อ้างอิงลิงค์: http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1314940752&grpid=00&catid=00
วันที่ 02 กันยายน พ.ศ. 2554 เวลา 12:21:32 น.

ฝรั่งหมดสิทธิ์ถือครองห้องชุดนิคมฯ กนอ.ไร้อำนาจอนุมัติ-อัญธานีเบรกแผนลงทุนเฟส2

Share




ผู้ประกอบการนิคมอุตสาหกรรรมบริการหมดหวังชักจูงต่างชาติซื้อห้องชุดถือกรรมสิทธิ์ 100% เหตุกฤษฎีกาตีความเข้าข่าย พ.ร.บ.อาคารชุด กนอ.ไม่มีอำนาจอนุมัติ นิคมฯอัญธานีอ่วม ! ลงทุนกว่า 200 ล้าน ห้องชุด "เจมโมโปลิส ฟรีโซน" ขายต่างชาติกว่า 90% โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้ ชะลอลงทุนเฟส 2



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ส่งเรื่องหารือไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ตีความว่า กนอ.สามารถอนุญาตให้คนต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมได้เกิน 49% หรือไม่

ล่าสุด คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 5) ได้พิจารณาและสรุปว่า คณะกรรมการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (บอร์ด กนอ.) สามารถอนุญาตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมและผู้ประกอบพาณิชยกรรมถือกรรมสิทธิ์เกิน 49% ได้เฉพาะในส่วนของ "ที่ดิน" ในนิคมอุตสาหกรรม หรือเขตประกอบการเสรีเท่านั้น

ส่วนอาคารชุดแยก การถือกรรมสิทธิ์เป็นรายบุคคล ไม่ใช่ที่ดิน เข้าข่ายมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 ดังนั้น คณะกรรมการ กนอ.จึงไม่มีอำนาจให้คนต่างชาติถือกรรมสิทธิ์ในเนื้อที่ของห้องชุดได้เกิน 49% แต่หาก กนอ.ประสงค์จะดำเนินการ ก็ต้องเสนอให้มีการแก้ไขกฎหมายการนิคมแห่งประเทศไทยต่อไป

นางมณฑา ประณุทนรพาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า บริษัท ไอ.จี.เอส.จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี ได้พัฒนาโครงการ "เจมโมโปลิส ฟรีโซน" โดยใช้ที่ดินในเขตประกอบการเสรีในนิคมฯ ประกอบกิจการปลูกสร้างอาคารชุดอุตสาหกรรมขนาดย่อม และพาณิชยกรรมเพื่อจำหน่าย หรือให้เช่า ได้ร้องขอมายัง กนอ.อนุญาตให้ผู้ชื้อห้องชุดที่เป็นคนต่างชาตสามารถถือครองสิทธิ์เกิน 49% ซึ่งจะเป็นประโยชน์ดึงดูดให้ชาวต่างชาติ

ด้านนายสุทธิพงษ์ ดำรงค์สกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอ.จี.เอส.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทค่อนข้างได้รับผลกระทบอย่างมากจากผลการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากได้พัฒนาโครงการเจมโมโปลิส ฟรีโซน คอมเพล็กซ์" เฟสที่ 1 ไปแล้ว ด้วยเงินลงทุนกว่า 200 ล้านบาท ประกอบด้วยอาคาร 7 ชั้น 2 อาคาร มีห้องชุด 52 ยูนิต พื้นที่รองรับการประกอบการอุตสาหกรรมด้านอัญมณีและเครื่องประดับรวมกว่า 10,000 ตารางเมตร ขณะนี้มีผู้ประกอบการจองซื้อพื้นที่ห้องชุดแล้วกว่า 90% โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการต่างชาติ

ดังนั้น หาก กนอ.ไม่สามารถอนุญาตให้ต่างชาติถือครองกรรมสิทธิ์ห้องชุดในโครงการดังกล่าวได้เกิน 49% ก็จะมีผลกระทบกับผู้ประกอบการต่างชาติที่ไม่มีหุ้นส่วนเป็นคนไทย ซึ่งไม่สามารถขาย หรือทำสัญญาการโอนพื้นที่กับผู้ประกอบการรายนั้นได้ มีผลกระทบต่อรายได้ของบริษัท นอกจากนั้น คงต้องชะลอการลงทุนเฟส 2 ไปก่อน มูลค่าการลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท

นายสุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า การซื้อ-ขายพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสร้างโรงงาน หากเป็นชาวต่างชาติตามกฎหมาย กนอ.สามารถอนุญาตให้ต่างชาวชาติถือครองกรรมสิทธิ์ได้ 100% แต่ต้องยอมรับว่า สภาพการลงทุนปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไป การขายพื้นที่สร้างโรงงานขนาดใหญ่ ทำได้ยากขึ้น บริษัทจึงได้พัฒนารูปแบบการขายพื้นที่ในลักษณะของห้องชุด

ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นจะใช้พื้นที่ไม่มาก แต่เงินลงทุนวัตถุดิบเพชร, พลอย, ทองคำ ถือว่ามากเท่าเทียมกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นลักษณะของการประกอบการอุตสาห กรรม ไม่ใช่เป็นที่พักอาศัย จึงน่าจะมีการผ่อนผันเป็นกรณีพิเศษ

ข่าวล่าสุดในหมวดเดียวกัน
 

ข่าวยอดนิยมใน 1 เดือน