ประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนเพื่อพัฒนาชาติ
เด็กชายเขตโสภณ โพธิ์ศรี

รางวัลชมเชย ระดับมัธยมศึกษา

 

                 “ประเมินค่าทรัพย์สิน” กับ “เวนคืน” คืออะไร ทั้งสองคำนี้นับว่าเป็นเรื่องยากที่เด็กระดับมัธยมจะให้ความหมายของคำสองคำนี้ได้ หากไม่ประสบหรือพบกับเหตุการณ์เรื่องราวที่เกี่ยวข้องมาก่อน ฉันเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยสนใจเรื่องดังกล่าวเลย จนมาวันหนึ่งบ้านหลังเก่าๆที่มุงด้วยหลังคาสังกะสีผุๆไม่เคยทาสีปล่อยจนเป็นคราบของน้ำฝนเกาะ บ้านหลังนี้เป็นที่อยู่ที่นอนของฉันและครอบครัว วันนี้มีอันต้องขยับถอยหลังเพื่อให้พ้นจากแนวโครงการสร้างถนนเชื่อมต่อกับอีกหมู่บ้านหนึ่ง  ณ วันที่รู้ข่าว ทุกคนในหมู่บ้านต่างแสดงสีหน้าบ่งบอกว่าไม่อยากได้ยินเรื่องนี้แต่ปฏิเสธไม่ออก ไม่นานทางเจ้าของโครงการแจ้งให้ทราบว่าจะมีการเวนคืนหลังมีการประเมินค่าทรัพย์สินเสร็จสิ้น
                 ความสงสัยของฉันจึงถามพ่อว่า “ประเมินค่าทรัพย์สิน” หมายความว่าอย่างไร และเกี่ยวข้องกับคำว่าเวนคืนอย่างไร คำตอบของพ่ออธิบายว่า การประเมินค่าทรัพย์สินคือ การตรวจสอบราคาจริงของบ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆที่มีอยู่ในพื้นที่บริเวณที่ถนนตัดผ่าน เป็นการประเมินทรัพย์สินแต่ละอย่างเพื่อต้องการรู้มูลค่าจริงคิดเป็นจำนวนเงินเท่าไร หรืออนาคตสิ่งเหล่านั้นจะมีมูลค่าเพิ่มเท่าไร คำนี้ได้ยินบ่อยๆ เพราะทุกปีต้องมีการประเมินค่าทรัพย์สินของเหล่านักการเมืองเพื่อตรวจสอบการเสียภาษีว่าถูกต้องตรงตามที่แจ้งหรือไม่ เมื่อทางโครงการส่งเจ้าหน้าที่มาประเมินค่าทรัพย์สินจนรู้มูลค่าที่แท้จริงจึงมีการจ่ายค่าทดแทนตามที่ประเมิน ส่วนคำว่า “เวนคืน” ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 หมายถึง บังคับเวนคืนที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์อื่นๆตามเงื่อนไขของพระราชบัญญัติ ภาษาง่ายที่เข้าใจคือการบังคับขาย ความเกี่ยวข้องของสองคำนี้คือ เมื่อมีโครงการสร้างถนนหรือโครงการอื่นๆที่เกิดขึ้นจากหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง บ้าน ที่ดิน หรืออสังหาริมทรัพย์ในบริเวณนั้นๆก็จะถูกประเมินค่าก่อน เมื่อประเมินค่าเสร็จสิ้นจึงจ่ายเงินค่าทดแทนเป็นการเวนคืน หลังจากนี้ถือว่าทางโครงการมีสิทธิในพื้นที่ทุกประการ
                 คำถามต่อมาที่ฉันถามพ่อคือ แล้วจะทราบได้อย่างไรว่าการประเมินค่าทรัพย์สินจะเป็นธรรมถูกต้อง คำว่าเป็นธรรมกับผลประโยชน์มักมาคู่กันเสมอ เพราะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นระหว่างสองฝ่ายขึ้นไป ในการประเมินค่าทรัพย์สินก็เช่นเดียวกัน สามารถแบ่งเป็นสองฝ่ายคือ ฝ่ายเจ้าของผู้ถูกเวนคืน และฝ่ายเจ้าของเรื่องหรือโครงการที่ต้องจ่ายค่าทดแทนให้ผู้ถูกเวนคืน ตามธรรมดาแล้วผู้เสียหายก็ต้องการค่าทดแทนที่มากเกินจริงและผู้จ่ายค่าทดแทนก็ต้องการจ่ายค่าทดแทนที่น้อย ดังนั้นจึงต้องอาศัยคนกลางเข้ามาเพื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 เรียกคนกลางนี้ว่า “ผู้ประเมิน” ความสำคัญของผู้ทำหน้าที่ประเมินทรัพย์สิน เพื่อหามูลค่าที่แท้จริงก่อนมีการเวนคืน เมื่อเป็นดังนี้ผู้ประเมินนอกจากจะต้องมีความรู้ในเรื่องการประเมินค่าทรัพย์สินแล้ว ยังต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม มีจรรยาบรรณ เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย การประเมินที่ดีต้องตั้งอยู่บนกฎเกณฑ์บรรทัดฐานของการจ่ายค่าทดแทนตามที่พระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 กำหนด แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความเหมาะสมเพราะในสภาพปัจจุบันนั้นราคาของทรัพย์สินทุกอย่างไม่แน่นอน สิ่งที่ควรคำนึงต่อไปคือ ขั้นตอนกระบวนการที่ชัดเจนในการประเมินค่าทรัพย์สินสามารถตรวจสอบได้ มีการเผยแพร่ข้อมูลให้ทั้งสองฝ่ายรับทราบถึงมูลค่าที่แท้จริง ปัจจุบันเทคโนโลยีต่างๆเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการนำเครื่องโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาใช้ในการประเมินค่าทรัพย์สิน ทำให้มองเห็นถึงความเป็นธรรมมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของชาติตกต่ำรวมถึงปัญหาอื่น การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาชาติไทยได้อีกทาง “ฉันถามพ่อว่าช่วยอย่างไร”
                 ประการที่หนึ่ง หากการประเมินค่าทรัพย์สินในประเทศไทยเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม มีแนวทางการปฏิบัติชัดเจน มีการตรวจสอบชัดเจน พร้อมหลักฐานอ้างอิง หรือมีการพัฒนานวัตกรรมในการประเมินให้เป็นมาตรฐาน ส่งผลต่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในสายตาของชาวต่างชาติในอนาคต ก่อเกิดเป็นความร่วมมือหรือการลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น ช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้
                 ประการที่สอง การประเมินค่าทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม เป็นการพัฒนาฐานข้อมูลทรัพย์สินแห่งชาติ ข้อมูลทั้งหมดบ่งบอกถึงสถานะความก้าวหน้าของประเทศ หลังจากนั้นนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป
                 ประการที่สาม การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืนมีประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่หรือค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม สามารถนำมาเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐบาลกลางในการนำไปใช้พัฒนาด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการที่รัฐบาลส่งเสริมให้มีการกระจายอำนาจสู่ชุมชน การนำภาษีที่ได้ไปใช้พัฒนาท้องถิ่นในการจ้างงานหรือส่งเสริมอาชีพให้ชุมชนสามารถเลี้ยงตนเองนับว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องเศรษฐกิจของชาติได้อีกทาง
                 ประการที่สี่ การประเมินค่าทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม ช่วยให้ทราบข้อมูลที่แท้จริงของประเทศ เป็นประโยชน์ต่อกรมที่ดิน ในการทำหน้าที่เก็บค่าธรรมเนียมได้เต็มที่และถูกต้องเต็มศักยภาพ
                 ประการที่ห้า ช่วยยกระดับมาตรฐานการประเมินค่าภาคเอกชน ให้มีการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับ โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคนิควิธีการประเมินค่าโดยใช้คอมพิวเตอร์ที่กำลังแพร่หลายในขณะนี้
                 ณ วันนี้การประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน ถือว่าเป็นเรื่องที่ประชาชนทุกคนจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก รวมทั้งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการนำเสนอข้อมูลต้องมีการรณรงค์ ชี้แจงให้รู้จักและเข้าใจถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นธรรมก่อนการเวนคืน ว่ามีกรณีใดบ้างที่เกี่ยวข้องกับประชาชนและช่วยพัฒนาชาติได้ เช่น การเรียกเก็บภาษีจากการถือครองพื้นที่ การเก็บรวบรวมข้อมูลระดับชาติ หรือแม้แต่การยกระดับการประเมินค่าทรัพย์สินของประเทศ เป็นต้น หากทุกคน ทุกฝ่ายตระหนัก ในที่สุดประเทศไทยก็สามารถผ่านพ้นวิกฤติปัญหาที่กำลังเผชิญไปได้ และพร้อมที่จะก้าวไปสู่สากลด้วยความภาคภูมิ
“ประเมินค่าทรัพย์สินอย่างเป็นธรรม ค้ำจุนชาติพัฒนา เรียนรู้ศึกษาก่อนการเวนคืน”

.................................................................