สุนทรพจน์
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”
นางสาวปภาดา ศรีพูล์
วิทยาลัยอาชีวศึกษาดุสิตพณิชยการ

"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ"
                                ขอเชิญชวนพี่น้องผองเผ่าไทย                         โปรดร่วมแรงร่วมใจเสียภาษี
                                ทั้งที่ดินสิ่งปลูกสร้างนั้นมากมี                           เงินภาษีคุ้มค่าผ่าทางตัน
                                เสียภาษีคือหน้าที่ตามกฎหมาย                         รัฐใช้จ่ายกิจการงานสร้างสรรค์
                                ชาติดำรงคงอยู่ชั่วนิรันดร์                                 ช่วยสานฝันให้บรรเจิดเถิดชาวไทย

ชาติไทยเป็นชาติที่กำลังพัฒนา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้เงินรายได้จากการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินจากประชาชน ผู้ครอบครองทรัพย์สินทุกประเภท ทั้งสังหาริมทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์ เพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาท้องถิ่นและประเทศชาติ ในกิจการด้านการพัฒนา รวมทั้งการบริการสาธารณะ อันเป็นประโยชน์แก่ประชาชนทั้งหลาย นโยบายการจัดเก็บภาษีทรัพย์สิน จึงถือเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาโครงสร้างภาษีของประเทศไทย เพราะเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของรัฐในระดับประเทศ และระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือในการกำหนดทิศทางการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดังนั้น การปฏิรูปเพื่อผลักดันพระราชบัญญัติการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ เพื่อเป็นก้าวแรกของการพัฒนาภาษีทรัพย์สินในอนาคต
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน บรรดาอารยประเทศทั้งหลาย ต่างก็จัดเก็บภาษีจากประชาชนผู้ใช้ประโยชน์จากแผ่นดิน เพื่อนำรายได้ที่รัฐบังคับเก็บจากประชาชนในรูปของภาษีอากร ไปใช้ในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ เพราะชาติใด เมืองใด มีเศรษฐกิจดี ชาตินั้นเมืองนั้นย่อมมีความมั่นคง และถ้าจะเปรียบชาติคือต้นไม้ เศรษฐกิจก็คือน้ำ ที่จะหล่อเลี้ยงต้นไม้ให้เจริญเติบโต  แผ่กิ่งก้านสาขา ให้ความร่มเย็นแก่ผู้พักพิง ประชาชนอยู่ดีกินดี มีความสุข พึ่งพาตนเองได้ ไม่เป็นภาระแก่สังคม ดังนั้น นโยบายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จึงเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งต้องอาศัยงบประมาณเป็นกลไกในการขับเคลื่อน ให้ประเทศได้พัฒนาก้าวหน้า โดยบริหารกิจการด้านสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์มากกว่าการกักตุนเพื่อเก็งกำไร การเก็บภาษีจะมีฐานที่กว้างขึ้น ทำให้มีผลต่อผู้ถือครองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มคนที่มีฐานะร่ำรวย ในขณะที่ยังมีประชาชนจำนวนมากไม่มีที่ดินทำกิน หรือไม่มีบ้านเป็นของตนเอง ในอดีตนั้น แม้จะมีการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน รวมทั้งภาษีบำรุงท้องที่ แต่ก็ยังขาดความเป็นธรรมสำหรับประชาชนโดยทั่วถึงกัน การจัดเก็บภาษีไม่อยู่บนพื้นฐานของมูลค่าทรัพย์สินตามความเป็นจริง ทำให้รัฐและองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น มีรายได้จากการจัดเก็บภาษีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะรายได้จากการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ ไม่เพียงพอเลี้ยงท้องถิ่นของตนเอง ต้องพึ่งพารายได้จากรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงพยายามผลักดันให้รัฐบาลปฏิรูปการจัดเก็บภาษีให้สอดคล้องกับมูลค่าของทรัพย์สินที่เป็นปัจจุบัน การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  จึงเป็นวิธีใหม่ที่จะใช้แทนการเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่
การจัดเก็บจะทำเป็นระบบ โดยเก็บจากฐานทรัพย์สินอย่างแท้จริง วิธีนี้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในทรัพย์สิน ซึ่งเป็นทรัพย์สาธารณะของประเทศ การเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง นอกจากจะเพิ่มรายได้ให้แก่ประเทศแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการปกครองตนเองของท้องถิ่นให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการกระจายการถือครองที่ดิน ลดการกักตุน และการไม่ใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์และเกิดรายได้ หากปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า ผู้ถือครองที่ดินก็จะเสียภาษีในอัตราเพิ่มมากขึ้น การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะช่วยกระตุ้นให้บุคคลใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์ หรือให้ผู้อื่นได้ทำประโยชน์บ้าง เป็นการกระจายการใช้ประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย นอกจากนั้น ประชาชนยังได้เข้าไปมีส่วนรู้เห็นในการปกครองดูแลท้องถิ่นของตน การรับภาระภาษีจะทำให้ช่วยกันพิทักษ์ผลประโยชน์ มิให้มีการทุจริตคอร์รัปชัน จึงนับเป็นหนทางหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตยโดยประชาชนมีส่วนร่วม ส่วนรัฐหรือท้องถิ่นได้คืนภาษีสู่ประชาชนในรูปของความสะดวกสบาย และการบริการสาธารณะ เช่น การศึกษา การคมนาคมที่สะดวก และ การสาธารณูปโภค ฯลฯ การเกื้อกูลต่อกันเช่นนี้ จึงเป็นเสมือนห่วงโซ่แห่งการพัฒนา ให้ประเทศชาติได้ก้าวหน้าต่อไปในทุก ๆ ด้าน พื่อสร้างความมั่นคง มีภูมิคุ้มกันตนเอง ประชาชนมีความรู้คู่คุณธรรม เพราะปัญญาประดุจดังอาวุธ มีเหตุผล มีความพอดีและพอเพียง ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ใช้เป็นกรอบแนวคิดในการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการเตรียมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มศักยภาพ ประเทศไทยจะยืนหยัดอยู่ในโลกแห่งการแข่งขันได้ พร้อมธำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของไทย
การเสียภาษีคือหน้าที่ของพลเมือง ภาษีคือสะพานสำหรับเดินข้ามผ่านความล้าหลัง การเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ ยิ่งเสียก็ยิ่งได้ ยิ่งให้มีแต่ยิ่งเพิ่ม เริ่มต้นช้าดีกว่าไม่เริ่มต้นเลย และควรเริ่มด้วยความจริงใจและจริงจัง ก้าวแรกจะเป็นก้าวแห่งอนาคต แต่จะสวยสดงดงามเพียงใด ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของประชาชน การเสียภาษีคือ หน้าที่และศักดิ์ศรีของพลเมือง