ปลอมราคาประเมินซื้อบ้านระบาด แบงก์ตรวจถี่ยิบก่อนปล่อยกู้
ประชาชาติธุรกิจ 21-24 กรกฎาคม 2548 หน้า 33
 
สรุปสาระข่าว
 
         แหล่งข่าวจากวงการประเมินราคาทรัพย์สินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรายงานการประเมินราคาทรัพย์สินมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าลูกค้าหลายรายใช้วิธีปลอมแปลงรายงานดังกล่าว แล้วนำไปยื่นประกอบการขอสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าบางส่วนได้รับอนุมัติสินเชื่อในวงเงินที่สูง ทั้งๆ ที่หลักทรัพย์ค้ำประกันมีมูลค่าที่แท้จริงไม่คุ้มมูลหนี้ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ถูกตรวจสอบเข้มงวดขึ้น และทำให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมีมากขั้นตอนขึ้นแล้ว ยังถูกสถาบันการเงินจำกัดวงเงินสินเชื่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการประเมินราคาทรัพย์สินอีกทางหนึ่ง
 
ข้อคิดเห็น
 
          การโกงกันนั้น
1. ถ้าผู้ประเมินค่าทรัพย์สิน โกง/เรียกรับทรัพย์จากลูกค้า ความเสียหายก็ระดับหนึ่ง
2. ถ้าลูกค้าสมคบกับผู้ประเมินโกง อย่างมากสถาบันการเงินก็เสียหายเพียงรายนั้นรายเดียว (ถ้าตรวจสอบไม่ละเอียด)
3. แต่กรณีแบงก์เจ๊งนั้น เป็นเพราะผู้บริหารโกงเอง โดยอาศัยลูกค้าและผู้ประเมินค่าเป็นเครื่องมือเท่านั้น
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         คนซื้อบ้านรับเคราะห์ แบงก์ตรวจเข้มก่อนไฟเขียวปล่อยกู้ เหตุจากเจอมือดีใช้วิธีปลอมแปลงเอกสารการประเมิน ปั่นราคาทรัพย์สิน แล้วดอดยื่นขอกู้วงเงินสูงเกินจริง สั่งฝ่ายสินเชื่อดูละเอียดยิบรายงานการประเมินราคาหลักทรัพย์ค้ำประกัน ตั้งกฎให้บริษัทประเมินทำหนังสือรับรอง หวั่นโดนหลอกซ้ำ พร้อมจำกัดยอดปล่อยสินเชื่อกันความเสี่ยง
         แหล่งข่าวจากวงการประเมินราคาทรัพย์สินเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้สถาบันการเงินหลายแห่งได้เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบรายงานการประเมินราคาทรัพย์สินมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าลูกค้าหลายรายใช้วิธีปลอมแปลงรายงานดังกล่าว แล้วนำไปยื่นประกอบการขอสินเชื่อ ทำให้ลูกค้าบางส่วนได้รับอนุมัติสินเชื่อในวงเงินที่สูง ทั้งๆ ที่หลักทรัพย์
         ค้ำประกันมีมูลค่าที่แท้จริงไม่คุ้มมูลหนี้ ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวนอกจากจะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ถูกตรวจสอบเข้มงวดขึ้น และทำให้กระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อมีมากขั้นตอนขึ้นแล้ว ยังถูกสถาบันการเงินจำกัดวงเงินสินเชื่อเพื่อป้องกันความเสี่ยงอีกด้วย ขณะเดียวกันก็ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของวงการประเมินราคาทรัพย์สินอีกทางหนึ่ง
         "ตอนนี้หลายๆ แบงก์ใช้วิธีตรวจสอบซ้ำ ป้องกันการปลอมแปลงราคาประเมิน โดยให้บริษัทประเมินรับรองรายงานซ้ำ พร้อมกับระบุเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจนว่า ได้ทำการประเมินราคาทรัพย์สินที่ลูกค้าจะวางค้ำประกันเงินกู้ และจัดทำรายงานการประเมินราคาฉบับนั้นจริง จึงจะอนุมัติวงเงินสินเชื่อให้"
         "ปัญหาที่เกิดขึ้นเริ่มเป็นที่ทราบในวงกว้าง ทั้งในส่วนของวงการสถาบันการเงิน และวงการประเมินราคาฯ เรียกได้ว่าช่วงนี้ใครยื่นขอกู้ แล้วนำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกัน ก็จะถูกตรวจสอบราคาประเมินอย่างละเอียดยิบ เป็นขั้นตอนการตรวจสอบที่เพิ่มขึ้นกว่าปกติ นอกเหนือจากตรวจสอบคุณสมบัติผู้กู้ ความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนเงื่อนไขอื่นๆ ตามหลักเกณฑ์ปกติทั่วไป"
         แหล่งข่าวจากวงการสถาบันการเงินเปิดเผยว่า ปัญหาการปลอมแปลงรายงานการประเมินราคาทรัพย์เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง มีทั้งปลอมแปลงเพื่อยื่นขอกู้ประกอบธุรกิจ ซื้อทรัพย์สิน ขอกู้ซื้อบ้าน ที่ผ่านมาฝ่ายสินเชื่อของสถาบันการเงินหลายแห่งจึงได้รับนโยบายให้ตรวจโดยละเอียด แม้กรณีปลอมแปลงเพื่อขอกู้ซื้อบ้านจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อมีปัญหาทำให้ถูกเหมารวม ส่งผลให้การกู้มีความยุ่งยาก และถูกจำกัดวงเงินกู้มากขึ้น
         "ส่วนใหญ่จะมีการปลอมแปลงรายงานการประเมินราคา 2 จุด จุดแรก คือ มูลค่าทรัพย์สินที่ประเมิน มีการปลอมแปลงให้สูงขึ้น เพราะต้องการกู้ในวงเงินที่สูงกว่าราคาประเมินจริง จุดที่สองปลอมแปลงเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ในการประเมิน ซึ่งปกติบริษัทประเมินจะระบุว่า ประเมินไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ขอกู้กับแบงก์ไหน แต่บางบริษัทไม่ระบุชัดเจน ทำให้ลูกค้านำไปปลอมแปลงใช้ประโยชน์ไม่ตรงวัตถุประสงค์ได้"
         แหล่งข่าวกล่าวว่าการปลอมแปลงอาจเกิดจากกรณีที่สถาบันการเงินให้ลูกค้าไปว่าจ้างบริษัทประเมินฯ ทำการประเมินราคาทรัพย์สินด้วยตัวเอง จากปกติที่สถาบันการเงินจะติดต่อกับบริษัทประเมินโดยตรง กรณีแรกเมื่อบริษัทประเมินฯทำการประเมินราคาทรัพย์สินเสร็จเรียบร้อย ก็จะให้ลูกค้าถือรายงานการประเมินไปให้สถาบันการเงิน ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าฉวยโอกาสเปลี่ยนแปลงรายงานการประเมินได้เช่นเดียวกัน
         นอกจากนี้ปัญหาบางส่วนยังมาจากบริษัทประเมิน ที่ขยายตลาดโดยใช้อาศัยรูปแบบแฟรนไชส์ และมอบหมายให้แฟรนไชซีเป็นผู้ขยายตลาด ซึ่งแฟรนไชซีบางรายจะรับงานนอกระบบ เพราะต้องการหารายได้ โดยไม่แจ้งให้บริษัทแม่ทราบ เมื่อเกิดปัญหาบริษัทแม่ซึ่งเป็นเจ้าของแฟรนไชส์จึงไม่ยอมรับ และไม่ให้การรับรองรายงานการประเมินราคา ฯลฯ
         นายวิรัชต์ มั่นเจริญพร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายงานโครงการวรารมย์เลควิล บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า กรณีที่ลูกค้าจัดทำสัญญาจะซื้อ-จะขายบ้านสูงเกินจริง โดยการปลอมรายงานการประเมินหลักทรัพย์ เพื่อให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อกู้ซื้อบ้านในราคาที่สูงนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับบ้านระดับกลาง-บนมากกว่าบ้านระดับล่าง ซึ่งกระแสข่าวดังกล่าวมีมา ระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดในเชิงลึก อยู่ระหว่างศึกษาข้อมูล
         "ประเด็นนี้ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทได้ข่าวเหมือนกัน และเพื่อความไม่ประมาทได้กำชับให้ทีมงานเพิ่มความระมัดระวังในการสกรีนลูกค้ามากขึ้น เป็นการป้องกันความเสี่ยง" นายวิรัชต์กล่าว
         นายรัตนชัย ผาตินาวิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมโทรสตาร์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า กรณีดังกล่าวตนมองว่าอาจเกิดขึ้นได้กับบริษัทไฟแนนซ์ขนาดเล็กที่ไม่มีฝ่ายประเมิน ราคาเป็นของตนเอง ต้องไปจ้างผู้ประเมินอิสระมาประเมินราคาหลักทรัพย์ให้ อย่างไรก็ตามเชื่อว่าบริษัทประเมินคงไม่กล้าเสี่ยงให้ข้อมูลที่เกินจริงกับสถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ เนื่องจากขณะนี้สถาบันการเงินต่างเข้มงวดมากขึ้น
         "ส่วนใหญ่เกือบทุกแบงก์จะมีฝ่ายประเมินเป็นของตนเองอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้นะ แม้ว่าจะจ้างบริษัทประเมินภายนอกก็ต้องส่งรายงานประเมินฉบับจริงให้กับแบงก์อยู่แล้ว" นายรัตนชัยกล่าว
         ด้าน ดร.ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) กล่าวด้วยว่ากรณีดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้กับผู้ประกอบการรายเล็กที่อยู่นอกตลาดหลักทรัพย์ฯ สาเหตุของการปลอมแปลงรายงานราคาประเมินหลักๆ ก็เพื่อต้องการขายสินค้าให้ได้ สำหรับบริษัทยังไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เพราะแบงก์ที่ปล่อยสินเชื่อให้มีความเข้มงวดอยู่แล้ว