คดีประวัติศาสตร์ - เกริกเกียรติ และ บีบีซี
ข่าวจากหนังสือพิมพ์หลายฉบับ วันศุกร์ที่ 21 มกราคม 2548
 
สรุปสาระข่าว
จำคุก"เกริกเกียรติ" 30 ปียักยอกบีบีซี อัยการสบช่องดึง"ราเกซ สักเสนา"กลับขึ้นศาลไทย (กรุงเทพธุรกิจ)
เกริกเกียรติบีบีซีเจอคุก30ปีปรับอีก3พันล้าน (ไทยรัฐ)
ตัดสินคดีประวัติศาสตร์โกงบีบีซี "เกริกเกียรติ"ผิด เจอคุก30ปี-สั่งปรับอีก3.2พันล้าน (มติชน)
จำคุกเกริกเกียรติ30ปีโกงบีบีซี (ผู้จัดการ)
คุก30 ปี-ปรับ 3 พันล. 'เกริกเกิยรติ' ยักยอกเงินบีบีซี (เดลินิวส์)
จำคุก30ปี-ปรับ3พันล. (สยามรัฐ)
 
 
ข้อคิดเห็น
 
         กรณีนี้บริษัทประเมินถูกปรับ 1 ล้านบาท ฐานที่ "เป็นผู้ประเมินหลักทรัพย์ทำหลักฐานว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินถึง 826 ล้านบาท ทั้งที่จริงแล้วมีราคาไม่เกิน 55 ล้านบาท" กรณีนี้สมาคมที่เกี่ยวข้องน่าจะแสดงบทบาทบ้าง
 
รายละเอียดของเนื้อข่าว
 
         "เกริกเกียรติ" ซัด ธปท.ละเว้นตรวจสอบ หลังรู้สถานะบีบีซีใกล้ล้มละลาย เตรียมแถลงโชว์หลักฐานมัด
ศาลพิพากษาจำคุก "เกริกเกียรติ" พร้อมพวก ฐานยักยอกทรัพย์แบงก์บีบีซี โดยลงโทษจำคุก 3 คดี คดีละ 10 ปี รวม 30 ปี และสั่งปรับกว่า 3,330 ล้านบาท ด้านอัยการสบช่องส่งคำพิพากษาให้ศาลแคนาดาชี้ขาดส่งตัว "ราเกซ สักเสนา" กลับขึ้นศาลไทย "เกริกเกียรติ" หอบหลักทรัพย์ 50 ล้านบาทประกันตัว ยันตัวเองบริสุทธิ์เตรียมแถลงโชว์หลักฐานมัดแบงก์ชาติละเว้นตรวจสอบ
         วานนี้ (20 ม.ค.) ศาลอาญากรุงเทพใต้ ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์พิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ จำกัด (บีบีซี) จำเลยที่ 1 และนายเอกชัย อธิคมนันทะ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บีบีซี รับผิดชอบการดำเนินการด้านสินเชื่อ จำเลยที่ 2 กระทำผิด พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 ฐานฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
         ในกรณีที่ได้ปรากฏหลักฐานต่อ ธปท.ว่า ธนาคารบีบีซี มีฐานะและดำเนินการอยู่ในลักษณะอันอาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน ธปท.จึงออกคำสั่งให้บีบีซี ฉบับลงวันที่ 18 เม.ย.2538 แก้ไขฐานะและการดำเนินงานหลายประการ แต่ธนาคารบีบีซีฝ่าฝืน และยังให้สินเชื่อกับบุคคลและนิติบุคคลที่เป็นลูกหนี้รายเดิมที่ธนาคารให้สินเชื่อไว้แล้วเพิ่มเติมรวมเป็นเงินกว่า 9,000 ล้านบาท
         ศาลเห็นว่าคดีนี้ ธปท.มีหนังสือแจ้งให้ประธานกรรมการบีบีซี ทราบถึงการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ธนาคารพาณิชย์ พ.ศ.2505 เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2539 แต่ปรากฏว่าโจทก์ได้นำคดีนี้ มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 22 เม.ย.2541 คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
         อีกทั้งการอนุมัติสินเชื่อของจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของธปท.และการซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศจำนวน 18 ราย ไม่ปรากฏว่ามีลายมือชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้อนุมัติจึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหาของธปท.จึงสั่งยกฟ้อง

คดี 2 จำคุก"เกริกเกียรติ"10 ปี
         ส่วนที่คดี 2 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และบีบีซี ร่วมกันยื่นฟ้องนายพิเศษ พานิชสมบัติ นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ บริษัท ซิตี้ เทรดดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด, น.ส.สุนันทา หาญวรเกียรติ กรรมการบริษัท ซิตี้, นายเอกชัย อธิคมนันทะ และนายเทอร์รี่ อีสเตอร์ กรรมการบริษัท ซิตี้ เป็นจำเลย 1-6 ฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์จำนวน 1,650 ล้านบาท รวมทั้งเป็นกรรมการกระทำผิดหน้าที่หรือรับของโจร
         ทั้งนี้สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 ประเมินราคาที่ดินที่เป็นหลักทรัพย์ขอค้ำประกันเงินกู้ของจำเลยที่ 3-5 สูงเกินจริง โดยจำเลยที่ 2 ใช้โอกาสที่มีอนุมัติสินเชื่อ ได้อนุมัติสินเชื่อแก่จำเลยที่ 3 จำนวน 1,650 ล้านบาท ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง ธปท.ที่อนุมัติวงเงินสินเชื่อเพียง 30 ล้านบาทเท่านั้น
         ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ แล้วเห็นว่าพยานโจทก์รับฟังโดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยที่ 2 ขณะดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ได้อนุมัติสินเชื่อ ซึ่งฝ่าฝืนคำสั่ง ธปท.ให้กับจำเลยที่ 3 จริง ให้จำคุกจำเลยที่ 2 เป็นเวลา 10 ปี และปรับ 2,264 ล้านบาท และให้ปรับจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1 ล้านบาท สำหรับจำเลยที่ 4 และที่ 6 ให้จำคุกคนละ 7 ปี ปรับคนละ 1 ล้านบาท
         ส่วนจำเลยที่ 5 ให้จำคุก 8 ปี ปรับ 1 ล้านบาท และให้จำเลยที่ 2, 3, 4 และ 6 ร่วมกันชดใช้เงินต้น คืนให้ในจำนวน 1,132 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 17.25% ต่อปี ส่วนจำเลยที่ 5 ให้ชำระเงินต้นเป็นเงิน 75 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 17.25% ต่อปี ส่วนจำเลยที่ 1 ยกฟ้อง

คดีที่ 3 จำคุกอีก 10 ปี ปรับ 706 ล้าน

         คดีที่ 3 ที่พนักงานอัยการ และบีบีซี ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จำเลยที่ 1, น.ส.สุนันทา หาญวรเกียรติ กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ 2, บริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด แอ๊พเพรซัล จำกัด ที่ 3, นายไพโรจน์ ซึ่งศิลป์ ที่ 4 กรรมการผู้มีอำนาจบริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด
         นายวีระชัย คงแก้ว เจ้าหน้าที่ประเมิน บริษัท อเมริกันสแตนดาร์ด ที่ 5 บริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ที่ 6 ในความผิดฐานฝ่าฝืนร่วมกันยักยอกทรัพย์ ให้จำเลยร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 353,363,966 บาท
         โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ 12 ก.ย.-ก.ค.2539 จำเลยที่ 1 และที่ 6 ร่วมกับนายจรัญ โพธิเรืองรอง กรรมการบริษัท สมประสงค์ และนายราเกซ สักเสนา ที่ปรึกษาของจำเลยที่ 1 ร่วมกันยักยอกเงิน 647,953,425 บาท ของบีบีซีไป โดยวางแผนแบ่งหน้าที่กันทำ ซึ่งจำเลยที่ 6 ไม่ได้ประกอบกิจการใดที่มีจำเลยที่ 2 นายราเกซและนายจรัญมีส่วนได้เสีย ได้ยื่นคำขอสินเชื่อต่อบีบีซีจำนวน 660 ล้านบาท
         ทั้งหมดอ้างว่าจะนำไปซื้อหุ้นครอบกิจการของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล คอนโซลิเดเต็ด เอ็นยิเนียริ่ง จำกัด จำนวน 6,670,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 75 บาท รวมมูลค่า 500,250,000 บาท และได้นำที่ดิน จ.สระแก้ว ที่จำเลยที่ 1-2 และที่ 6 ให้จำเลยที่ 3 และที่ 5 เป็นผู้ประเมินหลักทรัพย์ทำหลักฐานว่าที่ดินดังกล่าวมีราคาประเมินถึง 826 ล้านบาท
         ทั้งที่จริงแล้วมีราคาไม่เกิน 55 ล้านบาท แล้วนำมาเป็นหลักประกันขอสินเชื่อ โดยนายราเกซและจำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการติดต่อและสั่งงานให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารเงินและวิเทศกิจของบีบีซีจัดทำเอกสาร ซึ่งจำเลยที่ 1 อาศัยโอกาสตำแหน่งหน้าที่อนุมัติเงินกู้ดังกล่าวไปอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย
         ศาลพิเคราะห์แล้วให้จำคุก นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ จำเลยที่ 1 เป็นเวลา 10 ปี และสั่งปรับ 706 ล้านบาท และสั่งจำคุก น.ส.สุนันทา หาญวรเกียรติ เป็นเวลา 7 ปี และปรับ 1 ล้านบาท ส่วนจำเลยที่ 3 ให้ชดใช้ค่าปรับ 1 ล้านบาท ส่วนข้อหาอื่นสั่งพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 3, 4, 5 และให้จำเลยที่ 1, 2 และ 6 คือ บริษัท สมประสงค์ อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนกว่า 353 ล้านบาท

คดีสุดท้ายจำคุกอีก 10 ปี
         ในช่วงเวลา 13.30 น. ของวานนี้ ศาลออกนั่งบัลลังก์พิพากษาคดีที่ 4 ที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ นายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักบริหารเงินและวิเทศกิจบีบีซี, บริษัท แอตแพค จำกัด โดยนายถาวรสวัสดิ์ ชวะโนทัย กรรมการ เป็นจำเลยที่ 1-3 ตามลำดับ ในความผิดฐานใช้ตำแหน่งหน้าที่ยักยอกทรัพย์ เรียกคืนเงินจำนวน 362 ล้านบาท
         โดยเหตุเกิดระหว่างวันที่ 28 ม.ค.2537-11 พ.ค.2538 นายเกริกเกียรติ นายวันชัย และนายพราวประยูร อิศรศักดิ์ ณ อยุธยา อดีตรอง ผอ.ฝ่ายวิเทศธนกิจ ธนาคารบีบีซี ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินงาน และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินและหนี้สินของธนาคารบีบีซี
         ทั้งหมดร่วมกันกระทำการทุจริตต่อตำแหน่งหน้าที่ โดยร่วมกับบริษัทแอตแพค, นายถาวรสวัสดิ์ และนายราเกซ สักเสนา ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้องให้บริษท แอตแพค กู้ยืมเงินจำนวน 100 ล้านบาท โดยเอาหุ้นของบริษัทชลประทานซีเมนต์ จำนวน 2 ล้านหุ้น มูลค่า 262 ล้านบาทที่เป็นชื่อของบริษัท แอตแพค มาเป็นหลักประกันโดยมิชอบ
         ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และนายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ จำเลยที่ 2 อนุมัติสินเชื่อให้บริษัทแอตแพค จำกัด โดยนายถาวรสวัสดิ์ ชวะโนทัย กรรมการ จำเลยที่ 3 โดยไม่ชอบ เนื่องจากไม่พิจารณาหลักทรัพย์
         เนื่องจากทราบดีอยู่แล้วว่าจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นนิติบุคคลไม่มีความสามารถในการชำระเงินคืน ซึ่งผิดปกติวิสัยของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ อีกทั้งจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ร่วม คือ บีบีซี ไม่สามารถปล่อยเงินกู้ในขณะนั้นได้ การกระทำดังกล่าวจึงถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535
         ดังนั้นจึงพิพากษาจำคุกจำเลยที่ 1 นายเกริกเกียรติ และนายวันชัย ธรรมธิติวัฒน์ จำเลยที่ 2 คนละ 10 ปี พร้อมทั้งจำเลยที่ 1-3 ร่วมกันชดใช้เงินให้กับโจทก์ร่วมกว่า 238 ล้านบาท และชำระค่าปรับอีกกว่า 119 ล้านบาท
         โดยสรุปแล้วนายเกริกเกียรติ ถูกศาลสั่งจำคุกทั้งหมด 3 คดี คดีละ 10 ปี รวมเป็น 30 ปี และถูกสั่งปรับรวมกันทั้งหมด 3,330 ล้านบาท

หมอดูแลเกริกเกียรติใกล้ชิด
         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้นายเกริกเกียรติ ได้สวมชุดสูทสีเทา โดยมีนายแพทย์ส่วนตัวติดตามเฝ้าดูอาการโรคหัวใจอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องคดีแรก นายเกริกเกียรติมีสีหน้ายิ้มแย้มและหันมาทักทายพร้อมจับมือกับนายเอกชัย
         ต่อมาภายหลังที่ศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกในคดียักยอกทรัพย์ทั้ง 3 คดี นายเกริกเกียรติ กลับมีสีหน้าท่าทางเคร่งเครียดขึ้น แต่ไม่มีอาการเจ็บป่วยแสดงออกมาแต่อย่างใด ทั้งนี้ระหว่างฟังคำพิพากษาพบว่า มีญาติพี่น้องและเพื่อนของจำเลย รวมทั้งผู้สื่อข่าวร่วมฟังคำพิพากษากันอย่างหนาแน่นเต็มห้องพิจารณาคดี

ยื่นโฉนด 50 ล้านประกันตัว
         หลังจากนั้นนายเกริกเกียรติ ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักทรัพย์เป็นโฉนดที่ดินกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ เงินสดรวมมูลค่า 50 ล้านบาท ศาลพิเคราะห์คำร้องและหลักทรัพย์แล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนายเกริกเกียรติ โดยตีราคาประกัน 47 ล้านบาท ขณะที่จำเลยอื่นๆ ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเช่นกัน
         นายผดุงพันธุ์ จันทะโร ทนายความของนายเกริกเกียรติ กล่าวว่า แม้ศาลจะพิพากษาจำคุกนายเกริกเกียรติ แต่ก็ไม่หนักใจ เพราะฝ่ายจำเลยจะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด และเชื่อว่าจะถึงศาลฎีกาแน่นอน ทั้งนี้ในการอุทธรณ์ ตนจะตั้งว่าคำสั่งของธปท. เรื่องการอนุมัติสินเชื่อเป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง และสามารถปฏิบัติได้จริง ในสภาวะเศรษฐกิจไทยหรือไม่

เตรียมแถลงความบริสุทธิ์
         นายเกริกเกียรติ กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นในการบริหารงานในบีบีซีที่ผ่านมาเป็นไปอย่างบริสุทธิ์ใจ และก่อนที่จะเข้ามาบริหารงานบีบีซี ธนาคารก็มีฐานะล้มละลาย โดย ธปท.ก็ทราบดี ซึ่ง ธปท.ได้เชิญตนให้เข้ามาช่วยบริหาร ซึ่งก็พบว่าบีบีซีมีความเสียหายมาก
         ดังนั้นตนจึงขอให้กองทุนฟื้นฟูฯ เข้ามารับซื้อหนี้ที่มีปัญหา แต่ ธปท.ก็ไม่ได้ให้การช่วยเหลือตั้งแต่ต้น เพราะถ้าหาก ธปท.ให้การช่วยเหลือ สินเชื่อต่างๆ ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น และสินเชื่อเหล่านี้ ธปท.ก็ทราบดีมาโดยตลอด เพราะมีเจ้าหน้าที่ของ ธปท.มานั่งทำงานประจำที่บีบีซีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผู้บริหารของบีบีซีก็รายงานการปล่อยสินเชื่อลูกหนี้รายใหญ่ให้แก่ ธปท.ทราบมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด ดังนั้น ในเร็ว ๆ นี้ตนจะเปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเพื่อนำหลักฐานเหล่านี้ที่ใช้แสดงต่อศาลมาชี้แจงต่อสื่อมวลชนทั้งหมด
         "บีบีซีเริ่มมีปัญหาเมื่อมีการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่ทราบว่าเมื่อ ธปท.ทราบเรื่องตั้งแต่แรกแล้ว เพราะเหตุใดไม่ดำเนินการ แต่ปล่อยให้มีการปล่อยสินเชื่อต่อไป และเชื่อว่าสื่อมวลชนได้ดูหลักฐานทั้งหมดแล้วก็จะตัดสินใจได้ว่าใครผิดใครถูก ส่วนการสู้คดีนั้นก็จะพิจารณายื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ที่ศาลกำหนดไว้" นายเกริกเกียรติ กล่าว

อัยการสบช่องดึง"ราเกซ"ขึ้นศาลไทย

         นายณัฐวัฒน์ จิตสำเริง อัยการประจำกรมสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะอัยการเจ้าของสำนวนคดี กล่าวว่า คดีนี้อัยการเป็นผู้นำเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งมีกว่า 20 คดี โดยในวันนี้ศาลได้ตัดสินไปแล้ว 4 คดี สำหรับคดีแรกที่ศาลยกฟ้องถือว่าไม่ใช่คดีสำคัญเพราะไม่มีโทษทางอาญา เพราะเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง ธปท.มีเพียงโทษปรับเท่านั้น ส่วน 3 คดีหลังที่ศาลมีคำพิพาษาให้จำคุก ถือว่าคดีนี้ อัยการประสบผลสำเร็จ
         นายณัฐวัฒน์ กล่าวว่า คำพิพากษาของศาลใน 3 คดีถือว่ามีผลเกี่ยวเนื่องไปถึงนายราเกซ โดยอัยการจะคัดคำพิพากษาทั้ง 3 คดีเพื่อประสานไปยังอัยการกองคดีต่างประเทศ ก่อนส่งให้ศาลแคนาดา ประกอบการพิจารณาเพื่อจัดส่งตัว นายราเกซ มาดำเนินคดีที่เมืองไทย ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนต่อไป
         ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง นายเกริกเกียรติ ในคดีที่ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของ ธปท.ว่าไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่ได้ดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว
         "ไม่ได้เป็นประเด็นใหญ่อะไร ยังไม่ได้ดูรายละเอียดอะไรเลย ขอไปดูรายละเอียดก่อน" ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว