ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย

นางสาว สุธิญา พูนเอียด
รางวัลชนะเลิศ ระดับมัธยมศึกษา

ท่ามกลางสังคม ณ เวลานี้ ที่มีแต่ความสับสน ใครต่อใครจึงต้องการสิ่งตอบสนองความต้องการให้ชีวิตเปี่ยมไปด้วยความสมบูรณ์ทั้งด้านกายภาพและชีวภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนึ่งในปัจจัยสี่ ที่อยู่อาศัย ที่เรียกว่า “บ้าน” ย่อมมีความสำคัญ เพราะทุกคนต่างต้องสัมผัส ใช้ชีวิตภายในบ้าน ซึ่งรากฐานของความเป็นคนแห่งนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมากของคนหนึ่งคนเก็บหอมรอมริบทั้งชีวิต เพื่อแสวงหา ก่อสร้าง และมีกรรมสิทธิ์ ความจำเป็นของการ “ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย” จึงเกิดขึ้นพร้อมกับการประมาณค่าที่ควรจะเป็นของบ้านให้เหมาะสม เที่ยงตรง รู้เท่าทันการเอารัดเอาเปรียบ ไม่ให้นำไปสู่การเสียเงิน เสียเวลา และเสียใจ
     “บ้าน” อสังหาริมทรัพย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับกรรมสิทธิ์อันพึงมีพึงได้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งก่อให้เกิดผลผูกพันทางกฎหมาย โดยต้องมีความรู้เกี่ยวกับบ้านว่ามีลักษณะเช่นไร ทั้งบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด ซึ่งแต่ละประเภทล้วนมีลักษณะเฉพาะ จะเห็นได้ว่า “ บ้านหลังเล็ก ๆ ในโครงการที่ดีย่อมจะมีคุณค่ามากกว่าบ้านแบบเดียวกันในหมู่บ้านที่มีคุณภาพต่ำกว่า ” ดังนั้นเพื่อป้องกันการซื้อ-ขายบ้านผิดพลาด จึงต้องศึกษาข้อมูล พิจารณาและตัดสินใจอย่างรอบคอบ
     ในเมื่อการซื้อ-ขายบ้าน หมายถึงการโอนกรรมสิทธิ์ โดยมีการประเมินมูลค่าเป็นตัวเชื่อมความถี่ถ้วน หลักและวิธีที่ต้องรู้ในการประเมินมูลค่า คือ ต้องสำรวจบ้านก่อน แล้วเข้าถึงแหล่งข้อมูล สืบหาข้อมูลตลาดมาเปรียบเทียบ จากนั้นจึงมองความคล้าย ความแตกต่าง วิเคราะห์ปรับแก้ ระหว่างบ้านและข้อมูลทีละอย่าง แล้วสรุปมูลค่าตลาดที่ประเมิน โดยอาจประเมินแบบวิธีการต้นทุนหรือวิธีการแหลงรายได้เป็นมูลค่า ที่สำคัญการประเมินต้องมีรายละเอียดที่ดีในการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ เรื่องเจ้าของ ภาระผูกพัน การปลอมแปลง อายัด การตรวจสอบความถูกต้องของตำแหน่งที่ดิน ใบอนุญาตก่อสร้าง รวมทั้งกฎหมายต่าง ๆ ที่มีผลกระทบ ซึ่งจะรังสรรค์ และก่อให้เกิดประโยชน์มหาศาลแก่ผู้ซื้อ-ขายบ้านที่ได้ประเมินมูลค่าบ้านแล้วอย่างคุ้มค่า
     แน่นอนว่า การ “ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย” สร้างความเหมาะสม ความถูกต้องเรื่องมูลค่าของบ้าน อันเป็นจุดเริ่มแห่งความต้องการตรงกันของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะต้องตระหนักในการประเมินมูลค่าของบ้าน ให้เกิดประสิทธิภาพ ประสิทธิผลสูงสุด กล่าวคือ เสริมสร้างข้อมูลเพื่อซื้อหรือขายบ้านในราคาและคุณภาพที่ยุติธรรม ทราบถึงศักยภาพ และขีดจำกัดในมูลค่า หลีกเลี่ยงและป้องกันปัญหาการเอารัดเอาเปรียบ กำหนดทิศทาง ขนาดของโครงการ ราคาขาย ความต้องการของตลาด ทำให้ธุรกิจดำเนินไปด้วยดี ป้องกันการขาดทุนจากการถือครองและการเสื่อมราคาของที่ดิน รู้สถานการณ์ทำเลที่ตั้งว่าจะมีพัฒนาการไปในทิศทางใด ทั้งสามารถประเมินวงเงินได้เหมาะสม ลดปัญหาหนี้ หากจะใช้บ้านเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน
     ไม่เพียงเท่านั้น การประเมินมูลค่าบ้านยังสนับสนุนการคิด การวางแผนที่ดีก่อนการทำนิติกรรมซื้อ-ขายกับบุคคลอื่น ทำให้ผู้คนมีฐานะ สภาพความเป็นอยู่มั่นคง สั่งสมคุณภาพของตน ครอบครัว สังคม และประเทศให้เจริญ ควบคู่ไปกับการชี้ให้เห็นถึงระบบความสามารถของคนใน การรู้จักประเมินอสังหาริมทรัพย์ด้วยตนเอง เกิดการพัฒนาวิชาการและวิชาชีพการประเมินค่าทรัพย์สิน นำไปสู่ความโปร่งใส ขจัดกลยุทธ์การโก่งราคา กลโกงของมิจฉาชีพที่อาจฉวยโอกาสจาก “ความไม่รู้ (จัก) ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนการซื้อ-ขาย” เพื่อให้ชุมชนรากหญ้าสู่สังคมรากแก้วแห่งชาติไทยใสสะอาด โดยผู้ซื้อ-ขายต้องมีความรู้ความเข้าใจ มีจิตสำนึกในหน้าที่ว่า “ ตนต้องทำอะไรก่อนการซื้อ-ขาย” เพี่อบ่งบอกถึง “ค่าของคนไทย” อันทัดเทียมอารยะประเทศ
     “ประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่ก่อนมีการซื้อ-ขาย” นอกจากเป็นพื้นฐานการสร้างความพอใจให้ตรงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายบ้านในด้านของมูลค่าแล้ว ยังมีความหมายต่อสังคม และเกี่ยวข้องกับผู้ที่กำลังวางแผนหรือตัดสินใจที่จะซื้อบ้าน เช่นเดียวกับผู้ที่กำลังจะขายบ้านเพื่อนำทรัพย์ไปใช้ในกิจการต่างๆทำให้ผู้ซื้อ-ขายสามารถประเมินค่าบ้านได้อย่างถูกต้อง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ทั้งผู้ซื้อ ผู้ขายควรเล็งเห็นคุณค่า ไม่ละเลยที่จะประเมินมูลค่าบ้าน เพื่อสานสร้างสรรค์กำลังใจ ความภาคภูมิใจ และรักท้องถิ่น ก่อผลลัพธ์ที่ดีอันพึงมีจากการประเมินมูลค่าบ้านให้ถ้วนถี่อย่างแท้จริง

     ประเมิน...อย่างรอบรู้คู่ศึกษา มูลค่า...บ้านถูกต้องครองเหตุผล
ให้ถ้วนถี่...คู่กายใจไม่อับจน

ก่อนซื้อ-ขาย...ทุกชั้นชนล้นไตร่ตรอง

     เล็งเห็นค่าถิ่นอาศัยปัจจัยสี่ เกียรติความดีตัดสินใจไม่เป็นสอง
ผ่านพ้นภัยชนประเทืองชาติเรืองรอง สู่เมืองทอง “ ประเมินมูลค่า ” พัฒนาไทย