Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

นางสาวเบญญศิกานต์ กาญจนาธนเสฏฐ์
ระดับอุดมศึกษา

“ สนามบินย้ายไปนานแล้ว  แต่ยังไม่รู้จะเอาดอนเมืองไปทำอะไร ”
นี่คือ  .  .  .   ความสูญเสีย  ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดเพื่อชาติ
คำถามที่คาใจประชาชนคนไทยในชาติ
“ ต้องสูญเงินอีกเท่าไหร่  กว่าจะได้แผนพัฒนาสนามบินดอนเมือง ”

เที่ยวบินสุดท้าย วันที่ 28 กันยายน 2549 เป็นการปิดตำนานสนามบินดอนเมืองอย่างสมบูรณ์แบบ แนวทางการทำสนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ ที่มีกระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบ ดูกันผิวเผินแล้วเหมือนไม่น่าจะยากเย็นอะไรเลย รัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย ไปจัดจ้างลงทุนก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เพราะในพื้นที่นั้นมีแทบจะทุกสิ่งทุกอย่างที่พร้อมมูลสำหรับการใช้งานอยู่แล้ว หรืออย่างน้อย หากหน่วยงานรัฐไม่สามารถดำเนินการเองได้ ก็เพียงเปิดโอกาสแก่นักลงทุนภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนชาวไทยหรือนักลงทุนต่างชาติที่พร้อมที่จะเอาเงินมากมายมหาศาลมามอบให้ถึงที่ทีเดียว แม้จะมีเงื่อนไข ข้อกำหนด หรือข้อยกเว้นอย่างไรก็ตาม แต่จนแล้วจนรอด การใช้สนามบินดอนเมืองกลับกลายเป็นงานยาก และไม่บรรลุเป้าหมายสักที
วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ได้มอบหมายให้ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท. , AOT)  ไปพิจารณาทบทวนการจัดทำแผนการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองในเชิงธุรกิจอย่างละเอียด และจัดทำทางเลือกที่เกิดประโยชน์สูงสุด โดยเห็นว่ากิจกรรมการใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานดอนเมือง ควรเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค พร้อมกันนี้ ยังมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำแผนการพัฒนาศูนย์กลางการบินของไทยในภูมิภาค โดยพิจารณาประเด็นการใช้ท่าอากาศยานเดียว และแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ท่าอากาศยานดอนเมืองในอนาคต
ข้าพเจ้าออกจะแปลกใจเรื่องการกำหนดแผนการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ เพื่อทดแทนท่าอากาศยานดอนเมืองที่กำลังเริ่มไม่สามารถรองรับผู้เข้ามาใช้บริการที่นับวันจะมาขึ้นเรื่อย ๆ จาก 5 ล้านคน ในปี 2522 จนพุ่งสูงถึง 38 ล้านคนในปี 2548 ไม่เพียงแต่การสิ้นเปลืองระยะเวลาการดำเนินการที่ยาวนานหรือความสูญเสียประโยชน์ของชาติที่มากมายมหาศาลเท่านั้น ได้มีการกำหนดจุดก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่เป็นที่เรียบร้อย และดำเนินการเป็นลำดับอย่างเชื่องช้าเสียเหลือเกิน ประเทศไทยได้สิ้นเปลืองเวลา สูญเสียงบประมาณ แล้วยังต้องมาเสียโอกาสรับผลประโยชน์ที่น่าจะได้รับมากมายหลังการเปิดใช้บริการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ข้าพเจ้าไม่เชื่อเลยว่า ในระหว่างเส้นทางที่ยาวไกลในการเตรียมงานสำหรับสนามบินสุดหรูแห่งใหม่นั้นรัฐบาลแต่ละชุดที่หมุนเวียนกันมารับผิดชอบบ้านเมือง และหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบแผนพัฒนาประเทศ ทำอะไรอยู่ในช่วงกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ทำไมไม่มีการเตรียมแผนงานที่ชัดเจนสำหรับการพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ และหาแนวทางใช้สนามบินแห่งเก่านี้ให้เกิดประโยชน์ที่สูงสุด จนต้องมีคำพูดเย้ยหยันว่า “สนามบินย้ายไปนานแล้ว แต่ยังไม่รู้จะเอาดอนเมืองไปทำอะไรเลย”
การไม่สามารถสรุปทิศทางการใช้งานท่าอากาศยานดอนเมืองอาจเป็นเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการวางแผนพัฒนาอื่น ๆ ที่ต่อเนื่องกัน ทำให้หยุดชะงักและเสียหายไปด้วย แผนพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิเฟสที่ 2 มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท ต้องสะดุดลงเพราะไม่สามารถชี้ชัดว่าจะใช้สนามบินดอนเมืองในลักษณะใดบ้าง จนปรากฏข่าวล่าสุดว่า ให้ลดโครงการจากเดิมที่กำหนดให้มีการก่อสร้าง 3 ส่วน คือ มิดฟิลด์คองคอร์ด, รันเวย์ที่ 3 และขยายหลุมจอด ให้เหลือเพียงมิดฟิลด์เพียงส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งไม่น่าจะตอบสนองเป้าหมายการรับผู้โดยสารให้ได้ถึง 60 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะในส่วนของหลุมจอดนั้น หากไม่ ขยายเพื่อรองรับเครื่องบินลำตัวกว้างอย่างแอร์บัส A-380 เชื่อว่าอาจทำให้การจราจรในสนามบินด้อยประสิทธิภาพในอนาคต รวมถึงค่าก่อสร้างจะต้องแพงกว่าเดิมอีกมาก นอกจากนั้น นโยบายรัฐที่ไม่ชัดเจนย่อมทำให้การลงทุนต้องชะงักและบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติอย่างแน่นอน   
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งสำหรับแนวคิดการใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมือง กรณีที่ให้พัฒนาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน ควบคู่กับการเปิดให้สายการบินเข้ามาใช้ได้  ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างความสับสนในนโยบายการใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ รัฐจะใช้นโยบายสนามบินเดี่ยว (Single Airport) หรือ สนามบินหลายแห่ง (Multi Airport)
ซึ่งสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในด้านการบริหารจัดการเกินความจำเป็น และขาดประสิทธิภาพการควบคุมกันแน่
ข้าพเจ้าเห็นด้วยกับข้อเสนอตามแผนพัฒนาสนามบินดอนเมืองของ ทอท. ที่ให้ใช้สำหรับอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ของท่าอากาศยานดอนเมืองที่ต่อเนื่อง ใน 6 โครงการ ได้แก่ โครงการซ่อมบำรุง Landing Gear ของอากาศยานลำตัวแคบ, โครงการบริหารจัดการอะไหล่อากาศยานในภูมิภาค, โครงการซ่อมบำรุงและดูแลรักษาอากาศยานขนาดกลาง / เล็ก, โครงการศูนย์กลางการค้าระหว่างประเทศ, โครงการศูนย์ฝึกบินจำลอง, โครงการอาคารผู้โดยสารสำหรับอากาศยานส่วนบุคคลและอากาศยานเช่าเหมาลำขนาดเล็ก ทั้งนี้เพราะไม่จำเป็นจะต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากงบปกติ และเห็นด้วยกับการให้กำหนดใช้นโยบายสนามบินเดี่ยว ที่ชี้ชัดว่าให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นท่าอากาศยานนานาชาติเพียงแห่งเดียว
อย่างไรก็ดี ด้วยลักษณะการใช้งานในหกโครงการข้างต้น ท่าอากาศยานดอนเมืองก็ยังคงเป็นสนามบินที่คงไว้สำหรับการเสด็จ ฯ ของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนเป็นที่จอดเครื่องบินของส่วนราชการต่าง ๆ อาทิ กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐ นอกจากนั้น สนามบินดอนเมืองยังคงถูกกำหนดให้ใช้เป็นสนามบินสำรอง (Alternate Airport) และเป็นสนามบินฉุกเฉิน (Emergency Airport) ในกรณีที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิหรือสนามบินใกล้เคียงไม่สามารถบริการได้ อาจจะเนื่องจากช่องทางวิ่งเกิดกรณีอุบัติเหตุ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ หรือการถูก ภัยก่อการร้ายคุกคาม หรือเกิดกรณีฉุกเฉินอื่นใดก็ตาม
การใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองอย่างเต็มรูปแบบนั้นมีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อุตสาหกรรมการบินเป็นอุตสาหกรรมที่กว้างใหญ่ และเกี่ยวข้องกับกิจการหลายด้าน ตั้งแต่อุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน การซ่อมบำรุงอากาศยาน กิจการงานสายการบิน การท่าอากาศยาน การควบคุมการจราจรทางอากาศ ตลอดจนการผลิตบุคลากรด้านการบิน เป็นต้น สนามบินดอนเมืองมีศักยภาพเพียงพอสำหรับการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของโลก (Strategy Hub) ควบคู่กับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะด้านการผลิตบุคลากรด้านการบิน สนามบินดอนเมืองมีความพร้อมทั้งในด้านสถานที่  พื้นที่อาคาร เครื่องมือ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวก และวิชาการความรู้ รวมถึงการฝึกหัด-เรียนรู้ประสบการณ์ของนักบินและลูกเรือทุกระดับ ในส่วนการซ่อมบำรุงอากาศยานและอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบิน สนามบินดอนเมืองมีพื้นที่ที่สมบูรณ์ครบถ้วนสำหรับงานส่วนนี้อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังสามารถเพิ่มส่วนการวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องบินภายในประเทศได้เป็นอย่างดี อาจนับได้ว่า นี่คือก้าวแรกของการสร้างเครื่องบินพาณิชย์ทันสมัยของไทยลำแรกก็เป็นได้ หน่วยงานและกิจกรรมเหล่านี้ เกิดขึ้นได้ในสนามบินดอนเมือง รวมทั้งการจัดพิพิธภัณฑ์การบิน แสดงความเป็นมาของประวัติศาสตร์การบินของไทย นับเนื่องมาจากอดีต และจัดแสดงเครื่องบินอากาศยานสากลรูปแบบต่าง ๆ ที่มีในโลก สำหรับการเรียนรู้ของอนุชนคนไทย
นอกจากการใช้ประโยชน์จากท่าอากาศยานดอนเมืองในด้านการบินแล้ว พื้นที่ 3,881 ไร่ ของท่าอากาศยานที่มีอายุร่วมร้อยปีแห่งนี้ ย่อมเป็นประจักษ์พยานยืนยันได้ดีว่าพร้อมใช้งานและบริการด้านต่าง ๆ อย่างหลากหลายได้เป็นอย่างดี ประกอบกับความพร้อมของอาคารผู้โดยสารขาเข้าและอาคารผู้โดยสารขาออกที่โอ่โถงกว้างใหญ่ สามารถปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และแต่งเติมภูมิทัศน์ตามลักษณะงานที่ต้องการได้ทุกรูปแบบ การเดินทางสัญจรก็สะดวก เพราะด้านหน้าติดถนนวิภาวดีรังสิต มีที่สำหรับจอดรถยนต์ได้ มากมาย ข้าพเจ้าจึงขอร่วมเสนอรูปแบบการใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองในเชิงพาณิชย์ด้านอื่นบ้าง ดังนี้

  • ศูนย์รวมสื่อสารมวลชนและข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อส่งเสริมและสร้างความเข้าใจอย่างเป็นเอกภาพ
    โดยเหตุที่ปัจจุบันนี้ผู้คนในบ้านเมืองเกิดแตกแยกขัดแย้งทางความคิดในแทบทุกด้าน ทั้งทางการเมือง ทางเศรษฐกิจ ทางสังคม และปรัชญาการดำเนินชีวิต  ผู้คนในกลุ่มสังคมต่าง ๆ พยายามดำเนินการเพื่อให้ได้เปรียบผู้อื่น ด้วยการเรียกร้องผลประโยชน์เฉพาะฝ่ายตน  ซึ่งอาจทำให้ละเมิดสิทธิของฝ่ายอื่น เกิดกรณีการเรียกร้องจนสร้างปัญหาสังคมและทำให้ส่วนรวมเดือดร้อนหลายครั้ง ผู้คนมักจะ ได้รับอิทธิพลการชี้นำเพียงด้านเดียว โดยปราศจากข้อมูลอันเป็นจริงและขาดความเข้าใจที่ตรงกัน การมีศูนย์ข้อมูลดังกล่าว จะทำให้ประชาชนมีโอกาสรับรู้และเปรียบเทียบข้อมูล ใช้วิจารณญาณ ใช้เหตุผล ศึกษาประเด็นปัญหาได้ด้วยตนเองจนเข้าใจความเป็นจริง เกิดอุดมการณ์ที่เป็นเอกภาพ และ ลดความขัดแย้งแตกแยกได้ในที่สุด
  • ศูนย์แสดงนิทรรศการภาพและข้อมูลของหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งทำกิจกรรมสลับสับเปลี่ยนตลอดทั้งปี ทุกวันนี้  องค์กรภาครัฐและภาคเอกชนทั่วไปมีการประชาสัมพันธ์หน่วยงานของตนแก่ประชาชนด้วยการจัดงานนิทรรศการในที่ตั้งของตนเป็นส่วนใหญ่  ทำให้สังคมส่วนรวมขาดการรับรู้อย่างทั่วถึงและการประชาสัมพันธ์ไม่บรรลุความสำเร็จ  การที่มีศูนย์รวมการแสดงนิทรรศการที่มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมและกว้างใหญ่เพียงพอ เดินทางสะดวก ทำให้การประชาสัมพันธ์หน่วยงานต่าง ๆ  สื่อถึงกลุ่มเป้าหมายโดยทั่วถึง สร้างความเข้าใจเป็นอย่างดียิ่งแก่มวลชน
  • ศูนย์ข้อมูลแห่งชาติ ให้ข้อมูล คำแนะนำ คำปรึกษา ในการติดต่อราชการทุกหน่วย
    เพื่อให้ความกระจ่างในกระบวนการติดต่อกับองค์กรหน่วยงานราชการต่าง ๆ ลดความไม่แน่ใจในขั้นตอนการประสานงานกับหน่วยงานเหล่านั้น ผู้ติดต่อสามารถขอคำแนะนำเพื่อเตรียมเอกสารให้พร้อมก่อนไปติดต่อประสานงาน ศูนย์ฯ นี้อาจจะพัฒนาจนถึงระดับการบริการสารสนเทศผ่านอินเตอร์เน็ตและช่องทางการสื่อสารอื่น ๆ อย่างกว้างขวางต่อไป
  • ศูนย์รวมหน่วยย่อยของสถาบันการศึกษา เช่น กศน. สถาบันอุดมศึกษา ทั้งรัฐและเอกชน
    เพื่ออำนวยความสะดวกและเป็นศูนย์กลางทางการศึกษา ทั้งนอกระบบและในระบบของสถาบันต่าง ๆ ทำให้นักศึกษาผู้ต้องการเรียนรู้ในสาขาวิชาที่ตนต้องการศึกษาอย่างแท้จริงได้ประโยชน์ด้านการพัฒนา การศึกษาให้บรรลุผลเป้าหมายได้รวดเร็วกว่าเดิม
  • ศูนย์แสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมการประชาสัมพันธ์สินค้าภูมิปัญญาชาวบ้าน
    เป็นศูนย์แสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านและท้องถิ่น ตลอดจนสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่รังสรรค์หรือแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า จนเป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจแก่ผู้คนโดยทั่วไป อันจะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์จากท้องทุ่งเพิ่มขึ้น จนเกิดมูลค่ารวมภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่โดดเด่น ช่วยสร้างขวัญและกำลังใจแก่บรรดาเกษตรกรอย่างเห็นผล
  • ศูนย์แสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์สินค้าชื่อไทยที่มีศักยภาพส่งออกสู่ตลาดโลก ปัจจุบัน สินค้าต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นสินค้าดั้งเดิมหรือสินค้าเกิดใหม่ ล้วนแต่ต้องอาศัยชื่อหรือตราสินค้า (แบรนด์เนม) ที่ผู้บริโภคยอมรับทั้งสิ้น การสร้างชื่อหรือตราสินค้าไทยให้ดังโดดเด่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งยวดสำหรับสร้างการรับรู้และยอมรับไปพร้อมกับคุณภาพสินค้าและผลิตภัณฑ์บริโภค - อุปโภคทั้งหลาย
  • ศูนย์สาธิตองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และทดลอง

สังคมไทยกำลังพัฒนาในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีการผลิต การเรียนรู้องค์ความรู้เหล่านี้ ยังอยู่ในวงแคบ ไม่แพร่หลายเท่าใดนัก การพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจึงไม่ต่อเนื่อง อาจเป็นเพราะขาดอุดมการณ์ ขาดองค์ความรู้เดิม หรือขาดศักยภาพในการดำเนินงานต่อไป ทำให้ประเทศไทยขาดโอกาสพัฒนาด้านนี้จนถึงที่สุด ยังต้องสั่งเข้าเทคโนโลยีและเครื่องจักรเพื่อใช้ในกิจการงานด้านต่าง ๆ ทำให้สูญเสียเงินตราต่างประเทศไปมากมายโดยไม่สมควร
การดำเนินการปรับปรุงสนามบินดอนเมืองตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นให้บรรลุเป้าหมาย จะช่วยให้ประเทศชาติ ประชาชน และสังคมส่วนรวมได้รับประโยชน์ อันเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนสืบไป

แล้วคำพูดที่คาใจคนไทยทั้งประเทศ ก็จะแปรเปลี่ยนไป
“ ถึงสนามบินย้ายไปแล้ว  แต่ดอนเมืองก็ทำอะไรได้อีกเยอะ ”
นี่คือ ดอนเมือง  .  .  .  ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติไทยของเรา

 

..................................

 

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่