Eng
 
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
กลับหน้าแรก

ดอนเมือง: แนวทางการใช้ประโยชน์สูงสุดเพื่อชาติ

เด็กหญิง ปีย์รดา ปลาทอง
ระดับมัธยมศึกษา

          สนามบินดอนเมือง (Don Mueang International Airport)  เป็นสนามบินที่มีอายุเก่าแก่ ที่สุดในโลก โดยนับแต่เริ่มการก่อสร้างสนามบินในที่ดินรกร้างว่างเปล่าผืนหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า
          “ดอนอีเหยี่ยว” แห่งตำบลบางเขน ทางตอนเหนือของพระนคร และเปิดดำเนินกิจการด้านการบินพาณิชย์ของไทยตั้งแต่  พ.ศ.2457 จนถึงปัจจุบัน (พ.ศ.2553) ก็มีอายุครบ 96 ปีแล้ว ถ้าเปรียบเทียบอายุของสนามบินดอนเมืองกับช่วงชีวิตของคนก็ยิ่งน่าตกใจที่มีอายุยืนยาวเฒ่าชราถึงเพียงนี้ แต่สนามบินดอนเมืองยังคงอยู่มาได้นานโดยที่ไม่ได้มีสภาพเก่าแก่ทรุดโทรมลงเช่นเดียวกับคนเรา ทั้งนี้ เพราะด้วยประวัติศาสตร์อันยาวนานของสนามบินดอนเมืองนั้นเองทำให้ยิ่งผ่านกาลเวลานานขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งทำให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นเท่านั้น
          ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสนามบินดอนเมืองมีการพัฒนา ทั้งเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง ต่อเติม ซ่อมแซมทั้งอาคาร และขยายพื้นที่ของสนามบินเพิ่มขึ้น ส่วนด้านการบริหารงานได้มีการถ่ายโอน จัดระบบระเบียบ และปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในองค์กร จนกระทั่งเป็น “สนามบินนานาชาติกรุงเทพ (Bangkok International Airport)” ที่ได้รับการพัฒนาทุกด้านสู่ความเจริญสูงสุดในช่วงปี พ.ศ.2548 และมีฐานะเป็นสนามบินอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่โอ่อ่าทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำให้สนามบินดอนเมืองในอดีตนั้น เปรียบเสมือน “ชุมชนสวรรค์” เป็นสัญลักษณ์แห่งการเดินทางบนภาคพื้นอากาศที่นำเงินตราจำนวนมากมายมหาศาลมาสู่ประเทศไทย
          สำหรับฉัน ถึงแม้ยังอยู่ในวัยเยาว์และมีโอกาสใช้สนามบินดอนเมืองเพียงแค่ครั้งเดียว แต่ก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมา และความสำคัญของสนามบินแห่งนี้ไม่น้อย ทำให้ฉันรู้สึกภาคภูมิใจ รักและหวงแหนสนามบินดอนเมืองไม่น้อยไปกว่าคนไทยคนอื่นๆ อีกทั้งเห็นว่า เหตุผลสำคัญ ที่สนามบินแห่งนี้ดำรงอยู่มาได้ยาวนานและเจริญก้าวหน้ามากถึงเพียงนี้ เพราะได้รับความร่วมมือจาก คนไทยที่ช่วยกันดูแลรักษาด้วยความห่วงใยสมบัติของชาติ ด้วยความรู้สึกว่า “ทุกคนเป็นเจ้าของสนามบินร่วมกัน” สังเกตได้จากคนในครอบครัวของฉันเอง ทุกวันนี้เมื่อต้องใช้เส้นทางผ่านหน้าสนามบินดอนเมืองครั้งใด คุณแม่มักจะเอ่ยทำนองว่า “น่าเสียดายที่ต้องทิ้งสนามบินให้ร้างไป เหมือนเรามีบ้านสวยงามที่ยังอยู่อาศัยได้ดี น่าจะใช้ทำประโยชน์อย่างอื่นก็ได้ แต่ทำไมไม่มีใครสนใจจะทำ” ประโยคเหล่านี้เข้าไปค้างคารอหาคำตอบอยู่ในใจของฉันตลอดมา
          ตั้งแต่มีการเปิดสนามบินแห่งใหม่ขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2549 โดยใช้ชื่อว่า ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport) และทำหน้าที่ให้บริการทางด้านการบินอย่างเต็มรูปแบบแทนที่สนามบินดอนเมือง ทำให้จุดรวมความสนใจทางด้านการบินของไทยมุ่งตรงไปสู่สนามบินใหม่ ดังนั้น สนามบินดอนเมืองจึงไม่มีความจำเป็นสำหรับใช้งานและไม่มีความสำคัญในการลงทุนอีกต่อไป ในเวลาต่อมา การบริหารจัดการสนามบินดอนเมืองจึงใช้แผนการดูแลรักษาไม่ให้เสื่อมสภาพมากขึ้น และรอให้หลาย ๆ ฝ่ายกลับมาพิจารณาว่า “เราจะลงทุนทำอะไรกับสนามบินดอนเมืองดี จึงจะคุ้มค่า”
          แม้ว่าสนามบินดอนเมืองกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2550 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน สำหรับให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost Airlines) เฉพาะที่ให้บริการเที่ยวบินภายในประเทศเพียงแค่ไม่กี่สายการบิน รวมทั้งใช้ทำกิจกรรมบางอย่าง เช่น การเปิดใช้อาคารผู้โดยสาร เป็นที่ทำการของรัฐบาลในช่วงระยะเวลาสั้นๆ การแสดงคอนเสิร์ต และการแสดงนิทรรศการด้านการบิน เป็นต้น การใช้ประโยชน์จากสนามบินดังกล่าว นับเป็นส่วนเล็กน้อยเมื่อเทียบกับศักยภาพของสนามบินดอนเมือง และก็ไม่ได้สร้างรายได้ที่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการเปิดใช้และการดูแลรักษาสนามบินแต่อย่างใด ประเด็นเหล่านี้ คือ ปมปัญหาที่ต้องร่วมกันคิดว่า “สนามบินย้ายไปนานแล้ว แต่ไม่รู้จะเอาดอนเมืองไปทำอะไร นี่คือความสูญเสีย ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิดเพื่อชาติ” เพื่อกำหนดทิศทางให้แก่สนามบินดอนเมืองที่กำลังรอคำสั่งเดินหน้า ไปซ้ายขวาหรือถอยหลังจากผู้มีอำนาจในการขับเคลื่อน แม้ว่าในด้านการบริหารจัดการ สนามบินดอนเมืองนั้น เป็นหนึ่งในท่าอากาศยาน จำนวน 6 แห่ง ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ Airports of Thailand Public Company (AOT) ก็ตาม
          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ฉันจึงขอเสนอแนวความคิดที่จะใช้สนามบินดอนเมือง  ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อประเทศชาติโดยรวม โดยศึกษาหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องด้วยตนเองจากสื่อต่าง ๆ เช่น วารสาร หนังสือพิมพ์ และอินเทอร์เน็ต จนในที่สุดฉันก็ได้แนวคิดหรือทางเลือกการใช้ประโยชน์สนามบินดอนเมือง เรียกว่า “ทางเลือก 5 ค” ซึ่งได้แก่  ครอบคลุม ครบ คลัง ครัว และค้าขาย
          ทางเลือกที่หนึ่ง  ครอบคลุม  หมายถึง  แนวคิดที่จะใช้สนามบินดอนเมืองให้ครอบคลุมกิจการของสนามบิน โดยทำหน้าที่เป็นสนามบินนานาชาติ (International Airport) เต็มรูปแบบเหมือนเดิม (ก่อนที่จะมีสนามบินสุวรรณภูมิ) เพื่อดำเนินกิจกรรมที่สร้างรายได้ครอบคลุมทั้งรายได้ที่มาจากกิจการทางด้านการบินและรายได้ที่ไม่ได้มาจากกิจการทางด้านการบิน เพราะสนามบินดอนเมืองมีศักยภาพ การ บริการด้านการบินทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ และการประกอบธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบินอยู่แล้ว โดยมีเหตุผลที่สนับสนุนแนวคิดนี้หลายประการ ดังนี้ 
          ประการที่หนึ่ง สนามบินดอนเมืองมีทำเลที่ตั้งเหมาะสม เพราะอยู่ในเส้นทางคมนาคมหลักของกรุงเทพฯ และเขตปริมณฑล  ทำ ให้ใช้บริการได้สะดวกรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาสนามบิน
          ประการที่สอง สภาพรันเวย์และอุปกรณ์ต่างๆ ของสนามบินดอนเมืองยังใช้การได้ดี รวมทั้งอาคารสถานที่ต่างๆ ภายในสนามบินยังไม่ชำรุดเสียหายหรือเสื่อมสภาพลง เพราะมีการดูแลรักษาอย่างดี หากเปิดให้บริการเต็มรูปแบบอาจจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้าง แต่คงไม่มากเท่ากับการลงทุนก่อสร้างขึ้นมาใหม่ อีกทั้งจากการศึกษาด้านการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของสนามบินดอนเมือง ทั้งที่เป็นที่ดินและอสังหาริมทรัพย์พบว่า มีราคาประเมินที่จัดว่า “สูง” หากจะทิ้งทรัพย์สินนี้ให้เสื่อมสภาพและเสื่อมราคา จะไม่เกิดความคุ้มค่าในการบริหารจัดการทรัพย์สิน
          ประการที่สาม สนามบินดอนเมืองยังมีเจ้าหน้าที่และบุคลากรที่ปฏิบัติงานอยู่ ในปัจจุบันได้มีการลดจำนวนของพนักงานของสนามบินดอนเมืองลงส่วนหนึ่ง เพราะมีงานน้อยลงและต้องตัดลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป หากเปิดใช้สนามบินดอนเมืองเต็มรูปแบบ อาจรับพนักงานใหม่เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ตลอดจนผู้ที่ความสามารถก็จะได้รับโอกาสทำงานเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้เศรษฐกิจของชุมชนบริเวณรอบสนามบินดอนเมืองที่ซบเซาอยู่ในเวลานี้ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
          ประการที่สี่ สนามบินดอนเมืองจะช่วยกระจายการกระจุกตัวของเที่ยวบินหรือการจราจรทางอากาศของสนามบินสุวรรณภูมิ เพราะประชาชนมีทางเลือกเพิ่มขึ้น โดยเลือกใช้สนามบินที่ใกล้บ้านหรือเดินทางสะดวก โดยใช้ได้ทั้งเที่ยวบินภายในประเทศและระหว่างประเทศ แม้อาจจะมองว่าการเปิดสนามบินสองแห่งในระยะทางใกล้กันอาจมีปัญหาและอุปสรรคเกี่ยวกับเส้นทางการจราจรทางอากาศบ้าง แต่ก็น่าจะบรรเทาการแออัดและผลกระทบทางด้านเสียงของสนามบินสุวรรณภูมิได้ด้วย เพราะขณะนี้มีแนวโน้มการใช้บริการสนามบินเพิ่มขึ้นอีก และข้อดีของสนามบินสองแห่งนี้ คือ มีการบริหารงานภายใต้ระบบธุรกิจเดียวกัน จึงสามารถใช้สนามบินทั้งสองแห่งส่งเสริมกิจการซึ่งกันและกัน แต่ไม่ได้เป็นคู่แข่งทางธุรกิจกัน
          นอกจากนี้ ควรสร้างเส้นทางเชื่อมต่อด้วยระบบขนส่งที่รวดเร็วและทันสมัย เช่น เพิ่มต่อสายรถไฟฟ้าบีทีเอสจากสถานีหมอชิตให้ผ่านสนามบินดอนเมือง หรือวางระบบขนส่งที่เชื่อมต่อแบบ “รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ (Airport Link)” ทำให้การเดินทางระหว่างสนามบินสองแห่งถึงกันภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ใช้บริการสนามบินและธุรกิจการบินโดยรวม
          แนวคิดนี้ สนามบินดอนเมืองจะเป็นสนามบินทางเลือกที่ดีของประชาชนอีกทางหนึ่ง โดยอาจพิจารณาจัดสรรประเภทของการบินให้เหมาะสมกับสนามบินและกลุ่มผู้ใช้บริการ เช่น สายการบินต้นทุนต่ำในประเทศและระหว่างประเทศที่บริการเที่ยวบินในแถบทวีปเอเชีย ผู้ให้บริการเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำ และเครื่องบินเจ็ทส่วนตัว เป็นต้น
          ทางเลือกที่สอง  “ครบ”  หมายถึงการใช้สนามบินดอนเมืองประกอบกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งแบบครบวงจร (One - Stop Service Center) ซึ่งดำเนินกิจการเบ็ดเสร็จในที่แห่งเดียวกัน เช่น เป็นศูนย์บริการครบวงจรด้านอากาศยานขนาดเล็กในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มกระบวนการตั้งแต่สร้างศูนย์การผลิตชิ้นส่วนหรืออะไหล่ของเครื่องบิน ศูนย์ซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ของอากาศยาน รวมทั้งมีศูนย์ซื้อขายแลกเปลี่ยนเครื่องบินขนาดเล็กด้วย 
          ทางเลือกที่สาม  “คลัง” หมายถึง การใช้สนามบินดอนเมืองเป็นศูนย์กลางทางด้านการ
ขนถ่ายและคลังเก็บสินค้า (Cargo Center) โดยสร้างคลังสินค้าขนาดใหญ่และหาผู้ลงทุนประกอบกิจการให้บริการขนถ่ายสินค้าทางเครื่องบิน ซึ่งประเทศไทยอาจจะเป็นศูนย์กลางเส้นทางการขนส่งสินค้าได้ เพราะมีสนามบินสองแห่งที่เลือกใช้แยกประเภทกันได้ โดยสนามบินดอนเมืองใช้สำหรับบริการขนส่งสินค้า ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิให้บริการแก่ผู้โดยสารเป็นหลัก
          ทางเลือกที่สี่  “ครัว” หมายถึง การสร้างครัวอาหารที่สนามบินดอนเมือง (Catering Center) โดยดำเนินกิจการผลิตอาหารให้แก่ผู้โดยสารบนเครื่องบินของสายการบินต่าง ๆ ทั่วโลก และบริการขนส่งอาหารสำเร็จรูปไปให้พลเมืองของประเทศต่าง ๆ ทุกภูมิภาคทั่วโลกด้วย เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบด้านอาหารและมีศักยภาพพียงพอที่จะพัฒนาด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหาร การประกอบธุรกิจด้านอาหารสดหรืออาหารสำเร็จรูปนั้น ถ้ามีความพร้อมด้านการขนส่งทางอากาศที่สะดวกรวดเร็วก็จะเป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดที่จะสร้างประเทศไทยให้เป็น “ครัวของโลก” ซึ่งจะทำรายได้ เข้าประเทศได้มากอีกทางหนึ่ง
          ทางเลือกที่ห้า  “ค้าขาย” หมายถึง การสร้างรายได้จากการทำธุรกิจค้าขายสินค้าและการบริการอย่างเต็มรูปแบบ และจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ (Market  and Museum Center) โดยไม่ได้ให้สนามบินดอนเมืองทำหน้าที่เป็นสนามบินเพียงอย่างเดียว แต่ก่อสร้างหรือปรับอาคารที่มีอยู่ให้เป็นตลาดหรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกต่าง ๆ ทุกชนิดจากทุกมุมโลก รวมทั้งทำหน้าที่เป็นตลาดนัดพบระหว่างนักท่องเที่ยวและเจ้าของกิจการท่องเที่ยว จัดกิจกรรมที่สร้างรายได้ประเภทต่างๆ เช่น ใช้เป็นศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการแสดงสินค้า และเป็นแหล่งให้ความบันเทิงพักผ่อนหย่อนใจ สำหรับจัดแสดงละคร จัดงานประกวดต่างๆ งานแสดงคอนเสิร์ตและการแสดงการบินผาดแผลงกลางแจ้ง (Air Show) เป็นต้น รวมทั้งจัดสร้างพิพิธภัณฑ์ด้านการบิน เพื่อจัดแสดงประวัติด้านการบินของไทย ตลอดจนจำหน่ายสินค้าและของที่ระลึกที่เกี่ยวกับการบิน เช่น เครื่องบินบังคับ และเครื่องเล่นที่ทำเลียนแบบอากาศยาน ฯลฯ
          อย่างไรก็ดี ทางเลือก 5 ค ที่ได้เสนอแนะมานี้ เป็นเพียงหนึ่งอีกในหลาย ๆ ทาง ที่คนไทยคนหนึ่งได้มีโอกาสบอกเล่าความคิดของตน เพื่อช่วยกระตุ้นเตือนให้ใช้สนามบินดอนเมืองให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ ส่วนการตัดสินใจเลือกแนวทางใดนั้นขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจและผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะต้องพิจารณาข้อดีข้อเสียในแต่ละด้านอย่างละเอียดรอบคอบ อีกทั้งจำเป็นต้องศึกษาลึกลงในรายละเอียดของการลงทุนและการประกอบกิจการ และประเมินในด้านอื่น ๆ เช่น ความปลอดภัย ข้อกฎหมาย ความคุ้มค่าในการลงทุน และความเป็นไปได้ เป็นต้น
          ฉันหวังว่า สนามบินดอนเมืองจะได้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมในไม่ช้านี้ เพราะเรา คนไทยรักและผูกพันกับสนามบินดอนเมืองมานาน สิ่งอยากเห็น คือ สนามบินแห่งนี้ได้ทำประโยชน์ให้แก่คนไทยและประเทศชาติอย่างยั่งยืนอยู่คู่ลูกหลานของไทยตลอดไป

..................................

 

Area Trebs
 
อาคาร @area เลขที่ 5/15 ซอยนนทรี 5 ถนนนนทรี เขตยานนาวา กทม. 10120
Tel: 0-2295-3171 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่