สุนทรพจน์
“ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ช่วยพัฒนาท้องถิ่น พัฒนาประชาธิปไตย พัฒนาชาติ”
นางสาวกิรณา พรหมเนาว์
พนักงานบริษัทธนาธิวัตถ์ จำกัด จังหวัดระยอง

กราบเรียนท่านประธาน คณะกรรมการ และผู้มีเกียรติที่เคารพทุกท่าน ดิฉันนางสาวกิรณา พรหมเนาว์ พนักงานบริษัทธนาธิวัตถ์ จำกัด จังหวัดระยอง มีความยินดีและภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่จะนำเสนอประโยชน์และบทบาทของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่อการพัฒนาประเทศชาติ
“มีความเดือดร้อนอย่างยิ่งว่า ประชาชนในเมืองไทยจะไร้ที่ดิน และถ้าไร้ที่ดินแล้วก็จะทำงานเป็นทาสเขา ซึ่งเราไม่ปรารถนาที่จะให้ประชาชนเป็นทาสคนอื่น แต่ถ้าเราสามารถที่จะขจัดปัญหานี้ โดยเอาที่ดินจำแนกจัดสรรอย่างยุติธรรม อย่างมีการจัดตั้งจะเรียกว่านิคม หรือจะเรียกว่าหมู่ หรือกลุ่ม หรือสหกรณ์ก็ตาม ก็จะทำให้คนที่มีชีวิตแร้นแค้น สามารถที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้” พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาไม่มีที่ดินทำกินของเกษตรกร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๑
ท่านผู้ฟังที่เคารพคะ จากพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น จะเห็นว่าพระองค์ทรงใส่พระทัยเป็นอย่างยิ่ง ในการจัดและพัฒนาทรัพยากรที่ดินทำกินของพสกนิกรชาวไทย หากตระหนักถึงสาเหตุของปัญหาเหล่านี้ จะเห็นว่าประเทศไทยมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์อยู่อย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ทรัพยากรน้ำ ทรัพยากรป่าไม้ ทรัพยากรดิน ทรัพยากรแร่ธาตุ และทรัพยากรสัตว์ป่า แต่เรายังใช้ประโยชน์จากทรัพยากรดินได้อย่างไม่คุ้มค่าเต็มที่ โดยปัญหาดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนจากการที่เกษตรกรไม่มีที่ทำกิน ต้องบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน รวมถึงการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างไม่เป็นธรรม แม้แต่การปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่า โดยไม่ก่อเกิดรายได้ ไม่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มเชิงพาณิชย์ หรือใช้ในด้านเศรษฐกิจของประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ
ท่านผู้ฟังที่เคารพคะ ยังมีปัญหาเรื่องการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่มีฐานะทางสังคมร่ำรวย กลุ่มนายทุนหรือนักการเมืองบางกลุ่ม ในขณะที่คนมีฐานะปานกลางและระดับยากจนจำนวนไม่น้อย ไม่มีที่ดินหรือบ้านเป็นของตนเอง นั่นเป็นเพราะสาเหตุใด หรือเพราะต้นทุนชีวิตของแต่ละคนนั้นแตกต่าง จึงนำต้นทุนที่มีนั้น มาต่อยอดให้ชีวิตมีผลกำไรได้มากน้อยแตกต่างกัน และหากชาวบ้านจน ๆ เหล่านั้นไม่มีที่พักอาศัยหรือที่ทำกิน ไม่มีแม้แต่ต้นทุนซึ่งนำมาสร้างรายได้ และกำไรอะไรให้แก่ตนเอง อนาคตก็ไร้ซึ่งความหมาย หรือแม้แต่การจัดสรรหรือการถือครองที่ดินอย่างไม่ยุติธรรม เหล่านี้ล้วนเป็นเครื่องพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า นโยบายการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน และภาษีบำรุงท้องที่ มีการจัดการอย่างไม่เป็นธรรม มีปัญหาข้อบกพร่อง และอาจใช้ไม่ได้จริงตามแนวโครงสร้างที่ควรจะเป็น
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการผลักดันร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพื่อใช้แทนพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน และพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ทั้งหมด โดยใช้เป็นเครื่องมือในการลดปัญหาต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้จัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากบุคคลธรรมดา นิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และผู้ครอบครองหรือทำประโยชน์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจัดเก็บภาษีตามโครงสร้างที่กำหนด ประโยชน์ของการเก็บภาษีตามร่างพระราชบัญญัติ มีดังนี้
1.กระจายอำนาจและรายได้อย่างแท้จริง โดยกำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ไหน พื้นที่นั้นได้รายได้ ไม่ต้องผ่านรัฐบาลส่วนกลาง มีการกระจายอำนาจการปกครอง และรายได้ที่ได้จากการเก็บภาษีต่าง ๆ หรือแม้แต่ค่าธรรมเนียมตามกฎหมาย  ก็ให้องค์กรท้องถิ่นนำมาพัฒนาสาธารณูปโภค การศึกษา การสาธารณสุข สวัสดิการ การบริการอื่น ๆ ให้ประชาชนในท้องถิ่นนั้น
2.ระบบประชาธิปไตยมีความเข้มแข็ง เพราะประชาชนทุกท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษีที่ตนเองจ่ายมากขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากได้เสียภาษีทางตรงจากทรัพย์สินที่เป็นเจ้าของ ทำให้เกิดความสนใจ ความอยากมีส่วนร่วม กับการปกครองส่วนท้องถิ่น อาทิ การตรวจสอบ การวางแผนร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่น และการเลือกตั้ง
3.ลดการทุจริต การโกงกิน เมื่อกระจายอำนาจมาสู่องค์กรปกครองท้องถิ่นมากขึ้น โอกาสที่เงินจะรั่วไหลไปสู่นักการเมืองระดับสูงจะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประชาชนจะมีความรู้สึกว่าเป็นเจ้าของภาษี จึงเป็นกลไกช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยสอดส่องดูแลตรวจสอบการทุจริตมากยิ่งขึ้น ดังนั้น คำกล่าวที่ว่า “วัดครึ่งหนึ่ง กรรมการครึ่งหนึ่ง” น่าจะลดน้อยลง และค่อย ๆ หมดไปในที่สุด
4. ใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  ที่ดินที่ไม่ใช้ให้เกิดประโยชน์ ปล่อยให้รกร้างว่างเปล่า จะถูกเก็บภาษีในอัตราสูง แน่นอนว่าเจ้าของที่ดินต้องไม่อยากเสียภาษีมาก จึงเป็นการส่งเสริมและผลักดันทางอ้อมให้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน อีกทั้งยังเป็นการลดการกักตุนที่ดินเพื่อการเก็งกำไรของนายทุน
ท่านผู้ฟังที่เคารพคะ นี่เป็นเพียงประโยชน์บางส่วนที่ได้จากร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับนี้ แต่ยังมีอีก 3 ป.ที่เสนอแนะแก่ร่างนี้ คือ
ปรับปรุงระบบการทำงานของหน่วยงานราชการให้สะดวก รวดเร็ว นำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบการจัดเก็บภาษีและข้อมูลที่ดินให้มีประสิทธิภาพ  อาทิ ใช้คอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยมากยิ่งขึ้น เพราะบางหน่วยงานยังคงใช้คอมพิวเตอร์รุ่นเก่าอยู่ หากจะพัฒนาประเทศครั้งใหญ่แล้ว ให้พัฒนากันทั้งระบบ
ปรับเปลี่ยนฐานการเก็บภาษี โดยหากต้องการให้ประชาชนทุกคนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของภาษีที่ตนเองได้จ่ายแก่ภาครัฐ และเล็งเห็นความสำคัญของการใช้ภาษีเพื่อพัฒนาประเทศให้เจริญ ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ตลอดจนมีระบบสาธารณูปโภคที่ดี  ต้องกำหนดเกณฑ์เพิ่มเติม อาทิ การกำหนดเพดานรายได้ให้ครอบคลุมคนทุกระดับชนชั้นในสังคม ทั้งที่มีฐานะร่ำรวย ปานกลาง และยากจน ให้คนที่มีรายได้น้อย เสียภาษีในอัตราน้อย เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนทุกคนมีสำนึกมากยิ่งขึ้นเรื่องการจ่ายภาษี
ปรับที่ดินทำกิน ให้แก่ประชาชนระดับล่างที่ไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ดินทำกิน ด้วยการกำหนดเงื่อนไขของการลดหย่อนมูลค่าภาษีของคนรวยหรือนายทุนที่ครอบครองที่ดินว่างเปล่าจำนวนมาก และไม่ได้ใช้ประโยชน์ แต่ทิ้งว่างไว้เพื่อเก็งกำไร ให้แบ่งที่ดินให้เกษตรกรเช่าทำกิน ใช้ปลูกพืช ทำอาชีพที่ก่อให้เกิดรายได้ โดยให้เจ้าของที่ดินเก็บค่าเช่าน้อย หรืออาจเก็บค่าเช่าเป็นผลผลิต ผู้เช่านำผลผลิตออกมาขาย ก่อให้เกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย และภาครัฐก็ให้สิทธิลดหย่อนแก่เจ้าของที่ดินที่ได้แบ่งปันให้คนจนเช่าที่ดิน
นอกจากการแบ่งปันที่ดินของคนรวยสู่คนจนแล้ว ยังมีที่ดินและพื้นที่อื่น ๆ ที่ถูกปล่อยให้รกร้าง อาทิ เขตป่าสงวน ซึ่งไม่ก่อเกิดประโยชน์ใด ๆ หากภาครัฐจัดสรรปันส่วนให้คนจนทำกิน มีที่อยู่อาศัย แล้วจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำสุดสำหรับคนกลุ่มนี้ ก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก ขอเพียงแต่ไม่ปล่อยที่ดินให้อยู่ในกำมือของกลุ่มคนเพียงบางกลุ่ม นักการเมือง หรือให้ผู้มีอำนาจ เข้าไปรุกล้ำพื้นที่เหล่านั้นได้ ส่วนประชาชนที่ไม่มีอำนาจ ไม่มีเงิน กลับไม่มีสิทธิ์ได้ครอบครอง  หากกลุ่มคนยากจนล่วงล้ำหรือบุกรุกเข้าไปกลับถูกลงโทษอย่างหนัก
สวัสดีค่ะ