ตะลึง!! พบเอื้ออาทรสร้างช้าเกือบทุกโครงการ
ปัญหาใต้พรม รอผู้ว่าการ กคช.คนใหม่ปัดฝุ่น
มติชน รายวัน 14 เมษายน 2549 หน้า 17
 
สรุปสาระข่าว
 
         เป็นเวลากว่า 3 ปี นับจากปี 2546 ที่ผ่านมา ที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทร ตามนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ไม่เกิน 17,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยให้ กคช.จัดหาจำนวน 600,000 ยูนิต ทั่วประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี และจนถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของการดำเนินการแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าจำนวนยูนิตที่ส่งมอบให้กับผู้ที่จับสลากได้ทั่วประเทศ เพียง 21,687 ยูนิตเท่านั้น!!
 
ข้อคิดเห็น
 
         โครงการ "บ้านเอื้ออาทร" นี้ เป็นโครงการที่ขาดความเป็นไปได้ทางการเงินและทางการตลาดมาแต่แรก คิดทำโดยพลันโดยไม่ได้ศึกษาให้ดี โปรดอ่านหนังสือของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ถึงนายกรัฐมนตรี คัดค้านการทำโครงการนี้มาตั้งแต่วันที่ 17 มกราคม 2546 ได้ที่นี่: http://www.thaiappraisal.org/Thai/letter/letter06.htm
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
                  เป็นเวลากว่า 3 ปี นับจากปี 2546 ที่ผ่านมา ที่การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้ผลักดันโครงการบ้านเอื้ออาทร ตามนโยบายของรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ต้องการให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อย หรือรายได้ไม่เกิน 17,000 บาทต่อครอบครัวต่อเดือน มีที่อยู่อาศัยของตัวเอง โดยให้ กคช.จัดหาจำนวน 600,000 ยูนิต ทั่วประเทศภายในระยะเวลา 5 ปี

         และจนถึงวันนี้ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 ของการดำเนินการแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าจำนวนยูนิตที่ส่งมอบให้กับผู้ที่จับสลากได้ทั่วประเทศ เพียง 21,687 ยูนิตเท่านั้น!!

         ขณะที่ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติให้ กคช.เดินหน้าก่อสร้างอีก 339,481 ยูนิต และรวมของเก่าที่ก่อนหน้านี้มีการอนุมัติให้จัดหาไปแล้วประมาณ 200,000 ยูนิต

         เมื่อเป็นเช่นนี้ลองมาสำรวจดูซิว่า โครงการที่สามารถหาผู้รับเหมาและเดินหน้าก่อสร้างไปแล้วนั้น ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปแล้วแค่ไหน

         จากการรายงานผลงานความคืบหน้าการดำเนินการจัดหาและการก่อสร้างนั้นมีการดำเนินการไป 5 ระยะ รวม 241 โครงการ (ไม่รวมระยะ 5 ที่ยังไม่ได้ระบุจำนวนโครงการ แต่ทราบเพียงจำนวนยูนิตที่ ครม.อนุมัติเท่านั้นคือที่ 339,481 ยูนิต) รวม 604,963 ยูนิต ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมอาคารคงเหลือของ กคช. (โครงการเคหะชุมชนเก่าที่เหลือขายหรือยึดคืนมา) อยู่ด้วย

         ทั้งนี้ ในจำนวนยูนิตทั้งหมดนั้น ครม.ได้อนุมัติให้ก่อสร้าง ขณะที่ กคช.ได้รับงบประมาณเพื่อก่อสร้าง (อุดหนุนยูนิตละ 80,000 บาท) ประมาณ 262,240 ยูนิต และมีการเบิกจ่ายงบประมาณมาแล้วรวม 10,337.709 ล้านบาท จากจำนวนที่ได้รับการจัดสรรทั้งสิ้นที่ 16,459.652 ล้านบาท หรือมีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 62.81%

         อย่างไรก็ตาม หากมาดูในรายละเอียดจะพบว่าขณะนี้ กคช.มีการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาก่อสร้างไปแล้วประมาณ 553,113 ยูนิต และรอเซ็นสัญญาอีก 51,850 ยูนิต

         ทีนี้ก็ต้องมาดูความคืบหน้าการก่อสร้าง ณ ช่วงสิ้นสุดเดือนมกราคม 2549 ซึ่งทาง กคช.มีการทำสรุปเพื่อรายงานให้บอร์ดและรัฐมนตรีรับทราบพบว่า การก่อสร้างล่าช้าเกือบทุกโครงการ !!!

ความคืบหน้าติดลบเกือบทุกโครงการ
          โดยความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการในระยะที่ 1 นั้นมีทั้งหมด 5 โครงการ รวม 4,131 ยูนิต เป็นโครงการ กทม.และปริมณฑล 4 โครงการ และเชียงใหม่อีก 1 โครงการ นั้นปรากฏว่าส่งมอบไปแล้ว 4 โครงการ และอีก 1 โครงการคือที่เชียงใหม่จำนวน 596 ยูนิต นั้น ซึ่งมีบริษัท ธนสิทธิ์ คอนกรีต เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างยังไม่ได้ส่งมอบ ทั้งที่มีการต่อสัญญากับ กคช.มาแล้ว 2 ครั้ง และสัญญาล่าสุดระบุว่าจะต้องส่งมอบตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2549 โดยสาเหตุที่ยังไม่สามารถส่งมอบได้นั้นเนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแรงงานตอกเสาเข็ม แต่เชื่อหรือไม่ว่าล่าสุดบริษัทดังกล่าวมีการก่อสร้างคืบหน้าไปเพียง 72.70% เท่านั้น

         ส่วนความคืบหน้าการก่อสร้างโครงการระยะที่ 2 จำนวน 16 โครงการ เป็นโครงการในต่างจังหวัดทั้งหมด ขณะนี้มีการส่งมอบไป 4 โครงการ คือ จ.อุบลราชธานี จ.ปทุมธานี จ.พิจิตร และ จ.สมุทรปราการ ที่เหลืออีก 12 โครงการ นั้นปรากฏว่ามีการก่อสร้างล่าช้าเกือบทุกโครงการ แต่ที่ล่าช้ามากที่สุดคือโครงการที่รับเหมาก่อสร้างโดยบริษัท ถิรสิทธิ์ ซึ่งบริษัทดังกล่าวได้รับงานจำนวน 3 โครงการ คือ ที่ จ.ระยอง จ.จันทบุรี และ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งส่วนใหญ่ล่าช้าไปเกือบ 100% โดยสาเหตุหลักมาจากผู้รับจ้างขาดสภาพคล่องด้านการเงิน จนทำให้ กคช.ต้องหาคู่สัญญาใหม่ ขณะที่โครงการอื่นก็เจอปัญหาสภาพเดียวกัน นั่นคือปัญหาเรื่องการขาดสภาพคล่องของผู้รับเหมา

         โครงการระยะที่ 3 นั้นมีทั้งหมด 111 โครงการ มีการก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 15 โครงการ รวม 15,814 ยูนิต ที่เหลืออยู่ระหว่างการก่อสร้าง โดยเกือบทุกโครงการการก่อสร้างมีความล่าช้าไปมากเช่นกัน และเมื่อพิจารณาจากรายชื่อบริษัทรับเหมาแต่ละรายแล้วจะพบว่าเป็นกลุ่มเดียวกับบริษัทรับเหมาที่รับงานก่อสร้างโครงการในระยะที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นบริษัท ถิรสิทธิ์ บริษัท เอ.พี.ไฮเทค บริษัท กรมณี วิศวกรรม บริษัท ไชน่า จงต้า วิศวโยธา (ประเทศไทย) ซึ่งกลุ่มหลังนี้นอกจากจะมีปัญหาเรื่องสภาพคล่องแล้วยังมีปัญหาเรื่องความพร้อมของบริษัทด้วย

         โครงการระยะที่ 4 รวม 109 โครงการ จำนวน 109,594 ยูนิต นั้นมีการส่งมอบไปเพียง 1 โครงการ ที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ทั้งหมดก็ล่าช้ากว่าแผนงานที่กำหนด ขณะเดียวกันก็พบว่าบางโครงการนั้นยังไม่สามารถส่งมอบสถานที่และรับโอนที่ดินได้

         ขณะที่โครงการระยะที่ 5 ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจาก ครม.นั้น บางโครงการโดยเฉพาะที่มีบริษัทรายใหญ่เป็นผู้รับเหมานั้นมีการเซ็นสัญญาไปแล้วและรอเซ็นสัญญาบางส่วน และบางส่วนเปิดการพรีเซลส์ หรือให้ประชาชนที่จองสิทธิไว้เดิมมายืนยันสิทธิ และให้ผู้สนใจรายใหม่มาจองสิทธินั้นผลปรากฏว่าไม่ค่อยได้รับการตอบรับจากประชาชนมากนัก ซึ่งอาจจะส่งผลให้บางโครงการไม่สามารถพัฒนาได้ เนื่องจากหากประชาชนจองไม่ถึง 2-3 เท่านั้นก็อาจจะไม่มีสิทธิทำโครงการได้ อย่างไรก็ตาม การที่โครงการในระยะที่ 5 ได้รับความสนใจจากประชาชนค่อนข้างน้อย เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาผู้ที่จองสิทธิไปแล้วยังไม่ได้รับการคัดเลือกหรือจับสลากไม่ได้มาเป็นเวลานานนั้นทำให้มีการเบื่อหน่ายเกิดขึ้นจึงไม่กระตือรือร้นที่จะไปจองสิทธิกันมากนัก 

แผนรับมอบงาน
          อย่างไรก็ตาม ตามแผนงานที่ กคช.ตั้งไว้นั้นในปีงบประมาณ 2549 (ตุลาคม 2548-กันยายน 2549) กคช.วางแผนว่าจะมีโครงการบ้านเอื้ออาทรที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 14 โครงการ โดย เป็นช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2548 (ตุลาคม-ธันวาคม) คาดว่าจะมีการส่งมอบจำนวน 10 โครงการรวม 10,017 ยูนิต และในช่วงไตรมาส 2 (มกราคม-มีนาคม 2549) จะมีการส่งมอบอีก 4 โครงการ รวม 11,610 ยูนิต แต่ปรากฏว่าจนถึงขณะนี้มีการส่งมอบและเสร็จจริงไม่ถึงครึ่งของจำนวนโครงการที่ระบุไว้ 

เปิดปมบริษัทเจ้าปัญหา
          โดยสรุปแล้วในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาโครงการบ้านเอื้ออาทรมีการส่งมอบโครงการและส่งมอบงานช้ามาก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาที่ผู้รับเหมารับงานไปแล้ว แต่ไม่สามารถทำงานได้ เนื่องจากสภาพคล่องทางการเงิน หรือความพร้อมของบริษัท โดยเฉพาะอย่างกรณีของบริษัท ถิรสิทธินั้นมีการรับงานไปทั้งสิ้น 7 โครงการรวม 2,524 ยูนิต ขณะที่บริษัทมีทุนจดทะเบียนเพียง 200 ล้านบาท ส่วนบริษัท กรมณีฯ ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาทนั้น รับงานไปจำนวน 27 โครงการ รวมกว่า 20,000 ยูนิต และบริษัท ไชน่า จงต้า วิศวโยธา (ประเทศไทย) มีการรับงานไป กว่า 3,000 ยูนิต

         ที่สำคัญที่สุด บริษัทเหล่านี้มีการรับเงินล่วงหน้า 5% ของมูลค่าโครงการไปแล้ว !!

         จึงเป็นเรื่องที่ กคช.จะต้องคิดหนักว่าจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

กคช.เปิด 3 แนวทางดิ้นแก้ปัญหา
          อย่างไรก็ตาม ในเรื่องดังกล่าว ทางผู้บริหารระดับสูงรายหนึ่งของ กคช.ระบุว่า กคช.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยที่ผ่านมามีความพยายามในการแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดทั้งต่อฝ่ายบริษัทผู้รับเหมาและต่อ กคช.เอง ทั้งนี้ เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อแผนการดำเนินงานให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ และ กคช.จะพยายามหลีกเลี่ยงการบอกเลิกให้น้อยที่สุด เพราะหากมีการยกเลิกสัญญาก็จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทั้ง 2 ฝ่าย คือ ทั้งต่อบริษัทรับเหมาและต่อ กคช.เอง

         โดยความเสียหายต่อ กคช.นั้นคือจะต้องไปหาผู้รับเหมาใหม่ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการก่อสร้างจะต้องเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม ไม่ได้งานตามแผนที่ได้วางไว้ตั้งแต่ต้น โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาของผู้รับเหมา กคช.ได้ดำเนินการไว้ 3 แนวทาง ซึ่งประกอบด้วย

         1.การปรับแผนการทำงาน โดยแบ่งเนื้องานใหม่ เพื่อให้ผู้รับเหมาสามารถปรับตัวให้สอดคล้อง ด้วยวิธีการขยายระยะเวลาการส่งมอบงานออกไปให้ยาวขึ้น

         2.ด้านการเงิน กคช.จะเข้าไปช่วยเจรจากับสถาบันการเงินให้มีการปล่อยเงินกู้ให้ เพราะที่ผ่านมาสถาบันการเงินไม่ยอมปล่อยกู้ เพราะไม่มั่นใจว่าจะทำได้ ซึ่ง กคช.ก็จะต้องไปยืนยันกับทางสถาบันการเงินเหล่านั้นว่า กคช.ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญากับบริษัทที่มีปัญหา เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ให้ต่อไป นอกจากนี้ อาจจะให้ผู้รับเหมาที่มีปัญหาเหล่านั้นไปหาผู้ร่วมทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะในโครงการที่ยังไม่ได้มีการเซ็นสัญญากับ กคช. อย่างไรก็ตาม ในเรื่องนี้ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก

         3.ผู้รับเหมาดังกล่าวจะต้องไปหาแรงงานให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อให้สามารถเดินหน้าพัฒนาโครงการต่อไปอย่างเต็มที่ 

ยกเลิกก่อสร้าง 5 โครงการกับถิรสิทธิ์
          สำหรับบริษัทที่มีปัญหาอย่างกรณีของบริษัท ถิรสิทธิ์ ซึ่งรับงานไปประมาณ 7 โครงการนั้นถือว่ายากเกินกว่าที่จะเยียวยา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการยกเลิกจำนวน 5 โครงการ โดยส่วนใหญ่โครงการจะอยู่ย่านภาคตะวันออกแถบ จ.ชลบุรี จ.ระยอง ทั้งนี้ กคช.จะเปิดให้ผู้รับเหมาอื่นที่มีความสามารถรับงานไปทำแทน ส่วนอีก 2 โครงการอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าบริษัทจะยังเดินหน้าพัฒนาโครงการได้ต่อไปหรือไม่ โดยปัญหาของบริษัทดังกล่าวเกิดจากเรื่องการขาดสภาพคล่องเป็นหลัก ทำให้สถาบันการเงินไม่ปล่อยเงินกู้ให้ ส่งผลให้ไม่สามารถพัฒนาโครงการไปได้มากนัก

         ทั้งนี้คาดว่าในส่วนของผู้รับเหมาใหม่ที่จะมาสวมสิทธิ์การทำงานแทนถิรสิทธิ์นั้นคาดว่าจะสามารถหาได้ภายในเดือนเมษายนนี้แน่นอน

ชี้กรมณีฯอาการโคม่าอยู่ในห้องไอซียู
          ในขณะที่บริษัท กรมณี วิศวกรรม ซึ่งรับงานไป 27 โครงการนั้น ปัจจุบันมีการเซ็นสัญญาไปแล้วประมาณ 21 โครงการ เหลืออีก 6 โครงการ ยังไม่ได้เซ็นสัญญากับ กคช.นั้น ล่าสุดในส่วน 6 โครงการนั้นบริษัทดังกล่าวอยู่ระหว่างการหาผู้รับเหมารายใหม่มาร่วมทุน และ กคช.ก็จะหาผู้รับเหมารายอื่นมาสวมสิทธิแทนด้วย ซึ่งขณะนี้กำลังเจรจาอยู่กับบริษัทรับเหมาทั้งในและต่างประเทศ ส่วนอีก 21 โครงการที่เซ็นสัญญาไปแล้วนั้น กคช.ก็จะช่วยด้วย 3 แนวทางข้างต้น

         "อย่างกรณีของกรมณีฯนั้น หากเป็นคนไข้ก็ถือว่าเป็นคนไข้ที่อยู่ในขั้นโคม่า ต้องอยู่ในห้องไอซียู ซึ่งทาง กคช.ก็จะต้องบริบาลเพื่อให้โครงการเดินหน้าไปได้"

ติดตามงาน 3 เดือนหากไม่คืบก็ต้องยกเลิก
          โดยเมื่อ กคช.ปรับแผนการทำงานและดำเนินการตาม 3 แนวทางแล้ว หลังจากนั้น กคช.จะให้เวลาบริษัทเหล่านี้ดำเนินการก่อสร้างต่อไป โดย กคช.จะใช้เวลาติดตามผลงานเป็นระยะๆ ทุกเดือน เป็นเวลา 3 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน ซึ่งเมื่อครบ 3 เดือนแล้วงานยังไม่คืบหน้าตามที่ กคช.กำหนดไว้ที่จะต้องทำงานได้ไม่ต่ำกว่า 10% กคช.ก็คงจะต้อบอกเลิกสัญญา แต่หากมีความคืบหน้าตามที่กำหนดก็จะยอมให้ทำงานต่อไป

บทสรุป
          จะเห็นได้ว่าโครงการบ้านเอื้ออาทรเกือบทุกโครงการนั้นมีความล่าช้าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะโครงการที่ดำเนินการในระยะแรกๆ ส่งผลให้มีการส่งมอบไม่ทันเวลา ขณะเดียวกันจากความล่าช้าดังกล่าวก็ไม่เป้นไปตามแผนที่ กคช.กำหนดไว้ โดยตามแผนเดิมของ กคช.นั้นจะต้องมีการส่งมอบงานภายในปี 2551 แต่เมื่อดูจากความคืบหน้าการก่อสร้างแล้ว เชื่อว่าระยะเวลาที่ กคช.กำหนดไว้ตามแผนงานนั้นคงจะเป็นไปได้ยาก ซึ่งปัญหาทั้งหมดก็จะตกไปเป็นของผู้ว่า กคช.คนใหม่ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต หลังจากที่ผู้ว่าคนปัจจุบันจะหมดวาระภายในเดือนกันยายนปีนี้

         ซึ่งผู้ว่าการ กคช.คนใหม่นี้นอกจากจะเผชิญกับปัญหาของความล่าช้าของโครงการบ้านเอื้ออาทรแล้วอาจจะต้องเผชิญกับปัญหาบางโครงการที่มีการก่อสร้างไปแล้วเสร็จและอาจจะไม่มีคนอยู่กลายเป็นตึกร้างไปก็ได้ โดยโครงการน่าจะอยู่ในสภาพดังกล่าว 2 โครงการคือ ย่านบางนา บางพลี และอีกโครงการที่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเดิมในโครงการย่านบางพลีนั้น กคช.เคยสร้างเคหะชุมชนมาแล้วแต่จนถึงปัจจุบันไม่มีคนอยู่ และล่าสุดบริษัท ไมวาน และบริษัทเดวากำลังจะก่อสร้างเพิ่มอีก 5,000 และ 7,000 ยูนิต จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะกลายเป็นโครงการร้างอีก 2 โครงการเพิ่มขึ้นมาแน่นอน

         ดังนั้น คงถึงเวลาที่ กคช.จะต้องไปพิจารณาอีกครั้งว่าจะแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาทั้งในระยะปัจจุบันและอนาคต เพราะเงินที่ใช้ไปนั้นมหาศาล!!

         ขณะที่ประเทศก็กำลังประสบปัญหาด้านการเงินอยู่!!!