Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

นางสาวณัฐกานต์ นำศรีสกุลรัตน์
ระดับอุดมศึกษา

          หากเอ่ยถึงศูนย์กลางของการเดินทางทางอากาศในประเทศไทย เชื่อว่าหลายท่านคงจินตนาการถึงภาพสนามบินกว้างใหญ่ เครื่องบินลำมหึมาเหินเวหาขึ้นจากลานวิ่งเส้นยาว และบรรยากาศคึกคักในอาคารผู้โดยสารซึ่งมีผู้คนมากมาย นับตั้งแต่พุทธศักราช 2457 เป็นต้นมา “ท่าอากาศยานดอนเมือง” ได้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางที่สำคัญ ของการเดินทางทางอากาศ และเป็นประตูเปิดสู่ประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลสำคัญ นักธุรกิจ ศิลปิน นักกีฬา หรือนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ล้วนแล้วแต่เคยใช้บริการสนามบินแห่งนี้ทั้งสิ้น แต่เมื่อมีการย้ายเที่ยวบินเพื่อการพาณิชย์ทั้งหมดไปสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในพุทธศักราช 2549 ความเป็นศูนย์กลางของสนามบินดอนเมืองก็ต้องสิ้นสุดลงนับแต่นั้นเป็นต้นมา
          ในปัจจุบัน หลายฝ่ายกำลังพยายามช่วยกันระดมความคิด หาแนวทางการใช้งานสนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ เพราะหากไม่มีการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ทั้งตัวอาคารและสถานที่ก็มีแต่จะเสื่อมโทรมลง อีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือประโยชน์อื่นๆ เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด กลับกลายเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ
          ตามหลักแห่งความคาดหวังนั้น มูลค่าของคน สัตว์ สิ่งของ และอสังหาริมทรัพย์ใด ๆ จะเพิ่มขึ้นหรือลดลงขึ้นอยู่กับประโยชน์หรือการเสียประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายหน้า ดังนั้นอสังหาริมทรัพย์ที่มีค่าก็คืออสังหาริมทรัพย์ที่จะสร้างประโยชน์ในอนาคต นอกจากนี้ หลักประโยชน์สูงสุดและดีที่สุดยังระบุไว้ว่า มูลค่าของทรัพย์สินวัดได้จากประโยชน์สูดสุดและดีที่สุดที่ทรัพย์สินนั้นอาจก่อขึ้นได้  เช่น เพื่อการใช้งานที่ถูกวัตถุประสงค์และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด กล่าวคือ เราควรใช้ที่ดินย่านธุรกิจปลูกสร้างอาคารสำนักงานมากกว่าสร้างบ้านเดี่ยว และที่ดินย่านแหล่งท่องเที่ยวเหมาะที่จะสร้างศูนย์การค้ามากกว่าสร้างโรงงาน เป็นต้น เราจึงกล่าวได้ว่า สนามบินดอนเมืองจะมีค่าก็ต่อเมื่อเราสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสูดเต็มขีดความสามารถนั่นเอง
          จากหลักทั้งสองประการข้างต้น การใช้ประโยชน์จากสนามบินดอนเมืองจึงควรปฏิบัติตามแนวทางที่ใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานเดิมของการเป็นสนามบินจะดีที่สุด ซึ่งก็คือการดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบิน ได้แก่ จัดตั้งศูนย์ฝึกบินจำลองสำหรับนักบินและนักเรียนการบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงจร เป็นที่ลงจอดของเครื่องบินพิเศษ และเตรียมสนามบินดอนเมืองสำรองไว้เป็นสนามบินฉุกเฉิน
แนวทางแรก คือ การใช้สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์ฝึกบินจำลองสำหรับนักบินและนักเรียนการบิน ในการอบรมและผลิตบุคลากรด้านการบินทั้งระดับภายในประเทศและระหว่างประเทศนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการฝึกบินและทดสอบบุคลากรทางด้านการบินให้ได้มาตรฐานระดับสากลที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศกำหนดไว้ สนามบินดอนเมืองมีหอควบคุมการบิน อาคาร ลานวิ่ง และพื้นที่พร้อมสำหรับกิจกรรมนี้อยู่แล้ว จึงควรใช้ให้เกิดประโยชน์ โดยอาจปรับปรุงต่อเติมสถานที่บางส่วน แล้วเปิดให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อทำศูนย์ฝึกบินดังกล่าว
          การเปิดศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานครบวงจรเป็นแนวทางถัดมา เนื่องจากภายในสนามบินดอนเมืองมีโรงเก็บรักษาและโรงเก็บเครื่องบิน เราจึงอาจใช้พื้นที่ส่วนหนึ่งตั้งศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศ-ยาน และจำหน่ายอะไหล่สำรองสำหรับอากาศยานทุกชนิดควบคู่กันไป รวมถึงผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการซ่อมบำรุงอากาศยานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
          แนวทางที่สาม คือ ใช้เป็นที่ลงจอดของเครื่องบินพิเศษ ซึ่งในที่นี้หมายถึง เครื่องบินส่วนตัวของบุคคลสำคัญ และเครื่องบินของทางราชการ เพราะสนามบินดอนเมืองมีอาคารจัดเลี้ยงสำหรับรับรองแขกพิเศษจึงใช้ในกิจกรรมเหล่านี้ได้ นอกจากนี้ เรายังควรใช้พื้นที่ในสนามบินเป็นที่จอดของเครื่องบินขนส่งสินค้าแบบเช่าเหมาลำอีกด้วย  เนื่องจากมีโรงเก็บสินค้าและสถานีปลายทางขนส่งสินค้าพร้อมอยู่แล้ว อีกทั้งสนามบินดอนเมืองยังเคยเป็นศูนย์กลางทางการบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงสามารถเชื่อมโยงการจราจรทางอากาศไปยังจุดต่าง ๆ ของโลกได้อย่างเหมาะสม ทั้งการบินภายในภูมิภาคเอเชียและการบินระหว่างทวีป จึงอาจกล่าวได้ว่า เราสามารถใช้สนามบินเป็นจุดแวะลงและเชื่อมต่อในการเดินทางของผู้โดยสาร ตลอดจนสินค้าและพัสดุไปรษณียภัณฑ์ไปยังจุดอื่น ๆ ได้เป็นอย่างดี
          แนวทางที่สี่ คือ เตรียมสนามบินดอนเมืองสำรองไว้เป็นสนามบินฉุกเฉินในกรณีที่สนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินอื่น ๆ ใช้งานไม่ได้ อันอาจจะมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ ภัยก่อการร้าย หรือเหตุขัดข้องต่าง ๆ การเตรียมสนามบินสำรองไว้เช่นนี้นอกจากจะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ประเทศไทยในด้านความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นการเตรียมพร้อมที่จะช่วยลดความแออัดทางการจราจรทางอากาศและภาคพื้นดินให้แก่สนามบินสุวรรณภูมิ ที่กำลังจะเต็มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารในไม่ช้าอีกด้วย
          อย่างไรก็ตาม นอกจากการใช้สนามบินดอนเมืองดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบินแล้ว การที่สนามบินดอนเมืองมีอาคารที่กว้างใหญ่ มีสถานที่จอดรถซึ่งรองรับรถยนต์ได้หลายพันคัน และมีระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน ทำให้ใช้จุดเด่นเหล่านี้ในการสร้างศูนย์รวมทางการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไปได้อีกด้วย เช่น เราอาจดัดแปลงอาคารบางส่วนเป็นห้องสมุดสาธารณะ รวบรวมหนังสือและสื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาศึกษา หรืออาจปรับปรุงบางพื้นที่เป็นห้องจัดแสดงกิจกรรมและผลงานของสถาบันต่าง ๆ รวมถึงใช้จัดนิทรรศการระดับประเทศ
          เป็นต้น แนวทางเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในด้านการเพิ่มความรู้ให้แก่คนในสังคม อันจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าอีกทางหนึ่ง
          สนามบินดอนเมืองนั้นมีความพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินการทั้งหมดที่ได้กล่าวไปในข้างต้นหลายประการ ประการแรก เนื่องจากสนามบินนี้เคยเป็นท่าอากาศยานมานานกว่า 90 ปี เจ้าหน้าที่ของสนามบินดอนเมืองจึงเชี่ยวชาญการจัดระบบการบริการและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี
          ประการที่สอง สนามบินดอนเมืองมีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่เพียบพร้อม ไม่ว่าจะเป็นอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ ( รองรับผู้โดยสารได้ถึง 25 ล้านคนต่อปี) อาคารผู้โดยสารภายในประเทศ อาคารคลังสินค้า ( รองรับสินค้าได้ถึง 1,060,000 เมตริกตันต่อปี) มีสถานีดับเพลิง ลานจอดรถที่กว้างขวาง ระบบจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงทางท่อ และระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ระบบปรับอากาศ ระบบระบายน้ำและบำบัดของเสีย เป็นต้น
          ประการสุดท้าย เราเดินทางมายังสนามบินดอนเมืองได้จากหลายเส้นทางและหลายวิธี เพราะรถโดยสารประจำทางหลายสายและรถไฟแล่นผ่านหน้าสนามบินดอนเมือง ยกตัวอย่างเช่น รถโดยสารประจำทาง มีรถโดยสารธรรมดาสาย 29 จากสถานีรถไฟหัวลำโพง รถโดยสารปรับอากาศ (ยูโรทู) สาย 510 จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ รถโดยสารปรับอากาศ (ครีม-น้ำเงิน) สาย 513 จากสำโรง และรถเอกชนร่วมบริการ (รถตู้ปรับอากาศ) สาย 98 จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีสถานีรถไฟดอนเมืองให้บริการรถไฟ ไปยังสถานีรถไฟหัวลำโพง ที่ซึ่งผู้โดยสารจะเดินทางต่อไปยังทุกสถานีในประเทศได้อีกด้วย
          การใช้สนามบินดอนเมืองตามแนวทางข้างต้น จะก่อให้เกิดผลดีตามมามากมาย กล่าวคือ ระบบเศรษฐกิจบริเวณรอบพื้นที่สนามบินจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีประชาชนเดินทางมาใช้บริการสนามบินดอนเมืองมากขึ้น ผู้ประกอบการรายย่อยหรือประชาชนทั่วไปอาจเปิดร้านค้า ร้านอาหาร หรือทำธุรกิจที่ตนเองถนัดในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ บุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการบินก็จะมีโอกาสในการทำงานมากขึ้น นับเป็นการสร้างอาชีพและกระจายรายได้ให้ประชาชน ในขณะเดียวกัน สนามบินดอนเมืองก็จะกลับมาสร้างรายได้ให้ประเทศไทยอีกครั้ง ทั้งจากการบริการทางด้านธุรกิจการบิน และจากการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมต่าง ๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
          ท่าอากาศยานดอนเมืองเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ามหาศาล อีกทั้งยังมีศักยภาพในการสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อีกมาก หากเราวางแผนการจัดการอย่างมีระบบ เราสามารถใช้อาคารสถานที่ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์ โดยดำเนินกิจการที่เกี่ยวข้องกับการบินและทำคุณประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมได้หลายแนวทาง แต่ในปัจจุบันเรากลับละเลย ไม่ใช้ประโยชน์จากสนามบินแห่งนี้อย่างเต็มที่ ดังนั้น ทั้งภาครัฐและเอกชนควรสนใจและร่วมมือกันวางแผนการบริหารจัดการและใช้งานสนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะสามารถรักษาและเพิ่มมูลค่าให้สนามบิน
          ดอนเมือง และสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้มากที่สุด

..................................

 

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่