Eng
หน้าแรก เกี่ยวกับมูลนิธิ หลักการประเมินค่าทรัพย์สิน มาตรฐานจรรยาบรรณ
อัตราผลตอบแทน
มาตรฐานราคาค่าก่อสร้าง บทความความรู้ข้อแนะนำ เว็บบอร์ด ติดต่อมูลนิธิ
บทบาทของการบริหารโครงการ
ที่ส่งผลต่อมูลค่าอาคาร

คุณเปล่งศักดิ์ ศรีบัว
ผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์โครงการ
และประเมินมูลค่าทรัพย์สิน
บริษัท แปลน แอพไพรซัล จำกัด
 
      เมื่อ 26 ตุลาคม 2548 ได้มีโอกาสไปพูดคุยเรื่องการประเมินมูลค่าทรัพย์สินกับทีมงานบริหารโครงการ โดยมีโจทย์ให้ว่า "ต้องการกระตุ้นให้ผู้ที่รับผิดชอบดูแลในงานบริหารโครงการ รู้สึกถึงความสำคัญของทีมงาน เพื่อสร้างความเป็นมืออาชีพ" ในวันนั้นมีการพูดกันในหลายๆ หัวข้อด้วยกัน ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารโครงการ เช่น แนะนำแนวทางการปฏิบัติงานที่ดี ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการทำงานก่อนจะถึงหัวข้อหลักการประเมินมูลค่าทรัพย์สินเป็นช่วงท้ายของรายการ ทั้งโจทย์และช่วงเวลาที่ได้มาถือว่ายากพอสมควรสำหรับการอธิบายเนื้อหาที่ต้องเชื่อมโยงกันระหว่างวิชาชีพหนึ่งกับอีกวิชาชีพหนึ่ง เพื่อให้สามารถเรียนรู้และสร้างความเข้าใจถึงความสำคัญของตนเองได้ในมิติที่แตกต่างภายในเวลาหนึ่งชั่วโมง การจะชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการทำงานประจำหรือที่เรียกว่างาน Routine ที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาความเบื่อหน่ายจากการปฏิบัติงานซ้ำๆ แบบเดิมๆ จนทำให้การมีส่วนร่วมของจินตนาการในการทำงานลดน้อยถอยลงโดยไม่รู้ตัว ส่งผลให้การทำงานขาดชีวิตชีวาหรือจิตวิญาณของคนทำงาน เมื่อคนทำงานไม่มีแรงผลักหลงเหลืออยู่องค์กรก็ยากที่จะบรรลุถึงอุดมการณ์หลักตามที่หวังไว้ หลายองค์กรพยามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการให้คนทำงานได้มีส่วนร่วมในการกำหนดบทบาทของตัวเอง โดยองค์กรจะคอยกระตุ้นให้รู้สึกถึงคุณค่าของสิ่งที่เรากำลังกระทำอยู่ด้วยการชี้ให้เห็นว่าการปฏิบัติงานในส่วนเล็กๆ ของเรานั้น ย่อมส่งผลกระทบกับส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องอีกมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยที่เราอาจไม่รู้ตัวมาก่อน อย่าลืมนะครับว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จะเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เสมอ
     เพื่อให้ผู้นักบริหารโครงการได้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน หัวข้อสำคัญ (Highlight) ที่ผมตั้งใจสำหรับการพูดคุยกันวันนั้นจึงเป็นเรื่องบทบาทของการบริหารโครงการที่ส่งผลต่อมูลค่าอาคาร โดยเฉพาะการบริหารอาคารขนาดใหญ่ เช่น อาคารสำนักงาน อาคารชุดพักอาศัย อพาร์ตเม้นท์ หรือเซอร์วิสอพาร์ตเม้นท์ ขอยกตัวอย่าง (สมมุติ)
     อาคารสำนักงานย่านถนนอโศก (สถานที่บรรยาย) และใช้เครื่องมือวิธีวิเคราะห์รายได้แบบ Direct Capitalization มาช่วยในการอธิบาย ตามตัวอย่าง อาคารสำนักงานย่านอโศก อายุ 15 ปี พื้นที่ (พท.) อาคารรวม 30,000 ตร.ม. แบ่งเป็น พท.จอดรถ 10,000 ตร.ม. เนื้อที่ดิน 750 ตร.ว. พท.เช่า 15,000 ตร.ม. @ 400 บาท มีรายได้อื่น 10% มีอัตราว่าง 15% และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการรวม 30% อัตราผลตอบแทนตลาดอยู่ที่ 8 % ปัจจุบันอาคารมีอัตราการเติบโตแบบคงที่ ดังนั้นมูลค่าอาคารสำนักงานแห่งนี้จะเท่ากับ

รายได้ค่าเช่าสำนักงานต่อปี = 15,000 ตร.ม. x 400 บาท x 12 เดือน

=

72,000,000 บาท

บวก รายได้อื่นๆ 10%

=

7,200,000 บาท

Potential Income

=

79,200,000 บาท

หัก หนี้สูญและอัตราว่าง 15%

=

11,880,000 บาท

Effective Income

=

67,320,000 บาท

หัก ค่าใช้จ่ายดำเนินงาน 30%

=

20,196,000 บาท

  Net Operating Income : NOI.

=

47,124,000 บาท

 Capitalization Rate

=

8%

มูลค่าทรัพย์สิน V = I/R (47,124,000 บาท / 8%)

=

589,050,000 บาท


     การประเมินมูลค่าอาคารด้วยวิธี Direct Capitalization มีกระบวนการคิดด้วยการนำรายได้หักด้วยค่าใช้จ่ายแล้วนำมาเปรียบเทียบกับผลตอบแทนตลาด จากลำดับขั้นตอนความคิดดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการบริหารอาคารมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงอย่างมากในการบริหารต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินงาน (รวม 30%) ประกอบด้วย 1) ค่าใช้จ่ายในการบริหารเงินเดือน 7.50% 2) ค่าไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ 1.50% 3) ค่าซ่อมแซมและบำรุง 3.00% 4) ค่าการตลาด 3.00% 4) ค่าประกันภัยอาคาร 0.15% 5) ภาษีโรงเรือน 6.25% 6) ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 4.00% 7) เงินสะสมปรับปรุงอาคาร 3.00% และ 9) ค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 1.60% เมื่อพิจารณาตามองค์ประกอบ (สมมุติ) จะพบว่าค่าใช้จ่ายในลำดับที่หนึ่งถึงสี่นั้นเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการบริหารโครงการโดยตรง (ส่วนอื่นเป็นค่าใช้จ่ายผันแปร) แสดงว่าหากว่าการจัดการของทีมบริหารโครงการมีประสิทธิภาพแล้วสามารถทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงจากเดิม 1% หรือ 673,200 บาท (ค่าใช้จ่ายรวม = 19,522,800 บาท) เมื่อนำผลที่ได้มาคำนวณหามูลค่าอาคารตามวิธีการเดิม (NOI. = 47,797,200 บาท / 8%) มูลค่าอาคารที่ได้จะเปลี่ยนเป็น 597,465,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 8,415,000 บาท แปรความหมายได้ว่า เมื่อค่าใช้จ่ายลดลงทุกๆ 1% จะส่งผลต่อมูลค่าเพิ่มของอาคารแบบทวีคูณ (Multiplier) เท่ากับ12.5 เท่า (8,415,000 บาท/ 673,200 บาท)
 
สรุป 
     ต้นทุนที่ลดลงเพียง 1% หรือ 673,200 บาทต่อปี คงไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปสำหรับทีมงานที่มีประสิทธิภาพ เราจะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการของทีมงานที่ดีนั้นจะสามารถช่วยให้อาคารมีมูลค่าเพิ่มได้อย่างน่าอัศจรรยที่สามารถทำให้มูลค่าอาคารเพิ่มขึ้นถึง 8,415,000 บาท เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วถ้าหากว่าทีมบริหารโครงการได้มีโอกาสเสนอตัวเข้าไปประมูลบริหารอาคารแข่งกับบริษัทอื่นซึ่งมีเทคนิคกระบวนการทำงานที่ไม่ได้แต่ต่างกันมาก ท่านจะมีวิธีนำเสนอทีมงานด้วยมุมมองแบบใด แบบงาน Routine หรือแบบ Value Added ถ้าหากท่านบอกเจ้าของโครงการว่าท่านสามารถทำให้อาคารนี้มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นถึงกว่า 8 ล้านบาท โดยที่เจ้าของไม่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมายนอกจากเซ็นต์สัญญาให้ท่านเข้ามาบริหาร ลองอธิบายให้ดูด้วยหลักการประเมินมูลค่าอาคารที่กล่าวไว้ในข้างต้นน่าสนใจครับถ้าท่านทำได้จริง ต่อจากนี้ไปหวังว่าการทำงานประจำคงจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไปเมื่อนึกถึงคุณค่ามากมายที่จะตามมา ยิ่งเป็นมูลค่าเพิ่มแบบตัวทวีคูณที่ได้จากการปฏิบัติของเราไปยังผู้อื่น ยิ่งทำให้คุณค่านั้นมีความสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับ การบริหารโครงการเป็นเพียงกรณีศึกษาหนึ่งในหลายกรณีการประเมินราคาเข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นทางตรงหรือทางอ้อม ด้วยสภาพแวดล้อมหลายๆ อย่าง หลายๆ ปัจจัยในวิชาชีพนี้ ได้ทำให้คนเก่งๆ ดีๆ ถอยห่างออกไปมาก ส่วนที่ยังสู้ต่อก็อย่าเพิ่งเบื่องานประจำที่ทำกันอยู่นะครับ ผมว่าเรายังสามารถกระตุ้นตัวเองได้ด้วยการสร้างสรรค์งานประเมินดีๆ ออกมาได้อีกมาก (แม้บางครั้งลูกค้าจะไม่เข้าใจบ้างก็ตาม) ตัวองค์กรเองก็ควรส่งเสริมคนดีและเก่งให้ได้มีส่วนรวมในการสร้างสรรค์งานที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมองค์ความรู้ในภาพรวม จะได้ช่วยกันสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยตัวทวีคูณให้แก่วิชาชีพโดยทั่วกันช่วยกันคนละไม้ละมือ "อย่าลืมนะครับว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่จะเกิดจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ เสมอ" 
 
Area Trebs
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 1154 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่