณะกรรมการวางผังเมืองกรุงเทพมหานครหรือภาคมหานคร และให้หน่วยงานต่าง ๆ มีแผนแม่บทในการพัฒนาในพื้นที่กรุงทพมหานคร สอดคล้องไปกับผังเมืองนี้:
4.1 หน่วยงานข้อมูล ได้แก่ กรมที่ดิน กระทรวงมหาดไทย (ระบบเอกสารสิทธิ์) และกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง (ประเมินค่าทรัพย์สิน) เพราะที่ผ่านมาการผังเมืองกับราคาที่ดินไม่ได้สอดคล้องไปในทางเดียวกันเท่าที่ควร
4.2 หน่วยงานการปกครอง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหากขยายการวางผังเมืองไปครอบคลุมถึงเขตปริมณฑล ก็คงต้องประสานงานกับราชการส่วนภูมิภาคและส่วนท้องถิ่นในจังหวัดปริมณฑลด้วย
4.3 หน่วยงานสาธารณูปโภค ได้แก่ การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ต้องถือผังเมืองนี้เป็นแผนแม่บทในการขยายการบริการ และหน่วยงานด้านสาธารณูปการ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาลในสังกัดต่าง ๆ ต้องประสานแผนการพัฒนาบริการสาธารณูปการไห้สอดคล้องกับผังเมืองโดยเคร่งครัด
4.4 หน่วยงานคมนาคม โดยควรให้แผนการจัดสร้างระบบคมนาคมสอดคล้องกับผังเมือง ทำให้การก่อสร้างระบบคมนาคมตามผังเมืองมีความเป็นจริงและมีกรอบเวลาที่แน่ชัด ดังนั้นจึงควรประสานและให้หน่วยงานเหล่านี้มีส่วนร่วมจัดทำผังเมืองด้วย ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท ขนส่ง จำกัด สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เป็นต้น
4.5 หน่วยงานการวางแผนพัฒนาเมือง เพื่อให้เกิดชุมชนและเขตเมืองที่มีการวางแผนที่ดี กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และการเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรม จึงควรมีส่วนร่วมในการวางแผนพัฒนาพื้นที่ของเมืองให้สอดคล้องกับความเป็นจริง และให้ผังเมืองมีผลต่อการปฏิบัติ
4.6 หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยการประสานงานกับกรมควบคุมมลพิษ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการจัดทำแผนสิ่งแวดล้อมในผังเมืองรวมของกรุงเทพมหานคร
5. การวางผังเมืองภาคปฏิบัติ
นายกรัฐมนตรีควรมีบัญชาให้ตั้งคณะกรรมการจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร โดยมีผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมืองเป็นเลขานุการ และผู้แทนสำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการ และให้ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ข้างต้นจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครให้แล้วเสร็จในกำหนด 2 ปี ในระหว่างนี้ให้ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2549 ไปพลางก่อน และในระหว่างการจัดทำผังเมือง ให้มีการจัดทำประชาพิจารณ์ที่ทุกภาคส่วนได้มีส่วนรับรู้และมีส่วนร่วมในการพิจารณาอย่างกว้างขวางจริงจังอย่างต่อเนื่อง และเมื่อจัดทำแล้วเสร็จให้รัฐบาลประกาศใช้ผังเมืองรวมผ่านประกาศกระทรวงมหาดไทยต่อไป
อนึ่งกระผมทำงานด้านการประเมินค่าทรัพย์สินและสำรวจวิจัยด้านการพัฒนาเมืองและอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่ทำกิจการด้านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ หรือไม่ทำกิจการด้านการพัฒนาที่ดินใด ๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม การที่กระผมจัดทำข้อเสนอนี้ก็เพื่อหวังให้การพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานครมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์แก่ประชาชนส่วนรวม โดยกระผมไม่ได้มีผลประโยชน์หรือมีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ กับการพัฒนาที่ดินทั้งสิ้น
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาและขอขอบพระคุณท่านมา ณ โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
(ดร.โสภณ พรโชคชัย)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร