Eng
ไทย
เกี่ยวกับมูลนิธิ
หลักการและจรรยาบรรณ
ราคาประเมินค่าก่อสร้าง
บทความความรู้ข้อแนะนำ
เว็บบอร์ด
ติดต่อมูลนิธิ
ประกาศ สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย ที่ 1/2540
เรื่อง ข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก
        โดยที่เห็นสมควรให้มีการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของสมาชิกสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย เพื่อให้วิชาชีพด้านนี้มาตรฐานเป็นที่เชื่อถือและไว้วางใจของผู้ใช้บริการ และเพื่อให้มีการประพฤติปฏิบัติของผู้ใช้วิชาชีพอยู่ในแนวทางที่ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ข้อบังคับของสมาคม คณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยจึงวางข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิกไว้ดังต่อไปนี้
หมวด 1 บททั่วไป
ข้อ 1 ในข้อกำหนดนี้
  1) สมาคม หมายความถึง สมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
  2) สมาชิก หมายความถึง สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสามัญ หรือสมาชิกอาวุโสของสมาคม หรือผู้ที่สมาคมยอมรับเป็นผู้ประเมินหลักของบริษัทประเมินค่าทรัพย์สิน
  3) สมาชิกภาพ หมายความถึง การได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการสมาคมให้เป็นสมาชิกวิสามัญ สมาชิกสามัญ หรือสมาชิกอาวุโสของสมาคมและมีสิทธิหน้าที่ตามข้อบังคับของสมาคม
  4) บริษัท หมายความถึง บริษัทประเมินค่าทรัพย์สินที่ได้รับการสนับสนุนหรือกลั่นกรองจากสมาคมให้รับงานประเมินค่าทรัพย์สิน
เพื่อวัตถุประสงค์สาธารณะ
  5) คณะกรรมการสมาคม หมายความถึง คณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย
  6) คณะอนุกรรมการ หมายความถึง คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก
  7) คณะอนุกรรมการ หมายความถึง คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การกระทำผิด พิจารณาอุทธรณ์มาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก
หมวด 2 มาตรฐานวิชาชีพ
ข้อ 2 มาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดไว้ในหมวดนี้เป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติงานโดยทั่วไป ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคาทรัพย์สินจำเป็นต้องถือปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดโดยเคร่งครัด
ข้อ 3 การประเมินราคาทรัพย์สินแต่ละรายจะต้องใช้หลักเกณฑ์และวิธีการตามหลักวิชาที่เป็นสากลหรือปรากฎอยู่ในหลักสูตรการศึกษาด้านการประเมินราคาทรัพย์สิน
ข้อ 4 การประเมินราคาจะได้มาตรฐานหรือไม่นั้น ให้พิจารณาจากรายงานการประเมินราคาซึ่งผู้ประเมินราคาได้ลงลายมือชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐานแล้ว หากรายงานการประเมินราคาทำขึ้นไว้เป็นภาษาอื่นอีกนอกเหนือจากภาษาไทย ให้ถือเอาภาษาไทยเป็นหลักฐานแล้ว
ข้อ 5 รายงานการประเมินราคามีสาระสำคัญไม่น้อยกว่านี้ คือ
  1) วัตถุประสงค์ของการประเมินราคา
  2) ขอบเขตและเงื่อนไขการประเมินราคา
  3) รายละเอียดของทรัพย์สินที่ประเมินราคา เช่น ทำเลที่ตั้ง ขนาด ลักษณะ ประเภท เงื่อนไข หรือข้อจำกัดการใช้ตามกฎหมายตลอดจน สิทธิ หรือทรัพยสิทธิต่าง ๆ ที่มีอยู่เป็นต้น
  4) หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินราคา
  5) ผู้ประเมินราคามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ประเมินราคาหรือไม่อย่างไร
  6) วันที่ประเมินราคา
  7) การวิเคราะห์หรือสรุปราคาประเมินพร้อมเหตุผล
ข้อ 6 ผู้ประเมินราคาต้องเก็บรักษาข้อมูล เอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินที่ประเมินราคาเพื่อการตรวจสอบหรือใช้อ้างอิงตามกฎหมายไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ประเมินราคาและให้ถือว่าข้อมูลเอกสารหลักฐานดังกล่าวเป็นความลับ ไม่อาจเปิดเผยได้เว้นแต่จะไรับอนุญาตจากผู้ว่าจ้างหรืออำนาจบังคับตามกฎหมาย
ข้อ 7 ผู้ประเมินราคาต้องไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อมกับทรัพย์สินที่ประเมินราคา
หมวด 3 จรรยาบรรณวิชาชีพ
ข้อ 8 จรรยาบรรณวิชาชีพที่กำหนดไว้ในหมวดนี้ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่ผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคาจะต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อรักษา
และส่งเสริมเกียรติคุณตลอดจนชื่อเสียงและฐานะแห่งวิชาชีพ
ข้อ 9 การปฏิบัติงานประเมินราคาจะต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในวิชาชีพ
ข้อ 10 การรับงานประเมินราคาจะต้องไม่เกินความรู้ความสามารถหรือประสบการณ์ที่จะกระทำได้
ข้อ 11 ห้ามไม่ให้รับงานประเมินราคาทรัพย์สิน ซึ่งผู้ว่าจ้างมีข้อแม้ให้ทำการประเมินราคา ตามมูลค่าที่ผู้ว่าจ้างกำหนดไว้ก่อนแล้ว
ข้อ 12 ในการประเมินราคาห้าม เรียก รับ หรือยอมรับทรัพย์สินหรือผลประโยชน์อย่างใดสำหรับตนเอง หรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อทำการหรืองดเว้นการกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้การประเมินราคาไม่ถูกต้องตามเป็นจริง หรือเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น
ข้อ 13 ผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคาจะต้องแจ้งอัตราค่าจ้าง เงื่อนไข และข้อจำกัดของการประเมินราคาให้ผู้ประสงค์จะว่าจ้างทราบอย่างชัดเจนก่อน
  1) กรณีการประเมินราคาเพื่อวัตถุประสงค์ในการหามูลค่าเพื่อเป็นตัวเงินสำหรับทดแทน อัตราค่าจ้างควรคิดเป็นร้อยละจากจำนวนเงินทดแทนนั้น
  2) หากเป็นการประเมินราคาเพื่อวัตถุประสงค์ในการหาอัตราหรือเพื่อคำนวณภาษีของทรัพย์สินนั้น อัตราค่าจ้างควรกำหนดโดยพิจารณาจากมูลค่าหรือผลต่อเนื่องของมูลค่าการประเมินราคา
ข้อ 14 ผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคาจะต้องไม่เปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารหรือรายงานการประเมินราคาตามความต้องการของผู้ว่าจ้างหรือบุคคลใดซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องด้วย
ข้อ 15 ผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคาจะไม่แย่งงานหรือเสนอราคารับจ้างที่ต่ำกว่า เมื่อรู้ว่ามีผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคารายอื่นได้รับทำงานนั้นแล้ว
ข้อ 16 ผู้ประกอบวิชาชีพประเมินราคาจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณแห่งวิชาชีพประเมินราคา หรือสมาคม หรือหน่วยงานที่สังกัด หรือต่อวิชาชีพ และหรือองค์กรวิชาชีพอื่น ๆ
ข้อ 17 การประกอบวิชาชีพประเมินราคาจะต้องไม่โฆษณาหรือยอมให้ผู้อื่นโฆษณาเพื่อหางาน เว้นแต่การแสดง ชื่อ คุณวุฒิ ที่อยู่หรือสำนักงาน และประเภททรัพย์สินที่ยังดำเนินการอยู่เท่านั้น
หมวด 4 คณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก
ข้อ 18 ให้มีคณะอนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก ประกอบด้วย
  1) กรรมการบริหารสมาคมซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสมาคม จำนวน 2 คน
  2) บุคคลซึ่งได้รับเลือกตั้งโดยสมาชิก จำนวน 2 คน
  3) ผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายที่คณะกรรมการสมาคมเห็นชอบ จำนวน 1 คน
  หลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขในการเลือกตั้งบุคคลเป็นอนุกรรมการตามวรรคหนึ่ง (2) ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการสมาคมกำหนด
ข้อ 19 ให้คณะอนุกรรมการเลือกประธานและเลขานุการภายในสามสิบวัน นับจากวันเลือกตั้งและแต่งตั้งอนุกรรมการตามข้อ 18 เสร็จสิ้น
ข้อ 20 คณะอนุกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระการทำงานที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการสมาคม
ให้คณะอนุกรรมการซึ่งต้องพ้นจากตำแหน่งตามวาระในวรรคแรก ปฏิบัติหน้าที่ไปพลางก่อนจนกว่าจะมีคณะอนุกรรมการชุดใหม่
ข้อ 21 นอกจากการพ้นตำแหน่งในข้อ 20 อนุกรรมการจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อ
  1) ตาย
  2) ลาออก
  3) คณะกรรมการสมาคมมีมติให้ออก
  ในกรณีที่ตำแหน่งอนุกรรมการว่างลงให้คณะกรรมการสมาคมแต่งตั้งสมาชิกที่เหมาะสมเป็นอนุกรรมการแทนภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ตำแหน่งว่างลง และให้ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งนั้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของคณะอนุกรรมการ
ข้อ 22 การประชุมของคณะอนุกรรมการต้องมีอนุกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนอนุกรรมการทั้งหมดจึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานอนุกรรมการไม่อยู่หรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้อนุกรรมการที่มาประชุมเลือกอนุกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุมนั้น
การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุม ต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของอนุกรรมการที่มาประชุม
อนุกรรมการคนหนึ่งมีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
อนุกรรมการผู้ใดมีส่วนได้เสียใด ๆ ในเรื่องที่พิจารณา ไม่มีสิทธิอยู่ในที่ประชุมและออกเสียงลงคะแนนในเรื่องนั้น
ข้อ 23 ให้คณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
  1) พิจารณาการกระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก รวมทั้งกำหนดบทลงโทษของสมาชิก เสนอคณะกรรมการสมาคม
  2) กำหนดกฎ ระเบียบ เพื่อปฏิบัติการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ใน (1)
  3) ให้คำแนะนำแก่คณะกรรมการสมาคมในการกำหนดและควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก
  4) แต่งตั้งสมาชิกหรือบุคคลอื่นที่เห็นสมควรเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการ
  5) แต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมการ โดยเข้าร่วมประชุมได้แต่ไม่มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามข้อ 22
  6) ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดนี้
หมวด 5 การควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณ
ข้อ 24 สมาชิกต้องปฏิบัติตามาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิกที่สมาคมกำหนดอย่างเคร่งครัด หากสมาชิกผู้ใดฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณดังกล่าวถือว่าไม่ปฏิบัติหน้าที่ของสมาชิกตามข้อบังคับของสมาคม ซึ่งคณะกรรมการสมาคมมีมติให้ขาดจากสมาชิกภาพได้
ข้อ 25 บริษัทต้องดำเนินการให้พนักงานหรือลูกจ้างซึ่งอยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของบริษัท ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก และบริษัทจะต้องรับผิดชอบในกรณีที่พนักงานหรือลูกจ้างฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิกไม่ว่าบริษัทจะรู้เห็นด้วย หรือไม่ก็ตาม
ข้อ 26 ผู้ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก หรือสมาชิกผู้พบเห็นการกระทำผิดมีสิทธิกล่าวหาสมาชิกผู้กระทำผิดต่อคณะอนุกรรมการได้ โดยทำคำกล่าวหาเป็นหนังสือตามแบบที่คณะอนุกรรมการกำหนด ยื่นต่อเลขานุการคณะอนุกรรมการ
การกล่าวหาตามวรรคหนึ่งต้องกระทำภายในหนึ่งปีนับจากวันที่รู้ถึงการกระทำผิด แต่ต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันที่มีการกระทำผิด
เมื่อยื่นคำกล่าวหาแล้วผู้กล่าวหาจะถอนคำกล่าวหาไม่ได้ เว้นแต่คณะอนุกรรมการจะมีมติอนุญาต
ข้อ 27 ให้เลขานุการเสนอคำกล่าวหาต่อประธานอนุกรรมการ และให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาคำกล่าวหาเป็นการเบื้องต้นภายในสิบห้าวัน
คณะอนุกรรมการจะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสอบคำกล่าวหาเป็นบรรทัดฐานโดยระบุในรายงานการประชุมหรือเป็นหลักฐานลายลักษณ์อักษรรูปแบบอื่นก็ได้
ข้อ 28 ในการพิจารณาเบื้องต้นตามข้อ 27 คณะอนุกรรมการอาจขอให้ผู้กล่าวหามาให้ถ้อยคำ หรือนำพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาตามที่เห็นสมควรได้ ถ้าผู้กล่าวหาไม่มาให้ถ้อยคำหรือนำพยานหลักฐาน มาให้ตามที่คณะอนุกรรมการขอให้คณะอนุกรรมการจำหน่ายเรื่องที่กล่าวหานั้นได้แล้วรายงานให้คณะกรรมการสมาคมทราบ
เรื่องที่คณะอนุกรรมการสั่งจำหน่ายตามวรรคแรก ผู้กล่าวหาจะขอให้พิจารณาใหม่ได้ต่อเมื่อแสดงให้เป็นที่พอใจของคณะอนุกรรมการ ว่าการที่ไม่อาจปฏิบัติตามคำขอของคณะอนุกรรมการได้นั้นเป็นเพราะเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุอันควร
ข้อ 29 เมื่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาเบื้องต้นเห็นว่าการกระทำผิดตามคำกล่าวหาไม่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก ให้ยุติการดำเนินการและรายงานให้คณะกรรมการสมาคมทราบ พร้อมทั้งแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้กล่าวหารับทราบด้วย
คณะกรรมการสมาคมอาจสั่งให้อนุกรรมการดำเนินการตามคำกล่าวหาต่อไปได้ตามที่เห็นสมควร
ข้อ 30 เมื่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำตามคำกล่าวหาน่าจะเป็นการกระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก หรือเมื่อคณะกรรมการสมาคมมีมติให้ดำเนินการตามคำกล่าวหาต่อไปตามข้อ 29 วรรค 2 ให้เลขานุการมีหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปยังสมาชิกผู้ถูกกล่าวหา เพื่อทำคำแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือถึงประธานอนุกรรมการ โดยยื่นต่อเลขานุการภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับข้อกล่าวหา
สมาชิกผู้ถูกกล่าวหาอาจขอขยายระยะเวลาการทำคำแก้ข้อกล่าวหาโดยทำเป็นหนังสือถึงประธานอนุกรรมการและยื่นต่อเลขานุการ หากประธานอนุกรรมการเห็นว่ามีเหตุผลสมควร ก็อาจขยายเวลาให้ได้อีกไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินสิบห้าวัน
ข้อ 31 คณะอนุกรรมการอาจขอให้สมาชิกผู้ถูกกล่าวหามาแก้ข้อกล่าวหาด้วยตนเอง พร้อมทั้งเสนอข้อเท็จจริงและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบต่อคณะอนุกรรมการ
ข้อ 32 หากสมาชิกผู้ถูกกล่าวหาไม่ทำคำแก้ข้อกล่าวหาและยื่นเป็นหนังสือภายในระยะเวลาและวิธีการที่กำหนดในข้อ 30 ให้ถือว่าไม่มีคำแก้ข้อกล่าวหาและให้คณะอนุกรรมการพิจารณาข้อกล่าวหาต่อไปฝ่ายเดียวตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏ ในกรณีเช่นนี้หากมีการลงโทษสมาชิกผู้กระทำผิดสมาชิกผู้นั้นไม่มีสิทธิที่จะกล่าวอ้างข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่มิได้ยกขึ้นแก้ข้อกล่าวหานั้น
ขึ้นเป็นเหตุอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามข้อ 38 ได้
ข้อ 33 เมื่อคณะอนุกรรมการได้พิจารณาแล้วเห็นว่าสมาชิกผู้ถูกกล่าวหาได้กระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิกตามข้อกล่าวหา ให้พิจารณากำหนดโทษให้เหมาะสมแก่ความผิดแล้วมีหนังสือแจ้งให้สมาชิกผู้ถูกกล่าวหาทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่พิจารณาตัดสินและรายงานให้คณะกรรมการสมาคมทราบด้วย
โทษที่จะลงแก่สมาชิกที่กระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิกมีดังนี้
  1) ตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
  2) ให้ออกจากสมาชิกภาพเป็นการชั่วคราว
  3) ให้ออกจากสมาชิกภาพเป็นการถาวร
  การให้ออกจากสมาชิกภาพเป็นการชั่วคราวนั้น ต้องมีกำหนดเวลาตามความเหมาะสมแก่กรณี แต่ต้องไม่เกินสองปี เมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้วหากผู้ถูกลงโทษยังประสงค์จะเป็นสมาชิกสมาคม ก็อาจยื่นคำขอให้คณะกรรมการสมาคมขึ้นทะเบียนสมาชิกให้อีกก็ได้
ในกรณีที่ไม่ได้รับอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนสมาชิกตามวรรคก่อน ผู้ถูกลงโทษอาจยื่นคำขอขึ้นทะเบียนสมาชิกได้อีกครั้งหนึ่งเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันยื่นคำขอครั้งแรก หากไม่ได้รับการพิจารณาอนุมัติ ให้ถือว่าถูกสั่งให้ออกจากสมาชิกภาพเป็นการถาวร
หมวด 6 การอุทธรณ์
ข้อ 34 ให้คณะกรรมการสมาคมแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์การกระทำผิดมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก ประกอบด้วยอุปนายกสมาคมหรือกรรมการสมาคมหนึ่งคนเป็นประธานและ ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการสมาคมแต่งตั้งจำนวนสี่คนเป็นอนุกรรมการ โดยมีเจ้าหน้าที่ของสมาคมหนึ่งคนเป็นเลขานุการ
กรรมการสมาคมหรืออนุกรรมการอื่น ๆ ของสมาคม เว้นแต่อนุกรรมการมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก อาจได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการตามวรรคแรกได้
ข้อ 35 ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีวาระอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระการทำงานที่เหลืออยู่ของคณะกรรมการสมาคม
ข้อ 36 การประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้นำความในข้อ 22 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
คณะกรรมการสมาคมอาจแต่งตั้งกรรมการสมาคมเป็นอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แทนอนุกรรมการ ซึ่งไม่อาจเข้าร่วมประชุมตามข้อ 22 วรรคท้าย และให้หมดหน้าที่เมื่อเสร็จสิ้นการพิจารณาในเรื่องนั้น ๆ ได้
ข้อ 37 ให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีหน้าที่พิจารณาคำสั่งหรือคำตัดสินของคณะอนุกรรมการและอาจกำหนดระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ได
ข้อ 38 หากสมาชิกผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดตามหมวด 6 ไม่เห็นด้วยกับคำตัดสินของคณะอนุกรรมการสมาชิกผู้นั้นอาจยื่นอุทธรณ์ต่อคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ภายในสามสิบวัน นับจากวันที่รับทราบผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ
คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์อาจพิจารณารับหรือไม่รับคำอุทธรณ์ก็ได้โดยทำหนังสือแจ้งแก่สมาชิกผู้นั้นภายในสิบห้าวัน และหากคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์รับคำอุทธรณ์แล้วให้มีการประชุมพิจารณาคำอุทธรณ์นั้นภายในสิบห้าวัน
ข้อ 39 เมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้พิจารณาคำอุทธรณ์ตามข้อ 38 วรรคสอง แล้วให้เสนอความเห็นพร้อมด้วยเหตุผลต่อคณะกรรมการสมาคมว่า สมควรยกอุทธรณ์หรือสมควรแก้หรือกลับคำตัดสินของคณะอนุกรรมการ
ข้อ 40 เมื่อคณะกรรมการสมาคมได้รับรายงานผลการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์แล้วให้พิจารณาสั่งการตามความเหมาะสมต่อไป แล้วให้เลขานุการคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีหนังสือแจ้งผลการพิจารณาให้ผู้อุทธรณ์ทราบภายในเจ็ดวัน นับแต่วันที่คณะกรรมการสมาคมได้พิจารณาสั่งการ
หมวด 7 การแก้ไขเพิ่มเติม
ข้อ 41 การแก้ไขเพิ่มเติมข้อกำหนดเกี่ยวกับการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณสมาชิก จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสมาคม
ข้อกำหนดนี้ให้มีผลบังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2540

(นายปริญญา นาคฉัตรีย์)
นายกสมาคม

Area Trebs FIABCI
 
10 ถนน.นนทรี กรุงเทพมหานคร 10120 โทรศัพท์:66 2295 3171: โทรสาร: 66 2295 3994 Email: info@thaiappraisal.org   สถานที่ตั้ง: แผนที่